ดร.สติธร สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เปิดสูตรรัฐบาลก้าวข้ามความขัดแย้ง ‘พปชร.-เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ แกนหลักบนสมการกระแสแลนด์สไลด์ 220 เสียงขึ้นไป ‘เศรษฐา’นั่งนายกฯ ‘บิ๊กป้อม’ รมว.กลาโหม แต่หากพปชร.-ภูมิใจไทยได้คะแนนเกิน 50 ‘บิ๊กตู่’ มีโอกาสนั่งนายกฯสมัยที่ 3 ทันที ไร้ปัญหาเสถียรภาพ ต่อรองคุยง่ายกว่า ‘เพื่อไทย’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 เมษายน 2566 ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า แนวโน้มพรรคการเมืองที่จะได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ คาดว่าพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยรวมอยู่ด้วย ประเมินว่าจะมีคะแนนเสียงรวมกันที่ 340 เสียง
สูตรนี้ประเมินบนฐานว่า พรรคเพื่อไทยกระแสดีจนได้คะแนนเสียงอย่างน้อย 220 เสียง, พรรคพลังประชารัฐได้ 40 เสียง และพรรคภูมิใจไทยที่ 60 เสียง จากนั้นก็ไปรวมพรรคฝ่ายประชาธิปไตย อาทิ พรรคเสรีรวมไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น เข้ามาเติม โดยสูตรนี้จะไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ในสมการ แต่มองว่า ตัวพรรคก้าวไกลอาจจะแสดงสปิริตร่วมโหวตชื่อนายกรัฐมนตรีให้ฝ่ายนี้ เพื่อปิดสวิตซ์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมโหวต และจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไป
ส่วนนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้ จะต้องเป็นนายเศรษฐา ทวีสินเท่านั้น เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งไม่ควรส่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตรเป็นนายกฯในรอบนี้ ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ น่าจะได้นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อคุมกองทัพและตำรวจไป และปิดทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3
3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย (เรียงจากซ้ายไปขวา) นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่มาภาพ: พรรคเพื่อไทย
@พปชร.-ภูมิใจไทยได้เสียงเกิน 50 ‘ประยุทธ์’ มีโอกาสนั่งนายกฯสมัย 3
ดร.สติธร กล่าวต่อว่า แต่หากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนไม่ถึง 220 เสียงขึ้นไป หรือพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทยได้คะแนนเสียงเกิน 50-60 เสียง จะเป็นโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพรรครวมไทยสร้างชาติทันที
แม้สภาพการณ์จะได้คะแนนเสียงน้อยกว่าพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 เพราะประเมินแล้วคาดว่า พล.อ.ประยุทธ์และพรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะได้คะแนนเสียงรวม 40 เสียง ซึ่งรวมทั้ง ส.ส.แบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อแล้ว จะเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 คือ การเสนอนายกรัฐมนตรีในสภา จะต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ หรือจะต้องได้ ส.ส.อย่างน้อย 25 คน
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็จับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐที่น่าจะได้คะแนนเสียง 50 เสียง พรรคภูมิใจไทยประเมินที่ 70 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์อีก 40 เสียง มารวมกันให้ได้ 200 เสียง แล้วจึงไปดึงเสียงพรรคอื่นๆให้ได้อีก 60 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า และอาจจะดึงพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว ประเมินคร่าวๆน่าจะได้รวมๆที่ 235-240 เสียง
เมื่อรวมได้ 235-240 เสียง ต่อไปก็น่าจะดึง ส.ส.งูเห่าจากพรรคฝ่ายค้านมาร่วมด้วยอีก หากเสียงไม่พออีก ก็สามารถเปิดโต๊ะเจรจากับบรรดากลุ่มบ้านใหญ่ทางการเมือง ให้กลับมาอยู่ฝั่งนี้อีกครั้ง เช่น กลุ่มสามมิตรของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจและนายสมศักดิ์ เทพสุทิน, กลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรีของนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นต้น ซึ่งอย่าคิดว่ากลุ่มบ้านใหญ่นี้จะไม่กลับมา เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ประกาศแล้วว่า จะเป็นรัฐบาลเท่านั้น หากพรรคเพื่อไทยแม้จะได้คะแนนเสียงมาก แต่หากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในท้ายที่สุด ส่วนตัวเชื่อว่า กลุ่มบ้านใหญ่เหล่านี้ก็พร้อมตีจาก กลับมาร่วมรัฐบาลกับพล.อ.ประยุทธ์แน่นอน
เมื่อผนวกทุกองคาพยพได้แล้ว ฝั่งพล.อ.ประยุทธ์ ก็น่าจะใช้ช่องทางเหมือนเมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2562 ชิงเสนอนายกรัฐมนตรี พร้อมเปิดสวิตซ์ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เตรียมโหวตเลือกกรณีมีเหตุฉุนเฉิน และเชื่อว่าในท้ายที่สุด ทุกพรรคที่ผนวกรวมกันจะหลีกทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ในท้ายที่สุด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 15 มี.ค.66
ที่มาภาพ: Wassana Nanuam
@ฝั่งประยุทธ์ให้ พปชร-ภูมิใจไทยได้มากกว่า
ส่วนสาเหตุว่า ทำไมพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคภูมิใจไทยที่ได้คะแนนเสียงมากกว่า 50 เสียงจะกลับมาอยู่ฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์ ดร.สติธรประเมินว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะเปิดกว้างรับทุกพรรคเจรจาร่วมรัฐบาล แต่ถามจริงๆว่า พรรคเพื่อไทยสามารถให้ในสิ่งที่ 2 พรรคนี้ต้องการได้หรือไม่
ยกตัวอย่างพรรคภูมิใจไทย ยืนพื้นต้องการตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขมาอยู่ในโควต้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของตัวเองแน่นอน ถึงเวลานั้นพรรคเพื่อไทยจะให้หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าพรรคเพื่อไทยคงไม่ให้พรรคภูมิใจไทยคุมแน่นอน เพราะในฐานะที่เป็นพรรคเสียงข้างมาก กระทรวงทั้งสองแห่งซึ่งเป็นกระทรวงเกรดเอ ย่อมไม่ปล่อยให้หลุดมือ อย่างมากก็ให้ได้แค่รัฐมนตรีช่วยว่าการเท่านั้น
แต่หากมาคุยกับฝั่งพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าและคุยกันง่ายกว่า เพราะเคยร่วมรัฐบาลกันมาแล้ว พรรคภูมิใจไทยก็น่าจะได้คุมทั้ง 2 กระทรวงในฐานะรัฐมนตรีว่าการอย่างแน่นอน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคุ่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 62 ที่มาภาพ: ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha
@วาระ 2 ปี ‘บิ๊กตู่’ ไม่ใช่ปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ พล.อ.ประยุทธ์ เหลือวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 2 ปีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอ่อนแอหรือไม่ ดร.สติธร ตอบว่า ส่วนตัวประเมินว่า หากพล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯรอบที่ 3 เสถียรภาพของรัฐบาลจะยังดีอยู่ ไม่อ่อนแอ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถต่อรองกับบรรดาพรรคที่รวมกันได้ว่า จะอยู่เพียง 2 ปี ขอเป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่างนี้ก่อน แล้วอีก 2 ปีใครจะมาเป็นก็แล้วแต่ตัดสินใจ เป็นการสร้างตวามหวังให้บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งน่าจะแฮปปี้กันทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม หากพล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 จริงๆ ก็เชื่อว่าน่าจะมีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งยาวจนครบวาระ แต่กระบวนการจะไม่ดันทุรัง จะมีการฟังกระแสของสังคม หากกระแสสังคมแรงมากๆ ก็อาจจะไม่มีการแก้ไขก็ได้
“ในปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีโอกาสกลับมาภายใต้สูตรข้างต้น แต่มันจะโกลาหล แต่โดยกติกามันก็เปิดช่องว่างเอาไว้แบบนี้ได้ และการตั้งรัฐบาลรอบนี้จะไม่ราบรื่น การโหวตนายกฯจะโหวตกันไปเรื่อย และอาจจะเห็นการโหวตนายกฯ ที่ใช้เวลามากกว่า 1 วัน เพราะโหวตครั้งที่ 1-2 ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองน่าจะไม่โกลาหลเหมือนช่วงปี 2536-2540 ที่รัฐบาลตอนนั้นมีอายุแค่ 1-3 ปี เพราะมีการต่อรองกันตลอดเวลา” ดร.สติธรประเมิน
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่มาภาพ: สถาบันพระปกเกล้า