“...กระแสของพรรคก้าวไกลที่กองเชียร์ฝั่งประชาธิปไตยบางกลุ่มมองว่า ‘สู้กว่า’ พรรคเพื่อไทยนั้น ก็ต้องประเมินว่า คนที่คิดในแนวทางนี้มีมากแค่ไหน เพราะคนที่เลือกพรรคก้าวไกลส่วนมากมีอุดมการณ์ไปทางซ้ายสุด ซึ่งในความเป็นจริงก็ยังไม่พอ…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 เมษายน 2566 หลังจากที่ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่วิเคราะห์กระแสและแนวโน้มทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยเริ่มจากพรรคเพื่อไทยไปแล้วนั้น
วันนี้ สำนักข่าวอิศราขอนำเสนอตอนที่ 2 ของการวิเคราะห์แนวโน้มทางการเมือง โดยครั้งนี้มุ่งไปที่พรรคก้าวไกล
@ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ ควรเป็นตำนาน?
ดร.สติธร เริ่มต้นว่า ในการที่พรรคนำอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่เดิม 3 คนมาเป็นผู้ช่วยหาเสียง ซึ่งประกอบด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล และนางสาวพรรณิการ์ วานิช ด้านหนึ่งแม้จะช่วยดึงคะแนนจากแฟนคลับได้มาก แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นดาบสองคม ถ้าปล่อยให้ทั้ง 3 คนเป็นตำนาน แล้วรอวันที่พ้นจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง กลับมาเปิดตัว คิดว่าน่าจะได้อะไรเยอะกว่านี้
แต่การที่ทั้ง 3 คน เปิดหน้ามาคลุกคลีกับการเมืองต่อ หากรอบนี้ลงมาช่วยหาเสียงแล้วผลลัพธ์ตามที่คาดหวังก็ดีไป แต่ถ้าพลิกกลับไม่ได้ตามที่คาดกันไว้ ถึงเวลาที่พ้นบ่วงจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แล้วกลับมาลงการเมืองอีกรอบ ณ วันนั้น คนจะว้าวกับอะไรต่อ?
“ในความคิดส่วนตัว น่าจะปล่อยให้ผู้บริหารชุดปัจจุบันลุยไปเลย คุณทิม (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค) ว่าไป ขุนพลที่เหลือว่าไป ปั้นขุนพลที่เหลือให้เด่นขึ้นมา ได้ไม่ได้ ไม่เสีย แพ้ก็แพ้” ดร.สติธรมองภาพ
3 อดีตอนาคตใหม่ 'ธนาธร-ปิยุบตร-ช่อ พรรณิการ์' ขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกในฐานะผู้ช่วยหาเสียงที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2566
ที่มาภาพ: พรรคก้าวไกล
@เลือกตั้ง 66 เสี่ยงได้น้อยกว่า 40 ที่นั่ง
ส่วนคะแนนที่คาดว่าพรรคจะได้ในรอบนี้ ดร.สติธรประเมินว่า ในปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้ส.ส.จำนวน 81 ที่นั่ง (ส.ส.เขต 31 ที่นั่งและส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 ที่นั่ง) จากคะแนนเสียง 6,330,617 เสียง นั้น คาดว่าในปี 2566 จะได้คะแนนเสียงลดลง และอาจจะไม่เกิน 40 ที่นั่ง แบ่งเป็นบัญชีรายชื่อ 20 และเขต 20
โฟกัสที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน รอบนี้ประเมินไว้ที่ 20 ที่นั่ง แต่น่าจะเหนื่อย ต้องลุ้นจากกระแสพรรคเป็นหลักว่า ในการออกแบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ คนละเบอร์นั้น จะช่วยให้คนที่เลือกพรรคเพื่อไทย ปันใจมาเลือกพรรคก้าวไกลในบัญชีรายชื่อหรือไม่ แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีการหาเสียงในทำนองกาเขตให้เพื่อไทย กาบัญชีรายชื่อให้ก้าวไกลเลย กลายเป็นแต่ละพรรคโหมให้กาพรรคนี้ พรรคนั้น พรรคเดียว อย่าปันใจให้พรรคอื่น
@ต้องชิงคะแนนกลุ่ม Mass บ้าง
ส่วนกระแสของพรรคก้าวไกลที่กองเชียร์ฝั่งประชาธิปไตยบางกลุ่มมองว่า ‘สู้กว่า’ พรรคเพื่อไทยนั้น ก็ต้องประเมินว่า คนที่คิดในแนวทางนี้มีมากแค่ไหน เพราะคนที่เลือกพรรคก้าวไกลส่วนมากมีอุดมการณ์ไปทางซ้ายสุด ซึ่งในความเป็นจริงก็ยังไม่พอ เพราะกลุ่มที่มีอุดมการณ์ซ้ายสุดในประเทศ คิดเป็นคะแนนอาจจะได้แค่ 15-16% เหมือนปี 2562 ดังนั้น พรรคก้าวไกลต้องหาเสียงโดยเบนมาหากลุ่มที่เป็น Mass Market มากขึ้น และต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยกุมคะแนนกลุ่ม Mass มากที่สุด ณ ตอนนี้
และก่อนหน้านี้ที่มีวิวาทะระหว่างนายปิยบุตรกับนายพิธา เรื่องการดำเนินอุดมการณ์ของพรรคนั้น แม้ในแนวทางของนายปิยบุตรที่ให้คงเป้าหมายและอุดมการณ์ทะลุเพดานเดิมไป จะได้ผลยั่งยืนกว่าในระยะยาว เพราะคนในเจนเนอเรชันใหม่ๆ มีแนวโน้มเป็นเสรีนิยมมากขึ้น
แต่ในอีกมุมหนึ่งที่เคยมีกระแสข่าวว่า จะลดธงบางอย่างลงนั้น ก็เข้าใจได้ เพราะการทำงานสภาฯตลอด 4 ปีของพรรคอนาคตใหม่สู่พรรคก้าวไกล ก็คงมีการสรุปบทเรียนว่า ที่ทำงานสภาฯมาก็ได้ประมาณนี้ในฐานะฝ่ายค้าน แต่การจะโตแบบก้าวกระโดด ก็ต้องได้โอกาสในเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อผลักดันนโยบายบางส่วนของพรรคบ้าง เพราะถ้าไม่ได้จับงานบริหาร ก็จะถูกครหาว่า ไม่เคยทำอยู่ตลอด จะเป็นภาพตัดกับพรรคเพื่อไทยที่ชูสโลแกน ‘คิดใหม่ ทำเป็น’ ส่วนหนึ่งที่คนเชื่อสโลแกนนี้ เพราะที่ผ่านมาเคยทำมาแล้วในสมัยที่เป็นรัฐบาล แต่ของพรรคก้าวไกล ยังอยู่ในหล่ม ‘คิดใหม่ คิดใหญ่ แต่ยังไม่ได้ทำ’
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ยืนหน้า) พร้อมนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค (ยืนถัดจากนายพิธา) ร่วมสังเกตการณ์บริเวณสี่แยกปทุมวัน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากระชับพื้นที่สั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63
ที่มาภาพ: พรรคก้าวไกล
@กติกาเลือกตั้งใหม่ ทำคะแนนเขตลดฮวบ
ส่วน ส.ส.เขตที่ให้ 20 ที่นั่งนั้น แม้ว่าโพลของแต่ละสำนักจะให้พรรคก้าวไกลมาแรงในลำดับที่ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย แต่การเลือกตั้งรอบนี้ ไม่เหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เพราะครั้งนี้การเลือกตั้งใช้สูตรหาร 100 และมีบัตร 2 ใบ คะแนนที่ไม่ได้รับเลือก ไม่มีความหมายอีกต่อไปเหมือนเมื่อครั้งปี 2562 ที่มีบัตรใบเดียว และทุกคะแนนที่ประชาชนโหวตถูกนำไปคำนวณหมด ซึ่งต้องยอมรับว่า จากกติกาปี 2562 จึงทำให้พรรคก้าวไกลหรืออนาคตใหม่เดิมได้ที่นั่ง ส.ส.ไปถึง 81 ที่นั่ง
“รอบนี้ Winner take all สมมติ 400 เขต พรรคก้าวไกลได้เขตละ 20,000 คะแนน รวมๆกันได้ที่ 8,000,000 คะแนน แต่ถามว่าแล้วไงล่ะ? รอบนี้คุณจะถือว่าได้ 0 คะแนนอยู่ดีนะ เพราะคุณแพ้ อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา เลือกสู้เฉพาะในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีทั้ง 7 เขต ถึงได้ 35,000 คะแนน แต่ถ้าคะแนนนี้ชนะเป็นอันดับที่ 1 ก็ถือว่าได้ที่นั่งในสภาฯไป ดังนั้น คำถามวันนี้ของพรรคก้าวไกลคือ มีจำนวน ส.ส.ที่การันตีว่า จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขตในแต่ละจังหวัดหรือไม่? ซึ่ง ณ วันนี้ที่เห็นๆมีเฉพาะที่กรุงเทพฯ จังหวัดเดียว ประมาณแบบเชียร์เลยก็ได้ประมาณ 10 ที่นั่ง และที่ยังลุ้นได้ก็พวกจังหวัดที่มีความเป็นเมือง เช่น นนทบุรี, สมุทรปราการ, ปทุมธานี เป็นต้น” ดร.สติธรตั้งโจทย์
เมื่อถามว่า แต่ในแนวทางของพรรคก้าวไกล ที่ชัดเจนคือ ไม่เอากลุ่มบ้านใหญ่ เลือกจะสู้แข่งขันด้วยซ้ำ หากพรรคก้าวไกลมาในแนวนี้ กลุ่มที่เป็น ‘บ้านใหม่และบ้านรอง’ ของแต่ละจังหวัดยังพอที่จะช่วยให้พรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้งในเขตต่างๆบ้างหรือไม่ ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า ยังไม่ได้สแกนพื้นที่ในต่างจังหวัดสักเท่าไหร่ว่า ตระกูลระดับบ้านรองๆที่พอมีฐาน จะร่วมหรือเอากระแสของพรรคก้าวไกลไปบวกด้วยหรือไม่
@ปักธงอุดมการณ์ ได้คะแนนไม่ถึง 120 ที่ ต้องเป็นฝ่ายค้าน
ขณะที่การประเมินแนวโน้มที่จะได้เป็นรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งรอบนี้ ดร.สติธร ประเมินว่า ณ ตอนนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดประกาศชัดเจนว่า พร้อมจะร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ขนาดพรรคเพื่อไทยยังไม่ประกาศเลย แถมมีพรรคที่ประกาศจะไม่ร่วมแล้วอย่างน้อย 2 พรรคคือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย
ดังนั้น หากพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเกิน 120 ที่นั่งขึ้นไป ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ควรประกาศเลยว่า จะร่วมเป็นรัฐบาลเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย แต่หากได้ไม่ถึง 120 ที่นั่ง และต้องเป็นผู้ที่เข้าไปร่วมกับพรรคอื่นๆ ก็ประกาศไปเลยว่า ขอเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งถ้ามามุมนี้ จะทำให้จุดยืนของพรรคมั่นคง และขายได้ในสนามการเลือกตั้งในปัจจุบัน
@แก้-ยกเลิก 112 จุดแข็ง ‘ก้าวไกล’ แต่ไม่ได้คะแนนเพิ่ม
เมื่อถามต่อถึงประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลชูเป็นนโยบายหลัก และเป็นภาพจำในขณะนี้ ยังถือเป็นท่าไม้ตายในการเลือกตั้งรอบนี้หรือไม่ ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า การนำเสนอนโยบายแก้ไข มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ยังสามารถหล่อเลี้ยงมวลชนของพรรคได้อย่างแน่นอน และเรื่องนี้พรรคก้าวไกลมีความชัดเจนมากกว่าพรรคเพื่อไทย แต่จะได้เฉพาะกับกลุ่มอุดมการณ์ซ้ายสุดเท่านั้น
เพียงแต่ประเด็นนี้ จะไม่ได้ดึงดูดกลุ่มคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ซ้ายสุดเข้ามาเติม เพราะคนอื่นๆ ยังกังวลการ ‘ทะลุเพดาน’ แม้จะมีคนเข้าใจว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม แต่ว่าหากไปรื้อ หรือ ยกเลิก ก็ยังมองว่าเป็นเรื่องยาก และพรรคเพื่อไทยก็มีแกนนำบางคนที่ออกมาบอกแล้วว่า จะไม่แก้ แต่จะไปดูเรื่องการบังคับใช้แทน ซึ่งกลุ่มคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยก็จะอยู่เฉดการเมืองแนว ‘ซ้ายกลาง’
นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และนางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) แกนนำกลุ่มทะลุวัง บุกเวทีปราศรัยพรรคก้าวไกล พร้อมทำโพลยกเลิกหรือแก้ไข มาตรา 112
ที่มา: ประชาไท
@เกมการเมืองนโยบาย ยังตามหลัง ‘เพื่อไทย’
แม้นโยบายเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะช่วยรักษาฐานเสียงซ้ายสุดเดิมของพรรคก้าวไกลไว้ได้ แต่ในมุมมองของ ดร.สติธร โฟกัสที่กลุ่มซ้ายกลางอันเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยเพิ่มเติมว่า กลุ่มคนเหล่านี้ ยังยึดมั่นในนโยบายเศรษฐกิจเป็นหลักอยู่ ซึ่งเมื่อพรรคก้าวไกลชูอุดมการณ์ทางการเมืองนำ ทำให้พรรคเพื่อไทยเล่นในเกมนี้ง่ายกว่า
“วันนี้พรรคเพื่อไทยออกนโยบายมาเซ็ตหนึ่ง ก้าวไกลมาตลบสู้ เพื่อไทยก็จะดูแล้วว่า นอกจากนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งแล้ว ก็เริ่มเอานโยบายทางการเมืองมาดูบ้างแล้วว่า นโยบายของก้าวไกลอะไรบ้างที่เพื่อไทยสามารถทำได้ ก็ประกาศทับไปเลย เช่น ปฏิรูปกองทัพ, ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, ลดงบกองทัพ เป็นต้น อะไรที่อยู่ในระดับไม่เกินเพดานและก้าวไกลประกาศแล้ว เพื่อไทยประกาศทับหมด ต้อนให้ความต่างระหว่างก้าวไกล-เพื่อไทย เหลือเพียงเรื่องที่อยู่บนเพดาน ซึ่งพรรคก้าวไกลกำลังถูกผลักมาอยู่ในเกมที่เพื่อไทยถนัดกว่า” ดร.สติธรระบุ
ดังนั้น พรรคก้าวไกลจะต้องแก้โจทย์นโยบายให้ได้ นโยบายเศรษฐกิจอาจจะเรียกกระแสเหมือนพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ลองไปนโยบายด้านสังคมดูไหม หรือนโยบายด้านเศรษฐกิจ ลองชูขึ้นมาสักอย่างที่คิดว่าเป็นครีมแล้วขยี้ให้ประชาชนรับรู้ออกไป เช่น นโยบายแจกบำนาญผู้สูงวัย 3,000 บาท ลองเอามานำเสนอ หรือขยายความให้มากกว่านี้ได้ไหม?
และที่สำคัญต้องตีพรรคเพื่อไทยในเวลาที่เหมาะสมบ้าง อย่างนโยบายแจก 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย ลำพังแค่วิจารณ์ไม่พอ ต้องหามุมโต้กับพรรคเพื่อไทยในมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่น อย่าคอมเม้นท์เหมือนพรรคฝ่ายค้าน หรือสถาบัน องค์กรต่างๆ เช่น TDRI หากทำไม่ได้ ก็ต้องมีนโยบายที่ดีกว่ามาเกทับ แต่ไม่ใช่นโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาท/วัน ซึ่งไม่ได้ คนไม่ซื้อ
เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายแจกเงินหมื่นดิจิทัลครั้งแรกที่ยิมเนเซียม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566
ที่มาภาพ: พรรคเพื่อไทย