“...ป่า มิอาจดำรงอยู่ได้ด้วยต้นไม้ต้นเดียว หรือสัตว์ป่าเพียงตัวเดียว ธรรมชาติ ได้เรียงร้อยสายใยแห่งชีวิตของมวลพรรณพืช พันธุ์สัตว์ ให้เป็นหนึ่งเดียวกับผืนป่าตะวันตกทั้งผืน ซึ่งมิอาจฉีกแบ่งได้...”
หลับตาลงตรงนี้ ระลึกถึงสืบ นาคะเสถียร
เห็นภาพสืบ กำลังอุ้มชะนีน้อยที่ค้างคาคบไม้
ในน้ำเหนือเขื่อนเชี่ยวหลาน พาไปปล่อยป่า
เห็นภาพสืบพากเพียรพูด เพียรฉายสไลด์ให้คนรักป่า
เห็นภาพสืบถือปืนเดินป่า รุกไล่พรานใจทมิฬที่ห้วยขาแข้ง
เห็นภาพสืบจ่อปืนลั่นไกใส่สมอง
ดับชีวิตตนเองเพื่อประกาศความรักป่าและชีวิตสัตว์ป่า
การเสียสละชีวิตของสืบ นาคะเสถียร เมื่อปี พ.ศ 2533 ถือเป็นการจุดประกายก่อเกิดกระแสการตื่นตัว ในการอนุรักษ์ทรัพยากรรรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะในภาคประชาชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ
ส่งผลให้ในปีถัดมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีหน้าที่โดยตรงในการอนุรักษ์สัตว์ป่า และป่าไม้ ได้ทำหน้าที่ปกป้องและดูแลพื้นที่อนุรักษ์ ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นอย่างดี ได้มีการนำระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMARTPATROL) ซึ่งเป็นระบบลาดตระเวนที่เป็นวิทยาศาสตร์ ติดตามและตรวจสอบได้ เริ่มใช้ในพื้นที่ห้วยขาแข้งเป็นแห่งแรก ต่อมาได้มีการขยายผลนำไปใช้พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ
พื้นที่ห้วยขาแข้งได้รับการปกป้องพิทักษ์รักษาจากคนทำงานในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ปลอดพ้นการรบกวน ระบบนิเวศของป่ามีอิสระที่ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในตนเอง ทำให้สัตว์ป่าที่สำคัญมีประชากรเพิ่มขึ้น เช่น เสือโคร่ง วัวแดง ช้างป่า ฯลฯ ขณะเดียวกันเมื่อประชากรสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น ก็เริ่มเกิดปัญหาใหม่ กรณีสัตว์ป่าออกไปหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อนุญาตให้ประชาชนทำมาหากินได้ ติดกับเขตป่าอนุรักษ์ห้วยขาแข้ง โดยเฉพาะช้างป่า วัวแดง ลิง บางครั้งเสือโคร่ง สร้างความหวาดกลัวและความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตรของประชาชน ถึงแม้ว่าการออกไปหากิน ของสัตว์ป่าในพื้นที่การเกษตรจะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่ามาจากเหตุใด ซึ่งควรจะต้องมีการเก็บข้อมูลและทำงานวิจัยกันต่อไปเพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงในการร่วมกันหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ซ้ำซาก ในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดในเขตป่าอนุรักษ์
เพื่อที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ยั่งยืน จะต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่รายรอบเขตป่าห้วยขาแข้งให้เห็นว่าสัตว์ป่าไม่ใช่ศัตรู และจะอยู่ร่วมพื้นที่เดียวกันได้อย่างไร ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรและจะต้องมีกระบวนการอื่นๆมาเสริมด้วย แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่จะลดความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่ากับชาวบ้านที่พืชผลทางการเกษตรหรือบ้านเรือนเสียหาย ซึ่งอาจมีการทำร้ายสัตว์ป่าให้บาดเจ็บหรือล้มตายจากการป้องกันตัวหรือจากความโกรธแค้นเพื่อปกป้องผลผลิตและป้องกันตัวได้ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความขัดแย้งและความจริงจังต่อสัตว์ป่าและหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือการชดเชยและเยียวยาให้แก่เกษตรกรตามหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน
“ป่า มิอาจดำรงอยู่ได้ด้วยต้นไม้ต้นเดียว หรือสัตว์ป่าเพียงตัวเดียว ธรรมชาติ ได้เรียงร้อยสายใยแห่งชีวิตของมวลพรรณพืช พันธุ์สัตว์ ให้เป็นหนึ่งเดียวกับผืนป่าตะวันตกทั้งผืน ซึ่งมิอาจฉีกแบ่งได้”
30 ปี ของกลุ่มศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก เกิดจากความตั้งใจของศิลปินสาขาต่างๆ ยังคงใช้ความสามารถของแต่ละบุคคลและของกลุ่ม เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ข้อมูลที่ได้ร่วมสัมผัส เกาะติดพื้นที่จริง มาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านภาพจิตรกรรม สื่อผสม บทกวี และเสียงดนตรี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา การดำรงอยู่ของคนและสัตว์ บนผืนป่าอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้สังคมได้เห็นความสำคัญในการอยู่ร่วมกันของ คน สัตว์ ป่า ดิน น้ำ อย่างสมดุล และสมบูรณ์
คนยัง สัตว์อยู่ ป่ายั้งยืนยง
คนยัง : เกษตรกร ชุมชนที่อยู่ติดกับแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ หรือแนวกันชนห้วยขาแข้งมีทัศนคติที่จะอยู่ร่วมพื้นที่เดียวกับสัตว์ป่าได้ มองสัตว์ป่าเป็นมิตรมิใช่ศัตรู มีเมตตาคิดถึงอกเขาอกเรา ร่วมกันคิดค้นหาแนวทางที่จะป้องกันตัวและพืชผลเกษตร ทำการเกษตรที่ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อ พืช สัตว์ คน ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีสัตว์ป่ามาหากินในพื้นที่ทำกินแปรเปลี่ยนพื้นที่เป็นการสร้างรายได้กับเกษตรกรและชุมชน
สัตว์อยู่ : สัตว์ป่าสามารถดำรงชีวิตตามระบบนิเวศอย่างเป็นสุข ไม่ถูกรบกวน ไม่ถูกไล่ล่า ไม่ถูกทำร้ายเมื่อเข้ามาหากินในพื้นที่ทำกินของเกษตรกร
ป่ายั้งยืนยง : ป่าอนุรักษ์หรือผืนป่าห้วยขาแข้งได้รับการปกป้องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และชุมชนที่อยู่รายรอบผืนป่าห้วยขาแข้งเพื่อคงไว้เป็น “แม่ป่า” ที่เป็นต้นทุนที่จะส่งมอบความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมสู่ชุมชน ประเทศชาติ ป่าชุมชนใกล้บ้านชุมชนก็จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วย ส่งมอบผลผลิตจากป่าเพื่อยังชีพและแลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์ได้
33 ปีล่วงมาแล้ว สืบ นาคะเสถียร ใช้ชีวิตตนเองเป็นพลีให้คนรุ่นต่อมาได้สืบทอดจิตวิญญาณแห่งการรักษาป่า รักษาสัตว์ รักษาดิน รักษาน้ำ เพื่อให้ป่าอยู่ยั้งยืนยง
ผืนดิน ใช่เพียงดิน
ให้ชีวิน ได้เหยียบยืน
เลี้ยงป่า ทั้งแผ่นผืน
บำรุงน้ำ ผ่องอำไพ
ผืนน้ำ ใช่เพียงน้ำ
อันชุ่มฉ่ำ เย็นชื่นใจ
เลี้ยงดิน และป่าใหญ่
รินไหลหลอม รวมสายชล
ผืนป่า ใช่เพียงป่า
สรรพพฤกษา อ่าอำพน
เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผู้คน
บันดาลดล โลกสมดุล
(ประสาร มฤคพิทักษ์ ประพันธ์)
กลุ่มศิลปินรักผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสถาบันปฏิปัน และกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมพยุหะ จึงเชิญชวนทุกคนร่วมกันสืบทอดจิตวิญญาณสืบ นาคะเสถียร
ชมนิทรรศการ “คนยัง สัตว์อยู่ ป่ายั้งยืนยง” ตั้งแต่ 1 ถึง 31 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ถนนศรีนครินทร์ และร่วมสนับสนุนภาพวดของกลุ่มศิลปินรักผืนป่าตะวันตก อาทิเช่น อาจารย์ทวี รัชนีกร, อาจารย์ช่วง มูลพินิจ, อาจารย์อินสนธิ์ วงศ์สาม, วสันต์ สิทธิเขตต์ และสมภพ บุตราช ประธานกลุ่มรักษ์ผืนป่าตะวันตก รวมถึงน้าหงา สุรชัย จันทิมาธร ซึ่งเป็นประธานจัดงานในครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีเสื้อยึดที่ออกแบบโดยศิลปินจำหน่าย ทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรม ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ฟรี จนถึงวันปิดนิทรรศการ