"...ครั้งนี้พรรคก้าวไกลได้เสียงอันดับ 1 ก็จริงแต่ไม่ได้คะแนนเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เกินกว่า 251เสียง ก็ต้องดูต่อไปถ้าเขาประสานกับพรรคเพื่อไทยได้อันนี้ก็มีสิทธิ์ได้เกิน 300คน จริงก็ต้องดูว่าเขาตกลงกันได้หรือเปล่าว่าใครเป็นนายกและการทำนโยบายต่างๆนั้น แจมร่วมกันได้หรือเปล่านั้นเราไม่รู้ เพราะส.ว.อยู่ข้างหลัง ไม่ใช่คนที่จะต้องเสนอใครมาเป็นนายกมันอยู่ที่ส.ส. ก่อน..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 หลังจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประกาศรวบรวมเสียง 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ได้แก่ พรรคก้าวไกล, เพื่อไทย, ไทยสร้างไทย, ประชาชาติ, เสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม รวม 310 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่เอาเสียงพรรครัฐบาลมารวม โดยจะใช้มติประชาชนกดดันสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน โหวตร่วมอีก 66 เสียง เพื่อให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของ 2 สภา
ล่าสุด มีส.ว. 3 ราย คือ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน นายวันชัย สอนศิริ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ออกมาแสดงท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้
@เฉลิมชัย เฟื่องคอน: ไปรวมเสียง ส.ส. ส.ว.ไม่ให้
ในช่วงเช้าวันที่ 16 พ.ค. 2566 นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์เมื่อเช้านี้ว่า ส.ว.จะมีวิป ซึ่งส่วนใหญ่ไปทางเดียวกันหมด ถ้าจะลงมติอะไรก็จะมีการลงสัญญาณผ่านไลน์ แต่ส่วนตัวแล้ว ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่โหวตร่วมไปในทางเดียวกัน เพราะตนมาจากการสรรหาจากสายอาชีพ จึงไม่มีใครสั่งอะไรตนได้ ส่วน ส.ว.ที่ไม่โหวตตามกลุ่มมีประมาณ 20 คน และถ้าโหวตลงกันจริงๆอาจจะเหลือสัก 5 คนก็ได้
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า พรรคก้าวไกลรวมเสียงพรรคฝ่ายค้านเดิมได้ 310 เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไปแล้ว ต้องการอีก 66 เสียง เพื่อโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ไปจับกับพรรครัฐบาลเดิม ตอนนี้ยังพอหวังจะให้ ส.ว.โหวตหนุนได้หรือไม่ ส.ว.เฉลิมชัยตอบว่า ส่วนตัวตั้งใจโหวตให้พรรคที่ได้เสียงเกิน 250 เสียงของ ส.ส. ขึ้นไปอยู่แล้ว แต่ 4 ปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเวลาประชุมร่วมรัฐสภา จะเป็นพรรคที่มีปัญหากับวุฒิสภา ต่อล้อต่อเถึยง ไม่มีความเคารพ ส.ว. ดังนั้นที่นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการรพรรคก้าวไกล หรือแม้แต่ตัวนายพิธาเอง จะมาประสานกับ ส.ว. ไม่ต้องมาหรอก มันไม่ได้อยู่แล้ว
“ก็พวกคุณด่าเขามาตลอด เวลาประชุมร่วมสภา ไอ้หัวหงอกหัวเฒ่ากลับไปเลี้ยงหลาน เวลาคุณด่าเขามาตลอด จะมาเอาเสียงจากเขา แล้วใครจะมาให้คุณ มีผมคนเดียวนี่แหละที่ให้” ส.ว.เฉลิมชัยกล่าว
เมื่อถามว่าที่ไม่โหวตให้เพราะไม่พอใจในกรณีดังกล่าว หรือมีผู้สั่งการให้ไม่โหวตนั้น ส.ว.เฉลิมชัยตอบว่า อีกเรื่องที่เป็นปัญหาของพรรคก้าวไกล คือ การแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 จากเดิมยกเลิก เปลี่ยนเป็นแก้ไข ส.ว.ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการกระทำที่กระทบสถาบัน ถ้าแตะเมื่อไหร่ ส.ว.ก็ไม่เอาด้วย
นายพิธามีความเชื่อมั่นเยอะ มีความทรนงเกินไป อยากให้ปรับท่าทีให้อ่อนลงหน่อย เพราะแข็งเกินไป การบอกให้ ส.ว.อย่าฝืนมติประชาชน ประกอบกับเลขาธิการพรรคจะวัดใจ ส.ว.ว่าจะเอายังไงด้วยนั้น ไม่ต้องวัดใจ ไม่มีทางได้เสียง ส.ว.อยู่แล้ว
ส่วนมีคนสั่งการหรือไม่ ตอนนี้ ส.ว.ยังไม่ได้หารือกัน มีเพียง ส.ว.บางคนที่ออกมาแสดงความเห็น เช่น นายวันชัย สอนศิริ, นายสมชาย แสวงการ, นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ เป็นต้น
“ถ้าคุณอยากเป็นนายกฯ ก็ไปรวมเสียง ส.ส.ที่เลือกตั้งกันมา มากดดัน ส.ว.สิ ถ้ารวมได้ 376 เสียงก็ปิดสวิตซ์ ส.ว.ได้แล้ว ” ส.ว.เฉลิมชัยกล่าว
เมื่อถามอีกว่า แต่ชาวบ้านครึ่งค่อนประเทศเลือกมา ก็ต้องตามใจชาวบ้านหรือเปล่า ส.ว.เฉลิมชัยระบุว่า ก็ให้ ส.ส.ที่ได้คะแนนชาวบ้านทั้ง 500 คน ก็ไปยกมือให้เสียงข้างมากก่อน ยกให้เป็นนายกรัฐมนตรีไปก่อน เพราะไปเอาเสียง ส.ส.ง่ายกว่า พรรคภูมิใจไทยมี 70 เสียง ไปเอามาเพิ่มก็ปิดสวิตซ์ได้แล้ว แต่นายพิธาบอกไปเอา ก็วัดใจพรรคก้าวไกล
ส่วนการโหวตให้ขั้วรัฐบาลเดิมนั้น ส.ว.เฉลิมชัยกล่าวว่า คงไม่มี ส.ว.ไม่เอาแบบนี้แล้ว จะไปยกมือให้พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
เฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ที่มาภาพ: สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
@วันชัย สอนศิริ: ก้าวไกล มาหนึ่ง ไม่เท่ากับเป็นรัฐบาล
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.อีกคน กล่าวว่าการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภาว่า หากใครสามารถรวบรวมเสียงส.ส.ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง เราต้องเคารพเสียง ส่วนใหญ่ของประชาชนซึ่งไม่ได้ผิดอะไรไปจากหลักการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 และในปีนี้
ดังนั้นต้องติดตามกันต่อไปว่าพรรคก้าวไกลซึ่งมีเสียงมาอันดับ 1 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เป็นข้อตกลงของพรรคการเมืองหรือเป็นมารยาททางการเมือง ที่ใครได้เสียงอันดับ 1 ก็มักจะให้พรรคนั้นเป็นคนประสานในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งขณะนี้พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นๆก็พูดเช่นนั้น
หากเป็นเช่นนี้ก็ถือเป็นภารกิจของพรรคก้าวไกลในการประสานหาความร่วมมือ ว่าสามารถรวมกับภาคการเมืองอื่นได้เกิน 251 เสียง จนกระทั่งถึง 376 หรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าคนได้เสียงอันดับ 1 จะต้องเป็นรัฐบาลเสมอ ซึ่งครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยก็มีเสียงมาอันดับ 1 แต่ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้ารวมเสียงได้มากโดยหลักการแล้วก็คิดว่าต้องเคารพเสียงตรงนี้
"ครั้งนี้พรรคก้าวไกลได้เสียงอันดับ 1 ก็จริงแต่ไม่ได้คะแนนเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เกินกว่า 251เสียง ก็ต้องดูต่อไปถ้าเขาประสานกับพรรคเพื่อไทยได้อันนี้ก็มีสิทธิ์ได้เกิน 300คน จริงก็ต้องดูว่าเขาตกลงกันได้หรือเปล่าว่าใครเป็นนายกและการทำนโยบายต่างๆนั้น แจมร่วมกันได้หรือเปล่านั้นเราไม่รู้ เพราะส.ว.อยู่ข้างหลัง ไม่ใช่คนที่จะต้องเสนอใครมาเป็นนายกมันอยู่ที่ส.ส. ก่อน รายการต่อมาต้องดูว่าถ้าเขาสามารถรวมกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย ถ้าเขาสามารถประสานพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนได้ทั้งหมด ผมว่าเขาก็ขาดลอยแทบไม่ต้องใช้เสียงส.ว. เลยแม้แต่เสียงเดียว ฉะนั้นผมคิดว่าตอนนี้ อย่ามาคิดว่าส.ว.จะโหวตให้ใครจะโหวตหรือไม่เพียงแต่ผมจะดูอยู่ต่อไปว่า พรรคก้าวไกลจะสามารถประสานกับทุกพรรคการเมือง ในการจัดตั้งรัฐบาลได้หรือเปล่า" นายวันชัย กล่าว
กล่าวได้ว่าเท่าที่จับตาดูเห็นว่ามีส.ว.หลายคนประกาศชัดเจนว่าไม่ได้หมายความว่า เสียงข้างมากอันดับ 1 เพียงอย่างเดียวแต่จะต้องดูคนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และดูนโยบายของพรรคการเมืองด้วยซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย และตนก็เชื่อว่า เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่น ว่าการจะร่วมรัฐบาลกับใคร คงไม่ดูแค่เสียงมาอันดับ 1 แต่คงต้องดูว่านโยบายเข้ากันได้หรือไม่และจะต้องเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี และสว. ก็คิดไม่ต่างกัน และขอให้ ติดตามกันต่อไป ก้าวไกล ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1ก็จริง แต่ต้องดูว่าเขาสามารถประสานเรื่องนโยบาย เรื่องตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเรื่องต่างๆได้ลงตัวหรือไม่ และอย่าเพิ่งมาตั้งเป้าหรือเล็งมาที่สว.โดยตรง
เมื่อถามว่าส่วนตัวมีเงื่อนไขในการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไรนั้น นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนตัวยังยืนยันในหลักการเดิมหากพรรคการเมือง สามารถประสานและรวมกันได้เสียงข้างมาก ตนก็ไม่ขัดข้อง โดยยืนยันใช้หลักการเดิมแต่ยอมรับว่าต้องนำเรื่องอื่นๆมาประกอบ แต่โดยหลักเคารพเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ
วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา
@พรเพชร วิชิตชลชัย: ในฐานะประธาน งดออกเสียง
ส่วน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ตอนนี้ยังปิดสมัยประชุม ส.ว. ยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากส.ว.เเต่ละคน โดยตั้งแต่ก่อนจะปิดสมัยประชุมส.ว. ตนเคยพูดเอาไว้แล้วว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจตนจะไปก้าวก่ายไม่ได้ และเเต่ละคนต้องใช้วิจารณญาณไปตามหน้าที่ ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนการออกมาให้ความเห็นช่วงนี้ของส.ว. ตนคงไปห้ามไม่ได้ เเม้จะมีตำแหน่งเป็นประธานส.ว. เขาจะพูดว่า จะงดออกเสียง หรือจะลงคะเเนนอย่างไร ก็เป็นดุลพินิจของเขา การที่ส.ว.พูดอะไรออกไปก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาพูด
เมื่อถามว่า ที่ผ่านนายพรเพชร มักจะงดออกเสียงในการโหวตชี้ขาดกฎหมาย นายพรเพชร ตอบว่า ต้องพูดอย่างนี้ก่อนว่า ตนทำหน้าที่สองอย่าง ทั้งประธานส.ว. และรองประธานรัฐสภา ก็จะงดออกเสียงอยู่แล้ว ในการลงมติต่างๆ ซึ่ง
เมื่อถามต่อว่า การโหวตเลือกนายกฯที่ใกล้จะมาถึง จะโหวตอย่างไร นายพรเพชร ย้ำว่า ตนทำหน้าที่ ประธานส.ว. และรองประธานรัฐสภา ซึ่งวาระที่จะมาถึงนี้ เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตนก็จะถือหลักปฏิบัติคืองดออกเสียง เหมือนกับ เมื่อครั้งการโหวตเลือกนายกฯในปี 2562 ซึ่งมีการโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ครั้งนั้น ตนก็งดออกเสียงมันก็เป็นหลักที่ทำมาตลอด ถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็ผิดแปลกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ทั้งนี้ ในส่วนของส.ว.ก็ต้องถือว่า เป็นอิสระ และการที่เขาจะเเสดงความเห็นอย่างไรก็เป็นอิสระของเขา
"ผมเข้าใจว่า มันไม่มีใครที่จะไปบริหารจัดการ หรือไปสั่งการได้ เพราะว่า ในระบบที่เป็นประชาธิปไตย ในประเด็นนี้จะเป็นอิสระของเเต่ละคน และเมื่อเขาแสดงเจตนารมย์มาแล้ว อย่างเปิดเผย ถ้าสงสัยอย่างไรก็ไปถามคนนั้นก็แล้วกัน" นายพรเพชรกล่าว
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร