"...การประชุมในวันนั้นผ่านไปด้วยบรรยากาศที่ดี ช่วยสร้างความผูกพัน ความไว้เนื้อเชื่อใจและนำไปสู่การประชุมที่ทำให้การตัดสินใจมีประสิทธิผลมากขึ้นในครั้งต่อ ๆ มา “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่มันคือช่วงเวลาแห่งความผูกพันแสนพิเศษ ที่ทุกคนร่วมกันแบ่งปันช่วงเวลาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ด้วยกัน” เฮนเนสซีย์ได้กล่าวในภายหลัง..."
ช่วงเช้าวันหนึ่งของฤดูร้อนในปี 2005 ภายในห้องรูปไข่ (Oval Office) ทำเนียบขาว การประชุมระดับสูงเพื่อหารือถึงภาวะเศรษฐกิจกำลังจะเริ่มขึ้น มีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นประธาน พร้อมรองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ (Dick Cheney) คีธ เฮนเนสซีย์ (Keith Hennessey) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ และเหล่าบรรดากุนซือเศรษฐกิจนั่งล้อมวง โดยมีเบน เบอร์นันเก (Ben Bernanke) อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ที่เข้าทำงานเป็นวันแรกในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุมด้วย
เบอร์นันเกใส่สูทสีเทาเข้ม รองเท้าสีดำ แต่ที่สะดุดตาทุกคนคือถุงเท้าสีแทน ที่ดูไม่เข้ากับสูทและรองเท้าที่สวมใส่ ก่อนเริ่มประชุม ประธานาธิบดีบุชกล่าวต้อนรับเบอร์นันเกแบบหยอกล้อว่า “ถุงเท้าคุณดูเด่นจังนะ” พร้อม ๆ กับเลิกขากางเกงขึ้นมาให้เห็นถุงเท้าของตนเอง ทำให้เบอร์นันเกที่มีบุคลิกเป็นคนซื่อ ปรับพลิกสถานการณ์และรับมุกไม่ทัน เรียกว่าหน้าตาบอกบุญไม่รับ ก้มหน้าก้มตานำเสนอจนจบท่ามกลางบรรยากาศการประชุมตึง ๆ แบบมาคุ
การประชุมนโยบายเศรษฐกิจ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2005
ที่ทุกคนพร้อมใจใส่ถุงเท้าสีแทน1/
ภายหลังการประชุม รองประธานาธิบดีเชนีย์และเฮนเนสซีย์จึงสุมหัววางแผนแก้เกมการประชุมในวันรุ่งขึ้น เบอร์นันเกเดินเข้ามานั่งพร้อมกับใส่ถุงเท้าสีแทนตามสไตล์ปกติของเขา โดยที่คนอื่น ๆ ทยอยเข้ามานั่งล้อมวงเหมือนเดิม เมื่อประธานาธิบดีบุชเดินเข้ามานั่งพร้อมประชุม ทุกคนตั้งใจทำให้ขากางเกงเลิกขึ้นจนเห็นถุงเท้าสีแทนพร้อมกันหมด เรียกเสียงหัวเราะจากประธานาธิบดีบุชดังลั่นห้องประชุม พร้อมหันไปที่รองประธานาธิบดีเชนีย์แล้วพูดว่า “ดิ๊ก คุณเชื่อไหมว่าพวกเขา...” แต่ยังไม่ทันจะได้คำตอบ เชนีย์ได้เลิกขากางเกงขึ้นเพื่อให้บุชได้เห็นว่าเขาใส่ถุงเท้าสีแทนเช่นกัน เรียกเสียงหัวเราะจากทุกคนพร้อมกับการโบกไม้โบกมือของประธานาธิบดีบุชที่ยอมคำนับมุกตลกนี้
การประชุมในวันนั้นผ่านไปด้วยบรรยากาศที่ดี ช่วยสร้างความผูกพัน ความไว้เนื้อเชื่อใจและนำไปสู่การประชุมที่ทำให้การตัดสินใจมีประสิทธิผลมากขึ้นในครั้งต่อ ๆ มา “มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่มันคือช่วงเวลาแห่งความผูกพันแสนพิเศษ ที่ทุกคนร่วมกันแบ่งปันช่วงเวลาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ด้วยกัน” เฮนเนสซีย์ได้กล่าวในภายหลัง1/
จากซ้าย: นาโอมิ แบ็กโดนัส และ ศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ อาเคอร์
เหตุการณ์ข้างต้น เป็นกรณีศึกษาที่อยู่ในวิชา “Humor is Serious Business” (อารมณ์ขัน เรื่องจริงจัง) วิชาเลือกที่ถูกบรรจุในหลักสูตรบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีนักศึกษาเลือกเรียน จนเต็มโควตาเป็นลำดับต้น ๆ ได้รับความนิยมมากกว่าวิชาการลงทุน วิชาบัญชี ที่เป็นวิชาบังคับเสียอีก วิชานี้สอนโดยศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ อาเคอร์ (Jennifer Aaker) และนาโอมิ แบ็กโดนัส (Naomi Bagdonas) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์ ทั้งสองมีความเชื่อว่า อารมณ์ขันและขี้เล่น ช่วยสร้างสมดุลในชีวิตทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและการทำงาน
วันแรกของการเรียน นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนทั้ง 50 คน จะรับรู้ถึงบรรยากาศห้องเรียนที่แตกต่างจากห้องเรียนทั่วไป เพราะมีกระดานไวท์บอร์ดติดอยู่บนผนังห้องทุกด้าน โต๊ะเก้าอี้ทุกตัวติดล้อเลื่อนที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายไประดมสมองตามจุดต่าง ๆ และที่สำคัญจะไม่ทำให้ใครงีบหลับได้ง่าย ๆ วินาทีแรกที่นักศึกษาเข้ามาเรียนในห้องครบถ้วนแล้ว ศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ทำตัวเป็นดีเจเปิดเพลง “Rebel Rebel” ของเดวิด โบวี (David Bowie) เสียงดังลั่น ในขณะที่นาโอมิ เปิดการบรรยายในชั้นเรียนด้วยคลิปจากรายการ Saturday Night Live พร้อมกับให้นักศึกษาทำการประเมินว่าตนเองมีรูปแบบ “อารมณ์ขัน” สไตล์ไหน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ2/
รูปแบบ “อารมณ์ขัน” ทั้ง 4 สไตล์
รูปแบบแรกเรียกว่า นักเดี่ยวไมโครโฟน (Stand-up) เป็นกลุ่มที่เกิดมาเป็นคนขี้เล่น เป็นคนตลกโดยธรรมชาติ กล้าเรียกเสียงหัวเราะโดยไม่กลัวว่าจะทำให้คนอื่นหงุดหงิดหรือโมโห พวกเขามีชีวิตชีวา อยู่ต่อหน้าฝูงชน และสามารถปล่อยมุกแทบจะทุกครั้งไป รูปแบบที่สองคือ คนน่ารัก (Sweethearts) ไม่ทำตัวโดดเด่น การเล่าเรื่องตลกหรือใช้อารมณ์ขันต้องวางแผนอย่างรัดกุม เรียบง่าย ไม่โฉ่งฉ่าง เพราะระมัดระวังไม่ให้มุกที่ออกมาเป็นเรื่องอ่อนไหว เสียความรู้สึก รูปแบบที่สามคือ คนมีเสน่ห์
(Magnets) ฉวยโอกาสทำให้คนรอบข้างอารมณ์ดีด้วยการแสดงออกถึงความร่าเริง ทำให้สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและคิดในทางบวก ยอมเปลืองตัวปล่อยมุกแบบซื่อ ๆ แต่มุกตลกของพวกเขามักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แบบสุดท้ายคือ พลซุ่มยิง (Snipers) เป็นพวกที่แหวกแนว ช่างแซะ และพร้อมที่จะข้ามเส้น ไม่กลัวใคร เพื่อเรียกเสียงหัวเราะ เรียกว่าโป้งเดียวจอด3/
มาร์ก ทเวน (Mark Twain)
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์และนาโอมิ ให้ความเห็นว่า อารมณ์ขัน นำมาสู่การสร้างบารมีความผูกพัน และความคิดสร้างสรรค์ เป็นแรงจูงใจและความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน เป็นไปตามที่มาร์ก ทเวน (Mark Twain) นักประพันธ์ชื่อก้องโลกได้กล่าวไว้ว่า “อารมณ์ขันคือพรประเสริฐของมนุษยชาติ” (Humor is mankind’s greatest blessing) ซึ่งเป็นที่ประจักษ์และพิสูจน์ได้
คำถามคือ จะทำให้เกิดอารมณ์ขันอย่างไรถึงจะก่อให้เกิดเป็นพลังวิเศษ Weekly Mail สัปดาห์หน้าจะได้เข้าไปเรียนวิชานี้ต่อกันครับ
รณดล นุ่มนนท์
4 ธันวาคม 2566
แหล่งที่มา :
1/ Jennifer Anker, Naomi Bagdonas, Humor, Seriously (วิชาอารมณ์ขัน) ไอริสา ชั้นศิริ แปล พิมพ์ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์ bookscape มีนาคม 2566 หน้า 72-75
2/ Jennifer Anker, Naomi Bagdonas, Humor, Seriously (วิชาอารมณ์ขัน) ไอริสา ชั้นศิริ แปล หน้า 37
3/ Jennifer Anker, Naomi Bagdonas, Humor, Seriously (วิชาอารมณ์ขัน) ไอริสา ชั้นศิริ แปล หน้า 50-53