"...ปัจจุบันนายมณเฑียร ดูแลรับผิดชอบงานตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่น ผลงานที่สร้างชื่อ อาทิ การเรียกคืนงบจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีลักษณะการใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้องซ้ำซ้อน รวมไปถึงการเป็นแม่งานสำคัญในการพัฒนาระบบงานการตรวจเงินแผ่นดินอิเล็กทรอนิกส์หน่วยงานภาครัฐของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน (พ.ศ. 2566 – 2570 ) ของ คตง. ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบงานการตรวจเงินแผ่นดินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปโดยโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ยุคดิจิทัล..."
นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ปรากฏชื่อได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา เพื่อสรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าฯ สตง.) คนใหม่ แทนนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง.ที่จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระ ในวันที่ 27 ก.พ. 2567 นี้
หลังการประชุมดังกล่าว คตง.ระบุเป็นทางการว่า ได้ลงมติเลือก นายมณเฑียร เจริญผล เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ดังนั้น นายมณเฑียร เจริญผล จึงเป็นผู้ได้รับการสรรหาให้เป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 12 และมาตรา 13 รวมทั้งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 และได้มีมติเสนอชื่อ ผู้ได้รับการคัดเลือกต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
มาดูโพรไฟล์เบื้องต้น เกี่ยวกับ นายมณเฑียร เจริญผล กันหน่อย
ในเว็บไซต์ สตง. ระบุประวัติโดยย่อ นายมณเฑียร เจริญผล ไว้ดังนี้
ตำแหน่งปัจจุบัน :
รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
การศึกษา/อบรม/ดูงาน:
บริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นิติศาสตรบัณฑิต และนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฏหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.58)
หลักสูตรกระบวนการบริหารงานยุติธรรมระดับสูง (บยส.18)
หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.3)
หลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.)
ประสบการณ์การทำงาน:
ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ปี พ.ศ. 2543 - 2544 และ พ.ศ. 2556 - 2560)
อนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (อนุ คตช.)
กรรมการสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
อนุกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช.
อนุกรรมการ ปปง. สำนักงาน ปปง.
ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 (ระดับ 10) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
กรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กระทรวงการคลัง/สำนักงานอัยการสูงสุด/รัฐสภา
หัวหน้ากองงานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินของรัฐ
อนุกรรมการข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (อก.ตง.)
กรรมการความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลัง
กรรมการพิจารณารางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศ ในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง
อนุกรรมการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นเงินรางวัลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กรรมการประจำหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า
อนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ
กรรมการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
กรรมาธิการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน วุฒิสภา
ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร
ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์การตรวจเงินแผ่นดิน จำกัด
ประธานกรรมการสวัสดิการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
***เกียรติประวัติ - ข้าราชการพลเรือนดีเด่นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปี พ.ศ. 2544
***เกียรติประวัติ - เหรียญเชิดชูเกียรติ จากสถาบันพระปกเกล้า ปี พ.ศ. 2552 และ 2556
***เกียรติประวัติ - รางวัลกัลยาณมิตรกรมบัญชีกลาง ปี พ.ศ. 2559
ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer : CIO) ของ สตง.
ผู้บริหารข้อมูลระดับสูง (Chief Data Officer : CDO) ของ สตง.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์:
มหาวชิรมงกุฏ (ม.ว.ม.)
ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
หน่วยงานในความรับผิดชอบ :
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
สำนักตรวจสอบการเงินและบริหารพัสดุที่ 22
สำนักตรวจสอบการเงินและบริหารพัสดุที่ 23
สำนักตรวจสอบระบบสารสนเทศ
สำนักวินัยการเงินการคลัง
สำนักวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลัง
แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในการประชุมสรรหาผู้ว่าฯ สตง. คนใหม่ ของ คตง. ที่ผ่านมา มีการลงคะแนนเสียงเลือกถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก นายมณเฑียร ได้ 2 คะแนน ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ ได้คนละ 1 คะแนน คะแนนเสียงยังไม่ถึงสองในสามของจำนวน คตง.ที่มีอยู่ในที่ประชุม จึงได้มีการลงมติอีกครั้ง ปรากฏว่า นายมณเฑียร ก็ยังได้ 2 คะแนน ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆ ได้คนละ 1 คะแนน
ทางคตง. จึงมีการเลือกผู้สมัครในกลุ่มที่ได้คนละ 1 คะแนนมา 1 คน ได้ นายพรชัย จำรูญพานิชย์กุล อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จากนั้นจึงนำรายชื่อนายมณเฑียร และ นายพรชัย มาโหวตเลือกกัน
นายมณเฑียร ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า คะแนนเสียงถึงสองในสามของจำนวน คตง.ที่อยู่ในห้องประชุม นายมณเฑียร จึงได้รับการคัดเลือก ให้เป็นผู้ว่าฯ สตง. คนใหม่ ดังกล่าว
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า นายมณเฑียร ถือเป็นข้าราชการลูกหม้อของ สตง. มีอาวุโสสูงสุดในกลุ่มรองผู้ว่าฯ สตง. ทำงานกับอดีตผู้ว่าฯ สตง. มาหลายคน คนใกล้ชิดสนิทสนมใน สตง. มักจะเรียกกันติดปากว่า "ป๋ามณเฑียร"
ปัจจุบันนายมณเฑียร ดูแลรับผิดชอบงานตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างท้องถิ่น ผลงานที่สร้างชื่อ อาทิ การเรียกคืนงบจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีลักษณะการใช้จ่ายเงินไม่ถูกต้องซ้ำซ้อน รวมไปถึงการเป็นแม่งานสำคัญในการพัฒนาระบบงานการตรวจเงินแผ่นดินอิเล็กทรอนิกส์หน่วยงานภาครัฐของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน (พ.ศ. 2566 – 2570 ) ของ คตง. ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบงานการตรวจเงินแผ่นดินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินเป็นไปโดยโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ยุคดิจิทัล
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายมณเฑียร เคยลงสมัครเป็น คตง. มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก
ส่วนเส้นทางการขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ สตง. ของนายมณเฑียร จะเป็นจริงหรือไม่
ต้องรอดูว่าจะผ่านด่านการพิจารณาของวุฒิสภา เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไปได้หรือไม่? อย่างไร?