“...พรรคเพื่อไทยมีพรรคก้าวไกล ขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญ แม้ตอนนี้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้มีกระแสอะไรเด่นๆชูขึ้นมาสู้พรรคเพื่อไทยในเวลานี้ก็ตาม แต่จากที่พรรคก้าวไกลชูอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศ ทำให้มีกลุ่มคนที่พร้อมเลือกพรรคก้าวไกลอย่างเหนียวแน่น ซึ่งประเมินคร่าวๆ พรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงประมาณ 5-6 ล้านเสียงเป็นอย่างน้อย และในมุมกลับกัน พรรคก้าวไกลก็จะไม่ได้คะแนนเสียงจากคนที่มีอุดมการณ์กลางๆถึงขวา จะได้คนที่มีแนวคิดไปทางซ้ายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม New Voter เป็นหลัก…”
อีกไม่ถึง 20 วัน ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ วันที่ 14 พ.ค. 2566 เหล่าบรรดาพรรคการเมืองทั้งน้อยใหญ่ เร่งสปีดหาเสียง เค้นนโยบายออกมาชูเรียกเรตติ้งจากประชาชนคนไทยอย่างต่อเนื่อง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันสภาพการณ์ทางการเมืองถูกต้อนแบ่งเหลือ 2 ขั้ว 2 ค่ายกันอีกครั้ง
ค่ายหนึ่ง คือฝ่ายผู้มีอำนาจเดิม อันได้แก่ พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย
และอีกค่ายหนึ่ง ค่ายประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทย ที่มีพรรคก้าวไกล น้องใหม่มาแรงหายใจรดต้นคอ บวกรวมกับพรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ และพรรคเสรีรวมไทย ที่เป็นตัวเล่นหลักในการเลือกตั้งครั้งนี้
แม้คะแนนจากผลโพลจากหลายสำนักจะให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล นำโด่งในทุกกระแสเสียง แต่ผลโพลก็มิได้สะท้อนว่า แต่ละพรรคการเมืองจะได้คะแนนเสียงตามนั้นเสมอไป
สำนักข่าวอิศราสนทนากับ “ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์แนวโน้มของพรรคการเมืองระดับคีย์แมนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทย ว่าจะได้กันกี่แต้ม พร้อมมองข้ามช็อตถึงรัฐบาลหลังการเลือกตั้งว่าจะไปในทิศทางใด ส่วนพรรคอีกฝ่ายหนึ่ง จะมีการนำเสนอในระยะต่อไป
@พรรคเพื่อไทย: แจกเงินหมื่น ยังไม่ว้าว
สำหรับพรรคที่มีกระแสมาแรงที่สุด คงหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้กำลังขี่กระแสนโยบายแจกหมื่นบาทดิจิทัล เรียกกระแสระบึงเซ็งแซ่ไปทั่ว แต่ในความคิดส่วนตัวของดร.สติธรมองว่านโยบายนี้ “ยังไม่ว้าว”
เพราะปัจจุบันพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่สามารถชี้แจงได้ชัดว่า เอางบประมาณจากไหนมาทำ และผู้ที่ออกมาชี้แจงแต่ละคนก็ยังไปคนละทิศคนละทาง
และหากกระบวนการทำนโยบายเป็นการจัดสรรงบประมาณจากหลายส่วน และการดึงภาษีจากส่วนต่างๆมาใช้ ก็ไม่ได้ต่างจากนโยบายคนละครึ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำ จะมีความต่างคือ ให้เป็นก้อนครั้งเดียว ขณะที่นโยบายของรัฐบาลเดิม ทยอยให้เป็นเฟสๆไป และหากยกนโยบายคนละครึ่งขึ้นมา ที่มีแนวคิดรัฐบาลออกเงินครึ่งหนึ่ง ประชาชนออกอีกครึ่งหนึ่ง สมมตินโยบายใช้เงินคนละครึ่ง 500,000 ล้านบาท ก็เท่ากับประชาชนต้องออกอีกครึ่งหนึ่ง รวมๆอีก 500,000 ล้านบาท เท่ากับนโยบายคนละครึ่งทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 1 ล้านล้านบาท มากกว่านโยบายแจกเงินของพรรคเพื่อไทยหรือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ก็ไม่กล้าแจกแบบพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยสร้างความรู้สึกให้ประชาชนได้มากกว่า ทั้งๆที่อาจจะใช้เงินงบประมาณก้อนเดียวกันก็ได้
ทั้งนี้ ดร.สติธรมองว่า การประกาศทำนโยบายแจกเงินหมื่นดิจิทัล ถือเป็นการสร้างกระแสพรรครอบที่ 2 หลังจากเคยประกาศนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ซึ่งต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยมีความเชี่ยวชาญในการประกาศนโยบายให้เป็นที่พูดถึงในสังคม การทำการตลาดและแบรนดิ้งยังเป็นจุดแข็งสำคัญ รวมถึงการบอกกันแบบตรงๆว่า จะทำอะไร ไม่ต้องตีความเพิ่ม ทำให้ประชาชนอ่านแล้วเข้าใจทันที ไม่ต้องไปคิดต่อ อย่างแจก 10,000 บาท ก็ชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยจะแจกจริงๆ เพียงแต่แจกเป็นเงินดิจิทัล ซึ่งก็ต้องไปหาคำอธิบายมาเพิ่มในภายหลัง ก็เท่านั้น
และที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยที่แปลงร่างมาจากพรรคพลังประชาชน และพรรคไทยรักไทย ก็มีผลงานในอดีตชัดเจน จะบอกว่าเป็นต้นตำรับ ‘พูดแล้วทำ’ ก่อนพรรคภูมิใจไทยก็ว่าได้ และการประกาศนโยบายแจกเงินหมื่นบาทดิจิทัลนี้ ช่วยให้กระแสของพรรคดีขึ้นด้วย
เมื่อถามว่า นโยบายนี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ดร.สติธรมองว่า นโยบายนี้ช่วยกระตุกให้คะแนนขึ้นมาจริงๆ จากที่คิดว่ากระแสนิ่งตั้งแต่การเปิดตัว 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค และการประกาศนโยบายเศรษฐกิจลอตแรก
แต่นโยบายนี้จะทำให้เกิดแลนด์สไลด์ทันที หากอีกฝ่ายหนึ่งจ้องตรวจสอบนโยบายนี้ และไปร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนนำไปสู่การเบรกพรรคเพื่อไทยไม่ให้หาเสียงด้วยนโยบายนี้ อาจจะทำให้คนอีกฝั่งหนึ่งมองว่า อีกฝั่งหนึ่งใช้อำนาจแทรกแซง คนจะหวนกลับมาเลือกพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ไม่ว่านโยบายนี้จะได้ทำจริง หรือถูกเบรก คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยก็ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง
ทั้งนี้ ดร.สติธรเชื่อว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่เหลืออีกไม่ถึง 20 วันดี พรรคเพื่อไทยน่าจะออกนโยบายใหม่อีกชุดหนึ่ง เพื่อดึงกระแสให้สูงขึ้นอีก นำไปสู่การลงคะแนนในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยรอบนี้ไม่เหมือนเมื่อปี 2562 แล้ว
ที่มา: พรรคเพื่อไทย
@กระแสดี แต่ไม่แลนด์สไลด์
อย่างไรก็ตาม แม้พรรคเพื่อไทยจะมีกระแสที่ดีจากนโยบายต่างๆ และจากการตะเวนหาเสียงปลุกแฟนคลับให้เลือกแบบถล่มทลาย 310 เสียงขึ้นไปก็ตาม ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า ในการเลือกตั้งรอบนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถไปถึงดวงดาวที่ 310 เสียงได้
โดยคาดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้เสียงจริงๆประมาณ 12 ล้านเสียงหรือประมาณ 265 เสียง แบ่งเป็นเขตประมาณ 200-220 เขตและบัญชีรายชื่อออีกประมาณ 40 คน
สาเหตุที่ไม่แลนด์สไลด์ เพราะต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยมีพรรคก้าวไกล ขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญ แม้ตอนนี้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้มีกระแสอะไรเด่นๆชูขึ้นมาสู้พรรคเพื่อไทยในเวลานี้ก็ตาม แต่จากที่พรรคก้าวไกลชูอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศ ทำให้มีกลุ่มคนที่พร้อมเลือกพรรคก้าวไกลอย่างเหนียวแน่น ซึ่งประเมินคร่าวๆ พรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงประมาณ 5-6 ล้านเสียงเป็นอย่างน้อย และในมุมกลับกัน พรรคก้าวไกลก็จะไม่ได้คะแนนเสียงจากคนที่มีอุดมการณ์กลางๆถึงขวา จะได้คนที่มีแนวคิดไปทางซ้ายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม New Voter เป็นหลัก
“วันนี้อารมณ์ความรู้สึกของพรรคเพื่อไทยเหมือนปี 2544 ที่ชูสโลแกน คิดใหม่-ทำใหม่ และอีกหลายพรรคการเมืองที่เก็บกลุ่ม ส.ส.บ้านใหญ่สู้ศึกเลือกตั้ง แต่มู้ดอารมณ์ประชาชนไม่ได้มองแบบนั้น เพราะสถานการณ์เมื่อปี 2544 เป็นช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ตอนนี้คนละสถานการณ์กัน แม้จะมีปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด แต่มีความรุนแรงต่างกันมาก เพียงแต่ถูกเร้าความรู้สึกได้ง่ายกว่า” ดร.สติธรระบุ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระหว่างหาเสียงที่ จ.หนองคาย - อุดรธานี เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ที่มาภาพ: พรรคก้าวไกล
@ผ่า 12 ล้านเสียงเพื่อไทยมาจากไหน
เมื่อถามว่า 12 ล้านเสียงที่จะได้ในรอบนี้ จะมากกว่าเมื่อปี 2562 ที่ได้ประมาณ 7.8 ล้านเสียง คะแนนที่เพิ่มขึ้มาจากไหน ดร.สติธรกล่าวว่า เป็นคะแนนเก่าที่เสียไปจากกระแสพรรคอนาคตใหม่และจากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ และอีกส่วนหนึ่งคือ ปี 2562 ท่อน้ำเลี้ยงไม่จ่าย ทำให้มี ส.ส.จำนวนหนึ่งย้ายขั้วไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ แต่รอบนี้กลุ่ม ส.ส.บ้านใหญ่อย่างกลุ่มสามมิตร กลุ่มนายสุชาติ ตันเจริญ และกลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรี ก็หวนกลับมาอยู่พรรคเพื่อไทยแล้ว คะแนนที่ติดกับกลุ่มนี้ก็คงกลับมาด้วยเช่นกัน
@เหนือ-อีสาน ได้มากสุด 160-170 เขต
หากวิเคราะห์เป็นรายภาค พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.จากภาคเหนือและอีสานเป็นหลัก ภาคเหนือน่าจะได้ประมาณ 60-70 เขต จังหวัดที่น่าจะได้ยกจังหวัด ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน, น่าน, แพร่ และอุตรดิตถ์
ส่วนจังหวัดที่ต้องสู้และเหนื่อยแน่นอนคือ จ.เชียงราย, พิจิตร, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, ตาก, พะเยา, สุโขทัย, นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ซึ่งคู่ต่อสู้สำคัญคือ พรรคพลังประชารัฐที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นแม่ทัพใหญ่คุมภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.พะเยาและกำแพงเพชร แท็กทีมกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่คุมพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์
ส่วนภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงประมาณ 100 เขตขึ้นไป ได้จากในส่วนเหนือมากที่สุด เช่น จ.ขอนแก่น, หนองคาย, บึงกาฬ, อุดรธานี เป็นต้น แต่ในภูมิภาคอีสานใต้ไล่ตั้ง จ.นครราชสีมา, อุบลราชธานี, นครพนม, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, บุรีรัมย์ เป็นต้นนั้น จะต้องสู้กับพรรคภูมิใจไทยเป็นหลัก
และอีก 1 พรรคการเมืองที่จะมาแชร์ที่นั่งพรรคเพื่อไทยในพื้นที่อีสานคือ พรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค เพราะมี ส.ส.ที่ย้ายพรรคตามไปไม่น้อย ทำให้โอกาสในพื้นที่อีสานใต้ พรรคภูมิใจไทยน่าจะได้คะแนนนำ เพราะในส่วนพรรคฝ่ายค้านในพื้นที่อีสานจะมีถึง 3 พรรคที่จะตัดคะแนนกันเองคือ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ ในวันสมัคร ส.ส.เขตพะเยาเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566
ที่มาภาพ: ธรรมนัส พรหมเผ่า
@กลาง-ตะวันออก เหนื่อย บ้านใหญ่เพียบ ใต้ ไม่ได้สักที่
ส่วนที่เหลือก็ไล่เก็บในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งในภาคกลางรวมพื้นที่ภาคตะวันออก โฟกัสที่ภาคตะวันออกก่อน จะชอบหรือไม่ก็ต้องยอมรับว่า ตอนนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะบ้านใหม่ทำพื้นที่ต่อเนื่องและค่อนข้างแข็งในแถบ จ.ชลบุรีและฉะเชิงเทรา พอสมควร จ.ระยอง ตระกูลปิตุเตชะ ยังคุมพื้นที่ไว้ได้ ขณะที่จ.จันทบุรีและตราด ยังเป็นพื้นที่ที่ยังลุ้นได้
เมื่อถามว่า แต่ใน จ.ชลบุรี ตระกูลคุณปลื้มในฐานะบ้านใหญ่ก็กลับมาซบพรรคเพื่อไทยแล้ว ดร.สติธรระบุว่า บ้านใหญ่น่าจะกลับมาได้ก็จริง แต่กลุ่มของนายสุชาติยังมีโอกาสพลิกเกมได้ ซึ่งจะมีพรรคก้าวไกลเป็นตัวแทรกได้เสมอ ซึ่งพรรคเพื่อไทยน่าจะได้ประมาณ 4-5 เขต
ส่วนพื้นที่อื่นๆในภาคกลาง จังหวัดที่คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะได้น้อย คือ ลพบุรี, สระบุรี, ชัยนาท, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, อุทัยธานี เพราะจังหวัดเหล่านี้พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยแข็งมาก ในจ.ลพบุรีกับสิงห์บุรี เป็นพื้นที่ที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในฐานะเจ้าของพื้นที่ดูแลอยู่ ขณะที่ชัยนาท นายอนุชา นาคาศัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติก็แข็ง ส่วนอ่างทองกับอุทัยธานี ก็มีพรรคภูมิใจไทยโดยตระกูลปริศนานันทกุลและตระกูลไทยเศรษฐ ดูแลพื้นที่ และสุพรรณบุรี ก็เป็นพื้นที่ของตระกูลศิลปอาชาชัดเจน
จากนั้น ก็มาไล่เก็บคะแนนในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลเอา เช่น นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, นครปฐม, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม เป็นต้น ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ก็คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้สักคะแนนเดียว เพราะส่วนใหญ่ยังนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ ส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ น่าจะแชร์กันระหว่างพรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ
@ปาร์ตี้ลิสต์ ได้ 40 อย่างน้อย
ขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เน้นมากนัก ไปเน้นที่เขตมากกว่า ส่วนบัญชีรายชื่อเน้นไปที่การให้รางวัลคนสำคัญและนายทุนพรรคเป็นหลัก ซึ่งวางไว้ใน 10 อันดับแรก ส่วนมือทำงานที่จะเป็นรัฐมนตรีก็วางไว้ท้ายๆ ก็ได้ เพราะเวลาเป็นรัฐมนตรี จะได้ไม่ต้องลาออกจากส.ส.ให้เสียเวลา
เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย
ที่มาภาพ: พรรคเพื่อไทย
@’เศรษฐา’ นายกฯตัวจริง ‘แพทองธาร’ เก็บไว้รอบหน้า
ส่วนการเปิดตัว 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค อันได้แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย, นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย
ดร.สติธรมองว่า นางสาวแพทองธาร จะเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงในกรณีเดียวคือ กรณีที่พรรคเพื่อไทยได้แลนด์สไลด์ตามที่ประกาศไว้ 310 เสียง เพราะพรรคก็ชูนางสาวแพทองธารมานานแล้ว และเมื่อได้ 310 เสียงจริงๆ ก็ไม่ต้องแคร์ใครอีกต่อไป พรรคเพื่อไทยมีอำนาจกำหนดเกมการเมืองทันที
แต่ก็ต้องดูด้วยว่า ผู้มีอำนาจตัวจริงของพรรคเพื่อไทยคิดอย่างไร หากยังไม่อยากให้นางสาวแพทองธารแปดเปื้อนจนช้ำในรอบนี้ ก็อาจจะเลือกเก็บเอาไว้ก่อน แล้วดันนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีในรอบนี้ไปก่อน อย่างไรก็ตาม ถ้าว่ากันตามกระแส ณ ตอนนี้ พรรคเพื่อไทยต้องเชิดนางสาวแพทองธารขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า กระแสของนางสาวแพทองธารรอบนี้ เทียบกับกระแสนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นเมื่อปี 2554 มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ดร.สติธรตอบว่า กระแสของนางสาวแพทองธารตอนนี้ยังไม่เท่านางสาวยิ่งลักษณ์ แต่บุคลิกของนางสาวแพทองธารมีความมั่นใจมากกว่า
ส่วนกระแสนายเศรษฐา ตอนนี้มีแต่ชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้นที่รู้จัก แต่ออกไปในพื้นที่ต่างจังหวัด ก็ยังมีคนไม่รู้จักอีกมาก และถ้าเทียบกับปี 2562 ที่พรรคชูนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นแคนดิเดจนายกรัฐมนตรี ก็ชัดเจนว่า นายชัชชาติมีกระแสดีกว่าเยอะ ดังนั้น ในระยะเวลาที่เหลือ ถ้าพรรคเพื่อไทยจะชูนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงก็ต้องปั้นให้ติดตลาดเสียตั้งแต่วันนี้
“ตอนนี้พรรคเพื่อไทยเริ่มเอานางสาวแพทองธารเฟดออกมาจากกระแสแล้ว การลงพื้นที่หาเสียงตอนนี้ นางสาวแพทองธารมาทางออนไลน์เป็นหลัก แถมการประกาศนโยบายแจกหมื่นบาทดิจิทัล ก็ให้นายเศรษฐาเป็นคนพูด อาจเป็นสัญญาณที่ชัดมากขึ้นว่า จะผลักดันนายเศรษฐาเป็นนายกฯตัวจริง หากในช่วงท้ายมีชุดนโยบายมาตบท้าย ก็ต้องให้นายเศรษฐาเป็นคนประกาศ เพื่อปูให้เขาเด่นขึ้น ดังนั้น ตอนนี้น่าจะพูดได้แล้วว่า นายเศรษฐาคือแคนดิเดตนายกฯ ตัวจริงของพรรคเพื่อไทย” ดร.สติธรกล่าว
ส่วนนางสาวแพทองธาร อย่างที่กล่าวไป หากได้แลนด์สไลด์จริงๆ ก็ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน แต่หากไม่ได้เป็น ก็สามารถเก็บไว้ก่อน เพื่อใช้ในการเลือกตั้งรอบต่อไปได้
“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า