“...หากพรรครวมไทยสร้างชาติได้เสียงถึง 40 ที่นั่ง ก็เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเปิดโต๊ะเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทั้ง พรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ มาผนวกรวมกันก่อนให้ได้ 230-240 ที่นั่งทันที…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 24 เมษายน 2566 หลังจากที่ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ ซึ่งสำนักข่าวอิศราได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า โดยได้วิเคราะห์แนวโน้มของ 2 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยคือ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลไปแล้วนั้น
- สติธร ธนานิธิโชติ (2): ‘ก้าวไกล’ เลือกตั้ง 66 คู่แข่งแท้จริงคือ ‘เพื่อไทย’ ลุ้นเหนื่อย 40 ที่นั่ง
- สติธร ธนานิธิโชติ (1) : วิเคราะห์ ‘เพื่อไทย’ เลือกตั้ง 2566 ‘กระแสดี แต่ ไม่แลนด์สไลด์’
- เปิดสูตร ‘รัฐบาลก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ‘พปชร.-ภูมิใจไทย’ ตัวแปรกำหนดประเทศหลังเลือกตั้ง
วันนี้ สำนักข่าวอิศราขอนำเสนอบทวิเคราะห์ตอนจบโดย ดร.สติธร ที่ครั้งนี้จะไปมุ่งเน้นไปที่พรรครัฐบาลเดิม อันได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์
@‘ไทยสร้างไทย’ ลุ้นได้ 8 ที่นั่ง
ก่อนจะเข้าเรื่องของฝ่ายผู้มีอำนาจปัจจุบัน ดร.สติธรขอแวะไปวิเคราะห์ที่อีก 1 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยคือ พรรคไทยสร้าง ทีี่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าก่อน โดย ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า น่าจะได้เขตเป็นหลัก เพราะมี ส.ส.เดิมที่อยู่พรรคเพื่อไทยย้ายตามมาไม่น้อย อย่างในพื้นที่กทม. เขตที่คาดว่าน่าจะได้ ส.ส.แน่ๆก็ เขตสายไหม, ดอนเมือง และมีนบุรี ออกไปนอก กทม.มีนนทบุรีบางเขตน่าจะได้ ส่วนภาคอีสานน่าจะไม่ได้เลย แต่จะเป็นตัวตัดคะแนนในฝั่งประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ประเมินว่าพรรคไทยสร้างไทยน่าจะได้ 8 ที่นั่ง เป็นส.ส.เขต 5 ที่นั่งและบัญชีรายชื่ออีก 3 ที่นั่ง
ส่วนตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคที่เสนอไว้ 3 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์, นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และน.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค ถ้าเอากระแส ณ ตอนนี้ น.ต.ศิธามาแรงและได้กระแสที่สุด ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ กระแสมาทางบุตรสาวคือ นางสาวยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ มากกว่า
เมื่อให้วิเคราะห์ว่า จากการที่พรรคไทยสร้างไทยขบเหลี่ยมกับพรรคเพื่อไทยอยู่ เพราะที่แยกออกมาตั้งพรรคนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมีความขัดแย้งกัน หากจัดตั้งรัฐบาลจะไปกันรอดหรือไม่นั้น ดร.สติธรมองว่า เมื่อถึงเวลา เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะกวาดเอาพรรคที่เป็นไปได้มาร่วมฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะต้องรวมพรรคไทยสร้างไทยด้วย เพราะโจทย์คือต้องรวมเสียงให้ได้ 375 ที่นั่ง เพื่อปิดสวิตซ์การโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
“สมมติเพื่อไทยได้ 250 ที่นั่ง ขาดอีก 125 ที่นั่ง หากไม่เอาพรรคก้าวไกล ไปดึงภูมิใจไทยเพราะคุยกันง่ายกว่าเข้ามาอีกสัก 80 ก็เป็น 330 ที่นั่ง จากตรงนี้พรรคเพื่อไทยก็ต้องไปไล่เก็บพรรคขนาดกลาง-เล็กอื่นๆเข้ามา ซึ่งจะมีพรรคไทยสร้างไทยรวมอยู่ในพรรคกลางพรรคเล็กด้วย และจากที่ประเมินได้ 8 ที่นั่งก็น่าจะได้เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยสักกระทรวงไป” ดร.สติธรประเมิน
ที่มา: พรรคไทยสร้างไทย
@รวมไทยสร้างชาติ 40 ที่นั่งดัน ‘ประยุทธ์’ นั่งนายกฯรอบ 3
หลังจากจอดแวะวิเคราะห์พรรคไทยสร้างไทยจบแล้ว ก็เข้าสู่การประเมินพรรคการเมืองที่เป็นผู้มีอำนาจในปัจจุบัน โดยดร.สติธรเริ่มต้นที่ตัวเต็งเบอร์ 1 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลุ้นฝ่าด่านเลือกตั้งเป็นนายกฯ สมัยที่ 3
โดย ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติจะได้ที่นั่ง ส.ส. เกิน 25 ที่นั่งแน่นอน น่าจะได้ประมาณ 40 ที่นั่ง ผ่านเกณฑ์เป็นพรรคที่สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ที่ระบุว่า ชื่อนายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิก ส.ส. ที่มีอยู่ 500 คน หรือจะต้องได้ ส.ส. 25 ขึ้นไป และเชื่อว่า แม้จะได้เพียง 25 ที่นั่ง พรรครวมไทยสร้างชาติโดยพล.อ.ประยุทธ์ ก็จะผลักดันให้แคนดิเดตคนนี้ เป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ โดยไม่สนใจอีกต่อไปว่า จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย
และหากได้เสียงถึง 40 ที่นั่ง ก็เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะเปิดโต๊ะเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทั้ง พรรคพลังประชารัฐ, พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ มาผนวกรวมกันก่อนให้ได้ 230-240 ที่นั่งทันที
แล้วค่อยไปไล่เก็บพรรคขนาดกลางถึงเล็ก ไม่ว่าจะพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า หรือแม้แต่พรรคไทยสร้างไทย ที่แม้จะชูอุดมการณ์ไม่ร่วมกับพรรครัฐประหาร แต่ถ้าชั่งน้ำหนักระหว่างพรรคเพื่อไทยที่ขัดแย้งกันมา ก็อาจจะทำให้เกิดการพลิกขั้วได้ ที่เหลือก็อาจจะดึง ส.ส.งูเห่าจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยมารวมอีก
“หากสถานการณ์เป็นไปตามนี้ ก็เชื่อว่าพรรคฝ่ายอำนาจเดิมก็จะหลีกให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 3 อย่างแน่นอน แม้จะมีกระแสข่าวที่ พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ คุยกันว่า ใครได้มากกว่าต้องสนับสนุนคนนั้นเป็นนายกฯ ก็ตาม แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งด้านหนึ่งพรรคพลังประชารัฐก็ต้องได้เสียงอย่างน้อย 50-60 ที่นั่งด้วย มเดลนี้ถึงจะเป็นจริง” ดร.สติธรประเมิน
ที่มา: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
@พรรคขั้วเดิมชิงตั้ง ครม. แน่
เมื่อถามว่า หากเป็นไปตามสูตรข้างต้น สถานการณ์จะเหมือนปี 2562 ที่ตั้งรัฐบาลปริ่มน้ำหรือไม่ ดร.สติธรระบุว่า แม้ครั้งนี้รวมๆกันแล้วฝ่ายประชาธิปไตยจะได้เสียงรวมๆกันมากกว่าฝ่ายอำนาจเดิมก็จริง แต่พรรคขั้วอำนาจเดิม ไม่ได้มีหลักการว่าให้พรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล เชื่อว่าพรรคขั้วเดิมจะต้องชิงการนำในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน
เมื่อรวมกันได้แล้ว ขั้นต่อไปก็กวักมือเรียกบรรดานักการเมืองที่ย้ายไปก่อนหน้านี้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามมิตรของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจและนายสมศักดิ์ เทพสุทิน, กลุ่มบ้านริมน้ำโดยนายสุชาติ ตันเจริญ หรือแม้แต่กลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรีของนายสนธยา คุณปลื้ม กลับมาร่วมรัฐบาลกัน ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ก็หากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด กลุ่มการเมืองเหล่านี้จะยังทนไหวหรือไม่? เพราะล้วนแล้วก็ประกาศจะเป็นรัฐบาลทุกคน
@เสถียรภาพทางการเมืองหลังฟอร์ม ครม. ไม่มีปัญหา
เมื่อถามอีกว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เหลือระยะเวลาอีก 2 ปี จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหรือไม่ ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า ไม่มี เพราะพล.อ.ประยุทธ์สามารต่อรองได้ว่า เหลือเป็นนายกฯ เพียง 2 ปี หากพ้นไปแล้ว ก็ให้พล.อ.ประวิตร กับนายอนุทินไปตกลงกันเองก็ได้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ
ส่วนที่ตั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นแคนดิเดตนายกฯเบอร์ 2 นั้น ก็ไม่มีผลอะไร เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังพล.อ.ประยุทธ์พ้นวาระ ก็เป็นเกมของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคมีแล้ว ก็เป็นการสร้างความหวังให้พรรคร่วมรัฐบาล ทุกอย่างจบแฮปปี้ ขอเพียงอย่าแตกคอกันเอง และส.ว.พ้นวาระไปในปี 2567 ก็ว่ากันไป
พล.อ.ประยุทธ์ รับประทานอาหารค่ำร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลที่สโมสรราชพฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 65
ที่มาภาพ: สยามรัฐ
@’ประยุทธ์’ ลุ้นนั่งนายกฯรอบสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ดร.สติธรมองว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 3 จริงๆ จะถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่บนเวทีการเมืองแล้ว เพราะหากมีการเลือกตั้งในครั้งถัดไป น่าจะไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับมา
ซึ่งตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานเป็นอันดับที่ 3 รองจากจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ครองตำแหน่งรวม 9 ปี 205 วัน และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ครองตำแหน่งรวม 15 ปี 25 วัน แซงหน้าพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ครองตำแหน่งนายกฯ 8 ปี 154 วัน
จอมพลถนอม กิตติขจร (ซ้าย) และจอมพล ป.พิบูลสงคราม (ขวา) 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในขณะนี้
ที่มาภาพ: จอมพลถนอม Facebook โคตรทหาร / จอมพลป. Facebook พิพิธภัณฑ์บ้านจอมพล ป. พิบูลสงคราม
@พลังประชารัฐ: ได้ 50-60 ที่นั่ง ส.ส. เป็นพรรคตัวแปร
มาถึงพรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียว เป็นผู้นำนั้น ดร.สติธรกล่าวว่า แม้จะไร้ซึ่งจุดขาย ทำให้ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจจะได้น้อยประมาณ 8-9 ที่นั่ง แต่ใน ส.ส.เขตพรรคนี้นับหัวได้เลย โดยคาดว่าคะแนนเขตประมาณ 40-50 ที่นั่ง ถ้าเทียบกับพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคนี้จะได้คะแนนจากเขตมากกว่า
ไล่จากพื้นที่ที่แข็งที่สุดอย่าง จ.พะเยา, กำแพงเพชร ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าและนายไผ่ ลิกค์ คุมพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ไล่ไปทางภาคอีสานนก็มี ส.ส.อีกหลายกลุ่ม
ลงมาภาคกลางและเขตปริมณฑลที่ได้แน่ๆ ก็จ.สมุทรปราการของกลุ่มบ้านใหญ่ตระกูลอัศวเหม ,นนทบุรี บางพื้นที่ อย่างตระกูลเจริญนนทสิทธิ์ที่คุม อ.บางบัวทองก็น่าจะได้ไม่ยาก หรือปทุมธานี ก็น่าลุ้น
รวมแล้วพรรคพลังประชารัฐน่าจะได้ ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ 50-60 ที่นั่ง และจะอยู่ในสถานะเดียวกับพรรคภูมิใจไทย คือเป็นพรรคตัวแปร ซึ่งสบายกว่าการได้คะแนนเยอะจนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และจะเหนือกว่าพรรคภูมิใจไทย เพราะตัวพล.อ.ประวิตรมี ส.ว.ติดตัวมาด้วย
“หาก พรรคพล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนน 40 ที่นั่ง หากรวมกับพรรคพล.อ.ประวิตรที่ประเมินว่าจะได้ 50 ที่นั่งเป็นอย่างน้อย ทั้ง 2 พรรคนี้รวมเฉพาะที่นั่ง ส.ส.ก็ 90 ที่นั่งแล้ว ถ้ารวมคะแนนของพรรคภูมิใจไทยอีกพรรคหนึ่ง กับจำนวน ส.ว.ที่ 2 ป. มี ทีนี้เพื่อไทยจะเหนื่อยแล้วว่า จะเอาพลังเสียงจากไหนมาปิดสวิตซ์ ส.ว.ของ 2 ลุงได้” ดร.สติธรกล่าวอีกตอนหนึ่ง
@ภูมิใจไทย ได้ดีขึ้น 70 ที่นั่งอย่างต่ำ
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะถูกนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตนักการเมืองดังตามโจมตีนโยบายกัญชาอย่างต่อเนื่องนั้น แต่ ดร.สติธรเชื่อว่า จะมีผลเฉพาะในกทม.เท่านั้น เพราะในพื้นที่อื่น พรรคนี้มี ส.ส. เจ้าของพื้นที่เดิมเยอะมาก โดยเชื่อว่าจะได้อย่างน้อย 70 ที่นั่ง แบ่งเป็นบัญชีรายชื่อ 10 ที่นั่งและเขต 60 ที่นั่ง และจะได้อยู่ฝ่ายรัฐบาลแน่นอน เพราะภูมิใจไทยก็จะอยู่ในสถานะตัวแปรที่จะกำหนดว่าฝ่ายไหนจะได้เป็นรัฐบาล
@ประชาธิปัตย์ 40 ที่นั่ง ‘ทีมจุรินทร์’ พ้นบริหารพรรค
ปิดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดร.สติธรประเมินว่า จาก 53 ที่นั่งในปี 2562 ครั้งนี้จะได้เพียง 40 ที่นั่ง ซึ่งจะมาจากเขต กทม.และพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก และเชื่อว่าคณะกรรมการบริหารพรรคที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรคจะพ้นจากตำแหน่งอย่างแน่นอน
ส่วนเมื่อพ้นจากคณะของนายจุรินทร์ แล้วใครจะมาคุมพรรคแทนนั้น ดร.สติธรมองว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคก็อาจจะย้ายไปพรรคภูมิใจไทยแน่นอน สิ่งที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาได้คือ ต้องกลับไปเป็นพรรคอุดมการณ์แบบสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเท่านั้น
“ตอนนี้ไม่มีเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเพิ่มเลย คุณจุรินทร์ต้องยอมรับความจริงว่าขายไม่ได้แล้ว การดึงมาดามเดียร์ (วทันยา บุนนาค) และพี่เอ้ (สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์) เข้ามาก็ได้แค่ใน กทม. ถ้าในกทม.ได้สัก 1 ที่นั่งก็ถือว่าทั้ง 2 คนที่เอามาก็ช่วยได้เยอะแล้ว จากเดิมที่ไม่ได้เลย และไม่มีทางที่จะกลับมาพีกเหมือนปี 2548 และ 2554 อีกแล้ว” ดร.สติธรทิ้งท้าย
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล