"… การใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมืองพิสูจน์ให้เห็นว่า 'ประชาธิปไตยภายใต้อัลกอริทึม' คือประชาธิปไตยที่สามารถทำให้คนเดินดินธรรมดาๆที่ไม่มีใครรู้จักกลายเป็นดาวการเมืองเพียงชั่วข้ามคืนจากกระแสความนิยมที่สร้างขึ้นเองผ่านโซเชียลมีเดียและการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างกระแสความนิยมทางการเมืองที่ไม่เคยมีอยู่จริงคงจะได้ผลไปอีกนาน ตราบเท่าที่ประชาชนยังไม่รู้เท่าทันนักการเมืองและยังแยกไม่ออกว่าสิ่งใดคือการโฆษณาชวนเชื่อและสิ่งใดคือความเป็นจริงที่สัมผัสได้ …"
การเลือกตั้งผ่านไปแล้วเกือบสามเดือน มีคำถามซ้ำซากเกิดขึ้นมากมายทั้งในโลกโซเชียลและโลกแห่งความจริงอยู่ตลอดเวลา เป็นต้นว่า 'เสียเวลาไปเลือกตั้งกันทำไม' 'เสียเงินเลือกตั้งไป 6000 ล้าน ทำไมยังไม่ได้นายกฯ' 'ทำไมต้องให้ สว. มาเลือกนายกฯอีกเพราะประชาชนเลือกตั้งไปแล้ว' 'กกต. มีไว้ทำไม' หรือ 'ทำไม พิธา เลือกตั้งได้เป็นอันดับหนึ่งแต่ไม่ได้เป็นนายกฯ' ฯลฯ
หลายต่อหลายคำถามสะท้อนให้เห็นว่าคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาคือปลายทางสุดท้ายของการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นด้วยเหตุว่าก่อนเลือกตั้งมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯของแต่ละพรรคการเมืองล่วงหน้าและมีการโหมกระแสข่าวตัวนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคกันอย่างเอิกเกริก คนจำนวนไม่น้อยจึงตีความว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคือการเลือกนายกฯโดยไม่รู้ว่าการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้นมิใช่การเลือกนายกรัฐมนตรีจากผลคะแนนเลือกตั้งโดยตรง แต่เป็นการเลือก สส.ที่ยังมีขั้นตอนต้องไปโหวตเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้และยังต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ รวมทั้งยังมีเทคนิคทางการเมืองต่างๆ เช่น การจับขั้วทางการเมืองเพื่อรวบรวมเสียงให้พอเพื่อจัดตั้งรัฐบาลตามที่กฎหมายกำหนด การเจรจาต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ความเข้ากันได้ของนโยบายทางการเมืองของแต่ละพรรค การปฏิบัติตามวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยและอุบัติเหตุทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทางกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศในโลกในการจัดตั้งรัฐบาลและหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคในลำดับถัดๆไปจึงได้รับโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งเป็นโลกแห่งความเป็นจริงทางการเมือง
การขาดความสมดุลในการรับรู้คอนเทนต์ทางการเมือง
ความเป็นจริงทางการเมืองที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นข้อมูลที่ไม่เคยเข้าถึงคนบางกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เริ่มสนใจการเมืองและคนที่เพิ่งได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งแรก ทั้งๆที่เป็นความรู้ทางการเมืองเบื้องต้นที่คนไทยที่มีสิทธิ์เลือกตั้งควรรู้ไว้ จึงเป็นไปได้ที่ผู้คนส่วนหนึ่งเรียนรู้วิชาทางการเมืองครั้งแรกจากโซเชียลมีเดียและคิดว่าการเมืองที่แท้จริงนั้นเป็นการเมืองแบบมีสูตรตายตัว ตามที่ตัวเองเข้าใจเพราะสรุปเอาจากความเชื่อของตัวเองหรือความเห็นของเพื่อนฝูงหรือจากอคติ(Bias)ที่เอนเอียงต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือจากคอนเทนต์การเมืองยอดนิยมบนโซเชียลมีเดียที่อัลกอริทึมส่งมาให้ดูตลอดทั้งวันโดยอาจไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงทางกฎหมาย รวมทั้งความยืดหยุ่นและผลประโยชน์ทางการเมืองที่ต้องตกลงกันระหว่างพรรคการเมือง
การขาดการรับรู้ทางการเมืองขั้นพื้นฐานจึงเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้คนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆนานาที่ได้รับผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะที่ขาดความสมดุลในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่เป็นความจริงกับข้อมูลที่ปั่นกระแส สร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากโลกออนไลน์เพราะผู้คนมองการเมืองผ่านเลนส์ของโลกโซเชียลที่ตัวเองชอบเพียงทางเดียว
ความเชื่อและความเห็นที่ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นการรับรู้ที่คุ้นเคยจึงทำให้เราโน้มเอียงที่จะเชื่อในสิ่งนั้นว่าเป็นความจริงเสมอ แต่ความจริงที่เชื่อนั้นเป็นความจริงที่เรียกว่า ปฏิกิริยาความจริงลวงตา(Illusory Truth Effect) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่คนมักเชื่อข้อมูลเดิมที่ทำซ้ำๆกันว่าเป็นความจริงมากกว่าการเชื่อในข้อมูลใหม่(อ้างอิง1)
การสร้างความนิยม(เทียม)ทางการเมือง
โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงออกและส่งเสียงให้ใครๆได้รับรู้ถึงความต้องการ ความคิดและจุดยืนทางการเมือง ในขณะเดียวกันนักการเมืองสามารถใช้ศักยภาพของโซเชียลมีเดียในการสร้างความนิยมทางการเมืองให้กับพรรคของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดียและการสร้างกระแสความนิยมที่ไม่มีอยู่จริงมักจะได้ผลเพราะใช้วิธีสร้างคอนเทนต์ทางการเมืองผสมผสานกับวิธีทางการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียในการเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ด้วยเทคนิคการโน้มน้าวและสร้างกระแสความนิยมโดยใช้โซเชียลมีเดียซึ่งมีศักยภาพเหนือมนุษย์ 2 ประการคือ (อ้างอิง2)
-โซเชียลมีเดียทำงานด้วยระบบอัตโนมัติผ่านอัลกอริทึมที่ออกแบบมาเพื่อดึงดูดผู้ใช้งานให้อยู่ติดหน้าจออยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งยังสามารถแสดงคอนเทนต์ทางการเมืองให้กับผู้ที่สนใจได้อย่างสม่ำเสมอคงเส้นคงวาโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและแทบไม่มีข้อจำกัด
-โซเชียลมีเดียสามารถทำให้นักการเมืองไม่ต้องแสดงตัวตนจริง แต่สามารถทำให้คอนเทนต์ที่ต้องการสื่อสาร กระจายไปได้ทุกหนทุกแห่งที่นักการเมืองไม่สามารถเดินทางไปถึง ตราบเท่าที่โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตของผู้คนยังใช้งานได้
การสร้างกระแสความนิยมทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียที่มักใช้ได้ผลและใช้กันโดยทั่วไปในทางการเมืองมักใช้วิธีที่เรียกกันว่า การสร้างความนิยมทางการเมืองด้วยหญ้าเทียม(Political Astroturf Movement) ( อ้างอิง 4)โดยพรรคการเมืองจะจัดให้มีทีมงานขนาดใหญ่ในการสร้างภาพต่อสาธารณะผ่านโซเชียลมีเดียว่าพรรคและนักการเมืองเองได้รับความนิยมทั้งๆที่สิ่งเหล่านั้นไม่เคยมีอยู่จริง แต่สร้างกระแสให้เกิดความนิยมเพื่อหวังคะแนนเลือกตั้งคล้ายกับช่วยกันระดมปูหญ้าเทียมให้เห็นคล้ายหญ้าจริง ซึ่งเป็นการสร้างภาพลวงตาทางการเมืองให้ผู้คนหันมาสนับสนุนพรรคการเมืองของตนเอง โดยการใช้โซเชียลมีเดียสร้างคอนเทนต์และใช้ทีมงานหรืออาจใช้ บ็อท (Bot :โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ที่ออกแบบมาเพื่อการทำงานเฉพาะอย่าง ) ปั่นยอดไลค์ ยอดแชร์ รีทวีต ฯลฯ และให้อัลกอริทึมทำหน้าที่จัดการและส่งคอนเทนต์เหล่านี้ออกไปโดยใช้ปฏิกิริยาโครงข่าย(Network effect)ของโซเชียลมีเดียเผยแพร่คอนเทนต์ออกไปให้คนส่วนใหญ่ได้มองเห็น จนเข้าใจว่าเป็นความนิยมจริงๆ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับกับการสร้างกระแสความนิยมของเพลง เพื่อให้เพลงนั้นได้รับความนิยมติดอันดับ ตามความจริงที่ว่า 'การบอกผู้คนว่าเพลงใดเป็นที่นิยมตั้งแต่แรก เพลงนั้นจะกลายเป็นเพลงยอดนิยมในที่สุด' (อ้างอิง3)
อีกวิธีหนึ่งที่มักถูกกล่าวถึงในสร้างกระแสทางการเมืองเป็นวิธีทางการตลาดที่เรียกว่า การตลาดแบบ หว่านเมล็ดพันธุ์(Big seed marketing) ซึ่งเป็นการผสมผสาน การตลาดแบบปากต่อปาก(Viral Marketing)เข้ากับสื่อทางการตลาดรูปแบบเดิมๆ ที่เคยใช้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อวิทยุ โทรทัศน์ บิลบอร์ด แผ่นพับ ฯลฯ การผสมผสานดังกล่าวนี้ จะทำให้ผลของการส่งข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากขึ้น อัตราการส่งต่อของผู้รับข่าวสารก็จะสูงขึ้นมากกว่าการใช้การตลาดแบบปากต่อปากเพียงอย่างเดียว(อ้างอิง5)
ประธานาธิบดียูทูป vs นายกฯโซเชียล
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโซเชียลมีเดียได้ ดิสรัป(Disrupt) การเลือกตั้งแบบเดิมของเมืองไทยไปแทบจะเบ็ดเสร็จและได้สร้างการเมืองรูปแบบใหม่ที่ถูกออกแบบตามคุณสมบัติของโซเชียลมีเดียที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้หรือเตรียมตัวรับมือมาก่อน
ปรากฏการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาแทบไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งทั่วไปในบราซิลเมื่อหลายปีก่อน เมื่อ ชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) อดีตประธานาธิบดีบราซิลซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2019 ถึง 2022 ได้รับการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นจากการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งพลิกโฉมการหาเสียงทางการเมืองจากการใช้สื่อโทรทัศน์สู่การใช้โซเชียลมีเดียแทน
โบลโซนาโร เป็นนักการเมืองฝ่ายขวาจัดและมักแสดงความเห็นและท่าทีไม่แยแสต่อความถูกต้องทางการเมือง จนถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่มีความคิด เหยียดเชื้อชาติ เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและผู้หญิง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เจ้าตัวปฏิเสธ เขามักได้รับฉายาว่า ทรัมป์-ดูแตร์เต แห่งบราซิลหรือนักการเมืองบางคนเรียกเขาว่า"ฮิตเลอร์แห่งประเทศเขตร้อน" (อ้างอิง6)
ก่อนเลือกตั้งผู้คนคาดหวังว่าเขาจะพ่ายแพ้ แต่เขากลับเอาชนะการเลือกตั้งมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำบราซิลได้ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ความผิดพลาดของการบริหารของรัฐบาลฝ่ายซ้าย แต่เหตุผลสำคัญคือการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างความนิยมในการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งไม่ต่างจากการใช้โซเชียลมีเดีย สร้างกระแสความนิยมในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในบ้านเราจนพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างล้นหลาม
ในยุคที่ บราซิล เต็มไปด้วยโซเชียลมีเดียที่มีแต่คอนเทนต์ เกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิด ข่าวปลอมและความเห็นสุดขั้ว ซึ่งสร้างความสับสนและความหวาดกลัวให้กับคนบราซิลอย่างมาก ในสถานการณ์สับสนเช่นนี้เองที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถใช้โซเชียลมีเดียในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อโน้มน้าวผู้คนให้เชื่อในสิ่งที่ตัวเองนำเสนอได้อย่างง่ายดาย
ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โบลโซนาโร ซึ่งเป็นซูเปอร์สตาร์ของโซเชียลมีเดีย ถือโอกาสในการหาคะแนนความนิยมผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการกระตุ้นความโกรธแค้นให้กับคนบราซิลโดยการโจมตีเรื่อง การคอร์รัปชันของรัฐบาล ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและการถดถอยของระบบประชาธิปไตยในบราซิล
การโจมตีรัฐบาลอย่างดุเดือดเผ็ดร้อนผนวกกับพฤติกรรมหยาบคาย ก้าวร้าว การใช้คำพูดสร้างความเกลียดชัง(Hate speech) ความเป็นศัตรูกับผู้หญิง รวมทั้งทฤษฎีสมคบคิดแบบสุดขั้วของเขา ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในโลกแห่งความจริง แต่พฤติกรรมของเขากลับถูกจริตกับผู้คนบนโลกออนไลน์ ภาพลักษณ์ของโบลโซนาโร จึงถูกหล่อหลอมด้วยโลกโซเชียลจนกลายเป็นประธานาธิบดีบนยูทูปของบราซิล เช่นเดียวกับคุณพิธาที่โลกโซเชียลสร้างภาพของเขาขึ้นมาจนกลายเป็นนายกฯโซเชียลของเมืองไทย
โซเชียลมีเดียกับโฆษณาชวนเชื่อ
ทฤษฎีสมคบคิดแบบสุดขั้วและความก้าวร้าวของโบลโซนาโร ที่ถูกเผยแพร่ระหว่างการหาเสียง ทำงานเข้ากันได้ดีกับโซเชียลมีเดียในการสร้างจุดสนใจแก่คนทั่วไป เพราะอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียไม่ชอบความเงียบ แต่กลับชอบความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์
การที่ผู้คนให้ความสนใจต่อภาพความรุนแรง การด่าทอที่หยาบคายหรือทะเลาะวิวาทมากกว่าภาพคนถือดอกไม้ จึงทำให้อัลกอริทึมที่ถูกออกแบบตามพฤติกรรมมนุษย์หยิบจับสิ่งที่ผู้คนสนใจซึ่งมีคุณค่ายิ่งในทางธุรกิจและส่งต่อคอนเทนต์เหล่านั้นออกไปเพื่อดึงดูดผู้คนไม่ให้ละสายตาจากจอโทรศัพท์ สิ่งเหล่านี้คือโมเดลทางธุรกิจของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ตั้งใจออกแบบมาตั้งแต่แรก
พฤติกรรมต่างๆที่ผ่านมาของโบลโซนาโร และการแสดงออกของเขาบนโซเชียลมีเดียซึ่งกล้าที่จะแตกต่าง จึงทำให้คนบราซิลมากมายติดกับดักในโฆษณาชวนเชื่อที่เขาและพลพรรคตั้งใจสร้างขึ้น ยูทูปในบราซิลซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับสามของโลก(สถิติปี 2023) รวมทั้งแพลตฟอร์ม WhatApp และ เฟซบุ๊ก กลายเป็นช่องทางให้เขาได้เผยแพร่ คอนเทนต์ ทางการเมืองที่เต็มไปด้วย ทฤษฎีสมคบคิด โฆษณาชวนเชื่อและข่าวปลอม(Fake news) ที่เขาและทีมงานผลิตออกสู่สายตาคนบราซิลได้เป็นอย่างดีและกลายเป็นช่องทางทางการเมืองที่คนบราซิลจำนวนมากเข้าไปสัมผัสกิจกรรมทางการเมืองของเขา จึงไม่น่าแปลกที่ออฟฟิศของโบลโซนาโร แทบไม่มีงานธุรการใดๆ นอกจากมีคนจำนวนหนึ่งจับกลุ่มกันเพื่อสร้างกระแสบนโลกโซเชียล ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการสร้าง คอนเทนต์ กดแชร์ กดไลค์ รีทวีต หรือ สร้างคอมเมนต์บนคอนเทนต์ที่พวกเขาสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ไปยังกลุ่มคนที่ติดตามเครือข่ายทางการเมืองของเขาบนโซเชียลมีเดีย
ในช่วงการเลือกตั้งในบราซิลมีข้อมูลเท็จ ข่าวปลอมและทฤษฎีสมคบคิดเผยแพร่อยู่บนโซเชียลมีเดีย อย่างมากมายจนสร้างความสับสนต่อผู้คนที่ได้รับข้อมูลทางการเมืองจนแทบแยกแยะไม่ได้ว่าข้อมูลใดคือข้อมูลเท็จข้อมูลใดเป็นข้อมูลจริง ข้อมูลเท็จ(Misinformation) บนโซเชียลมีเดียจึงเป็นปัญหาของคนบราซิลและคนทั้งโลก จากการสำรวจพบว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของคนอเมริกันเห็นว่า ข้อมูลเท็จคือหนึ่งในปัญหาใหญ่ของพวกเขาเช่นกัน (อ้างอิง 1)
ผลการศึกษาหนึ่งพบว่าในจำนวนภาพทางการเมืองยอดนิยม 50 ภาพที่เผยแพร่ในกลุ่มการเมืองบนแพลตฟอร์ม WhatApp ในบราซิลระหว่างการโหวตประธานาธิบดีรอบแรก พบว่ามีภาพเพียง 4 ภาพ เท่านั้นที่เป็นความจริง ภาพที่เหลือเป็นภาพที่บิดเบือนหรือหลอกลวง (อ้างอิง 8) สิ่งเหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเข้าถึงคอนเทนต์ใดๆบนโลกโซเชียลไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ทั่วๆไปหรือคอนเทนต์ทางการเมืองล้วนแต่มีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลเท็จและบิดเบือนไปจากความจริงเสมอ
จากเผด็จการในโลกทิพย์สู่ผู้นำในโลกจริง
การแผ่อิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายขวาจัดในบราซิลผ่านโซเชียลมีเดีย จากการเลือกตั้งที่ทำให้โบลโซนาโร คว้าชัยชนะมาได้ ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองในบราซิลบางคนถึงกับออกอาการแปลกใจว่า เหตุใดอิทธิพลทางการเมืองของนักการเมืองขวาจัดแบบ โบลโซนาโร และสมัครพรรคพวกจึงผุดขึ้นมาในบราซิลได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่ปี ซึ่งคงไม่ต่างจากเมืองไทยที่คนไม่น้อยที่เกิดคำถามเช่นกันว่าขบวนการทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่กลายเป็นพรรคการเมืองที่มาแรงแซงพรรคเก่าแก่ทั้งหลายแบบพรรคก้าวไกลเติบโตขึ้นมาได้อย่างไรในช่วงระยะเวลาอันสั้น
การที่คอนเทนต์การเมืองของ โบลโซนาโร ได้รับความสนใจจากผู้คนจึงทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชอบที่จะเลือกคอนเทนต์จากเครือข่ายการเมืองของเขา ส่งไปป้อนให้กับผู้สนับสนุนรวมทั้งเยาวชนบราซิลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดวิวคอนเทนต์การเมืองของเขาเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและปลุกชาวบราซิลให้ตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งเหมือนกับเมืองไทยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่สามารถปลุกกระแสผู้คนในทุกสาขาอาชีพตั้งแต่ คนชั้นนำ คนชั้นกลาง นักศึกษา นักเรียน พนักงานร้านกาแฟ แม่บ้าน รวมไปถึงพระสงฆ์องค์เจ้า ที่มีโทรศัพท์อยู่ในมือจดจ่ออยู่แต่ข่าวการปราศรัยหาเสียงของนักการเมืองและติดตามข่าวสารการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียอยู่แทบทุกนาที
ความศรัทธาต่อนักการเมืองจากกระแสความนิยมบนโลกโซเชียลทำให้คนบราซิลจำนวนไม่น้อยกลายเป็นด้อมการเมืองที่สนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองบนโลกออนไลน์ของโบลโซนาโร อย่างเหนียวแน่น คล้ายกับในเมืองไทยที่คนจำนวนหนึ่งกลายเป็นด้อมการเมืองที่ทำหน้าองครักษ์พิทักษ์คุณพิธาว่าที่นายกรัฐมนตรีอย่างสุดตัว แต่เมื่อนายกในดวงใจบนโลกโซเชียลถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวและไม่ผ่านการโหวตในสภาจึงทำให้หลายต่อหลายคนถึงกับแสดงออกด้วยความผิดหวังอย่างรุนแรง เพราะเป็นการทำลายความคาดหวังของด้อมการเมืองที่เชียร์พ่อส้มอย่างหมดใจ
โซเชียลมีเดีย แหล่งเรียนรู้ทางการเมือง ?
การที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถูกนำมาใช้ในทางการเมืองและสร้างกระแสตอบรับอย่างดียิ่งจึงทำให้ ยูทูป WhatApp และ เฟซบุ๊ก ถูกนักการเมืองบราซิลฝ่ายขวายึดไปจนกลายเป็นฐานเผยแพร่ความคิดทางการเมืองในแบบของ โบลโซนาโร อย่างเบ็ดเสร็จและได้รับทั้งยอดวิว คอมเมนต์และการโต้ตอบมากมายเมื่อเทียบกับนักการเมืองฝ่ายซ้าย ไม่ต่างจากเมืองไทยที่พรรคก้าวไกลได้ยึดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลการเมือง ของตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง TikTok น่าจะกลายเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของด้อมการเมืองทุกวัย
สิ่งที่น่าสังเกตจากกระแสการใช้โซเชียลมีเดียในบราซิลคือคนจำนวนไม่น้อยใช้ ยูทูปและโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆของนักการเมืองฝ่ายขวาเป็นเหมือนบทเรียนทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งคงไม่ต่างจากเมืองไทยที่คนบางกลุ่มใช้ทั้ง ยูทูป เฟซบุ๊ก ไลน์ และ TikTok ในการติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมืองและน่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเมืองสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มสนใจการเมืองเช่นกันและสร้างทัศนคติทางการเมืองแก่คนกลุ่มหนึ่งอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตามความน่าเป็นห่วงต่อการเข้าถึงข้อมูลทางการเมืองของผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียคือ การไม่สามารถแยกแยะระหว่างการหาเสียงทางการเมืองซึ่งมักใช้คำพูดในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อกับความจริงทางการเมืองที่ผูกพันกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางการเมืองที่ถูกกำหนดไว้ คนจำนวนไม่น้อยรับรู้ข้อมูลทางการเมืองเพียงด้านเดียวผ่านการโฆษณาชวนเชื่อหรือความเห็นและมักเกิดความสับสนเมื่อผลของการโหวตลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีก็ดีหรือการจัดตั้งรัฐบาลก็ดีไม่เป็นไปตามสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากโซเชียลมีเดียหรือไม่เป็นไปตามที่ใจตัวเองคิด ความเปราะบางและอ่อนไหวทางการเมืองจึงเกิดขึ้นได้เสมอในโลกโซเชียล เมื่อข้อมูลทางการเมืองถูกบิดเบือนหรือเป็นข้อมูลที่ชักนำผู้คนให้เข้าใจไปในทางที่ผิด การเรียนรู้วิชาการเมืองจากโซเชียลมีเดียจึงมีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดได้ตลอดเวลาหากไม่เลือกเรียนรู้จากแหล่งการเมืองที่น่าเชื่อถือได้จริงๆ
นอกจากนี้การที่ผู้คนสามารถเข้าถึงและเลือกที่จะเสพสื่อที่ถูกใจตัวเองจากการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าการค้นหาความจริง ทำให้คนเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่ในห้องเสียงสะท้อน(Echo chamber) ที่ถูกสร้างขึ้นได้ตลอดเวลาจนสลัดความเชื่อทางการเมืองเดิมไม่หลุดแม้จะมีเหตุผลและข้อมูลใหม่มาหักล้างก็ตาม ทั้งนี้เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้คนรับรู้ข้อมูลแม้ว่าจะเป็นข้อมูลเท็จ สิ่งที่ได้รับรู้ไปแล้วนั้นจะถูกตรึงแน่นในใจจนยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้(อ้างอิง 1)
ผู้นำลัทธิ vs ผู้นำการเมือง
การเมืองรูปแบบใหม่บนโลกออนไลน์ทำให้ โบลโซนาโร กลายเป็นภาพลักษณ์ของบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยโซเชียลมีเดียและกลายเป็นภาพของว่าที่ประธานาธิบดีในโลกโซเชียล ก่อนที่เขาจะได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในโลกแห่งความจริงอย่างไม่มีใครคาดคิด
ถึงแม้เขาจะเคยเป็น สส. มานานถึง 26 ปี แต่ภาพลักษณ์ของเขายังดูเหมือนเป็นคนนอกสภาและเมื่อเขาได้รับชัยชนะการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ผู้คนที่สนับสนุนเขาต่างออกมาตะโกนส่งเสียงสดุดี เฟซบุ๊ก! เฟซบุ๊ก! เฟซบุ๊ก! ด้วยความสะใจ เพราะพวกเขารู้ดีว่าอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียเท่านั้นที่เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของการเลือกตั้งในครั้งนั้น
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของบราซิล แม้ว่า โบลโซนาโร จะพ่ายแพ้ให้กับประธานาธิบดีคนปัจจุบันแต่ภาพลักษณ์ที่มีคนหลงใหลและคอนเทนต์การเมืองแบบสุดขั้วที่มีผู้ติดตามอย่างมากมายนับตั้งแต่ชัยชนะครั้งแรกเมื่อปี 2018 ยังติดตรึงใจผู้คนบราซิลอยู่เสมอราวกับว่า โบลโซนาโร เป็น 'ผู้นำลัทธิบูชาบุคคล' มากกว่าการเป็น ผู้นำทางการเมือง ทำให้คนบางกลุ่มถึงกับให้คำมั่นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2022 ว่า “เราจะโหวตให้ โบลโซนาโร เพราะเขาคือพระเจ้า” (We'll vote for Bolsonaro because he is God) (อ้างอิง10)
ภาพของ โบลโซนาโร ที่ผู้คนบูชาเขาราวกับพระเจ้า จึงไม่ต่างจากภาพของว่าที่นายกรัฐมนตรีของคุณพิธาที่ถูกโลกโซเชียลสร้างขึ้นผ่านการแสดงออกทางการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองแบบเซเลบจนเกิดกระแสคลั่งไคล้นายกพิธาและได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้น
เมื่อหลายปีก่อน โบลโซนาโร สามารถใช้โซเชียลมีเดียในการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างงดงามและครองอำนาจอยู่นาน 4 ปีเต็ม (2019-2022) แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเขากลับไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียในการครองใจคนบราซิลเอาไว้ได้และพ่ายแพ้ต่อประธานาธิบดี ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา(Luiz Inácio Lula da Silva) หรือ ลูลาไปอย่างเฉียดฉิว
แม้ว่าโบลโซนาโร จะพ่ายการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แต่กระแสบนโลกโซเชียลของเขาไม่ได้แผ่วลงจากการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่เขาได้รับชัยชนะเลย จากการศึกษาของ Igarape Institute ในบราซิลพบว่า ในช่วงเวลา 8 วันก่อนเลือกตั้งและช่วงเวลาหลังจากการโหวตรอบแรก ยูทูปของฝ่ายขวาจัด(Far right) มียอดวิวราว 99 ล้านวิว ในขณะที่ยูทูปของฝ่ายซ้ายมียอดวิวเพียง 28 ล้านวิวเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก(อ้างอิง8) แต่ตัวเลขความนิยมบนโลกโซเชียลของฝ่ายขวาจัดในครั้งนี้กลับไม่สามารถฝ่ากระแสความนิยมของฝ่ายซ้ายจนทำให้โบลโซนาโรเข้าเส้นชัยได้เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งแรก แสดงให้เห็นว่ากระแสความนิยมทางการเมืองบนโลกโซเชียลไม่ได้สะท้อนถึงผลการโหวตเลือกนายกฯในโลกแห่งความจริงเสมอไปเมื่อเวลาผ่านไป
การใช้โซเชียลมีเดียในทางการเมืองพิสูจน์ให้เห็นว่า 'ประชาธิปไตยภายใต้อัลกอริทึม' คือประชาธิปไตยที่สามารถทำให้คนเดินดินธรรมดาๆที่ไม่มีใครรู้จักกลายเป็นดาวการเมืองเพียงชั่วข้ามคืนจากกระแสความนิยมที่สร้างขึ้นเองผ่านโซเชียลมีเดียและการใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างกระแสความนิยมทางการเมืองที่ไม่เคยมีอยู่จริงคงจะได้ผลไปอีกนาน ตราบเท่าที่ประชาชนยังไม่รู้เท่าทันนักการเมืองและยังแยกไม่ออกว่าสิ่งใดคือการโฆษณาชวนเชื่อและสิ่งใดคือความเป็นจริงที่สัมผัสได้
อ้างอิง
1. Building Back Truth in an Age of Misinformation โดย Leslie F.Stebbins
2. Stole Focus โดย Johann Hari
3. https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/118021-partypolicy.html
4. Computational propaganda โดย Samuel C.Woolley และ Philip N.Howard
6. https://www.bbc.com/thai/international-45766910
7. The Chaos Machine โดย Max Fisher
9. https://www.cfr.org/blog/whatsapps-influence-brazilian-election-and-how-it-helped-jair-bolsonaro-win
10. https://www.bbc.com/news/world-latin-america-62929581
ภาพประกอบ
1. https://english.dvb.no/move-forward-party-leader-pita-limjaroenrat-outlines-his-burma-policy/
2. https://www.landportal.org/node/77905
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร