"...ศาสตราจารย์อาเคอร์และแบ็กโดนัส ได้ให้ทริคการทำให้เรามีอารมณ์ขันมากขึ้น ทริคแรกคือ สร้างอารมณ์ขันให้เป็นไปตามธรรรมชาติของตัวเรา ไม่ทำแบบฝืน ๆ แต่มาจาก “สัญชาตญาณและความเป็นจริง” ไม่ต้องพยายามคาดคั้นออกมาเพื่อค้นหาประโยคหรือมุกเด็ด ๆ แต่ให้พูดออกมาจากใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของเรา อาทิ เราใส่กางเกงขาสั้นทำงานในช่วง work from home ทั้งนี้เราอาจไม่รับรู้ว่า เรามีเรื่องขำ ๆ ตลก ๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากมาย ดังนั้น จึงไม่ควรเสแสร้ง เนรมิตเรื่องขึ้นมา..."
Weekly Mail สัปดาห์ที่แล้ว ผมพาพวกเราเข้าเรียนวิชา “Humor is Serious Business” (อารมณ์ขัน เรื่องจริงจัง) หลักสูตรบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สอนโดยศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ อาเคอร์ (Jennifer Aaker) และนาโอมิ แบ็กโดนัส (Naomi Bagdonas) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์ ทั้งสองเชื่อว่าอารมณ์ขันนำมาสู่การสร้างบารมี ความผูกพันและความคิดสร้างสรรค์ เป็นแรงจูงใจและสร้างความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานในสัปดาห์นี้เรามาเข้าเรียนกับอาจารย์ทั้งสองท่านต่อดีกว่าครับ
ก่อนที่เราจะทำตัวเป็นคนขี้เล่นและมีอารมณ์ขันมากขึ้น เรามาทราบข้อเท็จจริงและหักล้างความเชื่อที่ย้อนแย้งกันก่อนครับ เริ่มต้นด้วยความเชื่อว่า อารมณ์ขันไม่มีพื้นที่ในการทำงานที่เคร่งเครียดจริงจัง แต่จากการสำรวจของซีอีโอบริษัทชั้นนำกลับพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 98 ระบุว่า อยากได้พนักงานที่มีอารมณ์ขัน ในขณะที่ร้อยละ 84 เชื่อว่าพนักงานที่มีอารมณ์ขันทำงานได้ดีกว่าคนที่ไม่มี ซึ่งในทางการแพทย์คนที่มีอารมณ์ขัน สมองจะได้รับสารโดพามีนที่หลั่งออกมากระตุ้นแรงจูงใจให้มีความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังนั้น เราสามารถทำงานด้วยความจริงจัง โดยไม่ต้องทำตัวให้เคร่งเครียด ราวกับแบกโลกไว้ทั้งใบ (We can do serious things without taking ourselves too seriously) [1]
นอกจากนั้น การเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้อง แอคอาร์ต สมาร์ทด๊อก ดูเคร่งขรึม น่าเกรงขามตลอดเวลา ทั้งนี้งานวิจัยของ เวย์น เดกเกอร์ (Wayne Decker) พบว่า ผู้นำที่มีอารมณ์ขันจะได้รับการประเมินจากลูกน้องดีกว่าในแง่ของการเคารพนับถือ การน่าร่วมงาน ซึ่งนำไปสู่ความรักและผูกพันในองค์กร
ท้ายสุด หลายคนเชื่อว่า อารมณ์ขันเป็นความสามารถที่มีมาแต่กำเนิด ไม่ใช่ทักษะที่เรียนรู้ได้ซึ่งคงเป็นบทสนทนาที่ไม่มีจุดจบ แต่หากเราเปิดใจที่จะยอมรับว่าทักษะนี้เราสามารถเสริมสร้างให้แข็งแกร่งได้ด้วยการฝึกฝนและใช้งาน ซึ่งทุกคนมีอารมณ์ขันอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งใน 4 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนักเดี่ยวไมโครโฟน คนน่ารัก คนมีเสน่ห์ หรือพลซุ่มยิง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้หลากหลายตามอารมณ์ สถานการณ์ และผู้ฟัง นักเดี่ยวไมโครโฟนและพลซุ่มยิง จำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อไรควรจะเล่นให้เบาลง ในทางตรงกันข้ามพวกคนมีเสน่ห์กับคนน่ารักไม่ควรจะจิกกัดตัวเองมากเกินพอดีจนกลายเป็นคนซื่อ ๆ ในสายตาคนอื่น [2]
ศาสตราจารย์อาเคอร์และแบ็กโดนัส ได้ให้ทริคการทำให้เรามีอารมณ์ขันมากขึ้น ทริคแรกคือ สร้างอารมณ์ขันให้เป็นไปตามธรรรมชาติของตัวเรา ไม่ทำแบบฝืน ๆ แต่มาจาก “สัญชาตญาณและความเป็นจริง” ไม่ต้องพยายามคาดคั้นออกมาเพื่อค้นหาประโยคหรือมุกเด็ด ๆ แต่ให้พูดออกมาจากใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของเรา อาทิ เราใส่กางเกงขาสั้นทำงานในช่วง work from home ทั้งนี้เราอาจไม่รับรู้ว่า เรามีเรื่องขำ ๆ ตลก ๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากมาย ดังนั้น จึงไม่ควรเสแสร้ง เนรมิตเรื่องขึ้นมา [3]
ทั้งนี้ เราอาจจะเริ่มง่าย ๆ จากการสื่อสารผ่านอีเมล เพราะพนักงานในองค์กรใช้เวลากว่าร้อยละ 30 ในแต่ละวันที่คอยโต้ตอบกันผ่านช่องทางนี้ จากภาษาที่แข็ง ๆ ดูเป็นทางการอาจจะลองใช้ภาษาเขียนที่มีมุกตลกแทรกไปบ้าง ตัวอย่างเช่น พนักงานบริษัทดีลอยด์ได้ร่วมกันสร้างโปรแกรมตรวจเนื้อหาอีเมลชื่อว่า “Bullfighter” เพื่อแนะนำให้พนักงานเลี่ยงการใช้ศัพท์แข็ง ๆ อ่านสวยหรู เท่ ๆ แต่เป็นคำที่ใช้พร่ำเพรื่อ และผิดเพี้ยนไป ไม่ว่าจะคำว่า “เปี่ยมพลัง” “ผนึกกำลัง” หรือแม้แต่ “วิสัยทัศน์” [4]
ส่วนทริคที่สองคือ ต้องระมัดระวังกับการตอบรับมุกตลกหรือสร้างอารมณ์ขันจากคนที่รับฟัง หลีกเลี่ยงที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกเป็นเรื่องส่วนตัว หรือดูถูกเหยียดหยาม
อย่างไรก็ดี อารมณ์ขันคือการเล่นกับไฟที่เราต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ หากพลาดพลั้งต้องรีบแก้ไขสถานการณ์ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโธมัส ซีอีโอของบริษัทสื่อดิจิทัลขนาดเล็ก มีพนักงานประจำอยู่ราว 30 คน แต่บริษัทมีพนักงานหญิงเจ้าปัญหาอยู่คนหนึ่งชื่อว่าแจ็กกี ที่ทุกคนต่างเอือมระอามาทำงานสายและกลับก่อนเวลาทุกวัน ทำให้เพื่อนร่วมงานต้องแบกรับงาน แม้โธมัสจะตักเตือนให้แจ็กกีปรับปรุงตัว และให้โอกาสอยู่หลายเดือน แต่เธอก็ยังทำตัวไม่รู้ร้อน จนในที่สุดโธมัสจึงตัดสินใจไล่เธอออกท่ามกลางความโล่งอกโล่งใจของพนักงานในบริษัท แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ทำให้พวกเขาเศร้าและเครียดบ้างที่ต้องรับงานต่อจากแจ็กกี และวิตกกังวลว่า ตนเองจะเผชิญชะตากรรมแบบแจ็กกีหรือไม่
ในการประชุม town hall ครั้งแรกภายหลังที่แจ็กกีพ้นสภาพพนักงาน โธมัสพยายามทำลายความตึงเครียด จึงเปิดประชุมด้วยการปล่อยมุกว่า “เริ่มเลยแจ็กกี!” ทันทีที่พูดออกไปเขานึกอยากลุกขึ้นและปิดประชุมจากมุกที่เลวร้ายที่ตนเพิ่งสร้างขึ้น ไม่ทันจะพูดต่อ พนักงานคนหนึ่งพูดแทรกว่า “ผมว่ามันไม่ตลกเลยนะครับ” โธมัสรู้ถึงสถานการณ์ที่ต้องแก้ไข รวบรวมความคิดและพูดด้วยเสียงที่ออกจากใจจริงไปว่า “คุณพูดถูกที่สุด ผมเสียใจจริง ๆ” ก่อนที่จะมีพนักงานอีกคนหนึ่งขานรับว่า “ไม่เป็นไรค่ะ คุณจะเริ่มใหม่ก็ได้นะถ้าต้องการ” ทำให้โธมัสพยักหน้าเห็นด้วยและเปิดประชุมอย่างจริงใจ พร้อมทั้งกล่าวถึงการที่ไม่มีแจ็กกีจะส่งผลกระทบอย่างไร โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ทำให้บรรยากาศการประชุมกลับมาจบด้วยความราบรื่น [5]
ดังนั้น การสร้างมุกตลกและอารมณ์ขันนั้น เราต้องถามตัวเองตลอดเวลาว่า เราจะทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร ตระหนักรู้ พร้อมรีบแก้ไขสถานการณ์หากทำผิดพลาด
ศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ อาเคอร์ และนาโอมิ แบ็กโดนัส ได้เขียนหนังสือเรื่อง Humor, Seriously เพื่อถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับทราบว่า “ความขี้เล่นกับชีวิตที่อยู่ดีมีสุข ทั้งสองอย่างทำให้ความกล้าหาญ ความจริงใจ การอยู่กับปัจจุบัน ความสุข และความรัก เจริญงอกงามได้” [7]
อ่านเพิ่มเติม : อารมณ์ขัน พลังวิเศษ
แหล่งที่มา:
[1] Jennifer Anker, Naomi Bagdonas, Humor, Seriously (วิชาอารมณ์ขัน) ไอริสา ชั้นศิริ แปล พิมพ์ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์ bookscape มีนาคม 2566 หน้า 41
[2] Jennifer Anker, Naomi Bagdonas, Humor, Seriously (วิชาอารมณ์ขัน) ไอริสา ชั้นศิริ แปล หน้า 54
[3] Annika Kim Constantino, These Stanford experts say humor is the key to great leadership: ‘We can do serious things without taking ourselves too seriously’, Published Thu, Jul 14 20229:11 AM EDT https://www.cnbc.com/2022/07/14/stanford-experts-workplace-humor-is-the-secret-to-great-leadership.html
[4] Jennifer Anker, Naomi Bagdonas, Humor, Seriously (วิชาอารมณ์ขัน) ไอริสา ชั้นศิริ แปล หน้า 132-134
[5] Jennifer Anker, Naomi Bagdonas, Humor, Seriously (วิชาอารมณ์ขัน) ไอริสา ชั้นศิริ แปล หน้า 258-259
[6] The Economic Times News: By Srijana Mitra Das, ET Bureau: Last Updated: Mar 03,2022,10:12:13 AM IST : https://www.economictimes.indiatimes.com/news/et-evoke/humour-at-work-accelerates-creativity-trust-and-motivation-it-is-a-critical-leadership-skill-jennifer-aaker/articleshow/89810365.cms
[7] Jennifer Anker, Naomi Bagdonas, Humor, Seriously (วิชาอารมณ์ขัน) ไอริสา ชั้นศิริ แปล หน้า 280