พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ไขปริศนาทำไมพรรคการเมืองจึงนิยมหาเสียงกับ “ตัวเลข” ไม่ว่าจะเป็น “แจกเงิน 10,000 - ค่าแรง 600 - ป้อม 700” หรือแม้แต่ “บัตรสวัสดิการพลัส 1,000 บาท”
ทุกเรื่องมีที่มาที่ไป ทุกนโยบายมีกลยุทธ์แอบแฝง และมีทฤษฎีอธิบายอย่างสมเหตุสมผล...
@@ ปรากฏการณ์ “ดาวน์โหลดเพลง” กับกลยุทธ์สร้างกระแสการเมือง
ในบรรดานโยบายที่พรรคการเมืองต่างนำเสนอในช่วงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง นโยบายจำนวนไม่น้อยประกวดกันด้วยตัวเลข
ทั้งนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายเงินเดือนขั้นต่ำ และนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ ซึ่งแต่ละพรรคมักตั้งตัวเลขกันมากเข้าไว้เพื่อชิงความได้เปรียบ จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่านโยบายเหล่านั้นจะทำได้จริงหรือไม่ และจะหางบประมาณที่ไหนมาสนับสนุน
หลายพรรคอ้างว่านโยบายของตนเองสามารถทำได้ทันที บางพรรคอ้างเลยเถิดไปจนถึงว่านโยบายที่ใช้หาเสียงยังทำไม่ได้ทันที ต้องรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งยากที่จะคาดการณ์ได้ แต่นักการเมืองก็ยังเลือกที่จะหาเสียงบนความคาดหวังของผู้คนด้วยตัวเลข เพราะตัวเลขเป็นสิ่งที่ดูเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้คนมีความหวัง และน่าจะได้รับเสียงตอบรับอยู่ไม่น้อย
นอกจากตัวเลขนโยบายต่างๆ แล้ว พรรคการเมืองหลายพรรคยังประกาศตัวเลขคาดการณ์จำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคประมาณการกันสูงลิ่ว รวมกันแล้วมากกว่าจำนวน ส.ส.ของประเทศไทยไปมากถึงเกือบเท่าตัว (ในกรณีรวมถึงการขยายผลจาก “โพลเลือกตั้ง” ซึ่งสำรวจกันหลายสำนัก ทั้งสื่อมวลชน และสถาบันการศึกษาด้วย)
การที่พรรคการเมืองต่างๆ แสดงจำนวนตัวเลขประมาณการจำนวน ส.ส. ที่คาดว่าพรรคตัวเองจะได้รับเลือกตั้งสูงมากจนผิดสังเกต แสดงให้เห็นว่าตัวเลขประมาณการจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองสื่อออกไปยังพื้นที่สาธารณะ คงมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งต่อคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะนอกจากจะเป็นการประเมินตามกระแสของพรรคและตัวบุคคลที่คาดว่าจะได้รับเลือกตั้งแล้ว ยังน่าจะมีตัวเลขทางจิตวิทยาแฝงอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
พรรคการเมืองคงรู้ดีว่าตัวเลขที่สูงกว่าความเป็นจริงเหล่านี้ในเชิงจิตวิทยาน่าจะให้ผลลัพธ์ในเชิงบวกมากกว่าการประมาณการด้วยตัวเลขที่ต่ำหรือเสมอตัวแบบไร้ความหวัง เพราะนอกจากจะประกาศถึงความพร้อมและแสดงความมั่นใจให้กับสมาชิกพรรคและกองเชียร์แล้ว ตัวเลขเหล่านี้ยังเป็นตัวเลขทางจิตวิทยาที่สามารถดึงดูดความสนใจต่อผู้ที่ยังลังเลให้หันเข้าหาพรรคของตัวเอง และตอกย้ำความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่ยังจงรักภักดีต่อพรรคนั้นๆ อีกด้วย
ตัวเลขที่แต่ละพรรคการเมืองปั่นกันขึ้นมาอย่างสูงจนผิดปกติในสายตาของสื่อ นักวิชาการ และคอการเมืองทั่วไป จึงเป็นตัวเลขที่อยู่ในความน่าสงสัย แต่เชื่อได้ว่าพรรคการเมืองคงคาดหวังให้เกิดผลลัพธ์ที่เรียกกันว่า “คำพยากรณ์เกิดขึ้นจริงเพราะอิทธิพลของตัวคำพยากรณ์เอง” (Self-fulfilling prophecy ; อ้างอิง คำแปลจาก ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์) เพื่อให้ตัวเลขที่กำหนดไว้นั้นกลายเป็นความจริงเมื่อถึงเวลาลงคะแนนเลือกตั้ง
และปรากฏการณ์ลักษณะนี้ถูกนำไปใช้ในการอธิบายถึงความสำเร็จของนักการเมืองระดับโลก เช่น บารัค โอบามา} โดนัลด์ ทรัมป์ หรือการโหวตเพื่อถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) มาแล้วเช่นกัน
ผลจากการเพิ่มจำนวนตัวเลข ส.ส.ของพรรคการเมืองที่เชื่อว่าสามารถแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงได้นั้น มีการทดลองทางจิตวิทยารองรับพฤติกรรมดังกล่าว และสามารถนำไปใช้อธิบายเหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ เช่น ปรากฏการณ์ข่าวลือ รวมทั้งปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างเอาเป็นเอาตายในบ้านเรา ซึ่งกระแสการปั่นตัวเลขเหล่านี้น่าจะเพิ่มจำนวนคะแนนเสียงให้กับพรรคตัวเองได้ไม่มากก็น้อย เพราะเป็นการสร้าง ความนิยม (Popularity) เอาไว้ล่วงหน้าโดยหวังว่า ผลของคำทำนายจะกลายเป็นความจริงเมื่อวันเลือกตั้งมาถึง
นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา ได้พิสูจน์ถึง “คำพยากรณ์เกิดขึ้นจริงเพราะอิทธิพลของตัวคำพยากรณ์เอง” ในการทดลองทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ดาวน์โหลดเพลง”
โดยผู้ทดลองได้จัดทำเว็บไซต์สำหรับให้ผู้ร่วมทดลองจำนวน 14,341 คนมีส่วนร่วมการทดลอง ผู้ทดลองขอให้ผู้ร่วมทดลองกลุ่มแรก (เรียกว่า Control group) ดูรายชื่อเพลงและเลือกฟังเพลงที่ตัวเองสนใจจากเพลงที่ไม่มีชื่อเสียงและเล่นโดยวงดนตรีที่ไม่มีใครรู้จัก พร้อมทั้งให้จัดอันดับเพลงที่เลือก (Ranking) และเลือกดาวน์โหลดเพลง 1 เพลงหรือมากกว่า จากเพลงจำนวน 72 เพลง โดยให้ผู้ร่วมทดลองตัดสินใจเลือกเพลงอย่างอิสระบนพื้นฐานความชอบของเพลงที่ได้ฟัง และทุกคนไม่เคยรับรู้ข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับความนิยมของเพลงมาก่อน
หลังจากนั้นนำผลการดาวน์โหลดและการจัดอันดับเพลงของผู้ร่วมทดลองกลุ่มแรกไปให้ผู้ร่วมทดลองที่เหลือนอกกลุ่มได้ดู แต่แทนที่จะนำการจัดอันดับความนิยมของเพลงตามผลการจัดอันดับความฮิตตามที่กลุ่มผู้ร่วมทดลองกลุ่มแรกได้จัดไว้ ผู้รับการทดลองกลุ่มหลังกลับได้เห็นการจัดอันดับในทางตรงกันข้าม โดยมีการสลับข้อมูลให้เพลงที่ฮิตที่สุดกลายเป็นเพลงที่มีคนดาวน์โหลดน้อยที่สุด และเพลงอันดับสุดท้ายกลายเป็นเพลงฮิตที่มีคนดาวน์โหลดมากที่สุด ซึ่งเป็นการจัดอันดับแบบผิดฝาผิดตัว (False ranking)
ผลปรากฏว่าคนกลุ่มหลังมีแนวโน้มในการดาวน์โหลดเพลงที่มีการดาวน์โหลดมาก และมีแนวโน้มที่จะไม่ดาวน์โหลดเพลงที่มีการดาวน์โหลดน้อย โดยไม่รู้เลยว่าเพลงที่ตัวเองเลือกมานั้นเกิดจากการแทรกแซงโดยการสลับข้อมูลจากผู้ทดลอง ซึ่งจัดอันดับของเพลงเสียใหม่ให้ตรงข้ามกับผลของความนิยมของเพลงที่เกิดขึ้นจากการจัดอันดับตามธรรมชาติโดยผู้รับการทดลองกลุ่มแรก
จากผลการทดลองดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า ความนิยมหรือความไม่นิยมของเพลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพที่ดีหรือไม่ดีของเพลงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับว่าเพลงนั้นมีจำนวนการดาวน์โหลดมากน้อยเพียงใด ตามตัวเลขที่คนฟังเพลงก่อนหน้าเลือกมาให้
สอดคล้องกับการทดลองการสแกนสมองของวัยรุ่นจำนวนหนี่งด้วยเครื่องสแกนสมองอย่างละเอียด (fMRI) พร้อมกับให้วัยรุ่นที่รับการทดสอบนั้นดูภาพจากอินสตาแกรมไปด้วย โดยพบว่าผู้รับการทดสอบมีแนวโน้มที่จะกด “ไลค์” บนภาพที่มีจำนวน “ไลค์” มากกว่า เทียบกับภาพที่มีจำนวน “ไลค์” น้อยกว่า และยังพบว่าการกดไลค์มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเปลือกสมองส่วนการเห็น (Visual cortex) ของผู้ที่กดไลค์ ซึ่งหมายถึงการใช้โซเชียลมีเดียมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสมองส่วนนี้ด้วย
ผลลัพธ์จากการทดลองแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลทางสังคมและปัจจัยแวดล้อม สามารถจะสอดแทรกและเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนไปในทางใดทางหนึ่งด้วยการใช้ความนิยมจากตัวเลขที่มีจำนวนมากกว่าเป็นแรงผลักดัน
จนทำให้ได้ข้อสรุปว่า “การบอกผู้คนว่าเพลงใดเป็นที่นิยมตั้งแต่แรก เพลงนั้นจะกลายเป็นเพลงยอดนิยมในที่สุด” ซึ่งเป็นคำอธิบายที่สนับสนุนทฤษฎี “คำพยากรณ์เกิดขึ้นจริงเพราะอิทธิพลของตัวคำพยากรณ์เอง”
หรือแม้แต่โพลต่างๆ ที่มีการจัดทำในแต่ละครั้ง ก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของคนบางกลุ่ม และมีความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนทฤษฎี “คำพยากรณ์เกิดขึ้นจริงเพราะอิทธิพลของตัวคำพยากรณ์เอง” เช่นกัน
หากเราตั้งสมมุติฐานว่า การทดลองดาวน์โหลดเพลงในโลกออนไลน์ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง ทฤษฎีนี้จึงพอจะไขข้อข้องใจถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเราได้ในระดับหนึ่ง เพราะตัวเลขจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคสร้างขึ้นมาในระหว่างหาเสียงนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นการสร้างความนิยมด้วยตัวเลขและแต่ละพรรคการเมืองกำลังใช้ทฤษฎี “คำพยากรณ์เกิดขึ้นจริงเพราะอิทธิพลของตัวคำพยากรณ์เอง” มาเพิ่มคะแนนนิยมให้กับพรรคตนเอง ด้วยการสร้างกระแสที่คล้ายกับการดาวน์โหลดเพลง เพื่อให้เกิด “กระแสความนิยม” ที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงเท่าที่ควร แต่อาศัยตัวเลขทางจิตวิทยาร่วมกับการประเมินจากคะแนนที่เคยได้รับก่อนหน้า และประกาศตัวเลขคาดการณ์จำนวน ส.ส.ให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้
การสร้างตัวเลขการคาดการณ์จำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจากจำนวน 200 กว่าคนในระยะแรก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับจนเกิน 300 คน จึงมีนัยสำคัญพอเข้าใจได้ เพราะสอดคล้องกับ “ปรากฏการณ์การดาวน์โหลดเพลง”และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ในสนามการเมืองเพิ่มเติมนอกจากกลยุทธ์หาเสียงด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งเท่ากับว่าพรรคการเมืองต่างๆ ที่นิยมปั่นกระแสตัวเลขจำนวน ส.ส.กำลังแข่งกันสร้าง “ตัวเลขการดาวน์โหลดเพลง” เพื่อบอกกับคนไทยว่าเพลงของตัวเองเป็นที่นิยม
โดยเฉพาะเพลงจากพรรคเพื่อไทยนั้น กำลังถูกบอกว่ามีจำนวนการดาวน์โหลดมากกว่าเพลงใดๆ ในบรรดาตัวเลือกเพลงทั้งหลาย แต่ผู้คนจะคล้อยตามจนเกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์และแม่นยำเท่าคำพยากรณ์ที่สร้างขึ้นมากน้อยเพียงใดนั้น การลงคะแนนในวันเลือกตั้งคงเป็นตัวชี้วัด
ในทำนองเดียวกัน หากนำทฤษฎี “คำพยากรณ์เกิดขึ้นจริงเพราะอิทธิพลของตัวคำพยากรณ์เอง” มาวิเคราะห์ร่วมกับกระแสความนิยมของพรรคการเมืองในภาพรวม ก็อาจอธิบายได้เช่นกันว่า เหตุใด “คุณอุ๊งอิ๊งค์” บุตรสาวคุณทักษิณที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักในทางการเมือง จึงกลายเป็นคนที่มีกระแสความนิยมนำโด่งกว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือ คุณกรณ์ จาติกวณิช หรือนักการเมืองคนอื่นๆ ซึ่งคงไม่มีทฤษฎีไหนอธิบายได้ดีและมีเหตุผลสนับสนุนมากเท่ากับ “ปรากฏการณ์การดาวน์โหลดเพลง” เพราะมีความเป็นไปได้ที่ข้อมูลของพรรคเพื่อไทยกับคุณอุ๊งอิ๊งค์เอง ได้รับการดาวน์โหลดจากสื่อบวกกับแรงช่วยดาวน์โหลดของคุณพ่อ คือคุณทักษิณ กับพลพรรคมาก่อนหน้าแล้วอย่างล้นหลาม เหมือนการได้รับมรดกตกทอด
ในขณะที่ข้อมูลของคุณหญิงสุดารัตน์กับคุณกรณ์ อาจถูกดาวน์โหลดน้อยกว่าหลายเท่าตัว ทั้งๆ ที่หากเทียบชั้นเชิงและประสบการณ์ทางการเมืองหรือความสามารถด้านอื่นแล้ว คุณอุ๊งอิ๊งค์ เป็นรองทั้งสองคนอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ไม่ต่างจากความสำเร็จของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเชื่อได้ว่าไม่ใช่เพราะคุณชัชชาติมีความรู้ความสามารถเหนือกว่า หรือสร้างนโยบายดีเลิศชนิดทิ้งคู่แข่งคนอื่นอย่างไม่เห็นฝุ่น แต่เป็นเพราะว่าเรื่องราวของคุณชัชชาติถูกดาวน์โหลดมาก่อนหน้าแล้วถึง 2 ปีก่อนเลือกตั้ง ซึ่งมากกว่าใครๆ ในบรรดาผู้สมัครทั้งหลายนั่นเอง
ความสำเร็จในทางการเมืองของนักการเมืองหลายต่อหลายคนในโลกนี้ จึงไม่ได้ขึ้นกับความสามารถส่วนตัวหรือนโยบายของพรรคแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นร่วมกับการสร้างกระแสความนิยมจากการดาวน์โหลดเรื่องราวที่ถูกเลือกโดยคนกลุ่มหนึ่ง และส่งต่อกันไปยังคนอื่นๆ ที่ถูกชักนำให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเพิ่มกระแสความนิยมนั้นด้วย
ในขณะที่นักการเมืองที่มีศักยภาพจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่มีความสามารถเท่านักการเมืองที่ประสบความสำเร็จ แต่เป็นเพราะระดับการดาวน์โหลดข้อมูลเกี่ยวกับเขาเหล่านั้นยังไม่มากพอที่จะสร้างกระแสความนิยมและดึงดูดความสนใจจากคนหมู่มากให้เลือกพวกเขาเข้าสู่สภาได้
---------------------------------
อ้างอิง
1. Social Chemistry โดย Marissa King
2. Conformity โดย Cass R. Sunstein
3. #Republic โดย Cass R. Sunstein
4. Bit by Bit โดย Matthew J. Salganik
5. Influenced โดย Brian Boxer Wachler
6. Are public opinion polls self-fulfilling prophecies? https://journals.sagepub.com/doi/pdf/10.1177/2053168014547667