"...เราอยู่ สตง.มานานอีกไม่กี่วันก็ครบ 37 ปี ผมก็เต็มที่ กับบทบาทที่ผ่านมาไม่ว่าช่วงไหนยังไงตั้งแต่เริ่มต้นมาช่วงที่เป็นรองเป็นต่างๆก็ทําเต็มที่จนถึงเป็นผู้ว่าฯก็เต็มที่ตลอดก็ถือว่าได้ หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ทําตรงนี้แล้ว มันก็จะมีคนรุ่นหลังๆที่เข้ามาทําต่อไป ...เราก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่มันทันสมัยขึ้น เราอาจจะเป็นคนรุ่นเก่าที่อาจต้องรอดูคนรุ่นใหม่ๆเข้ามาทําต่อไป..."
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใกล้ถึงเวลาเปลี่ยนผ่านผู้บริหารสูงสุดอีกครั้ง!
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา มีมติเลือก "นายมณเฑียร เจริญผล" รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ( อาวุโสสูงสุด) เป็นผู้ได้รับการสรรหาให้เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ แทน นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง.ที่กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 27 ก.พ. 2567 นี้
หลังพิจารณาแล้วเห็นว่า นายมณเฑียร เจริญผล เป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 12 และมาตรา 13 รวมทั้งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 และได้มีมติเสนอชื่อ ผู้ได้รับการคัดเลือกต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
อย่างไรก็ดี หากสาธารณชนยังจำกันได้ ในช่วงเวลาที่ นายประจักษ์ บุญยัง ได้รับการสรรหาจาก คตง. ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. เมื่อปี 2560 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับนายประจักษ์ ไปแล้วว่า เป็นข้าราชการลูกหม้อ สตง.ที่มีฝีมือดี มีผลงานตรวจสอบดำเนินงานหลายเรื่อง เรื่องที่โดดเด่น ได้แก่ การตรวจสอบการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โครงการสกายวอล์คกทม. เป็นต้น
ขณะที่เสียงจากคนใน สตง. ขณะนั้น ระบุว่า การที่ นายประจักษ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ สตง. คนใหม่ ถือเป็นเรื่องดีต่อ สตง. เพราะเป็นคนในองค์กร เข้าใจ รู้ธรรมชาติ และวัฒนธรรมการทำงานของ สตง.อยู่แล้ว ดีกว่า ได้คนนอกเข้ามาทำงาน
นับรวมระยะเวลาจากวันนั้น ถึงวันนี้ ผ่านมา 6 ปีแล้ว น่าสนใจว่าการบริหารงาน สตง. ในยุคที่ผ่านมาของ นายประจักษ์ ก่อนก้าวลงจากตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นอย่างไรบ้าง?
@ประจักษ์ บุญยัง
ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายประจักษ์ ผู้ว่าฯ สตง. ถึงผลงานการบริหาร สตง. ที่ผ่านมาเป็นทางการ
ปรากฏรายละเอียดนับจากบรรทัดนี้ เป็นต้นไป
@ ภาพรวมการบริหารงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. ช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง?
ประจักษ์ บุญยัง : "ผมเข้ามารับตําแหน่งผู้ว่าฯ สตง.ในช่วงวันที่ 27 ก.พ.2561 มาตามหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ออกปี 2561 ซึ่งออกมาวันที่ 21 ก.พ. 2561 ในเนื้อหาสาระของเจตนารมณ์ของกฏหมายมันเปลี่ยนวิธีการทํางาน สิ่งแรกที่เปลี่ยนก็คือว่าในเรื่องของการตรวจเงินแผ่นดิน ในกฎหมายเดิมบอกว่ากระทําการโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แต่พอกฎหมายฉบับใหม่ มันอยู่ที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนเดียว แม้กระทั่งเรื่องของหน้าที่ในการตรวจสอบเดิมที่เขียนไว้อยู่ในส่วนของสํานักงาน แต่ตอนนี้ก็คือเขียนไว้อยู่ที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อยู่ที่ว่าจะมอบหมายให้ให้ใครไปทำ"
"เพราะฉะนั้นในเรื่องการตรวจสอบมันเป็นภารกิจที่หนักที่สุดในกฏหมายที่ผ่านมาเพราะมันอยู่ที่ผู้ว่าการฯ เราก็ต้องบริหารจัดการว่าควรจะต้องทํายังไง"
"สิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระในกฎหมายที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือก็คือเรื่องการตรวจรายงานการเงินหรือไฟแนนเชียลออดิท จากที่เราใช้การประเมินความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสากิจหรือของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เราก็ประเมินความเสี่ยงของหน่วยงานให้มีความเสี่ยง เราก็เลือกเข้าไปตรวจหรือหน่วยงานที่กฎหมายกําหนดให้ตรวจทุกปีและวิสาหกิจต่างๆ เราตรวจอยู่ที่ประมาณ3000เศษต่อปี แต่พอกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจหนึ่งปี 61 มาตรา 91 บอกว่าเราต้องตรวจร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันมี 8-9 พันหน่วยรวมถึงหน่วยงานต่างๆที่กฎหมายของเขากําหนดให้เราตรวจสอบด้วย ดังนั้นในปี 2562 ที่เราต้องทำจึงมีเพิ่มขึ้นมหาศาล และเราต้องตรวจให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งอันนี้เราต้องปรับวิธีการปรับกระบวนการทํางานค่อนข้างมาก"
"ประกอบกับทรัพยากรเรามีอยู่เท่าเดิม อัตรากําลังก็ดี หรืองบประมาณก็ดี ทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เราก็ต้องมาบริหารจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินและกฎหมาย พรบ.สตง. ประกอบกับเดือนเม.ย. พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ก็ออกมาด้วย ในมาตรา 71 ก็กำหนดทํานองเดียวกันเลยคือย้ำการตรวจสอบ และในตัว พ.ร.บ.วินัยฯ เขียนไปถึงหน่วยงานที่ต้องทํารายงานการเงินส่ง สตง.ภายใน 90 วัน รายงานนั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีภาครัฐที่ส่วนกลางกำหนดมันก็จะเป็นเป็นภารกิจที่ทําให้เราต้องมาปรับกระบวนการ"
@ วิธีการแก้ไขปัญหาทำอย่างไรบ้าง?
ประจักษ์ บุญยัง : "วิธีการของเราก็คือต้องหาคนมาช่วยคนทํางาน ซึ่งก็คือหาแนวร่วมก็คือผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ที่จะมาช่วยตรวจสอบรายงานการเงินว่าในการทํางานการตรวจสอบรายงานการเงินของ สตง.กับผู้ตรวจสอบบัญชี เอกชนอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เพราะว่าเราตรวจบริษัทและรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และเราก็มีผู้สอบบัญชีที่เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (ซีพีเอ) อยู่ประมาณเกือบร้อยคน ซึ่งถ้าไปเทียบกับบริษัทสอบบัญชีในห้าอันดับแรกจะถือว่าเรานั้นมากที่สุด เราก็ทําด้วยมาตรฐานเดียวกัน"
"พอมาถึงปี 2562 เป็นปีแรกที่เราต้องทําตาม พ.ร.บ.วินัยฯ เราพยายามขอความร่วมมือ แต่หน่วยงานก็ยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพราะว่าปกติเขาส่งรายงานการเงินให้ สตง.เข้าไปตรวจก็ยังไม่ต้องทําอะไรมาก แต่ถ้าเค้าต้องใช้ผู้สอบภาคเอกชน ตรงนี้ต้องมีการไปจัดซื้อจัดจ้าง ต้องไปดำเนินการตามระเบียบวิธีการตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการจัดจัดจ้าง ไปหาที่ปรึกษามาตรวจ พอได้แล้วก็ยังลงนามไม่ได้ ต้องส่งมาให้ สตง.เห็นชอบก่อน เพราะฉะนั้นมันก็มีกระบวนการซึ่งทําให้เขาค่อนข้างลําบากในปีแรกๆ เขาก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าไหร่ แต่ก็ได้มาบ้าง 40 กว่าหน่วยงานที่ ใช้ผู้สอบบัญชี ทำให้เรามีเครือข่ายที่จะมาช่วยทํางานในส่วนนี้ และปีต่อมาก็ได้รับความร่วมมือมากขึ้น เขาก็เห็นว่ากระบวนการ การทํางานต่างๆมันอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ผมเองก็ลงไปหน่วยงานบางหน่วยงานที่ยังไม่ยอมจะใช้ผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ก็ไปขอความร่วมมือว่าท่านสามารถใช้ได้ ท่านมีศักยภาพ มีเงินที่จะจ่ายค่าสอบบัญชี ก็ได้รับความร่วมมาเรื่อยๆ จนๆถึงที่สุดแล้ว หน่วยงาน 125 กว่าหน่วยงาน ก็ได้รับความร่วมมือ
"เพราะฉะนั้นส่วนตรงนี้ เราก็เห็นว่ามันมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยในการทํางาน โดยถ้านับจำนวนบริษัทผู้สอบบัญชีก็น่าจะประมาณ 14-15 บริษัทที่เข้ามาทําหน้าที่ เพราะฉะนั้นในการตรวจรายงานการเงินตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปีปัจจุบัน เราก็มีผู้สอบจากภาคเอกชนเข้ามาทําหน้าที่โดยมีมาตรฐานเดียวกัน เรามีการประชุมหารือมีการแลกเปลี่ยน มีการดูกันในเรื่องมาตรฐานต่างๆในการทํางานอันนี้ก็ทําให้ตลอดระยะเวลาในเรื่องของการตรวจรายงานการเงินค่อยๆดีขึ้น สิ่งที่มันหนักสําหรับคนตรวจก็คือการตรวจรายงานในหน่วยงานสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเดิม มีอยู่ 7 พันกว่าแห่ง เดิมเราวางแผนกันว่า 5 ปี จะตรวจให้ครบได้อย่างน้อยครั้งหนึ่ง คือเราจะตรวจปีละประมาณ 20% แต่นี่กลายเป็นว่า 6 เดือนเราก็ต้องตรวจให้ครบแล้ว มันทําให้ การทํางานในส่วนนี้เราต้องต้องปรับอัตรากําลังมาทํางานตรงนี้กันเต็มที่ไม่ว่าคนที่จบวิศวะ จบเศรษฐศาสตร์ จบนิติศาสตร์ก็ต้องนํามาช่วยพวกที่จบบัญชีในการทํางาน
"แต่ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ไปด้วยว่าในการทํางานเป็นอย่างไร แต่ก็ยังมีผู้สอบบัญชีหรือว่าเจ้าหน้าที่บัญชีหลัก อันนี้คืออันแรกเลยที่หนักหนาสาหัสในเรื่องการทำงาน อันที่สองก็เราก็คือ นอกจากคนตรวจโดยมาตรฐานปกติแล้ว มันจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยไม่งั้น มันคงทําไม่ได้ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับหน่วยรับตรวจด้วยว่าหน่วยไหนที่ พร้อมลงบัญชีทํารายงานการเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ อันนี้เราจะตรวจผ่านในระบบเลย"
"แต่ก็ต้องยอมรับว่า หน่วยงานต่างๆที่เขาพัฒนาในระบบดิจิทัลต่างๆเนี่ยเขามุ่งไปในภารกิจหลัก แต่ตัวหลังบ้านรายงานการเงินหรือระบบยังไม่ได้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ได้เป็นเป็นเหมือนกัน ก็ทําให้ส่วนรายงานการเงินยังไม่ได้อยู่ในระบบที่เราสามารถตรวจในระบบได้ด้วยเทคโนโลยี เราก็เข้าไปสํารวจเลยว่าใครพร้อมบ้างพร้อม ก็ต้องใช้เวลาในการดําเนินการกันพอสมควรดูว่าใครพร้อมบ้าง และต้องเป็นยังไงและในเรื่องเทคโนโลยีจะใช้โปรแกรมอะไรบ้าง และอีกองค์ประกอบคือช่วงที่มันมีโควิดเข้ามา มันก็ถูกบีบบังคับด้วย ด้วยสถานการณ์ที่เราไม่สารถเข้าไปรับตรวจได้ บางหน่วยต่างๆก็เลยมีความตื่นตัวในการที่จะใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับเราเองที่ต้องตื่นตัว พอเป็นผู้สอบบัญชีภาคของต่างประเทศนี่เราไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เราก็ตรวจผ่านในระบบโดยที่เขาอนุญาตให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ซึ่งเราก็ทําได้เหมือนเราก็มีประสบการณ์ตรงนี้ เราก็เชิญชวนตอนไม่นานมานี้ก็ได้รับความร่วมมือและเซ็นเอ็มโอยูกับ 16 หน่วยงานที่จะนําร่องกันว่าคุณก็ต้องพัฒนาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นระบบดิจิตอลเราก็จะตรวจผ่านงานผ่านตรงนี้ นี้ก็ในทางปฏิบัติมันอาจจะมีปัญหาว่าหลักฐานทางการเงิน ใบเสร็จรับเงินบางบริษัทก็สามารถออกเป็นใบเสร็จรับเงินที่เป็นเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้แต่บางผู้ขายหรือผู้รับจ้างของหน่วยงานภาครัฐก็ยังเป็นใบเสร็จที่เป็นกระดาษอยู่ สิ่งที่ทําก็คือสแกนลงไปว่ามันมีอะไรบ้างก็ต้องหาโปรแกรมที่เข้ามา อันนี้ก็ทําให้ระบบในการที่จะพัฒนาใช้เทคนิคในการตรวจสอบให้เร็วขึ้นมันก็ยังไม่ได้เต็มที่แต่มันได้เริ่มต้นแล้ว"
"อันที่สองก็คือตัวระบบอีออดิทซึ่งเรียกว่าเป็นระบบการตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดเลย เราก็ทําแล้ว ก็ของบประมาณได้มา 130 กว่าล้านบาท ก็ต้องผ่านคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ภาครัฐว่าเราจะทําระบบนี้เพื่อให้หน่วยงานต่างๆใช้ในการส่งข้อมูลการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆในการตรวจสอบตามอํานาจหน้าที่ทั้งหมดเลยในทุกลักษณะงาน รายงานการเงินก็จะเป็นส่วนหนึ่ง เราก็ได้มาแล้วกําลังพัฒนาอยู่ ซึ่งจะเสร็จในปี 67 ก็น่าจะใช้ได้ปี 68 อันนี้จะเป็นระบบที่เป็นการตรวจสอบทั้งหมดเลยซึ่งทุกหน่วยงานก็ต้องส่งผ่านกันในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดเลย แต่นี่ด้วยความไม่พร้อม เราไม่ได้อยู่เฉยๆ คือตัวระบบอีออฟฟิศซึ่งเป็นระบบภายในของเรา ตอนนี้เราเป็นอิเล็กทรอนิกส์หมด"
"มันก็มีปัญหาว่าเราทําหนังสือที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ส่งไปโดยเซ็นเป็นลายเซ็นดิจิทัล หน่วยงานต่าๆยังรับไม่ได้ คือยังไม่พร้อมที่จะรับหนังสือที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ผมต้องมาเซ็นใหม่เป็นกระดาษแล้วส่งไป ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นี้ยังบอกว่าผมเซ็นปลอม เพราะหนังสือที่ส่งไปไปแล้วเลขที่อันเดียวกัน เราก็เห็นว่าแม้กระทั่งเรื่องของงานสารบรรณ หน่วยงานยังไม่พร้อมที่จะรับ ถ้าระบบอีออดิทเราเสร็จเนี่ย หน่วยงานจะรับได้หรือเปล่าจะส่งข้อมูลให้เราได้หรือเปล่าหรือจะส่งกระดาษแบบเดิมมันก็มันก็ไม่มีประโยชน์ เราก็เริ่มสํารวจ เริ่มดู เริ่มพูดคุยว่าคุณต้องพัฒนาเรื่องระบบต่างๆแล้วก็ขอความร่วมมือทางกระทรวงดีอี ขอความร่วมมือปลัดกระทรวงดีอีคนปัจจุบัน ขอความร่วมมือไปทางดีจีเอ สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ขอความร่วมมือกับทางเอ็ดด้าหรือสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ช่วยกันในการที่จะพัฒนาหน่วยงานต่างๆนั้นให้เป็นให้เป็นอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด"
@ ดูเหมือนว่า 6 ปีที่ผ่านมาบทบาทของผู้ว่าฯ สตง.จะเป็นเรื่องของการวางโครงสร้าง
ประจักษ์ บุญยัง : "ใช่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะโครงสร้างต่าง ๆ ภายในการทํางาน ต้องยอมรับว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนไปในภายในชั่วข้ามคืน มันต้องมีการลงทุน แค่ลงทุนในระบบกว่าจะของบประมาณได้ก็ใช้เวลา แต่พอได้งบประมาณมาก็มาเริ่มดําเนินการเป็นระบบใหญ่ด้วย อันนี้มันก็จะถือว่าเป็นเป็นฐานสําคัญต่อไป ถ้าทํางานอย่างรายงานการเงินเนี่ยเราในกฎหมาย พ.ร.บ.วินัยฯ ให้เวลา 90 วันสําหรับหน่วยงานการทํารายงานการเงิน ของเราก็ทําเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ นัดปิดบัญชี 30 ก.ย. ถ้าระบบมันถูกต้องรายงานการเงินออกได้เลย ไม่ต้องใช้เวลา90วัน มันก็ส่งได้เลย เราก็ตรวจได้เลยด้วยเหมือนกันผ่านระบบ ถ้าระบบหลักฐานการเบิกจ่ายต่างๆ เป็นอิเล็กทรอนิกส์หมด มันเร็วมากแล้ว ตรวจร้อยเปอร์เซ็นต์ได้เลย ตรงนี้มันจะทําให้รายงานการเงินซึ่งถือว่าเป็นภารกิจประจําทำได้เร็วมากขึ้น ภายใน 90 วันเราก็สามารถดำเนินการได้เสร็จหมด และอีกไตรมาสที่สองเราก็ทํางานด้านอื่นได้อีกเยอะเลย อันนี้มันจะเป็นฐานสําคัญเพราะ ถ้าเราไม่ลงทุนตามตรงนี้เนี่ย และเราใช้คนไปเท่าไหร่ มันก็ไม่ไหว มันก็ได้ข้อจํากัดในเรื่องบุคลากรต่างๆ"
@ เหมือนกับว่าเราได้วางเสาไว้หมดแล้ว
ประจักษ์ บุญยัง : "ใช่ครับ มันจะไปได้อย่างรวดเร็วเลยว่าตรงนี้มันก็ต้องใช้เวลาใน การลงทุนเราก็มองมองว่า มันควรจะต้องทํายังไง มันก็มาจากภารกิจต่างๆ แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้ มันก็คิดกันมาแต่เดิมแล้วว่ามันต้องเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ยิ่งพอถูกสถานการณ์บีบบังคับอย่างจริงจังว่าภารกิจมันมากแล้ว จะมาใช้คนทําทํา จะมาจ้างพนักงานสมทบการตรวจสอบเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น มันก็ได้ได้ระดับหนึ่ง มันเหมือนถึงจุดวิกฤตที่ต้องต้องเปลี่ยนและกฎหมายก็มาบีบบังคับเรา สถานการณ์ต่างๆมาด้วยมันก็ทําให้ต้อง เร่งดําเนินการอย่างจริงจัง"
@ เพราะภารกิจพวกนี้เลยทําให้คนแซวว่า สตง.ในช่วงที่ผ่านมา บทบาทที่เคยเป็นมาก่อนคือการเป็นมือปราบฟาดฟันมันลดลง
ประจักษ์ บุญยัง : "เพราะว่าเรามีคนอยู่ 3 พันกว่าคน แล้วมาอยู่ตรงนี้ 6 เดือนแรกเราแทบไม่ทําอะไรเลย ไม่ได้ทําในส่วนของงานอื่นๆเลย และต้องมาดูในส่วนรายงานการเงิน ซึ่งมันหนักด้วย จนผมถูกผู้ปกครองของเจ้าหน้าที่มาถามว่าคุณทําอะไรกันดึกๆไม่ยอมกลับ ยิ่งตอนช่วงปิดงบแล้ว เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ได้อยู่อีก มันก็เลยทําให้งานเขาหนักมาก แต่นี่คือระบบที่เป็นระบบใหญ่ที่จะรองรับการทำงานในอนาคต แต่ในการทํางานระหว่างนั้นเนี่ยมันจะปล่อยให้คนทํางานไปโดยที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรเลย มันก็ไม่ได้เราก็พัฒนาตัวที่เรียกว่าระบบฟาสต์ คือระบบข้อมูลต่างๆที่รวบรวมไปในระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่จะประมวลผลได้อย่างอย่างรวดเร็วขึ้นด้วยตัวเองด้วยด้วยคนของเราเอง คือเอาใครที่มีความรู้ความสารถ มีประสบการณ์ในการตรวจสอบทั้งคนที่เก่งคอมพิวเตอร์ต่างๆมาช่วยกันพัฒนาแต่มันยังไม่เป็นระบบที่จะลิงก์รวมได้ อาจจะเป็นสแตนด์อะโลน (ไม่ได้เชื่อมต่อกัน)อยู่เฉพาะของเรา ระบบนี้ทํามาเพื่อช่วยคนที่ทํางานหนักๆตอนนั้น ให้ทํางานได้เร็วขึ้น ตอนนี้ก็ถือว่าเร็วขึ้น ยิ่งปีปัจจุบัน ระบบฟาสต์ที่เขาคุ้นเคยแล้ว ปีนี้ งานเขาจะเบาลงอันนี้ก็จะทําให้เขาทํางานด้านอื่นได้มากขึ้นอันนี้คือไฟแนนเชียลออดิท ต่อมาคือเรื่องคอมไพลอันซ์ ออดิท (compliance audit) คือเรื่องการตรวจสอบความเสียหายกรณีที่มีเรื่องร้องเรียน ต้องยอมว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ไม่มีโครงการใหญ่ๆให้เราเข้าไปตรวจสอบ"
"เพราะว่าปกติเราจะจัดสรรคนมาเพื่อทํางานตรวจสอบ ตั้งแต่ต้นปีเพื่อที่จะดูว่าโครงการขนาดใหญ่มีอะไรบ้างแล้วผลก็จะออกไปปลายปีมัน ซึ่งมันเหลืออีก 6 เดือน เวลามันสั้นๆก็อาจจะมีโครงการที่ตรวจได้ แต่ว่ามันอาจไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ที่จะให้เห็นผลโดยเร็ว แต่เราก็รู้มีบางโครงการขนาดใหญ่ที่น่าสนใจแต่เราไม่ได้ตรวจ เราก็เลยนําไปสู่การปรับโครงสร้างเพื่อที่จะปรับคนจํานวนหนึ่งมา เป็นสํานักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ไม่งั้นด้วยแผนการตรวจสอบประจําปี เราไม่สามารถตรวจได้ทันภายในปีหรือสามารถติดตามให้ได้"
@ ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ทำให้เรื่องการตรวจสอบทุจริตเลยน้อยลง
ประจักษ์ บุญยัง : " สอบทุจริตเราก็ดู...แต่ว่ามันอาจจะยังไม่ได้เน้นไปมากด้วยอัตรากําลังก็แต่ว่าโดยรวมแล้วก็มากขึ้น และวิธีการตรวจสอบในกฎหมายใหม่ให้ความเป็นธรรม ให้กับผู้ถูกตรวจสอบ ปกติถ้าเราตรวจสอบ เราเข้าไปตรวจสอบขอเอกสารมาสอบถามสอบปากคําต่างๆ เราก็มาประมวลรวมแล้วก็มีความเห็นเลยว่าผิดไม่ผิดยังไงแล้วแจ้งไปเลยว่าคุณต้องดําเนินการ แต่อันนี้คือสุดท้ายแล้ว จะต้องส่งไปให้เขาชี้แจงแสดงหลักฐานอีกครั้งหนึ่ง"
"สมมติเราตรวจมาในเรื่องการจัดซื้อจ้างสักโครงการหนึ่งตัวเสร็จเรามีความเห็นยังไงเราแจ้งไปเลยอันนี้ก็จะได้เร็วขึ้น แต่ผมตรวจเสร็จแล้ว ตามกฎหมายใหม่เนี่ย ตรวจเสร็จ พบว่าผิด 1 2 3 เราต้องแจ้งเขาอีกครั้งให้เขาชี้แจงแสดงหลักฐานอีกครั้งหนึ่งว่าที่เราตรวจมาทั้งหมด คุณผิดอะไร คุณได้ได้ชี้แจงอีกครั้งหนึ่งก็เค้าก็จะทราบด้วยว่าที่คุณมานั่งตรวจทั้งหมดมีผิดกี่ข้อ และเขาก็ได้ชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง"
@ที่ผ่านมาพอเราเจอปกติก็จะส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ประจักษ์ บุญยัง : "แต่ก่อนส่งได้เลย แต่ตอนนี้ก็ต้องให้เขาชี้แจงต่างๆ เพราะฉะนั้นกระบวนการมันยาวขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นเป็นธรรมกับคนถูกตรวจ ได้รู้ว่าเขาผิดอะไร แล้วเขาก็ชี้แจงได้อีกครั้งนึง แต่ถ้าไม่มีอะไรชี้แจง ไม่มีหลักฐานมาหักล้าง ก็ตามนั้นอันนี้คือกระบวนการตรวจสอบตามกฎหมายใหม่ที่ใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2562 การตรวจสอบตามกฎหมายก็จะใช้เวลามากขึ้นอันนี้มันก็ทําให้ กระบวนการตรวจสอบเราก็ต้องเปลี่ยนเปลี่ยนคู่มือ เปลี่ยนแนวทางปฏิบัติแล้วก็ออกวิธีการใหม่ ออกแล้วมันอาจจะมีปัญหาบ้าง ก็นําไปสู่การปรับตลอดเวลาในเรื่องของการตรวจสอบงบประมาณ"
@ หรือเพราะส่วนใหญ่จะเน้นเป็นความลับ เลยทำให้ สตง.ดูเงียบๆ
ประจักษ์ บุญยัง : "นี่คืออีกข้อหนึ่งที่แต่ก่อนในระหว่างการตรวจสอบจะเห็นว่านักข่าวถามว่าเราสารถที่ให้ข้อมูลได้ ผู้ว่าการสามารถอนุญาตให้ให้ข้อมูลได้ แต่นี่กฎหมายบอกว่าจน กว่าการตรวจสอบจะเป็นที่ยุติ เสร็จถึงจะเปิดเผยได้ ถึงจะให้ข้อมูลได้ มันก็ทําให้บางเรื่องเนี่ย มันมีข่าวมาแล้ว เราเข้าไปตรวจสอบก่อนแล้วก็สามารถที่จะให้ข้อมูลต่างๆได้ แต่ตอนนี้ก็คือต้องรอจบ ซึ่งคนอาจจะไม่สนใจโครงการนั้นแล้ว"
" อันนี้ก็คือกระบวนการต่างๆในแต่ละเรื่องที่จะออกมาสู่สาธารณะชนมันอาจจะไม่ได้เป็นข่าวแต่ถ้าดูสถิติจํานวนเรื่อง จํานวนความเสียหาย เราก็ยังตรวจพบโดยปกติ มันก็จะมีปีหนึ่งเอ่อมีเรื่อง 4-5 พันล้านบาท ที่เป็นความเสียหาย บางปี 2 หมื่นล้านบาท บางปี 4 หมื่นล้านบาท รวม 6 ปี ก็ไปรวมตัวเลขความเสียหายมาได้ประมาณแสนล้านบาท"
"จริงๆคอนเซ็ปต์ตรงนี้ ตั้งแต่มาเป็นผู้ว่าฯ เราก็บอกตั้งข้าราชการที่ทำงานว่า สิ่งที่เราพบปีละ 2-3 หมื่นล้านบาทหรือขนาดนี้มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเห็น มันเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น เพราะอันนั้นคือความเสียหาย ความเสียหายต่อเงินแผ่นดินของเรา มันก็เลยนําไปสู่วิธีการกระบวนการต่างๆที่เราจะทํายังไงให้เขาไม่ทําผิดตั้งแต่เริ่มต้นเลย"
"เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ก็เอื้ออํานวยในการทํางานในคอนเซ็ปต์นี้ก็คือ ถ้าคุณสงสัยว่าอันนี้มันทําได้ไม่ได้ ให้ถามเลย ถามแล้วต้องตอบ มาตรา 57 บอกเลยว่าถามแล้วต้องตอบ ถ้าตอบไปแล้ว จะผิดจะถูก สตง.ตอบแล้วทําตามที่เราตอบไป เขาไม่ผิดแล้ว ถือว่าเขาทำโดยชอบ ตรงนี้ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เรามีบทบาทในเชิงการให้คําปรึกษาซึ่งในแนวทางการทํางานของ สตง.ในที่อื่นและในประเทศที่พัฒนาแล้วก็เป็นแบบนี้"
@ ส่วนใหญ่ความเสียหายที่เกิดขึ้น มันเกิดกับโครงการลักษณะอะไร
ประจักษ์ บุญยัง : "พื้นฐานจะเป็นเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง แต่อีกส่วนที่เป็นตัวเลขค่อนข้างสูงในบางปีก็คือ เรื่องของสิ่งที่จัดซื้อจัดหามาแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ สร้างมาร้างซื้อมาไม่ได้ใช้ปีที่สูงที่สุด 4 หมื่นกว่าล้านบาทก็เครื่องบินทําการบินไทย ตอนนั้น 7-8 ลำ แล้วก็เครื่องสํารองที่ซื้อไว้ ก็ไม่ได้ใช้เพราะเครื่องเก่ายังไม่เสียเลยนะครับ เหตุเกิดในช่วงปี 2562-2563 มันก็ประมาณปีหนึ่ง ที่ซื้อไป 40,000กว่าล้านบาท อันนี้ถือว่าเป็นความเสียหาย และโครงการใหญ่ๆช่วงช่วงหลังก็ถือว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เราถือว่าเงินที่ลงทุนไปไม่ได้เกิดประโยชน์ไม่คุ้มค่า ในรายงานมันจะมีการระบุว่าอาจให้เกิดความเสียหายเพราะว่าถ้า เอาสิ่งต่างๆเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ความเสียหายมันจะจะกลับมานะครับ แต่มันก็ส่วนใหญ่ก็จะเสียไปโดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ"
"กรณีอย่างนี้มันคือสิ่งที่ที่เป็นประเด็นปัญหาในระดับโลกนะ เพราะเราเคยสัมมนากันว่าเอ้ยถ้าเราไปตรวจโครงการในลักษณะที่เป็นการวัดผลประสิทธิภาพแล้วโครงการทําไปแล้วไม่บรรลุจุดประสงค์ ไม่เกิดประโยชน์ตามนั้น มันจะไปเรียกคืนกับใคร เพราะถ้าไม่มีเจตนาไม่มีกระบวนการหรือพฤติกรรมที่แสดงถึงเจตนาในการทํางานว่าต้องการให้โครงการมันล้มเหลวมันก็ไม่สามารถที่จะเอาผิดได้ หรือแม้กระทั่งว่าถ้าความเสียหายลักษณะอย่างนี้ เราจะไปโฟกัสกับผู้บริหารที่คิดที่ทํา อันนี้มันจะเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน มันจะทําให้ผู้บริหารคิดแล้วไม่แน่ใจ ไม่กล้าทํา มันจะมีผล กระทบต่อการพัฒนาประเทศ เขาบอกว่าถ้ามันถ้ามันเป็นเรื่องเชิงนี้ ไม่มีประเทศไหนที่จะเอาผิดกับการทํางานแล้วไม่บรรลุจุดประสงค์หรือไม่ใช้ประโยชน์ ยกเว้นมีกระบวนการ มีขั้นตอนที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า อันนี้ไม่ประสบความสําเร็จ ไม่คุ้มแน่"
@ วิธีแก้ปัญหาอาจจะต้องใช้วิธีเข้าไปไปสกัดล่วงหน้า
ประจักษ์ บุญยัง : "ใช่ เพราะเห็นโครงการในช่วงโควิดที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้แผนงานที่ 3 เรื่องการฟื้นฟูที่ สตง. มีความเห็นไปก่อนเลย ว่าถ้าทําไปแล้ว มันไม่ประสบความสําเร็จแน่ เห็นว่าควรต้องปรับ ก็บอกไปตั้งแต่ตอนนั้นเลย ซึ่งเราก็โดนว่าว่ายังไม่เห็นทั้งหมดเลย แต่ว่าเรารู้แล้วว่าต้องมีปัญหา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาก็ปรับตามที่เราแนะนํา เพราะเราแนะด้วยด้วยประสบการณ์จากการตรวจสอบ ว่าโครงการลักษณะนี้ทําไปแล้วสุดท้ายแล้วมันจะไม่บรรลุจุดประสงค์ มันจะไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วมันเสียหายมากกว่าการทุจริต มันเสียหายมากกว่าการเบิกเกิน ก็บอกไป"
"ในช่วงช่วงนั้นก็เราบอกเยอะเหมือนกัน โครงการต่างๆเราก็ได้รับคอมเม้นท์กลับมา ว่าเขาจะเร่งทํา ทำไม สตง.ไปทำอย่างน้อน คือเราก็ไม่อยากให้เกิดความเสียหาย เรามีประสบการณ์เรามีบทเรียน อันนี้ก็จะให้เห็นว่าในบทบาทนอกจากเรื่องการตรวจสอบแล้ว ตรวจแล้ว พบอะไร แล้วเสนอแนะให้แก้ไขยังไง เราก็บอกไปตามนั้น แต่ส่วนที่เราจะบอกก่อนเพื่อไม่เกิดความเสียหายเนี่ยเราก็บอก"
@ ดูเหมือนว่าในยุคที่เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ พอเข้ามาก็มีภารกิจงานเข้ามาตั้งแต่เรื่องโควิด ทำให้สิ่งที่วางไว้มันช้าไป
ประจักษ์ บุญยัง : "ใช่ มันช้าไป เรื่องหลายๆเรื่องที่มันช้าไป พอเราปรับตัวได้ในเรื่องการตรวจรายงานการเงินปี 2563 มาเจอโควิดมาโตปี2563-2564 มันหนักหนาสาหัสแล้วมันก็เป็นโครงการต่างๆที่ต้องทําด้วยความรวดเร็ว ผมออกเป็นคลิปเลยว่าการตรวจของเราให้คํานึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสําคัญ อะไรที่มันต้องทําเพื่อความรวดเร็ว โรงพยาบาลสนามอะไรต่างๆที่ต้องทําเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเราต้องดูตรงนั้นก่อน อย่าไปยึดติดกฎเกณฑ์มาก มันถึงขั้นที่เราลงไปตรวจเรื่องเตียงต่างๆไม่เป็นไปตามนั้น ไม่เป็นไปตามนี้ มันทําให้เกิดเกิดความชะงักงันในการทำงาน"
@ ถือว่าโชคร้ายหรือไม่
ประจักษ์ บุญยัง : "ผมไม่ได้ถือว่าโชคร้ายเพียงว่าสถานการณ์ มันเข้ามาทําให้เราต้องแก้ปัญหาไปบางส่วน ในวิกฤตต่างๆมันมีโอกาสต้องเรียนว่าในช่วงที่เราเริ่มโครงการอีออฟฟิศเราไป การทํางานที่เป็นระบบกระดาษมันเปลี่ยนมาอยู่ในในอิเล็กทรอนิกส์หมด ไปครั้งแรกปุ๊บได้เสียงบ่นกลับมาเลยว่ายากแต่ด้วยสถานการณ์บังคับ ต้องทำงานจากที่บ้าน มันทําให้เขาปรับตัวแล้วปรับตัวได้อย่างรวดเร็วจนตอนนี้ส่งงานมาปุ๊บ ถามถึงหน้าห้องแล้วว่าผู้ว่าฯเปิดหรือยัง หรือเปิดแล้วยังไม่ได้มีความเห็นอะไรไปก็ถามแล้ว มันเร็วขึ้นมากในเรื่องอย่างนี้ มันก็ถือว่าเป็นการทำวิกฤตให้เป็นโอกาสเหมือนกัน แต่ในยุคนั้นตรวจสอบแน่นอนแล้วมันกระทบค่อนข้างเยอะ"
@ อะไรที่รู้สึกประทับใจที่สุด
ประจักษ์ บุญยัง : "มันอาจจะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่เราวางไว้ ระบบอีออดิทก็เป็นสิ่งที่เราภูมิใจกับมัน เรามุ่งที่จะทําระบบที่จะรองรับการทํางานในอนาคตทุกประเภท เราเสียเวลาในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ตอนแรกว่าจะ 3 เดือนก็ใช้เวลาเป็นปี เพราะว่าเราไม่ได้ทํางานระบบนี้ไม่ได้ทํางานคนเดียว ระบบนี้ต้องทํางานกับหน่วยงานของรัฐทั้งหมดเลย ถ้าเขาไม่รู้ว่าระบบต่างๆที่พัฒนาเข้ากับระบบเราไม่ได้ อันนี้จะเป็นปัญหา ดังนั้นต้องศึกษาทั้งหมดว่าจริงๆแล้วมันจะต้องมีจุดที่จะรวมหรือแปลงข้อมูลเข้าสู่ระบบเราได้ยังไงถ้าหน่วยงานต่างๆต่างกันก็ใช้เวลาเมื่อเริ่มทําแล้วผมคิดว่าหลายๆเรื่องที่เราลองทําเป็นสแตนด์อโลนอย่างที่ว่า มันจะเร็วและตรวจได้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์มากยิ่งขึ้น อันนี้ก็จะเป็นอันหนึ่งที่ เราก็ภูมิใจลึกๆว่าโอเคล่ะเราได้วางตรงนี้ไว้แล้ว ระบบการทํางานในสํานักงาน วันนี้ก็เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ถึงบางส่วนมันจะเป็นปัญหาในการทํางานผมยกตัวอย่างง่ายๆว่าคือเราให้คนมาวางระบบหนังสือเข้าหนังสือออก ถ้าเป็นหน่วยงานอื่นที่เขามีประสบการณ์เขาก็ทํามาแล้วนะ หนังสือเข้าหนังสือออกก็แผ่นสองแผ่นแต่สิ่งส่งมาให้ สตง.ประกอบด้วยเอกสารหลักฐานจำนวนมาก เซิร์ฟเวอร์ที่ มันไม่พอว่าเพราะไม่คิดว่าเวลาส่งมาสิ่งที่ส่งมาด้วยตามหนังสือ มันจะหนา สแกนเข้าไปมันใช้พื้นที่เยอะ แต่ว่ามันก็ทําให้เราทำงานได้ เพียงแต่ว่าการค้นเกินสักร้อยวันขึ้นไป มันก็อาจจะต้องให้ศูนย์ดูแลเป็นคนค้นหา"
@อะไรที่รู้สึกผิดหวังมากที่สุด
ประจักษ์ บุญยัง : "เราไม่ได้ผิดหวังเพียงแต่ว่าเมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ เราสามารถแก้ปัญหาให้เป็นไปได้ ก็ในช่วงวิกฤติเนี่ย การบริหารองค์กร งาน คน ในช่วงวิกฤตช่วงโควิด มันเป็นเรื่องความท้าทายว่าเราก็ต้องทํายังไงก็ หลายๆหน่วยงานก็ตั้งคณะเป็นวอร์รูมว่าตอนนี้สถานการณ์เป็นไง ผมก็มองว่าถ้าถ้าลักษณะของวิกฤตต่างๆมันก็จะต้องมีเรื่องของการสั่งการเป็นซิงเกิลคอมมานด์ ไม่ต้องรอฟังอะไรที่เป็นเป็นมติที่คณะผู้บริหารตัดสินใจมันไม่ทันการ ผมก็ใช้ลักษณะซิงเกิลคอมมานด์ ฟังข้อมูลปุ๊บแล้วกระจายอํานาจ ให้แต่ละภาคดูสถานการณ์ตัวเองแล้วตัดสินใจมอบอํานาจเต็มให้ไปเลยมันจะทําให้ไม่ต้องมานั่งรอส่วนกลางจะประกาศออกมาวันนี้ต้องเป็นยังไง สถานการณ์วันนี้ต้องเป็นยังไงซึ่งแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน ก็ให้อํานาจไปเลย ไม่ว่าจะภารกิจน้ำท่วมหรืออากาศต่างก็ให้อํานาจเต็ม เหมือนผู้ตรวจการภาคก็เป็นเหมือนผู้ว่าการตรวจเงินภาคเลย ให้เขาตัดสินใจ ให้เขาดูสถานการณ์ต่างๆ นอกจากมันจะแก้สถานการณ์ แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันการแล้ว ก็มีการฝึกบุคลากรของเราที่ไม่ต้องรอฟังการสั่งการต่างๆ ที่คุณต้องรับผิดชอบต้องตัดสินใจ"
"การดําเนินการมันก็ทํางานเร็วขึ้นจริง อันนี้ถือเป็นบทเรียนมาจากจากการตรวจสอบรายงานการเงิน เพราะหลายภูมิภาคมันค่อนข้างเยอะ ถ้าผมมารอดูทั้งหมดแล้วสั่งการเนี่ย มันไม่ได้ ก็มอบไปเลย กระจายอํานาจให้ภูมิภาคไป ซึ่งเขาไม่ได้แบ่งเป็นจังหวัดแล้วเขาเอาแผนที่ทั้งภาคมาขีด เช่นตรงนี้อําเภอนี้ควรจะให้สํานักจังหวัดนี้ ตรวจ เพราะว่าตรงนี้น้อยกว่าตรงนี้มากกว่า เขาบริหารจัดการกันเองหรือตรวจเสร็จแล้วปุ๊บมาช่วยจังหวัดใหญ่ เขาบริหารจัดการกันเองแล้วผลงานมันก็ได้ 99% คือถ้าความผิดหวัง ก็คือการที่ทำไม่ได้ตามที่คาด เพราะผมก็อยากให้มันเร็วๆทุกอย่าง อย่างระบบอีออดิท ผมให้เวลา 3 เดือน บอกทําไม่เสร็จ มันเจอนี่เจอนู้น เราต้องมองไปถึงความสําเร็จข้างหน้าว่ามันจะมีอะไรบ้าง ถ้ามันมีเหตุผลก็โอเค แต่มันก็เลยมาเป็นปี ทั้งที่มันต้องเสร็จตอนก่อนที่ผมจะจะครบวาระแต่มันไม่เสร็จ ด้วยมีเหตุมีผลก็ต้องว่ากันไป แล้วด้วยสถานการณ์ต่างๆมันคือความคาใจแน่นอน อีกเรื่องก็คือเรื่องก็ตึกสํานักงานอันนี้เป็นภายใน เราไม่เคยมีสํานักงานเป็นของตัวเอง เราเริ่มต้นที่จะสร้างสํานักงานตัวเองตั้งแต่ปี 2551-2552"
"สมัยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ก็หาสถานที่ออกแบบต่างๆซึ่งมีประเด็นปัญหามายาวนานจนไม่รู้จะเอาตรงไหนอะไรยังไง ก็มาถึงผมก็ต้องมาตัดสินใจว่า เอาแบบไหนยังไงจะเป็นแบบไหนยังไง ก็แบบเก่ามันใช้ไม่ได้ซึ่งเราก็เอาแบบเก่าไปหาที่อธิบดีกรมธนารักษ์และก็บอกว่าไม่มีที่ไหน เราก็บอกว่าเอาแบบไปหาที่ เขาก็บอกว่าต้องได้ที่ก่อนแล้วออกแบบ มันก็หาไม่ได้สักที ก็ต้องตัดสินใจว่า วันนี้เราหาที่แล้วออกแบบใหม่ เราก็ต้องยอมทิ้งตัวแบบเดิมไปไม่งั้นก็จะไม่ได้สัก ไปทางจังหวัดไหนก็ไม่รู้ที่จะรองรับได้หรือไม่ มันก็เป็นการตัดสินใจว่าเราต้องมีบ้านของเราที่เป็นของตัวเองสักหลังนึง ก็ต้องตัดสินใจว่า โอเค ออกแบบใหม่ เป็นที่ตรงสวนจตุจักรแต่เป็นที่เช่า ซึ่งต้องเสร็จ 31 ธ.ค. 2566 แต่ตอนนี้ก็ต้องรออีก18เดือน ก็อยากทําให้เสร็จในช่วงเวลาที่ผมดํารงตําแหน่งอยู่ จริงๆผู้รับจ้าง ตอนเซ็นสัญญา ผู้รับจ้างก็ถามผมครบวาระเมื่อไหร่ผมก็บอก 26 ก.พ. 2567 เขาก็บอกว่าสัญญามัน 31 ธ.ค. 2566 เขาก็บอกว่ามันทันแต่ว่าด้วยสถานการณ์ ก็คงจะเป็น 18 เดือนต่อจากนี้ไป ผมประชุมล่าสุดก็ ต้องมาสัญญาลูกผู้ชายกันกับผู้รับจ้างว่าจะได้เมื่อไร"
@มีคนบอกว่า สตง.เงียบเพราะว่าเรากลัวรัฐบาลทหารจริงหรือไม่
ประจักษ์ บุญยัง : "ไม่จริงครับ โครงการใช้เงินกู้โควิด อันนี้โดนเต็มๆ กระทรวงคลังบ่นผมตลอด ว่าเขาทําในช่วงสถานการณ์ที่เป็น วิกฤตเนี่ยมันไม่มีอะไรเปอร์เซ็นต์หรอก ผมเข้าใจว่า แต่ว่าเราในบทบาทในการตรวจสอบในงบประมาณส่วนใหญ่ที่ลงไปลงไไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่งโครงการเที่ยวด้วยกัน หรือการโครงการหลายโครงการในช่วงนั้นเราคอมเม้นท์ค่อนข้างเยอะ บอกว่าให้ตามข้อเท็จจริง กระทรวงคลังเป็นหน่วยงานซึ่งแต่ก่อนเป็นคนคิดและให้คนอื่นทําแต่ตอนนี้คิดแล้วทํา ต้องทําเองพอทําเองก็จะมีปัญหาว่ามันไม่ได้ตามนั้น เราก็ตรวจตามวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่วางไว้ ถ้าทําแล้วไม่ได้เราก็บอกว่าไม่ได้"
@ โครงการอะไรในยุครัฐบาลทหารที่เราฟันชัดๆ
ประจักษ์ บุญยัง : "เราไม่ถึงกับฟัน เพราะทุกโครงการมันมีดี มันมีเสียมันมีที่ไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะฉะนั้นมันก็คงไม่แย่ร้อยเปอร์เซ็นมันก็ไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะฉะนั้นส่วนที่จะปรับปรุงยังไง เราให้ความสําคัญตรงนั้น มันยังไม่มีโครงการอะไรเหมือนจํานําข้าวให้เห็นนะว่าเอ้ยมันสุดท้ายแล้วเสียหายอย่างงั้นเลย อันนั้นเราก็เต็มที่เหมือนกัน"
@ ปัจจุบันเป็นรัฐบาลภาคประชาชน สตง.กลัวหรือไม่?
ประจักษ์ บุญยัง : "เราก็ไม่ได้กลัวเหมือนกัน มันก็เป็นถ้าเป็นโครงการที่ดูพิเศษ มันก็เป็นเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ท คือเขาแถลงนโยบายมาช่วง ก.ย. เราก็ตั้งคณะทํางานตั้งแต่ ก.ย. แต่ถามว่าเราตั้งแล้วเราทําอะไรก็ต้องดูกฎหมาย บทบาทหน้าที่เราซึ่งก็หลายคนก็มองว่าทําไม สตง.ไม่ใช่มาตรา 8 ในการที่จะระงับยับยั้ง ก็ต้องไปทําความเข้าใจก่อนว่ามาตรา 8 คือที่ไปที่มานี้มาจากจํานําข้าวว่าถ้าดําเนินโครงการไปแล้วเกิดความเสียหายเนี่ย ไม่มีใครระงับและยังได้ เขาก็มาเขียนตรงนี้ว่าอํานาจผู้ว่าการดําเนินแผ่นดินในการเสนอผลการตรวจสอบการกระทําที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายต่างๆแล้วก่อให้เกิดความเสียหายเพราะฉะนั้นมาตรา8 คือมันต้องเริ่มดําเนินการก่อน แล้วเข้าไปตรวจสอบแล้วผู้ว่าการฯเห็นว่ามันจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงขึ้นกับวินัยการเงินของรัฐอันนี้แถึงจะจะนําไปสู่การเสนอมาตรา 8 ได้แต่ถ้าโครงการยังไม่ได้มีการสำรวจเบื้องต้นเราไม่สามารถใช้ตรงนี้ได้"
@ มีข่าวว่า มติ คตง. ให้ตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาเรื่องเพิ่มเติม
ประจักษ์ บุญยัง : "ใช่ คือเราศึกษามาในประเด็นคล้ายๆกับตัวเงื่อนไขต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ ประเด็นนี้เราก็ไม่มีว่าเขาบอกจะใช้งบประมาณหรือจะใช้ เอสเอ็มไอก็คือธนาคารเฉพาะกิจในการที่จะดําเนินการ แต่เส้นทางตรงนั้นมันก็ไปไม่ได้ พอมันไปไม่ได้มันจะใช้เงินกู้ เงินกู้ก็ต้องมาเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ก็ดูเรื่องความเสี่ยง เรื่องของเศรษฐกิจ แต่เราทําก็นําเสนอ คตง.เพราะว่าด้วยอํานาจของผู้ว่าการฯเนี่ยมันไม่สามารถออกตามมาตรา 8 ได้ คตง.มีอํานาจตามมาตรา 27 วงเล็บ 4 ในการที่เสนอแนะรัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆซึ่งเขาก็ เสนอไปแล้ว มันยังมีบางประเด็นที่อาจยังไม่ชัดเจนข้อมูลต่างๆในการวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจก็ดี การวิเคราะห์ความเสี่ยงก็ดี คือมันเป็นการคาดการณ์ข้างหน้าทั้งนั้นเพราะว่าโครงการนี้ลักษณะนี้มันยังไม่เคยมี มันต่างจากจํานําข้าวที่ คือเราเคยตรวจสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรารู้เลยว่าโครงการจํานําข้าวมันเป็นอย่างงี้ เรารู้แล้ว ตรวจแล้วรู้ว่ามันมีจุดอ่อนอย่างงี้ ควรต้องแก้ไขอย่างงี้เราสามารถบอก"
"ตอนนั้นว่าเรารู้แล้วว่าเราเคยตรวจโครงการนี้อยู่แล้วโครงการก็ทําในลักษณะที่ที่คล้ายกันแล้วมีส่วนต่างที่จํานําทุกเมล็ด เรายิ่งเห็นอันนี้เราบอกได้เลยแต่ดิจิทัลวอลเล็ทมันยังไม่เคยมีลักษณะอย่างงี้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องดูว่ามันควรจะเป็นยังไง การที่เรามองวิเคราะห์ไปข้างหน้า ทางคณะกรรมการก็มองว่ามันยังมีข้อมูลบางส่วน ที่สำนักงานต้องมาตั้งอนุกรรมการเข้ามาศึกษา ดูว่าเราจะมีข้อเสนอแนะไปยังไง ตัวสํานักงานดำเนินการสำรวจ ทําเสร็จแล้ว เข้า คตง. ไปแล้ว คตง.ก็ใช้อำนาจของท่านตั้งอนุกรรมการมาทําตรงนี้ ถ้าไปข้างหน้า เกิดมีการดําเนินการขึ้นมา มีข้อเสนอแนะไปก็สามารถดำเนินการได้ทันที สำนักงานเองเมื่อเมื่อรัฐบาลตัดสินใจทําเอาเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติชัดเจนว่าต้องทํายังไง เราก็จะเริ่มติดตามตรวจสอบและตรวจว่าการกู้เงินเป็นไปตามเงื่อนไขต่างๆไหม การดําเนินการต่างๆในแต่ละเรื่องแต่เรื่องเป็นยังไง มันก็จะเป็นสิ่งที่เราต้องต้องทําต่อ"
@ สิ่งที่อยากฝากถึงผู้ว่าฯ สตง.คนใหม่
ประจักษ์ บุญยัง : "ก็คงเป็นสิ่งที่ยังทําไม่สําเร็จก็คือเรื่องของอีออดิท ซึ่งรองมณเฑียร (นายมณเฑียร เจริญผล) ที่ คตง.เห็นชอบให้เป็นผู้ว่าสตง.คนถัดไปเป็นผู้ที่ร่วมกันทำโครงการนี้มาด้วยกันตั้งแต่ต้น มันก็เป็นสิ่งที่ท่านจะสานต่อได้อยู่ แล้วแนวคิดในเรื่องการทํางานในเรื่องของใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยก็ อยู่ในความคิดของท่านอยู่เหมือนกันเพราะฉะนั้นอันนี้ก็ถือว่าเป็นโครงการสําคัญที่น่าจะสานต่อไป อีกเรื่องก็คือเรื่องการหาผู้สอบบัญชีน ถึงแม้ที่ผมเล่าให้ฟังว่าจะมีผู้สอบบัญชีเข้ามา 120 กว่าหน่วยไป แต่ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาหนักคือท้องถิ่นเราก็จะพยายามที่จะจะสร้างผู้สอบบัญชีภาครัฐขึ้นมา แท็กออดิเตอร์ (ผู้ตรวจสอบเรื่องภาษี)ที่มีวัตถุประสงค์ตรวจเฉพาะองค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ "
"แต่ว่าเราควบคุมในเรื่องของ คุณสมบัติซึ่งอาจจะไม่ถึงขั้นต้องเป็นซีพีเอแต่จะเป็นเป็นความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบเรื่องท้องถิ่น ทางสภาวิชาชีพก็ให้ความร่วมมือเ ยินดีเต็มที่ที่จะดูในแง่ของวิชาการในการสอบต่างๆแต่ยังติดข้อกฎหมายที่เรายังยังไม่สามารถออกได้ อาจจะมีการแก้กฎหมายต่อไป เรื่องท้องถิ่นก็จะมีอีกส่วนนึงที่เราก็อยากให้เทําให้ดีนะเรา ที่ผ่านมามีโครงการประเมินวินัยการเงิน เราก็มีตัวชี้วัดต่าๆที่จะประเมินมันก็เหมือนตรวจสุขภาพ ดูว่าวันนี้คุณอ่อนเรื่องอะไร เรื่องจัดซื้อจ้างเป็นอย่างไร เรื่องการทํางานให้ประสบความสําเร็จเป็นยังไงและประเมินออกมา อันนี้เราก็ให้เขาแก้ไขปรับปรุง สงสัยยังไงก็ให้มันดี ผมเรียกพวกว่าเป็นโครงการตรวจสุขภาพประจําปี ให้เขาทําให้ถูกเพราะฉะนั้นถ้ามันมีจุดอ่อนและป้องกันยังไงได้บ้าง เรื่องนี้เขายังขาดผู้ตรวจสอบภายในเขายังขาด หรือไม่มีนักบัญชีที่ทําตามต่างๆควรจะต้องทํายังไง อันนี้ก็จะน่าจะต่อเนื่องไป แล้วก็ทําคู่มือออกมา การทํางาน การจ่ายเงินในเรื่องกรณีของเทศกาล กรณีของจัดการการกีฬา กรณีของเรื่องต่างๆที่เคยเป็นปัญหาที่เราทักท้วงมาแต่ก่อน วันนี้เราทําให้เห็นเลยว่า ถ้าคุณจะทําเรื่องนี้คุณทําแบบนี้นะ 1 2 3 4 5 มันจะได้ไม่ต้องมาทําผิด แล้วคนที่ยังไม่มั่นใจไม่กล้า ทําเค้าก็มั่นใจ คนที่ทําโดยโดยไม่คํานึงถึงกฎระเบียบก็ต้องกลับไปดูกฎระเบียบ มันก็จะทําให้โดยภาพรวมมันดีขึ้น"
"กรณีแสดงความเห็นไม่ถูกต้อง ไม่สามารถแสดงความเห็นได้ พวกนี้ต้องลดลง พอตรวจพบปุ๊บเขาบกพร่องอะไร ต้องเข้าไปแนะนํา เข้าไปดูว่าคุณต้องแก้อะไรตัวเลขมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดีที่สุดก็คือ เราตรวจรายงานการเงินของหน่วยงานของรัฐของประเทศไทยทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขอย่างตรงไปตรงมา มันก็เป็นตัวชี้วัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐตัวหนึ่ง มันก็สามารถทําให้ซีพีไอของประเทศมันดีขึ้นในส่วนนี้ ส่วนอื่นๆถ้าตัวรายงานการเงินมันสามารถอธิบายได้ ผมคิดว่ามันก็เป็นตัวนึงที่จะผลักดันต่อไป สิ่งที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแน่นอน มันก็ต้องแก้ไข เราตรวจรายงานแล้วพบอะไรที่เบิกจ่ายไม่ถูกต้องแล้วเราตรวจต่อ เราตรวจตามปฏิบัติการตามกฎหมายต่อไปว่าคุณจะแก้ยังไง มันก็จะทําให้ระบบมันมันดีขึ้นเรื่อยๆ"
@หลังวันที่ 27 ก.พ. คนชื่อประจักษ์ บุญยัง จะไปทำอะไรต่อ
ประจักษ์ บุญยัง : "ถ้ามีทาบทามก็ยังไม่ได้รับปากชัดเจน แต่ว่ามันเป็นเรื่องของของงานการกุศลซะเป็นส่วนใหญ่ ในงานมูลนิธิหรือว่างานวิชาการอะไรต่างๆ"
"แต่เราอยู่ สตง.มานานอีกไม่กี่วันก็ครบ 37 ปี ผมก็เต็มที่ กับบทบาทที่ผ่านมาไม่ว่าช่วงไหนยังไงตั้งแต่เริ่มต้นมาช่วงที่เป็นรองเป็นต่างๆก็ทําเต็มที่จนถึงเป็นผู้ว่าฯก็เต็มที่ตลอดก็ถือว่าได้ หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ทําตรงนี้แล้ว มันก็จะมีคนรุ่นหลังๆที่เข้ามาทําต่อไป"
"เราก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่มันทันสมัยขึ้น เราอาจจะเป็นคนรุ่นเก่าที่อาจต้องรอดูคนรุ่นใหม่ๆเข้ามาทําต่อไป แต่ผมคิดว่ามันต้องดีขึ้นในสถานการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนไปเพราะฉะนั้นเราก็อย่าไปจํากัดว่าต้องเป็นเรา แต่ว่าในบทบาทอื่นที่ไม่ในเชิงหน้าที่ตามกฎหมายก็ยินดีเสมอ"