“…ที่เป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับประเทศไทย คือ ระบบนิติรัฐ และการคอร์รัปชั่น เพราะถ้าดูพัฒนาการในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าสถานะของประเทศไทย ‘ไม่ได้ดีขึ้น’ และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเลยในเรื่องคอร์รัปชั่น หลายช่วงเวลา มีหลายเหตุการณ์ที่คนแคลงใจ ‘ระบบนิติรัฐ’ ของไทยมากขึ้นด้วย…”
..........................................
หมายเหตุ : วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยภายในงานเสวนา Inclusive Green Growth Transition ในการประชุมประจำปี 2666 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566
ผมคิดว่ามี 4-5 ประเด็น ที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากๆที่จะบอกว่า ถ้าเราจะ Transition (การเปลี่ยนแปลง) ประเทศไทยไปให้เท่าทันกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในโลก และฉวยโอกาสใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น เราต้องสามารถจัดการความท้าทายเชิงโครงสร้างต่างๆได้
ประการแรก คำที่สำคัญมาก ก็คือคำว่า Productivity (ผลิตภาพ) ขณะนี้ Productivity ของหลายภาคการผลิตของเราอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เราเห็นพัฒนาการด้านผลิตภาพเกิดขึ้นเยอะมากในประเทศที่อยู่ในภูมิภาคของเรา แต่เราไม่สามารถก้าวข้ามประเด็นตรงนี้ได้
โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากฝากชีวิตไว้ ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตร เพราะถ้าดู Productivity ในภาคเกษตร พบว่าของเราค่อนข้างต่ำมาก ผลผลิตต่อไร่ของเราแทบจะทุกพืชหลัก ต่ำกว่าประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ภาคบริการของเรา ก็อยู่ในบริการที่เรียกว่าเป็น ‘บริการพื้นฐานดั้งเดิม’
อย่างการท่องเที่ยว ก็มักมีบริการที่มี Productivity ต่ำ ไม่ได้เป็นบริการอย่าง e-commerce (ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) หรือโดยการที่อาศัยดิจิทัล ซึ่งเป็นการให้บริการสมัยใหม่ ส่วนอุตสาหกรรมพื้นฐานหลายอย่างที่เป็นอุตสาหกรรม SME ก็ติดกับดัก Productivity
เวลาที่ใครก็ตามเลือกลงทุน หรือหา destination (จุดหมายปลายทาง) ใหม่ในการลงทุน คำที่สำคัญ คือ คำว่า Productivity เพราะ Productivity เป็นตัวตัดสินว่า การที่เขาเข้ามาลงทุนแล้ว ผลิตแล้ว หรือแม้กระทั่งเราเอง คนไทยที่ตัดสินใจลงทุน เราจะแข่งขันได้หรือเปล่า
นี่เป็นโจทย์สำคัญมากว่า ทำอย่างไร ที่จะทำให้ Productivity ของเราเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากฝากชีวิตไว้
@โครงสร้างหน้าที่-อำนาจ‘ระบบรัฐไทย’ยังอยู่ใน‘โลกแบบเดิม’
ประการที่สอง เวลาเราพูดถึงความท้าทายใหม่ๆ ความท้าทายใหม่ๆ คือ เรื่องที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราคุ้นชิน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแบบเดิม แต่โครงสร้างของระบบรัฐของเรา ระบบราชการ ระบบรัฐวิสาหกิจของเรา เป็นโครงสร้างหรือกรอบอำนาจหน้าที่ต่างๆ ซึ่งอาจจะเขียนขึ้นตาม ‘โลกแบบเดิม’
ไม่ได้เอื้อกับการทำงาน ที่จะตอบโจทย์โลกแบบใหม่ๆ ตอบโจทย์ใหม่ๆการทำงานของประเทศ หรือของโลก หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำงานข้ามหน่วยงาน ในลักษณะที่เป็นพันธมิตรซึ่งกับและกัน แต่เรามักเจอตลอดเวลาว่ามี Silo เต็มไปหมดเลยในระบบราชการ
และวิธีการแก้ปัญหาของเรา คือ การตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีคณะกรรมการฯเต็มไปหมด ซึ่งจะมีแต่กิจกรรม แต่จะไม่มีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ในเรื่องของภาครัฐจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ถ้าใช้ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ เรามักจะพูดว่าเป็นปัญหาความล้มเหลวในการประสานงาน หรือ Coordination failure ที่ใหญ่มาก
ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหา Coordination failure ของรัฐไทยได้ จะเป็นปัญหาที่เราจะขับเคลื่อนเรื่องใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการมองจากหลากหลายมิติ มีการประสานพลังจากหลากหลายมิติ ผมคิดว่าอันนี้เป็นความท้าทายประการที่สอง
@คนแคลงใจ‘ระบบนิติรัฐ’มากขึ้น-ปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ดีขึ้น
ประการที่สาม ที่เป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับประเทศไทย คือ ระบบนิติรัฐ และการคอร์รัปชั่น เพราะถ้าดูพัฒนาการในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าสถานะของประเทศไทย ‘ไม่ได้ดีขึ้น’ และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเลยในเรื่องคอร์รัปชั่น หลายช่วงเวลา มีหลายเหตุการณ์ที่คนแคลงใจ ‘ระบบนิติรัฐ’ ของไทยมากขึ้นด้วย
ระบบนิติรัฐ หรือการทำเกิดคอร์รัปชั่นที่มากขึ้น ทำลายการแข่งขัน ทำลาย Productivity เพราะการแข่งขันไม่ได้ตั้งอยู่ที่ความสามารถ แต่การแข่งขันจะตั้งอยู่กับ ‘ใครที่สามารถเข้าถึงอำนาจอะไรบางอย่างได้มากกว่า’ หรือจะสามารถมีวิธีการใต้โต๊ะที่ไปบั่นทอนการแข่งขัน
ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ เวลามีคอร์รัปชั่นเยอะๆ ทำลายความไว้วางใจ (Trust) เวลาที่เราจะทำเรื่องใหม่ ผจญกับความท้าทายใหม่ Trust หรือความไม่วางใจ เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่ว่าพอใครจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ก็จะมีการตั้งโจทย์ว่าทำแบบนี้ เพื่อหวังจะได้ประโยชน์แบบนี้หรือเปล่า
นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีใครกล้าทำเรื่องอะไรใหม่ๆ ในระบบราชการเองก็จะกังวล กลัวกันมากว่า ถ้าจะทำเรื่องใหม่ๆ จะถูกเป็นที่ครหา ถ้าเราไม่จัดการเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะไปกระทบกับประเด็นเรื่อง Productivity กระทบการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และจะกระทบกับ Trust ความไว้วางใจ ทำให้เราทำเรื่องใหม่ๆไม่ได้
ประการที่สี่ คือ การที่เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ เราเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ในขณะที่เราไม่มีความพร้อมในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการของภาครัฐที่ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ และเวลาที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ เมื่อตลาดเล็กลง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะลดลง
ถ้ากลับไปเรื่อง Productivity ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนทำงาน 1 คน เขาต้องทำงานได้เก่งขึ้นมาก ถึงจะหารายได้มาเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ทั้งผู้สูงอายุในครอบครัวที่เป็นทางตรง และต้องเสียภาษีเพื่อให้รัฐมาจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุอื่นๆของประเทศ ถ้าเราไม่สามารถเพิ่ม Productivity ได้อย่างจริง ปัญหาสังคมผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาใหญ่มากๆ
ประการที่ห้า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เวลาที่เรามองถึงว่า จะรับมืออย่างไร คนจะคิดถึงอันแรก คือ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือหากลไกที่จะมา Offset (ชดเชย) ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกไป ให้เกิดผลกระทบน้อย
แต่ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยมากๆ และเรายังขาด คือ adaptation (การปรับตัว) หรือการวางแผน รับมือ ปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งจะมีปัญหาใหม่ๆที่จะกระทบต่อชีวิตของพวกเราทุกคน กระทบต่อวิถีการทำธุรกิจของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างเรื่องน้ำ ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดจะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ และถ้าน้ำไม่มาตามฤดูกาล ภาคเกษตรก็จะถูกกระทบอย่างรุนแรง ปัญหาเรื่องน้ำใต้ดินก็จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าน้ำฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือมีภัยแล้งยาวมากขึ้น น้ำในบางภูมิภาคก็มีแนวโน้มจะเป็นน้ำกร่อย เพราะมีความเค็มในดินสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการทำเกษตรของคนจำนวนมาก
เรื่อง adaptation จะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราไม่มีแผนการปรับตัวให้ดี คนที่เดือดร้อนมากที่สุด คือ คนที่อยู่ฐานล่างของสังคม ซึ่งเขามีภูมิคุ้มกันค่อนข้างน้อย ไม่สามารถลงทุนในการปรับตัวได้ และในหลายภูมิภาคของโลกนั้น การแย่งน้ำ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสงคราม และเกิดขึ้นแล้วด้วย
อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่อง geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ที่ใกล้ตัวมาก คือ เรื่องพลังงาน อย่าลืมว่าประเทศไทยเราพึ่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก และมีสัดส่วนที่มาก ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งพลังงานของเรา ก็เป็นพื้นที่ที่ประเด็นเรื่อง geopolitics กำลังเข้ามามีบทบาท ดังนั้น เรื่องเหล่านี้ เป็นความเสี่ยงที่เราต้องบริหารจัดการ
@ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องให้มุ่งเน้น 4 คำสำคัญ
ส่วนโจทย์ประเทศไทยในการเดินหน้าพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ผมคิดว่า มี 4 คำสำคัญเวลาพูดถึงเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะรับมือกับความท้าทายในโลกในอนาคต
คำแรก คือ คำว่า Productivity (ผลิตภาพ) เราจะต้องแข่งขันด้วยผลิตภาพสูง ยิ่งถ้าเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ เราจะเล่นเกมที่แข่งด้วยปริมาณไม่ได้ เราต้องเล่นเกมที่แข่งด้วยคุณภาพ ซึ่งเรื่องคุณภาพนั้น การทำอะไรก็ตาม ทุกอย่างที่เราทำ ทุกกิจกรรมเศรษฐกิจที่เราทำต้อง ให้ premium ต้องให้ value (คุณค่า) กลับมาสูงกว่าแบบเดิม
คำที่สอง คือ คำว่า Inclusivity หรือการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างทั่วถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เป็นปัญหาใหญ่มาก คือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำก็จะมีหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์ ความเหลื่อมล้ำด้านด้านรายได้ และความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส
ถ้าโครงสร้างเศรษฐกิจจะไปในอนาคต จะลดความเปราะบาง ความเห็นต่างของคนระหว่างรุ่น ความแตกแยกของคนในสังคม ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง inclusivity หรือความทั่วถึงของกระจายผลประโยชน์
คำที่สาม คือ Immunity หรือภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนรูปแบบใหม่ๆ
เหมือนคน เวลามีโรคระบาด ใครที่มีสุขภาพดี ภูมิคุ้มกันดี ก็จะสามารถก้าวผ่านไปได้ง่ายกว่า โครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคมก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน มีความเปราะบางสูง เวลาถูกอะไรกระแทกแรงๆ ก็เซได้ง่าย หรืออาจจะลุกกลับมาไม่ได้
ภูมิคุ้มกันจะมาจากหลายระดับ ในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจมหภาค ก็ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน ระบบการคลังของประเทศ ในระดับครัวเรือน เราก็พูดถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งบั่นทอนภูมิคุ้มกันของระดับครัวเรือนไป และเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียดในสังคม อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด
คำที่สี่ อีกคำที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ Adaptability เราต้องมีความสามารถในการปรับตัว ระบบเศรษฐกิจจะต้องสามารถปรับตัวได้เร็ว เพราะถ้าเราเจอปัญหา เจอการเปลี่ยนแปลงจากข้างนอก แล้วเราไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทัน เราจะงง เราจะไปต่อไม่ถูก และจะเกิดผลกระทบตามมาเต็มไปหมด
@‘ปฏิรูปภาครัฐ’เป็นหัวใจในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ
ดังนั้น การออกแบบเศรษฐกิจที่จะก้าวต่อไปในอนาคต จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Productivity , Inclusivity , Immunity และ Adaptability ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราต้องทำ อย่างเช่นในเรื่องของภาครัฐ จะเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ถ้าเกิดภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพ จะดึงผลิตภาพของทั้งเศรษฐกิจและสังคมไทยลง ซึ่งภาครัฐนั้น จะรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจด้วย
ถ้ารัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพดี จะเป็นต้นทุนของพวกเราทุกคนในการใช้ชีวิต เป็นต้นทุนของพวกเราทุกคนในการทำธุรกิจในประเทศไทย ภาครัฐจึงเป็นต้นตออันหนึ่งของ Productivity หรือบริการต่างๆของภาครัฐ การขออนุญาตง่ายๆ ถ้าใช้เวลานาน ก็จะกลับมากระทบ Productivity ของเอกชน และต้นทุนการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน
ถ้าภาครัฐไม่สามารถทำเรื่องใหม่ๆได้อย่างเท่าทัน ก็อย่าไปหวังว่าเราจะมี Adaptability เราจะไม่สามารถปรับตัวได้ กฎหมายก็จะเป็นกฎหมายแบบเดิม
ไม่สามารถทำให้เกิดการลงทุนรูปแบบใหม่ได้ หรือไม่เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้น หลายหน่วยงานมีปัญหาเรื่องการซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ จะใช้ cloud computing แต่ละที ก็ไม่รู้ว่าจะไปตาม พ.ร.บ.จัดจซื้อจัดจ้างฯอย่างไร ไม่รู้จะเขียนสเปคแบบไหน
ดังนั้น การปฏิรูปภาครัฐจะเป็นหัวใจสำคัญ และภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับ Demand (ความต้องการ) หรือผู้ใช้บริการของภาครัฐมากขึ้น ทำอย่างไรก็ตาม ที่จะทำให้ผู้ใช้บริการภาครัฐ มีทางเลือกและมีสิทธิ์ในการกำหนดรูปแบบที่จะได้รับบริการจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
เช่น การจัดทำงบประมาณของภาครัฐที่เราเผชิญอยู่ มักมีลักษณะที่เป็นการ Supply-Driven หรือ การกำหนดโดยอุปทาน คือ ทุกหน่วยงานจะมีว่า แต่ละปีจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ ในภาคการศึกษาเห็นชัดเจนมากกว่า เรามีโรงเรียนเล็กๆ เต็มไปหมด เด็กเกิดน้อยลง แต่ยุบโรงเรียนไม่ได้ ครูก็มีปัญหา เพราะตำแหน่งมีน้อยลงตามจำนวนเด็ก
คุณภาพก็เลยแย่ เพราะครูคณิตศาสตร์ 1 คน อาจจะสอนคณิตศาสตร์หลายชั้น เนื่องจากไม่สามารถยุบโรงเรียนเล็กๆได้ และถ้าจะยุบโรงเรียนมารวมกัน ก็มีปัญหาหลายเรื่องที่คนอาจจะไม่ยอม ซึ่งในหลายประเทศเขาจะใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘คูปองทางการศึกษา’
คือ แทนที่รัฐบาลจะไปสนับสนุนโรงเรียน งบประมาณในเรื่องเงินเดือนครู ค่าบริหารจัดการ แต่เอางบประมาณเหมือนกันนี้ มาให้กับผู้ปกครอง และผู้ปกครองจะเป็นคนเลือกเองว่าจะส่งลูกไปโรงเรียนไหม อันนี้เป็นการใช้งบประมาณ มาเพื่อให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจได้
ถ้าโรงเรียนไหนที่ไม่พัฒนา หรือแข่งขันไม่ได้ ก็จะค่อยๆฝ่อตัวลง เพราะเขาไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าตอบแทนเพียงพอที่จะไปบริหารได้ ผู้ปกครองเองจะสามารถเลือกโรงเรียนที่คิดว่า ตรงกับคุณภาพการศึกษาที่เขาต้องการให้ลูกหลายของเขาได้รับได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในระบบ
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดแล้วทำเป็น Demand-Driven เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศไทยก็มีแล้ว เช่น สถานให้บริการด้านสุขภาพภายใต้ประกันสังคม รัฐบาลไม่ต้องเป็นผู้ให้บริการเองหมด เราจะเห็นโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากที่มาแข่งขันกัน
เพื่อให้บริการดูแลด้านสุขภาพกับคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทุกคนก็ต้องแข่งขันกันว่า ทำอย่างไรให้ตนเองเองมีผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น ให้บริการให้ตรงกับคนที่เป็นสมาชิก และเลือกว่าจะใช้บริการโรงพยาบาลนี้ ส่วนรัฐบาลก็ควบคุมรายจ่ายได้ดีกว่าที่จะต้องบริหารจัดการโรงพยาบาลเอง
ดังนั้น ในด้านของภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปฏิรูปภาครัฐ รวมไปถึงการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ และต้องรับฟังคนที่เป็นฝั่งผู้ใช้บริการให้มากขึ้น แต่การพัฒนาผลิตภาพของประเทศ ไม่ได้อยู่ที่ภาคภาครัฐอย่างเดียว เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพในภาคเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากฝากชีวิตไว้ เช่น ภาคเกษตร
แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องการพัฒนาผลิตภาพนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เป็นเรื่องที่ต้องทำแบบมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้ด้วย Demand management policy (นโยบายการจัดการด้านอุปสงค์) แบบเหวี่ยงแห ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก จะไม่มีมาตรการ หรือนโยบายที่จะทำแบบ Quick Win
ต้องลงไปบริหารจัดการในระดับจุลภาคกับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง และให้เท่าทันกับปัญหาต่างๆที่ถูกต้อง ดังนั้น นโยบายในการพัฒนาด้านผลิตภาพนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับฝั่งซัพพลายมากขึ้น ไม่ใช่ฝั่งดีมานด์ เหมือนกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่เศรษฐกิจมีปัญหา
ถ้าเราจะปรับตัวให้เท่าทันกับความท้าทายมีมาหลากหลายรูปแบบ และซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต บางครั้งเราต้องมานั่งคิดว่า paradigm (กระบวนทัศน์) ของการพัฒนา paradigm ของการทำนโยบายของเรา ควรจะต้องปรับอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าเป็นการปรับใหญ่
อ่านประกอบ :
‘อดีตผู้ว่าฯ ธปท.’เตือนรบ.อย่าทำนโยบายแบบ‘เหวี่ยงแห’-ต้องไม่ทำลายภูมิคุ้มกันการคลังฯปท.
วิรไท สันติประภพ : ธรรมาภิบาลของตลาดทุนกับการสรรหาเลขา ก.ล.ต.
วิรไท สันติประภพ: ขอสามคำสำหรับการประเมินนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง
วิรไท สันติประภพ : เกษตรกรตกไปอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข
'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน