"...ตนขอเสนอตนเป็นฉันทามติใหม่ สำหรับความปกติใหม่ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อสิ่งใหม่เกิดขึ้นย่อมถูกต่อต้านจากสิ่งเก่า แต่สุดท้ายตนเชื่อว่าสังคมไทยจะหาจุดลงตัวได้ เป็นจุดลงตัวที่ไม่มีใครได้ทั้งหมดและไม่มีใครเสียทั้งหมด เหมือนอย่างที่เราพูดคุยในวันนี้ เป็นจุดลงตัวที่เรายอมรับร่วมกันได้แม้จะไม่เห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่จะไปถึงจุดนั้นได้เราต้องสร้างสังคมให้พร้อมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงความคิดทางการเมือง..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ขอใช้สิทธิ์พาดพิงหลังสมาชิกสภาอภิปรายในประเด็นต่าง ๆ
@ หน้าที่ของสภา-คุณสมบัติที่นายกพึงมี
นายพิธา กล่าวว่า ขอใช้สิทธิ์พาดพิง ขอขอบคุณสมาชิกทั้ง 2 ท่าน ได้แก่นายชาดาและนายประพันธ์ุที่อภิปรายสอบถามหลายเรื่อง โดยนายชาดาติติงบุคลิก ภาวะผู้นำของตน ซึ่งตนก็พยายามพัฒนาอยู่ พยายามพัฒนาให้เป็นคนที่ฟังมากกว่าพูดและพัฒนาภาวะผู้นำที่รักษาคำพูด เหมือนสโลแกนพรรคภูมิใจไทยที่บอกว่า พูดแล้วทำ เพราะฉะนั้นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้น นอกจากนี้ยังพยายามพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้นำของตน ที่ตนไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่นายชาดาพูดแต่ตนเห็นว่านายชาดามีเสรีภาพที่จะพูด และนี่คือหน้าที่ของรัฐสภา โดยที่นายชาดามีความคิดแบบหนึ่ง ตนมีความคิดอีกแบบหนึ่ง นี่คือสาเหตุที่ต้องใช้รัฐสภาในการแก้ไขกฎหมาย นิติบัญญัติ และเป็นข้อขัดแย้งตลอดมาของประเทศไทย นี่คือสิ่งที่ตนอยากเห็นในสมัยที่แล้ว ที่นายชาดาพูดถึงเรื่องของการลดโทษ หรือการคุ้มครอง ซึ่งเวทีเป็นเวทีการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เวทีในการแก้ไขกฎหมายใด ตนคิดว่าตรงนี้เป็นบรรยากาศที่ดี
สุดท้ายผู้นำที่ดีของประเทศนี้ต้องมีความอดทนอดกลั้น รับฟังข้อกล่าวหาที่จะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ นี่คือ 4 ข้อที่ตนสัญญาผ่านประธานสภาไปยังนายชาดาและสมาชิกสภาในรัฐสภาแห่งนี้ว่านี่เป็น 4 คุณลักษณะสำคัญที่ผู้นำประเทศไทยควรมี ส่วนเรื่องการใช้สิทธิ์พาดพิงนั้น เรื่องที่ตนเห็นด้วยกับนายชาดาเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ใน MOU ของ 8 พรรคร่วม เพราะ MOU 8 พรรคคือความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ในการแก้ไขกฎหมายอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อเรายื่นเสนอข้อกฎหมายก็ไม่มีใครผูกขาดชุดความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถมีความคิดที่แตกต่างกันได้ นี่คือหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ไขข้อขัดแย้งของประชน ถ้าพูดกันอย่างมีวุฒิภาวะใช้เหตุผล นี่คือทางออกของประเทศในทุกความขัดแย้งของประเทศ สิ่งนี้ตนเห็นด้วยกับนายชาดา
@ ICC-ไม่เห็นด้วยกับใครหมิ่นกษัตริย์เอาปืนไปยิง
แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วย คือ เรื่องเกี่ยวกับ ICC (International Criminal Court) ซึ่งตามหลักที่เขียนไว้มีหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาการก่ออาชญากรรมร้ายแรง อาทิ การสังหารหมู่หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นต้น หมายความอาชญากรรมาทางสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งข้อนายชาดากังวลอาจจะเป็นข้อที่ 27 แต่ประเทศอื่น ๆ ในโลกที่มีระบบเดียวกับประเทศไทย ก็คือ ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มี 123 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น กัมพูชา สวีเดน อังกฤษ เป็นต้น ประเทศเหล่านี้เซ็นสัญญา
ถ้าเราเข้าใจว่าพระองค์ท่านอยู่เหนือการเมืองและใช้อำนาจผ่านครม.อยู่แล้ว ตรงนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอย่างที่นายชาดากล่าวหา อันนี้เป็นประเด็นที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง และการที่บอกว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการเข้า ICC การที่บอกว่าเขาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เอาปืนไปยิงเลย อันนี้ตนไม่แน่ใจว่าคนที่ไม่แน่ใจว่าคนที่สูญเสียไปตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง เมื่อหลายปีก่อน เช่น 99 ศพ ที่ราชประสงค์ หรือ 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา เป็นต้น ที่ยังไม่รู้ว่าวัฒธรรมรับผิดรับรับชอบที่เกิดขึ้น เขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนอภิปรายเรื่องนี้ในสภาแห่งนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยและขอใช้สิทธิ์พาดพิงในการชี้แจง
@ ยืนยันมีคุณสมบัติครบถ้วน
ส่วนกรณีของนายประพันธ์ุ ตนขอยืนยันผ่านประธานสภาว่า ตนยังมีคุณสมบัติสมบูรณ์แบบทุกประการและด้วยความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการที่ตนยังไม่รู้ว่าข้อกล่าวหาคืออะไร เห็นเพียงมติผ่านสื่อมวลชน ยังไม่รู้ว่าสงสัยในประเด็นใด แล้วหลักการสมมติฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน หรือ presumption of innocence มีศาลเตี้ยในรัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้ ตนยังไม่มีโอกาสได้ชี้แจงแม้แต่ครั้งเดียว เมื่อปี 2562 ก็มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นก็ไม่ได้กระทบกับการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเท่าที่ตนจำได้ไม่ผิดท่านบอกว่ารัฐบาลเสียงข้างมากที่รวมเสียงได้มากที่สุดก็จะออกมา 249 เสียงตามนั้นไม่แตกแถว ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้นไม่ต้องกังวล เรื่องของวิญญูชนตนรัดกุมมาตลอด เกี่ยวกับการยื่นป.ป.ช. คุณสมบัติ สอบถามทั้งกกต.ทั้งป.ป.ช. ทุกครั้งตั้งแต่เป็นส.ส.ครั้งแรก เพราะตนยอมรับในการตรวจสอบ ดีกว่าบางคนที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นป.ป.ช.หรือกกต.ก็ตาม
@ ต้องมีนายกเพราะการต่างประเทศสำคัญ
เรื่องการต่างประเทศที่ต้องรีบเลือกนายกรัฐมนตรีเพราะเดือนกันยายน 2566 จะมีการประชุมที่สหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตนต้องการเป็นผู้นำของประชาชนทุกคน เพื่อไปบอกกับโลกว่าประเทศไทยพร้อมแล้ว ประเทศไทยกลับมาแล้วที่จะมีบทบาทที่ดีในเรื่องของการต่างประเทศ เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจที่ในการอภิปรายในวันนี้พูดถึงทหารยิงประชาชนและพาดพิงถึงประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย กับประเทศที่มีความสัมพันธอันยาวนานกับประเทศไทย ถ้าเป็นตนก็จะระวังคำพูดที่พูดถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดที่มีแรงงานอยู่ในประเทศไทย 2 ล้านกว่าคน อยู่ในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ภาคประมง ร้านอาหารต่าง ๆ เป็นต้น
เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้เพราะคนเหล่านี้ นี่เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและคนเป็นผู้นำจะต้องทำ และจะหาจุดสมดุลระหว่างมหาอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศแบบใหม่ สามารถเข้าใจได้ว่าสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบอย่างไรกับประชาชนคนไทย เราจะต้องมีสมดุลและต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ต้องเน้นหลักการความเป็นหนึ่งในสมาชิกของโลกใบนี้ ต้องรู้ว่าจะเงียบเมื่อใด ไม่ใช่เงียบทุกเรื่องแล้วทำให้ไม่มีน้ำหนักในเวทีการเมือง ขอเรียนให้เพื่อนสมาชิกให้สบายใจว่าการแถลงนโยบายกับสหประชาชาติครั้งแรกของตน Thailand is back,Thailand mean business. ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนและชาติ นี่คือความยั่งยืนของการต่างประเทศ
@ รัฐไทยเป็นรัฐเดี่ยว-ยืนยันใส่ใจปัญหายาเสพติด
การแบ่งแยกดินแดนซึ่งเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ เพราะ 3 ชายแดนภาคใต้มีพื้นที่ติดกับมาเลเซีย มีปัญหาต่าง ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน เป็นต้น ขอให้คำยืนยันว่ารัฐไทยภายใต้การนำของผู้นำชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประเทศไทยจะเป็นรัฐเดี่ยว และตนจะทำทุกทางผ่านการทูต ผ่านการทำงานของพลเรือน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวที่ก้าวหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ลดความมั่นคงทางทหาร ลดความเหลื่อมล้ำทางสาธารณสุข นี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ด้วยกัน อาจจะมีบางพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในสภามีความคิดแตกต่าง เราจำเป็นต้องพูดคุยโดยใช้สภาแห่งนี้เป็นพื้นที่ในการพูดคุยและปกป้อง ป้องกัน การแบ่งแยกดินแดนให้ดีที่สุด โดยนายพิธากล่าวยกตัวอย่างการทำงานของสภาผู้แทนที่ให้ผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน ที่สร้างความสบายใจ ที่สนับสนุนพหุวัฒนธรรม สนับสนุนทุกศาสนา นี่คือวิธีที่จะรักษาให้ประเทศไทยเป็นรัฐไทยที่ก้าวหน้าได้ นี่คือคำมั่นสัญญาของตนในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรี ส่วนประเด็นปัญหา ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน ตนคิดว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้ยืนยันชัดเจนในสภา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปตำรวจ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การบริหารจัดการกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหานำยาเสพติดเข้ามาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นเรื่องที่ 8 พรรคร่วมใส่ใจอย่างแน่นอน
@ ไม่ควรมีใครกราบใคร คนเท่ากัน-เยาวชนปลุกปั่นไม่ได้
ประเด็นที่บอกว่าตนลงพื้นที่มีประชาชนมากราบเท้าตนเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ตนเห็นด้วย จึงพยายามกราบเท้าประชาชนกลับ เพราะมองว่าคนเท่ากัน ไม่จำเป็นต่องทำเช่นนี้ ได้รับคำอธิบายว่าเป็นการบนบานให้ตนได้เป็นนายกรัฐมนตรีจึงมากราบ ไม่ควรให้ใครมากราบเท้าใครใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภาหรือไม่เป็นก็ตาม ส่วนประเด็นยุยงเด็กตนคิดว่าเป็นประสำคัญที่มีความเห็นต่างของสมาชิกรัฐสภา อาจขึ้นอยู่กับประสบการณ์ อายุ วัยวุฒิที่ต่างกัน เพราะเยาวชนในปัจจุบันยุยงปลุกปั่นไม่ได้ เพราะเยาวชนมีความคิดเป็นของตนเอง สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าคนรุ่นก่อน ถ้าสมมติว่าสามารถใช้ข้อมูลยุยงปลุกปั่นได้ ค่านิยม 12 ประการที่มีมาก็คงจะทำให้เยาวชนรู้สึกได้ แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจก่อน คิดถึงตนในช่วงที่อายุเท่าเยาวชนเหล่านั้นว่ามีความแตกต่างในการเข้าถึงข้อมูลอย่างไร ยืนยันว่าไม่มีการยุยงปลุกปั่นใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเขายุยงปลุกปั่นไม่ได้ ส่วนคลิปเยาวชนที่ส.ว.เสรีกล่าวถึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโนโลยี ที่ใครก็สามารถทำขึ้นมาก็ได้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบ ตนคิดว่าควรพิสูจน์ก่อนนำมาพูดในรัฐสภา คนที่จะเป็นผู้นำได้ต้องมีวุฒิภาวะในการตรวจสอบ แต่ก็จะทำตามคำแนะนำไปลองศึกษาดู แต่เชื่อว่าไม่ใช่ความจริง
@ ส.ส. ก้าวไกลมีหน้าที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก
ประเด็นในการใช้ ตำแหน่งส.ส.ไปประกันตัว ขอเรียนว่าสิทธิในการประกันตัว สิทธิในการเข้าถึงทนายเป็นส่วนสำคัญในระบบยุติธรรม ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มชาติพันธ์ ประชาชนที่โดนคดีทวงคืนผืนป่า หรือคดีอะไรก็ตาม ส.ส. จากพรรคก้าวไกลมีหน้าที่ที่จะทำให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิ์ในการเข้าถึงทนาย และสิทธิ์ที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อนถ้ายังไม่มีคำพิพากษาจนถึงที่สิ้นสุด
@ สรุปก่อนโหวตนายก
วิสัยทัศน์สำหรับตนคือการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ซึ่งวันนี้เป็นวันที่ห่างจากวันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นเวลา 2 เดือน เชื่อว่าประชาชนเห็นวิสัยทัศน์ของตนผ่านการดีเบตผ่านหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำให้เศรษฐกิจดี ลดความเหลื่อมล้ำ การแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ ตนพูดให้ประชาชนฟังมาตลอดมา 2 เดือน ในวันนี้ตนต้องสื่อสารกับคนที่อยู่ในสภา 750 คน หลังจากที่ทำงานร่วมกันมา 4 ปี คิดว่าส.ส.กับ ส.ว. ไม่ต่างกัน มีสิ่งที่เหมือนกันมากกว่าแตกต่าง การที่ ส.ว. งดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ทำไม่ได้ เพราะทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีไปต่อไม่ได้ อีกทั้งการงดออกเสียงไม่ถือว่าเป็นการปิดสวิตช์ ตนคิดว่าวันเป็นประตูแห่งโอกาสที่จะทำให้ ส.ส. กับ ส.ว. ทำงานร่วมกันภายใต้รัฐบาลชุดต่อไปในการแก้ปัญหาที่ ส.ว. ต้องการจะแก้มาตลอดและความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะมาสู่ประเทศไทยที่จะต้องแก้ร่วมกันต่อไป แต่อย่างไรก็ตามตนทราบดีว่า ส.ว. ยังคงมีความคลางแคลงใจเกี่ยวกับตน
และวันนี้แสดงให้เห็นชัดว่าน่าจะเป็นเรื่องนโยบายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนใหญ่ ตนคิดว่าเป้าหมายของทั้งสภาเหมือนกัน แต่วิธีในการประเมินและเข้าถึงเป้าหมายต่างกัน ในมุมมองของตนในการทำให้เป้าหมายที่เห็นตรงกัน คือ การธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่กับประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องไม่อนุญาตให้ใครใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง จึงอยากชวนให้ทุกคนมองกลับไปในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
@ จุดเริ่มต้นความขัดแย้งในสังคมไทย
ย้อนกลับไปในปี 2549 เป็นจุดเริ่มต้นในความขัดแย้งในสังคมไทย ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่มมาตั้งแต่เวลานั้น เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 2 ครั้ง กลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ส่วนตนและไม่มีเครดิตทางสังคมล้วนต้องดึงสถาบันมาอ้างอิงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มธุรกิจ
"ไม่ใช่พวกเราหรือที่ผูกสถานการณ์มาจนถึงปัจจุบันในวันนี้ แล้วต้องให้คนรุ่นใหม่มารับผิดชอบในสิ่งที่พวกเราพยายามผูกกัน จนมาถึงปัจจุบันมีหลายกลุ่ม มีหลายพวกที่ต้องการสกัดกั้นไม่ให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องการให้รัฐบาลเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลได้ เพราะเขากำลังจะเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ ก็จงใจดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และจับมาเป็นคู่ตรงข้ามกับการลงคะแนนเสียงของประชาชนในวันที่ 14 พ.ค." นายพิธาระบุ
วันนี้ตนจึงอยากเชิญชวนวิญญูชนให้มีสติไตร่ตรองให้ดีว่าการทำเช่นนี้มีราคาและมีต้นทุนอย่างไรกับสังคม ตนเชื่อว่าถ้าไม่มีใครชูคำขวัญว่า เราจะสู้เพื่อในหลวง เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ถ้าไม่มีใครอิงแอบสถาบันเพื่อก่อรัฐประหาร ถ้าไม่มีใครเอาเรื่องล้มล้างสถาบันมาปลุกปั่นทางการเมือง ให้คนเกลียดชังกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ถ้าเราไม่ใช้ ม.112 มาเป็นเครื่อมือทำลายล้างกัน ความขัดแย้งในสังคมไทยคงไม่มาถึงจุดนี้
"ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่อย่างมีวุฒิภาวะ แก้ปัญหาที่ต้นตอ ด้วยการยุติการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นการเมือง แล้วหากุศโลบายเพื่อที่จะพัฒนารักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จัดวางพระราชฐานะ จัดวางพระราชอำนาจให้สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำแบบนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เรารักจะดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคมไทย" นายพิธากล่าว
@ ฉันทามติของประชาชนไทย
ตนขอเสนอตนเป็นฉันทามติใหม่ สำหรับความปกติใหม่ ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อสิ่งใหม่เกิดขึ้นย่อมถูกต่อต้านจากสิ่งเก่า แต่สุดท้ายตนเชื่อว่าสังคมไทยจะหาจุดลงตัวได้ เป็นจุดลงตัวที่ไม่มีใครได้ทั้งหมดและไม่มีใครเสียทั้งหมด เหมือนอย่างที่เราพูดคุยในวันนี้ เป็นจุดลงตัวที่เรายอมรับร่วมกันได้แม้จะไม่เห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่จะไปถึงจุดนั้นได้เราต้องสร้างสังคมให้พร้อมรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงความคิดทางการเมือง
และนี่คือก้าวที่สำคัญของสังคมไทยในการสร้างฉันทามติใหม่ที่เป็นเรื่องของขบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตย ฉันทามติใหม่ไม่ได้แปลว่าทุกคนในสังคมต้องคิดเหมือนกันทั้งหมด ฉันทามติใหม่ที่เรากำลังจะสร้างร่วมกัน คือ การยึดถือกระบวนการที่เป็นธรรมในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของสังคม เราควรนำเรื่องที่คนเห็นต่างกันมาหาข้อยุติร่วมกันโดยใช้กระบวนการในสภาหรือกลไกทางประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่การปะทะกันบนถนน เราต้องบริหารจัดการความเห็นต่างไม่ให้กลายเป็นความขัดแย้ง ด้วยการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและทำให้เรามีระบบนิติรัฐ มีระบบกฎหมายที่ดี มีกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทำให้การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเจ้าของประเทศเป็นเป้าหมายหลักของรัฐและความมั่นคงของชาติ นั่นก็คือความมั่นคงของประชาชนไม่ใช่มองประชาชนเป็นศัตรูของชาติ
ถึงสมาชิกทุกท่านสิ่งที่เรากำลังจะร่วมกันทำต่อไปนี้ไม่ใช่การลงมติเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่การลงมติเลือกพรรคก้าวไกล แต่คือการเลือกยืนยันหลักการประชาธิปไตยในระบบกลไกหลักในการตัดสินใจร่วมของสังคม แต่นี่เป็นการเลือกให้โอกาสกับประเทศไทย คืนความปกติให้กับการเมืองไทย ให้สามารถบอกได้ว่าฉันทามติของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศตัดสินใจแล้วคือการตัดสินประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ตนไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาที่ยึดหลักการกล้าหาญและเห็นแก่อนาคตของชาติที่มีประชาชนเป็นหัวใจ ขอเชิญชวนทุกท่านอย่าให้ความแคลงใจที่มีต่อตนขวางกั้นประเทศไทยไม่ให้เดินต่อตามเสียงและเจตนารมณ์อันแรงกล้าของประชาชน ขอให้การตัดสินใจสะท้อนความหวังของประชาชนและตัวเอง อย่าให้สะท้อนความกลัว