“... ประเทศไทยมีพื้นที่ทะเลเป็นแหล่งผลิตทางธรรมชาติเป็นทุนเดิม แต่ปัจจุบันอาหารทะเลที่มีคุณภาพกลับหาได้น้อยและราคาสูงขึ้น จนทำให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง จนต้องนำเข้าอาหารทะเลแช่แข็งจากต่างประเทศมาป้อนตลาดคนไทยในราคาถูกและคุณภาพต่ำ…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 เมษายน 2566 สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ข้อเสนอนโยบายการประมงทะเลและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านไทยต่อพรรคการเมือง
หมวดที่หนึ่ง นโยบายว่าด้วย การประมงและทะเลยั่งยืนเพื่อสร้างหลักประกันทางอาหารให้ประเทศ พรรคการเมืองที่จะเข้าสู่การบริหารประเทศ ควรมีนโยบายเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตอาหารทะเล ให้คนไทยเข้าถึงอาหารทะเลเฉลี่ยอย่างน้อย 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
อาหารทะเลเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยประเทศไทยมีพื้นที่ทะเลเป็นแหล่งผลิตทางธรรมชาติเป็นทุนเดิม แต่ปัจจุบันอาหารทะเลที่มีคุณภาพกลับหาได้น้อยและราคาสูงขึ้น จนทำให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง จนต้องนำเข้าอาหารทะเลแช่แข็งจากต่างประเทศมาป้อนตลาดคนไทยในราคาถูกและคุณภาพต่ำ สาเหตุหลักเพราะสัตว์น้ำคุณภาพในทะเลถูกทำลายให้เสื่อมค่าลง การทำประมงแบบรับผิดชอบและมีคุณภาพ มีต้นทุนสูง โดยมีวิธีการ ดังนี้
1. นโยบายควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนหรือสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก
กฎหมายควบคุมการผลิตสัตว์น้ำทะเลเพื่อเป็นอาหารของผู้บริโภคในไทย มีการควบคุมวิธีการผลิตทั้งต้นทางคือการจัดระบบจดทะเบียนหรือใบอนุญาต กลางทางคือการกำหนดวิธีการทำการประมงหรือการผลิตที่เหมาะสม แต่ไม่มีการควบคุมปลายทางที่ผลผลิตจริง ว่าแท้จริงแล้วผลผลิตสัตว์น้ำนั้นได้คุณภาพจริงหรือไม่ และมักมีปัญหาการควบคุมระหว่างการทำประมง จึงควรต้องมีมาตรการควบคุม “ผลผลิตการประมง” ที่หน้าท่า โดยเริ่มจากสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลากุเลา ปลาอินทรี ปลาจะละเม็ด ปลาสาก ปลาหลังเขียว ปูม้า เป็นต้น ต้องมีการกำหนดชนิดและขนาดหรือวัย ของสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ ๆ
2. ต้องกำหนดโควตาการจับสัตว์น้ำเป็นปริมาณน้ำหนักสัตว์น้ำจริงที่จับได้
ต้อง “เปลี่ยน” การให้โควตาการจับสัตว์น้ำให้เป็นธรรมและยั่งยืน โดย ต้องจัดสรรโควตาการจับให้ผู้ประกอบการประมงด้วยปริมาณที่จับได้จริง และต้องแบ่งกันให้ผู้ผลิตรายย่อยซึ่งมีประชากรมากกว่า 80% ของประชากรผู้จับสัตว์น้ำทั้งหมด ไว้อย่างน้อย 50% ของสัตว์น้ำทะเลไทยที่สามารถผลิตได้ ให้เป็นโควตาของชาวประมงรายย่อย
ปัจจุบันมีการให้โควตาการจับ เป็นจำนวนวันต่อปี (ประมาณ240วัน) ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในหมู่ผู้ทำการประมงด้วยกัน และเกิดการทำลายสัตว์น้ำมากเกินไป โดยอุตสาหกรรมประมง ผู้ประกอบการประมง หรือบริษัทการประมงในไทย ที่มีเจ้าของจำนวนไม่ถึง 10% ของผู้ผลิตสัตว์น้ำทั้งหมด ใช้เรือประมงขนาดใหญ่และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง กลับได้รับอนุญาตให้จับสัตว์น้ำได้มากที่สุดเท่าที่จะจับได้ และจับสัตว์น้ำชนิดใดหรือขนาดใดก็ได้ ตราบเท่าที่บริษัทหรือเครือข่ายของตนมีจำนวนวันตามโควตาที่กำหนด
เท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการประมง จนดึงเอาทรัพยากรสัตว์น้ำส่วนรวมส่วนใหญ่ (80% ของผลผลิต)เป็นของตน จนเกิดผลกระทบต่อผู้ผลิตรายย่อย ชาวประมงขนาดเล็ก ชาวประมงพื้นบ้าน และกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างหนักเพราะผลผลิต 80% นั้น เกือบครึ่งหนึ่งกลับเป็นสัตว์น้ำคุณภาพต่ำ (สัตว์น้ำเน่าเละ, สัตว์น้ำขนาดเล็ก, สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน) ที่มนุษย์ใช้บริโภคไม่ได้ และถูกนำเข้าโรงงานปลาป่น
3. ต้องมีนโยบายห้ามส่งออกผลผลิตปลาป่นที่ปนเปื้อนสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนจากการประมงไปนอกประเทศ
ต้องห้ามการส่งออก “ปลาป่นที่ปนเปื้อนสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน” โดยปัจจุบันการผลิตปลาป่นอาหารเลี้ยงสัตว์ ส่วนหนึ่งใช้วัตถุดิบจากปลาเป็ดที่ได้จากการทำประมง และมีการปนเปื้อนของสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนปริมาณสูงเกินไป ทำให้อาหารทะเลคุณภาพเสื่อมค่าโดยมีราคาเพียง 4 - 15 บาทต่อกิโลกรัม การผลิตปลาป่นจากสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน จึงเป็นสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งในวงจรการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ สนับสนุนการทำลายห่วงโซ่ระบบนิเวศน์และห่วงโซ่อาหารในทะเล ก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล
4. ต้องมีนโยบายควบคุม การประมงเชิงอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์ ที่ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับด้วยอวนตาถี่, การใช้เครื่องปั่นไฟประกอบอวนตาถี่จับสัตว์น้ำ การใช้อวนลากคู่ทำการประมง โดยจำกัดจำนวนเครื่องมือ และกำหนดเขตทำการประมง ให้ห่างจากชายฝั่งทะเลอย่างน้อย 12 ไมล์ทะเล
การผลิตสัตว์น้ำจากทะเล ด้วยเครื่องมือประมงเชิงอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์ ที่ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับด้วยอวนตาถี่, การใช้เครื่องปั่นไฟประกอบอวนตาถี่จับสัตว์น้ำ, ใช้อวนลากคู่ทำการประมง เป็นลักษณะการผลิตที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูง สามารถจับสัตว์น้ำได้จำนวนมาก เป็นการจับสัตว์น้ำแบบเหมารวม ไม่เลือกจับ ทำให้เกิดผลกระทบทั้งในธรรมชาติ และเกิดความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสัตว์น้ำของผู้ประกอบการประมงทั้งหมด
5. ต้องแก้ไข พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 บางส่วน โดยเพิ่ม หมวดว่าด้วย “การประมงพื้นบ้าน” นำข้อกำหนดเกี่ยวกับการประมงพื้นบ้านอยู่ในหมวดนี้ เพื่อเป็นหลักประกันการจัดการที่แตกต่างกับการประมงพาณิชย์ และให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมงส่วนที่กระทบกับวิถีชีวิตการประมงขนาดเล็ก ในมาตรา 5 , 25 , 26, 27 และ 34
(1) ปรับแก้นิยามของชาวประมงพื้นบ้านในมาตรา 5 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยเปลี่ยนจาก “การทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้มิใช้เรือประมงพาณิชย์” เป็น “การทำประมงในทะเลไม่ว่าจะใช้เรือประมงหรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง โดยผู้ที่ทำการประมงต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและในกรณีที่ใช้เรือประมง เจ้าของเรือหรือคนในครอบครัวต้องเป็นผู้ลงเรือออกไปทำการประมงด้วยตนเองและมีการใช้แรงงานอีกไม่เกินสี่คน ทั้งนี้ที่ไม่ใช่เรือประมงพาณิชย์”
(2) ยกเลิกมาตรา 34 ของพระราชกำหนด ฯ ที่มิให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง
(3) แก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดและกำหนดกลไกการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดใหม่ โดยตัดองค์ประกอบ “นายอำเภอ” เพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ในคณะกรรมการ ฯ แล้ว นอกจากนี้ต้องกำหนดให้มีการประชุมปีละ 4 ครั้ง ในส่วนของอำนาจของคณะกรรมการ ฯ ต้องครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 12 ไมล์ทะเลนับจากแนวชายฝั่ง ที่สำคัญคณะกรรมการฯ ต้องมีแผนการจัดการทรัพยากรประมงระดับจังหวัด
6. นโยบาย ควบคุมแหล่งเพาะเลี้ยงในทะเลทั้งระบบ
ควรมีการทบทวนแหล่งทำการเพาะเลี้ยงในทะเลของทุกจังหวัด และกำหนดพื้นที่เพาะเลี้ยงให้ชัดเจน โดยพิจารณาจากบริบททางสังคมและทรัพยากรในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการครอบครองกรรมสิทธิ์พื้นที่เพาะเลี้ยงของนายทุนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุญาต ซึ่งทำให้ชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นเกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาโดยการแต่งตั้งกรรมการโดยรัฐเพื่อดำเนินคดี จับกุม หรือรื้อถอน พื้นที่เพาะเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาต ทั้งในส่วนของการเพาะเลี้ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่ที่กรมประมงไม่มีอำนาจในการประกาศเขตเพาะเลี้ยง ทางหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีการหารือร่วมกันในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป
7. นโยบาย ควบคุมโครงการขนาดใหญ่ กับที่สาธารณะชายทะเล
ก่อนที่จะมีการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้มีการจัดทำข้อมูลของโครงการครอบคลุมทุกด้านที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชายฝั่งทะเลทั้ง 24 จังหวัด โดยต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ร่วมกับนักวิชาการและศึกษาในรูปแบบงานวิจัยและสามารถนำผลการศึกษามาใช้ในการวิเคราะห์ประกอบการพิจารณา รวมทั้งประกอบการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม
8. ควบคุมการทิ้งขยะลงทะเล และส่งเสริมการจัดการขยะทะเลโดยชุมชน
ต้องมีกฎหมายห้ามทิ้งขยะลงทะเลและมีมาตรการบังคับใช้ รวมทั้งการออกมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดการใช้ขยะ และสร้างหลักสูตรในการจัดการขยะ เพื่อสร้างการเรียนรู้แก่เยาวชน รวมถึงจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นหรือชุมชนชายฝั่ง ให้สามารถออกแบบการจัดการขยะโดยชุมชน โดยหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องมาร่วมกับชุมชน และสนับสนุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อจัดการขยะในชุมชนชายฝั่ง ทั้งนี้ให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดการขยะมีบทบาทมากขึ้น มีการศึกษาสร้างต้นแบบการจัดการขยะและอุปกรณ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากนัก เช่น ใช้โซลาร์เซลล์ในเรือประมง เป็นต้น
หมวดที่สอง ว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านในประเทศ
เพื่อส่งเสริมให้ชาวประมงพื้นบ้านเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเป็นธรรม จะต้องแก้ไขอุปสรรคในหลายด้าน และต้องสร้างหลักประกันการเข้าถึง ด้วยมาตรการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
9. ออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านและให้โควตาสัตว์น้ำสำหรับชาวประมงพื้นบ้านอย่างน้อย 50% ของสัตว์น้ำเศรษฐกิจสต๊อกทะเลไทย หรือเฉลี่ย 10 ตันต่อลำต่อปี
สัตว์น้ำทะเลไทยมีจำนวนจำกัด เช่นเดียวกับ ที่ดิน สินแร่ และทรัพยากรอื่นรัฐควรมีการจัดสรรแบ่งปันอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมและมีหลักประกันการเข้าถึง โดยที่ปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจประมาณ 1,500,000,000 กิโลกรัม (หนึ่งพันห้าร้อยล้าน) ถูกจัดสรรให้โควตาแก่การประมงเชิงพาณิชย์ 80% หรือประมาณ 1,200,000,000 กิโลกรัม (ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์เพียงหลักพันราย ที่เป็นเจ้าของบริษัทหรือธุรกิจการประมง) แต่กลับจัดสรรให้ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งมีประชากรจำนวนมากนับแสนคน แค่ประมาณ 20% หรือประมาณ 2 - 3 แสนตัน เท่านั้น
พรรคการเมืองควรมีนโยบายจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเป็นธรรม โดยต้องจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำใหม่ อย่างน้อยควรจัดสรรให้ชาวประมงพื้นบ้านเข้าถึง 50% ของสต๊อกสัตว์น้ำทะเลไทยทั้งหมดหรือเฉลี่ย10ตันต่อลำต่อปี
10. ปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนเรือของประมงพื้นบ้าน
จัดระบบการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านให้เข้าถึงได้ง่าย สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่จริง
แม้จะมีการเปิดให้ชาวประมงพื้นบ้านนำเรือของตนมาจดทะเบียนเป็นเรือประมงล่าสุดในปี พ.ศ.2562 แต่การดำเนินการจดทะเบียนเรือของชาวประมงพื้นบ้านในหลายพื้นที่ต้องพบเจอกับอุปสรรคในการดำเนินการ ความซับซ้อนของกระบวนการโดยที่ต้องเดินทางไปยังติดต่อหลายสถานที่
กล่าวคือ การจดทะเบียนเรือจะต้องไปดำเนินการกับสำนักงานประมงจังหวัดและเจ้าท่าภูมิภาคซึ่งบางพื้นที่สองหน่วยงานมีระยะทางไกลจากกัน นอกจากนั้นประมงพื้นบ้านยังต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ที่สำคัญคือการสอบใบประกาศนียบัตรนายท้ายเรือประมงชั้นสองและประกาศนียบัตรนายท้ายเรือกลทะเลชั้นสองประกอบการนำเรือไปจดทะเบียนสำหรับทำการประมง ทั้งที่ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการสอบ ไม่ได้มีทักษะ ความรู้ การถือหางเรือ ด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่า รัฐกับชาวประมงพื้นบ้าน มีความรู้วิธี “การเดินเรือ” ไปคนละทาง แต่ชาวประมงพื้นบ้านต้องทำตามรัฐ
ควรมีนโยบาย แก้ไขปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านใหม่เพื่อทำให้ชาวประมงสามารถเข้าถึงการจดทะเบียนเรือได้มากขึ้น และต้องทำให้กระบวนการจดทะเบียนเรือเหมาะสมกับประมงพื้นบ้านโดยการมีวิธีจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านในรูปแบบเฉพาะ ปรับปรุง ระบบตัวชี้วัด การเป็นนายท้ายเรือกลทะเลชั้นสอง (ช่างเครื่อง) ประกอบการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน
11. อนุญาตให้ชาวประมงที่อยู่อาศัยหรือมีถิ่นฐานบ้านเรือนดั้งเดิมอยู่บริเวณชายฝั่งหรือพื้นที่ในทะเลได้ตามปกติ
หลังจากที่มีการห้ามไม่ให้มีผู้ใดบุกรุกหรือครอบครองที่อยู่อาศัยบริเวณริมชายฝั่งทะเลโดยอ้างเหตุว่ากีดขวางทางเดินเรือนั้น ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนดั้งเดิมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นวิถีชาวทะเลดั้งเดิม ต้องเข้าข่ายเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำไปด้วย และต้องไปลงทะเบียนการถือครองพื้นที่และที่อยู่อาศัย สมาคมสมาพันธ์ฯ ได้เสนอปัญหาต่อกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มาอย่างต่อเนื่อง
ต่อมา ได้มีการลงทะเบียนการครอบครองพื้นที่และที่อยู่อาศัยรวมถึงจ่ายค่าธรรมเนียมตามที่รัฐกำหนด โดยมอบอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาการดำเนินการในหลายพื้นที่เช่น ชุมชนดั้งเดิม ควรได้รับการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้