"...เพราะฉะนั้นตามสูตรนี้ การสนับสนุนหรือการอุดหนุนโดยรัฐบาลจะลดลงเรื่อยๆเมื่อคนไทยแต่ละคนมีความสามารถในการหารายได้มากขึ้น สมมุติว่าในกรณีที่รัฐบาลตั้งเงินอุดหนุนขั้นต่ำไว้ 10,000 บาทต่อปี และอัตราภาษีที่จะเก็บจากรายได้ที่คนไทยแต่ละคนหาได้เองเท่ากับร้อยละ 20 ก็จะหมายความว่า รัฐบาลจะบรรลุถึงจุดสมดุล (break- even point) คือไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้คนไทยคนนี้เมื่อเขามีรายได้ 50,000 บาทต่อปี..."
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2566 วันเดียวกับเหตุการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการ 99 คนนำโดย ดร. วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ผ่านกรอบเวทีทัศน์ของสำนักข่าวอิศราแห่งนี้ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลทั้งหมด 8 ข้อ และเสนอให้ยกเลิกโครงการนี้เสียเพราะ “ได้ไม่คุ้มเสีย”
ผู้เขียนเองก็ได้เผยแพร่บทความผ่านกรอบเวทีทัศน์ที่เดียวกันนี้เกือบจะเรียกได้ว่าในเวลาเดียวกัน โดยมิได้นัดหมายกันหรือล่วงรู้กันมาก่อน โดยได้คัดค้านโครงการนี้และเสนอให้ยกเลิกเช่นเดียวกันด้วยเหตุผลว่า ไม่เห็นผลประโยชน์สุทธิ (net gains) ของโครงการที่จะเกิดขึ้นกับประเทศได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ได้ไม่คุ้มเสีย นั่นเอง นับเป็นความบังเอิญที่น่ามหัศจรรย์อย่างยิ่ง (อ่านเพิ่มเติม : แถลงการณ์ 99 นักเศรษฐศาสตร์ : ค้านหว่านดิจิทัล 10,000 บาท ผลเสียกับอนาคตประเทศ และ ป.ป.ช. กับนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ของรัฐบาลเศรษฐา 1)
แถลงการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ 99 คนนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับภาพลักษณ์และการยอมรับของโครงการนี้ในสาธารณชนเป็นอันมาก โดยบทความของผู้เขียนเองก็พลอยได้อานิสงส์จากการรับรู้ของสังคมด้วยเพราะเข้าใจว่าเป็นบทความแรกที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่โครงการนี้หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการกระทำที่ผิดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 มาตรา 6, 7, และ 9 และจะเป็นสาเหตุให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องทำการไต่สวนชี้มูลความผิดแก่นักการเมือง ข้าราชการ และเอกชนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรง และหากเรื่องนี้ขึ้นถึงศาลคดีทุจริตหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาจจะมีผู้ต้องถูกลงโทษต้องติดคุกติดตะรางเป็นจำนวนมากเหมือนกับคดีรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในยุคก่อน
ในที่สุด เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีการหาเงินมาทำโครงการนี้โดยจะให้ออกเป็นพระราชบัญญัติกู้เงินทั้งหมด 5 แสนล้านบาทแทนที่จะเอามาจากภาษีและงบประมาณตามปกติของรัฐบาล แสดงว่ารัฐบาลไม่กล้าเสี่ยงที่จะใช้อำนาจทางการบริหารทำโครงการนี้โดยลำพังโดยการออกเป็นพระราชกำหนดซึ่งอยู่ในอำนาจตามกฎหมายที่จะทำได้ทันทีอยู่แล้ว
แต่การเปลี่ยนนโยบายจากการบริหารงบประมาณตามปกติไปเป็นการกู้ภายในประเทศก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นหลายปัญหา อาทิเช่น จะกู้ด้วยวิธีใด? จะใช้วิธีกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของรัฐบาลแบบเดียวกับการกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สมัยเมื่อทำนโยบายรับจำนำข้าวเมื่อปี 2554 หรือจะใช้แหล่งเงินจากธนาคาร หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ หรือจะออกเป็นพันธบัตรเงินกู้โดยกระทรวงการคลังหรือโดยหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีอำนาจทำได้
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือประเด็นที่ว่าการกู้เงินจากภาคสาธารณะเพื่อเอามาแจกคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปโดยไม่คำนึงว่าจะยากดีมีจนอย่างไร เพื่อวัตถุประสงค์หลักคือให้เอาไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนั้น ภายใต้ตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจะทำได้หรือไม่?
ในประเด็นนี้มีการพูดถึงมาตรา 53 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะได้ แต่ก็จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่จำเพาะเจาะจงค่อนข้างมาก จนคนธรรมดาสามัญโดยทั่วไปเมื่อได้อ่านมาตรา 53 แล้วก็ยังมองไม่ออกว่ารัฐบาลจะกู้เงินตามอำนาจใน พรบ นี้ มาแจกประชาชนตามที่กล่าวถึงข้างต้นได้อย่างไร? เราลองมาดูซิว่า มาตรา 53 นี้ ระบุไว้ว่าอย่างไร
มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ถ้าพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าไม่ง่ายเลยที่รัฐบาลจะกู้เงินตามมาตรานี้เพื่อเอามาแจกประชาชนตามที่ได้แสดงเจตน์จำนงไว้แต่แรก ถ้าอ่านประโยคแรกของมาตรา 53 นี้ให้ดี จะเห็นว่าการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทครั้งนี้ต้องตราเป็นกฎหมายเฉพาะ
ผู้เขียนไม่รู้ว่ารัฐบาลมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเตรียมการออกกฎหมายพิเศษฉบับนี้เพื่อแจกเงินให้ประชาชนตามที่ตัวเองตั้งใจไว้แล้วหรือไม่? อย่างไร? อย่าลืมว่าถึงแม้จะสามารถออกกฎหมายพิเศษและกู้เงินได้แล้ว จะต้องเจอปัญหาชุดแรกที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว และยังไม่ได้รับการพิจารณา คือปัญหาว่าการแจกเงินดังกล่าวนี้คือนโยบายประชานิยมใช่หรือไม่? ถ้าใช่ก็จะผิดมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจนโดยมิพักต้องสงสัย
พรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนจะร่วมหัวจมท้ายกับพรรคเพื่อไทยในเรี่องนี้บ้าง? นักการเมือง หรือ ข้าราชการ หรือ เอกชนคนไหน จะออกมาสนับสนุนนโยบายนี้อย่างออกหน้าออกตาบ้าง หากรู้ว่าเรื่องนี้หากถูกขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่ว่าจะโดย ป.ป.ช. หรือโดยหน่วยงานใดก็แล้วแต่ ใครจะแน่ใจได้อย่างไรว่าศาลท่านจะไม่พิจารณาเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น ประสบการณ์ในอดีตได้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า คดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดและได้ส่งฟ้องศาล ไม่ว่าจะศาลคดีทุจริตก็ดี หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ดี ประมาณ 9 ใน 10 คดีศาลจะเห็นด้วยกับการชี้มูลของ ป.ป.ช. นับเป็นเรื่องที่น่ากล้วมากสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง
ผู้เขียนเองในฐานะนักวิชาการก็อยากมีส่วนช่วยให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ แทนที่จะต้องมาเสียเวลากับปัญหาการ “รักษาหน้า” ของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง แน่นอนว่า คนที่ไม่ใช่นักการเมือง ก็คงไม่รู้ว่าการรักษาหน้า หรือการรักษาคำพูดเมื่อตอนหาเสียงนั้นสำคัญแค่ไหนในระบบการปกครองที่เสียงสนับสนุนของประชาชนผ่านการเลือกตั้งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอย่รอดทางการเมืองของตน แต่ในเมื่อมีความเสี่ยงที่สูงมาก ที่มีอนาคตของประเทศเป็นเดิมพัน นักการเมืองก็อาจต้องยอม “เสียหน้า” เพื่อประโยชน์ของประเทศได้
ในกรณีพรรคเพื่อไทยที่กำลังเผชิญปัญหานโยบายแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทอยู่ในขณะนี้ หากทางพรรคจะพยายามหาวิธีที่จะพลิกวิกฤต (ของพรรค) ให้เป็นโอกาส (ของพรรคและของประเทศ) ก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่าที่จะดันทุรังที่จะทำนโยบายแจกเงินนี้ให้ได้ ผู้เขียนอยากจะลองเสนอทางออกให้พรรคเพื่อไทยได้พิจารณาดู ดังนี้
ในประการแรกนั้น ถึงแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่มีเสียงข้างมากในสภาเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่การที่สามารถมาเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกลได้ ก็ต้องถือว่าเป็นความพลิกผันทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้จะต้องแลกมาด้วยการต้องผิดคำพูดเรื่องการไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคทหารที่ยึดอำนาจไปจากตนเมื่อปี 2557 ก็ตาม เพราะฉะนั้น พรรคเพื่อไทยคงต้องพยายามที่จะรักษาสถานภาพความเป็นรัฐบาลของตนให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การทีจะ “ยื้อ” ทำโครงการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปเรื่อยๆคงไม่เป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทยเท่าใดนัก เพราะดูเหมือนว่าโอกาสที่จะทำโครงการได้อย่างราบรื่นคงเป็นไปได้ยาก และอาจจะไม่คุ้มกับเวลาอันมีค่าของการเป็นรัฐบาลที่ต้องเสียไป พรรคเพื่อไทยคงต้องตัดสินใจยกเลิกแนวคิดที่ว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจชนิดที่ต้องกู้เงินมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบเดียวกันกับการแก้ปัญหาโควิด19 เมื่อ 3 ปีก่อน ถ้าจะมีวิกฤตทางเศรษฐกิจ ก็น่าจะเป็นวิกฤตในระยะยาว หรือวิกฤตในทางโครงสร้างมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจเฉพาะหน้าในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
การใช้เหตุผลว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ จีดีพี ของไทยโดยเฉลี่ยอยู่ในอัตราต่ำตลอดเวลา 9-10 ปีที่ผ่านมาเป็นสาเหตุให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องกู้เงินมาแจกเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้ทันทีร้อยละ 5 อาจจะเป็นไปได้ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติคงเป็นไปได้ยาก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือความไม่ยั่งยืนของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นภายหลังโครงการได้เสร็จสิ้นแล้ว
พรรคเพื่อไทยน่าจะมองหาโครงการที่สามารถแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างในระยะยาวที่มีผลกระทบต่อเนื่องในทางบวกต่อวิกฤตเฉพาะหน้าหรือวิกฤตในระยะสั้นของประชาชนบางกลุ่มได้ ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภาพรวม แต่ก็จะกระตุ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างน้อยประเทศก็ไม่ต้องเผชิญกันการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยนโยบายการจัดสรรทรัพยากรที่ไร้ประสิทธภาพและไม่ช่วยให้การกระจายรายได้ของประเทศดีขึ้น
ในความเข้าใจของผู้เขียนแล้ว นี่คือหัวใจของหลักคิดของทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ฯที่ว่าถ้าจะแจกเงินให้เปล่าแก่ประชาชนก็ขอให้แจกเฉพาะกลุ่มที่มีความเดือดร้อนและความต้องการจริงๆแทนที่จะเหวี่ยงแหหรือหว่านไปทั่ว นอกจากจะใช้เงินหรืองบประมาณน้อยลงมากๆแล้ว ผลในระยะยาวในเชิงโครงสร้างจะทำให้สังคมไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเพราะคนไทยมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น และสามารถมีบทบาทในการเป็นส่วนหนึ่งขอการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น
ถ้าหากพรรคเพื่อไทยจะยอมเปลี่ยนแนวคิดและยอมรับว่าการช่วยเหลือคนไทยที่ยากจนและเดือดร้อนจริงในกลุ่มเป้าหมายไม่ใช่เรื่องที่ผิดไปจากนโยบายหลักของพรรค ผู้เขียนก็อยากเสนอให้ลองพิจารณาใช้โอกาสที่จะออกกฎหมายกู้เงินในครั้งนี้กู้มาเพื่อเริ่มโครงการพื้นฐานที่จะช่วยคนไทยทุกคนที่มีรายได้หรือฐานะความเป็นอยู่ต่ำกว่าเงื่อนไขหรือมาตรฐานทางเศรษฐศาสตร์ระดับหนึ่งให้มีรายได้หรือความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานตลอดชีวิตของคนไทยคนนี้ โดยมีข้อแม้ว่าเมื่อตัวเองมีรายได้จากการทำงานหรือจากแหล่งอื่นใดก็แล้วแต่ที่สูงหรือเกินไปจากรายได้หรือความเป็นอยู่ขั้นต่ำที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น ผู้นั้นก็จะต้องเสียภาษีเงินได้หรือส่วนแบ่งจากรายได้ของตนดังกล่าวให้แก่รัฐ ซึ่งจะมีผลทำให้การสนับสนุนของรัฐลดลงโดยปริยาย และรัฐจะหยุดการสนับสนุนรายได้ดังกล่าวเมื่อคนไทยคนนี้สามารถหารายได้ด้วยตัวเองสูงกว่าเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐแล้วเท่านั้น
และหากในช่วงชีวิตของคนไทยคนนี้จะต้องตกระกำลำบากและกลายเป็นคนยากจนอีก โครงการนี้ก็จะเข้ามาทำงานโดยอัตโนมัติ แปลว่ารัฐจะคอยคุ้มครองป้องกันไม่ให้คนไทยคนไหนเลยหลุดไปจาก “ตาข่ายแห่งความปลอดภัยทางสังคม” (Social Safety Net) ที่รัฐจะเป็นผู้สร้างขึ้นสำหรับคนไทยทุกคน
นโยบายนี้ มีชื่อเรียกเป็นนภาษาอังกฤษว่า Minimum Guaranteed Income Subject to Personal Contributions หรือจะเรียกสั้นๆว่า Minimum Guaranteed Income Policy หรือ MGI Policy ก็ได้ ผู้เขียนไม่รู้เหมือนกันว่านักเศรษฐศาสตร์คนไหนเป็นคนคิดค้นขึ้นเป็นคนแรก แต่ได้เห็นวิธีการนี้อยู่ใน “กล่องเครื่องมือ” ของนักเศรษฐศาสตร์มานานแล้ว เพียงแต่รัฐบาลไม่เอามาใช้เท่านั้นเอง การดำเนินนโยบายนี้ทำได้ไม่ยาก โดยใช้สูตรดังต่อไปนี้
S = M – tE
โดย S คืองบประมาณที่จะใช้สนับสนุนหรืออุดหนุน (subsidy) ที่จะให้แก่คนจนทั้งหมดในแต่ละปี M คือ MGI หรือเงินรายได้หรือมาตรฐานความเป็นอยู่ขั้นต่ำที่จะให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคนในแต่ละปี (เช่น 10,000 บาทต่อปี) E คือรายได้ที่แต่ละคนหาได้เอง (earning) และ t คืออัตราภาษีเงินได้หรือส่วนแบ่งที่รัฐจะเก็บจากรายได้ที่แต่ละคนหาได้เอง
เพราะฉะนั้นตามสูตรนี้ การสนับสนุนหรือการอุดหนุนโดยรัฐบาลจะลดลงเรื่อยๆเมื่อคนไทยแต่ละคนมีความสามารถในการหารายได้มากขึ้น สมมุติว่าในกรณีที่รัฐบาลตั้งเงินอุดหนุนขั้นต่ำไว้ 10,000 บาทต่อปี และอัตราภาษีที่จะเก็บจากรายได้ที่คนไทยแต่ละคนหาได้เองเท่ากับร้อยละ 20 ก็จะหมายความว่า รัฐบาลจะบรรลุถึงจุดสมดุล (break- even point) คือไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้คนไทยคนนี้เมื่อเขามีรายได้ 50,000 บาทต่อปี
ขอให้สังเกตว่านโยบายนี้จะแปรผันไปตามความสามารถทางการคลังของรัฐบาลและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ถ้ารัฐบาลมีงบประมาณมากก็สามารถตั้งระดับรายได้ขั้นต่ำได้สูง แต่ถ้ารัฐบาลมีเงินน้อยก็สามารถช่วยได้เท่าที่จำเป็น ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เราก็มีเส้นแห่งความยากจนเป็นตัวช่วยกำหนดอยู่แล้ว ส่วนประชาชนนั้นหากมีฐานะดีขี้น ความต้องการความช่วยเหลือจากรัฐก็จะลดน้อยลง โดยไม่มีผลต่อแรงจูงใจในการทำงาน (work incentives)
มีคำถาม 2-3 คำถามที่เรามักจะได้ยินในการใช้หลักการข้างต้นนี้
คำถามแรกคือ ถ้าคนไทยคนนี้ไม่ทำงานเลยตลอดชีวิต เขาก็จะได้เงินช่วยเหลือขั้นต่ำนี้ตลอดชีวิตเลยใช่หรือไม่?
คำตอบคือใช่ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เรื่องนี้คงเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่สำคัญมากนัก และรัฐบาลคงหาทางที่จะรับมือกับปัญหาจริยวิบัติ (moral hazard) ในทำนองนี้ได้ ในทางกลับกัน ถ้าเป็นกรณีผู้เกิดมาพิกลพิการหรือมีโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้ทำงานไม่ได้ นโยบายนี้ก็จะช่วยได้อย่างสมบูรณ์
คำถามที่สองคือ ในเมื่อทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือขั้นต่ำเท่าเทียมกันหมด การจดทะเบียนคนจนก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ใช่หรือไม่?
คำตอบคือใช่ เพราะทุกคนจะมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนนี้โดยเสมอหน้ากันทั้งหมด โดยผู้ที่ประสงค์จะอย่ในโครงการอาจจะต้องยื่นบัญชีเพื่อเสียภาษีเงินได้ทุกปี ซึ่งจะเป็นตัวบอกฐานะของบุคคลนั้นว่าจะได้รับความช่วยเหลือขั้นต่ำนี้เป็นจำนวนเท่าใด แน่นอนว่าจะต้องเกิดอาชีพใหม่ในประเทศไทยคืออาชีพช่วยทำบัญชีเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปีที่รัฐบาลอาจให้การสนับสนุนและอุดหนุนเพื่อแลกเปลี่ยนกับความคุ้นเคยและฐานภาษีที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากและเป็นประโยชน์ในทางการบริหารการคลังของไทยในอนาคต แต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้ยุ่งยากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนแรกๆเมื่อเริ่มโครงการ รัฐบาลก็อาจตัดใจใช้อัตราภาษีที่เป็นศูนย์สำหรับคนไทยบางกลุ่มได้ หรือการยกเว้นไม่ต้องยื่นการเสียภาษีไปเลยสำหรับคนกลุ่มนี้
คำถามที่สามคือ หากรัฐบาลจำเป็นต้องกู้สาธารณะเพราะคงไม่สามารถระดมทรัพยากรหรืองบประมาณขนาด 5 แสนล้านได้ในระบบงบประมาณตามปกติในระยะเวลาอันสั้น และจะใช้เงินกู้นี้ไปในระยะ 4 ถึง 5 ปีเพื่อให้มีความสามารถหรือความพร้อมที่จะหาเงินเพื่อบริหารโครงการตามปกติได้ นโยบายเช่นนี้จะผ่านเงื่อนไขของมาตรา 53 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังได้หรือไม่?
ในความเห็นของผู้เขียนแล้วคิดว่าได้ เพราะปัญหาความยากจนที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ตลอดเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้เป็นความยากจนที่ยากแก่การกำจัดให้หมดสิ้นไปเพราะคนจนเหล่านี้ตกอยู่ในสภาพที่ไม่อาจได้ผลประโยชน์หรือความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ ลองนึกสภาพว่าคนจนคนนี้อยู่ห่างไกลและยากจนจนไม่มีเงินที่จะเหมารถเข้าไปรับความช่วยเหลือจากรัฐในตัวเมืองได้ หรือครอบครัวยากจนที่มีสมาชิกเป็นคนพิการหรือต้องมีคนดูแลอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
ผู้เขียนเคยเรียกชื่อความยากจนแบบนี้ว่า “ความยากจนดักดาน” (ultra poverty หรือ chronic poverty) ซึ่งต้องถือว่าเป็นปัญหาวิกฤตที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน วิกฤตระยะยาวหรือวิกฤตเชิงโครงสร้างแบบนี้ต้องแก้ด้วยการปรับระบบให้พลิกไปจากเดิม จะใช้วิธีแก้ชั่วครั้งชั่วคราวตามอาการไม่ได้ นโยบายสนับสนุนรายได้ขั้นต่ำสำหรับทุกคนแบบถาวรนี้จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยได้แน่นอน และจะทำให้รัฐบาลไม่ต้องพะวักพะวนกับปัญหาเรื่องความยากจนพื้นฐานนี้อีกต่อไป แต่สามารถทุ่มเทเวลาให้กับปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศในระยะยาวคือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ได้อย่างเต็มที่
ผู้เขียนหวังว่าข้อเสนอข้างต้นนี้จะได้รับความสนใจจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารและพัฒนาประเทศไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้นำในพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญในขณะนี้