โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์สามารถแสดงตัวตนให้ผู้คนรู้จักและยังเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องมือใดๆที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมาในโลก
โซเชียลมีเดียได้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของผู้คน จนทำให้ใครต่อใครต้องถูกผูกติดกับจอโทรศัพท์อยู่แทบทุกนาที ทั้งเพื่อ การสื่อสาร การแสดงความเห็น ความบันเทิง แสวงหาข่าวสารที่เป็นสาระและไม่เป็นสาระรวมทั้งการกลัวการตกกระแส(Fear of Missing Out :FOMO) ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นผู้ที่ต้องติดตามการเคลื่อนไหวของ พิกเซล(Pixel) บนหน้าจอมากกว่าพบปะกับมนุษย์รอบข้าง มนุษย์ทุกวันนี้จึงอยู่ในสังคมก้มหน้าราวกับถูกโปรแกรมด้วยคำสั่งจากจอโดยไม่รู้ตัว
นอกจากการก้มหน้าก้มตาอยู่กับจอเป็นนิจไม่สนใจใครราวกับว่าไม่มีมนุษย์ผู้อื่นอยู่รอบตัวแล้วยังมักจะพบปรากฏการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งเป็นต้นว่า
1.เรื่องเล็กมักกลายเป็นเรื่องใหญ่เสมอเมื่อถูกเผยแพร่ออกไปบนโซเชียลมีเดีย เพราะโซเชียลมีเดียคือเครื่องขยายที่ทรงพลังที่สุด ภายใต้การทำงานอย่างแข็งขันของอัลกอริทึมผนวกกับธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งพร้อมจะกระพือทั้งความจริง ความเท็จและข่าวลือที่ได้รับความสนใจจากผู้คน ทั้งที่บางเรื่องไม่มีความสำคัญหรือไม่ได้มีประโยชน์ใดๆต่อสังคมเลย
2.โซเชียลมีเดียเป็นเวทีที่เต็มไปด้วย ความช่างสงสัย ความช่างค่อนแคะ การขาดความเกรงใจ และผู้คนมักหยิบจับแทบทุกเรื่องขึ้นมาเป็นประเด็นคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งๆที่บางเรื่องควรมองข้ามไปบ้างหรือเก็บไว้คุยกันเป็นการส่วนตัวก็ได้
3.คนจำนวนหนึ่งอาศัยโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการและคาดคั้นเอาคำตอบผ่านโซเชียลมีเดียและบ่อยครั้งไม่ถูกกาลเทศะและลืมมารยาทจนกลายเป็นการขมขู่และคุกคามไป
4. ภาษาใหม่ๆ ที่ ห้วน กระชับ ดึงดูดความสนใจและแปลกกว่าภาษาทั่วไป ถูกประดิษฐ์และถูกนำมาใช้บนโซเชียลมีเดียตลอดเวลา คำหยาบคายที่ไม่สามารถพูดได้ต่อหน้าผู้คนกลับถูกนำมาใช้ได้อย่างไม่รู้สึกขัดเขินหรือกระดากอาย
5. การอ่านแบบฉาบฉวย เฉพาะจุดที่น่าสนใจหรืออ่านเฉพาะหัวข้อ เป็นพฤติกรรมการอ่านที่พบเห็นเป็นประจำและมีไม่น้อยที่ส่งต่อข้อความที่ได้รับตามกันโดยไม่ได้อ่านเนื้อหาภายในของข้อความนั้นด้วยซ้ำไป มนุษย์ในยุคโซเชียลมีเดียจึงอยู่ในยุคที่เรียกว่ายุคพาดหัวข่าว (Headline age) มากกว่าการสนใจในข้อมูลข่าวสารที่มีรายละเอียด
6. ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนไม่น้อยแสดงตัวเป็น นักวิจารณ์ นักข่าวและนักออกความเห็น ในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชีพของตนเองหรืองานที่ตัวเองถนัดโดยสรุปจากความเข้าใจและความเห็นของตัวเอง ผ่านโซเชียลมีเดีย จนทำให้เกิดความสับสนต่อการรับรู้ข่าวสารของผู้ที่ไม่สามารถแยกแยะระหว่างความเห็นและความเท็จกับความจริงได้
7. เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวหรืออาจถึงขั้นเกลียดชัง เมื่ออ่านข้อความ เห็นภาพ หรือแม้แต่ได้ยินคำสรรเสริญเยินยอคนบางคน ที่มีแนวคิดหรือท่าทีที่ตรงข้ามกับความเชื่อหรืออุดมการณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทางการเมือง หากคำพูดใดไม่ตรงใจหรือนโยบายใดออกมาจากฝ่ายตรงข้ามมัก ถูกจับผิด เสียดสีและนำมาละเลงกันอย่างสาดเสียเทเสียบนโซเชียลมีเดียเสมอ โซเชียลมีเดียจึงเป็นได้ทั้งเครื่องมือสื่อสารและเป็นอาวุธโจมตีฝ่ายตรงข้ามได้ในเวลาเดียวกัน
8. ผู้คนบนโลกโซเชียลหลงใหลและให้ความสำคัญกับจำนวนตัวเลข ยอดผู้ติดตาม ยอดไลค์ ยอดแชร์ จำนวนคอมเมนต์ ยิ่งเสียกว่าให้ความสนใจในเนื้อหาและคุณค่าของข้อมูลที่มีการนำเสนอ
9. ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโซเชียลมีเดียไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ แต่โลกของโซเชียลมีเดียกลับถูกควบคุมโดยคนส่วนน้อยตามกฎของ Zipf (Zipf’s law) หรือที่รู้จักกันในชื่อกฎ 80-20 ซึ่งหมายความว่าคนเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีอิทธิพลและควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างแบบเบ็ดเสร็จบนโลกโซเชียล
10. ผู้คนในยุคโซเชียลมีเดียมักมีอารมณ์อ่อนไหวต่อการถูกวิจารณ์หรือถูกติเตียนและพร้อมโต้ตอบในทันที ทั้งที่บางเรื่องไม่ได้มีความสำคัญหรือควรให้ราคาจนถึงขั้นต้องออกมาตอบโต้ทุกครั้งไป โซเชียลมีเดียจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนได้ตลอดเวลา
11.เกิดปรากฏการณ์ คนดัง ดารา นักร้อง ฯลฯ ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง (Call out) ผ่านโซเชียลมีเดีย รวมทั้งยังเรียกร้องไปยังผู้ร่วมอุดมการณ์และบุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆให้แสดงออกในทิศทางเดียวกับตน เพื่อให้เสียงตะโกนของตัวเองดังพอที่จะเป็นจุดขายได้
12.การพูดถึงเรื่อง ประเทศชาติ เผ่าพันธุ์ เพศ สีผิว ความรวย ความจน ฯลฯ จะเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะจะถูกลากไปสู่การวิจารณ์ในเรื่องความไม่ยุติธรรมในสังคม ความไม่เท่าเทียม การแบ่งชั้นวรรณะและการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการถูกตำหนิหรือคว่ำบาตรบนโลกออนไลน์ในทันที แม้ว่าในบางบริบทจะเป็นความจริงและนำเสนอเพื่อการศึกษาหรือเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยเจตนาดีก็ตาม
13. ความง่าย ความเร็ว ความถูก คือรางวัลที่โซเชียลมีเดียมอบให้ จนทำให้มนุษย์คาดหวังต่อรางวัล 3 ประเภทนี้ตลอดเวลาจนติดเป็นนิสัย
14. ความไร้ตัวตนบนโลกออนไลน์และคุณสมบัติแฝงอื่นๆของโซเชียลมีเดียทำให้มนุษย์กล้าแสดงออกมากกว่าปกติ เพราะสิ่งที่ทำไม่ได้เมื่อเผชิญหน้ากับบุคคลอื่นกลับสามารถทำได้อย่างง่ายดายผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งนักจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจในโลกออนไลน์” (Online disinhibition)
15. โซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่แห่งความเห็นที่ไม่ตรงกันของคนหมู่มาก ดราม่าจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาบนโซเชียลมีเดีย การแสดงออกของคนบางคนหรือบางกลุ่มอาจเป็นที่หมั่นไส้ของคนอีกพวกหนึ่งจนกลายเป็นความเห็นที่ขัดแย้งและนำไปสู่การชี้นิ้วตัดสิน ผิด-ถูกโดยคนแปลกหน้าได้
16. การพูด การเขียน การกระทำ ของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือผู้มีแนวคิดตรงกันข้ามจะถูกจับจ้องอย่างไม่วางตาและเมื่อใดก็ตามที่เกิดความสงสัยต่อข้อมูลที่นำเสนอหรือเกิดพลาดพลั้ง นักสืบโซเชียลจะติดตามแคะคุ้ยอดีตและร่องรอยของคนเหล่านั้นมาโต้แย้งหรือโจมตีอย่างไร้ความปราณีและเหตุการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้นในโอกาสสำคัญๆของคนบางคนเสมอ
17. โซเชียลมีเดียคือเครื่องมือที่สนับสนุนให้เกิดกลุ่มคนที่มีความชอบคล้ายๆกันรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนโดยการจัดการของอัลกอริทึมร่วมกับพฤติกรรมความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ การรวมกลุ่มของผู้คนอาจนำไปสู่กับดักของอคติที่ยืนยันความเชื่อของตนเองที่เรียกว่า Confirmation bias ซึ่งคนในกลุ่มมั่นใจและเชื่อถือในข้อมูลของสมาชิกในกลุ่ม โดยพยายามหาข้อมูลสนับสนุนความเชื่อของตัวเองอย่างเหนียวแน่น จนกลายเป็นความเชื่อที่ถูกผลิตซ้ำอยู่ภายในห้องเสียงสะท้อน(Echo chamber) และหากแนวคิดของกลุ่มมีเป้าหมายเพื่อสร้างความแตกแยก ความรุนแรงและความเกลียดชัง โซเชียลมีเดียจะกลายเป็นจานเพาะเชื้อร้ายเหล่านั้นในทันที
18. เกิดพฤติกรรมการทำลาย วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะหรือแม้แต่ทรัพย์สินอื่นๆอย่างไร้เหตุผล (Vandalism) เราจึงมักได้ยินข่าวเรื่อง การแก้ไขข้อมูลวิกิพีเดียให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง การแต่งเติมรูปภาพทางศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา ในเชิงตลกขบขันหรือลบหลู่ และนำไปเผยแพร่ รวมไปถึงการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งเกิดจากการถูกปลุกปั่นในรูปแบบต่างๆแล้วนำมาโชว์บนโซเชียลมีเดีย อยู่บ่อยๆ
19. การเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย ทำให้บางคนรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกจับจ้องด้วยสายตาแปลกๆจากคนรอบตัวทั้งคนรู้จักและคนไม่รู้จัก คนจำนวนไม่น้อยจึงตกอยู่ในความกลัวจากการถูกวิจารณ์ การถูกตำหนิหรือทัวร์ลงจนกระทั่งไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆจนดูเหมือนถูกปิดปาก แสดงให้เห็นว่าความกลัวการจากถูกการโจมตีหรือการคว่ำบาตรทางสังคมมีอิทธิพลไม่น้อยไปกว่าความกลัวอื่นๆ
20. ใครก็ตามสามารถถูกลากเข้าไปเป็นเป้าโจมตีได้ตลอดเวลาบนโซเชียลมีเดีย ทั้งๆที่บุคคลนั้นไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงหรือไม่ได้เป็นผู้ใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนั้นเลยก็ตาม
21. วาทะกรรมแปลกๆ เกิดขึ้นอย่างดาษดื่นบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำที่ฉีกสังคมออกเป็นชิ้นๆ (Scissor statement) ถูกนำมาใช้บนโลกโซเชียลอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างเครดิตให้ฝั่งตนเองได้ประโยชน์และจงใจทำลายฝ่ายตรงข้าม
22. เกิดกลุ่มคนที่เรียกกันว่า เกรียนคีย์บอร์ดหรือพวกป่วนเว็บ บนโลกโซเชียล ซึ่งมีพฤติกรรม โพสไว ใจเร็ว ตำหนิก่อน ด่าก่อน ขอโทษทีหลังและมักแสดงความละอายใจ สำนึกผิดหรือสารภาพในสิ่งที่ตนเองได้แสดงความเห็นหรือกระทำลงไปเมื่อมีการดูภาพและข้อความย้อนหลังหรือเมื่อเกิดคดีความ
23. เกิดวัฒนธรรมการรุมคว่ำบาตรบนโลกออนไลน์ (Cancel culture) ซึ่งมุ่งโจมตีตัวบุคคลจนนำไปสู่การทำลายอาชีพและชื่อเสียงของคนบางคนอย่างไร้สติเพียงเพราะความชอบที่ไม่เหมือนกัน การแสดงความเห็นต่างหรือแม้แต่การชื่นชมคนบางคนที่ตัวเองไม่ชอบ ซึ่งไม่ต่างจากการรุมประชาทัณฑ์ผู้คนโดยไม่มีความผิด
24. เกิดปรากฏการณ์ “หิวโหยความสนใจจากผู้อื่น” หรือที่เรียกกันว่า “หิวแสง” บนโซเชียลมีเดีย โดยใช้โซเชียลมีเดีย แสดงความเห็นของตัวเอง วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ในสังคมหรือแม้แต่กุข่าวเท็จ อย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อให้เกิดกระแสหรือเป็นข่าวให้ตนเองได้รับความสนใจหรือไม่ถูกลืม
25. เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Snapchat dysmorphia ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้คนต้องการทำศัลยกรรมให้ตัวเองดูดีเหมือนกับรูปในโซเชียลมีเดียที่ใช้เทคนิคแต่งภาพปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ตัวเองด้วยฟิลเตอร์ บน อินสตาแกรม Snapchat หรือ Facetune พฤติกรรมเช่นนี้อาจนำไปสู่ การกระตุ้นอาการป่วยที่เรียกว่า โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง (Body Dysmorphic Disorder :BDD) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่พึงพอใจในรูปร่างและหน้าตาของตนเองเกินปกติ
26.โซเชียลมีเดียเอื้ออำนวยให้ผู้คนหนีชีวิตจากโลกแห่งความจริง เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนได้ง่ายขึ้น “ความมี” กับ “ ความไม่มี” ที่ยึดถือกันในโลกความจริงจึงแทรกซึมเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนอย่างง่ายดาย จึงไม่แปลกที่เรามักจะพบเห็นผู้คนบนโลกโซเชียลมีเดีย แสดงพฤติกรรมหรือแต่งตัวแปลกๆ ชื่นชอบเติมแต่งตัวเองบนหน้าจอให้เหมือนกับตัวตนในฝันตลอดทั้งวัน อวดความมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทองจากการกู้ยืมจนกลายเป็นบุคคลที่มีภาระหนี้สิน เพียงเพราะต้องการแสดงออกถึง ความมั่งมี ความสวยงาม ความพอใจชั่วครู่ยาม บนโลกเสมือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความจริงสำหรับคนบางคน
27. หนึ่งในปรากฏการณ์ที่มาพร้อมกับโซเชียลมีเดีย คือ ปรากฏการณ์ การสลับพฤติกรรมระหว่างเพศ หญิง-ชาย บนโลกดิจิทัล (Digital Androgenization) ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียที่แสดงออกถึงนิสัยความเป็นหญิงจะเกิดขึ้นมากในเพศชาย ในทางกลับกันนิสัยที่แสดงออกถึงความเป็นชายจะเกิดขึ้นมากในเพศหญิง ซึ่งต่างจากกับพฤติกรรมทางธรรมชาติและการอบรมเลี้ยงดูสำหรับเพศชายและเพศหญิงในโลกแห่งความจริง (ผู้ชายมักใช้โซเชียลมีเดียไม่เกินไปกว่าคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนั้นๆมากนัก ในขณะที่ผู้หญิงมีขอบเขตการใช้โซเชียลมีเดียที่กว้างขวางและหลากหลายกว่า ทั้งการโพสรูปเซลฟี การโพสภาพเย้ายวนอวดชาวเน็ต การใช้ฟิลเตอร์ตกแต่งภาพ รวมทั้งการโพสแสดงความเห็น เล่าเรื่องราว ไลฟ์สดและทำธุรกิจ )
28.ผู้หญิงครองโลกโซเชียลมีเดีย - แม้ว่าโลกนี้จะมีจำนวนผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอยู่เล็กน้อย (สัดส่วน ผู้ชาย 102: ผู้หญิง 100) และบุคลากรในบริษัทโซเชียลมีเดียชั้นนำของโลกจะมีอัตราส่วนผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอยู่หลายเท่าตัว แต่ถ้าพูดถึงการใช้โซเชียลมีเดีย นอกจากผู้หญิงจะมีความจริงจังและใช้โซเชียลมีเดียด้วยความหลากหลายวัตถุประสงค์แล้ว ผู้หญิงยังสามารถยึดพื้นที่การใช้โซเชียลมีเดียไว้ได้มากกว่าผู้ชายเกือบทุกแพลตฟอร์ม (Facebook : ชาย 62 % หญิง 74%) (Instagram : ชาย 30 % หญิง 39 %) (Twitter : ชาย 23 % หญิง 24 % ) (Snapchat : ชาย 25 % หญิง 31 %) (LinkedIn : ชาย 25 % หญิง 25%)
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากอิทธิพลของโซเชียลมีเดียโดยตรงหรือไม่ก็ตาม แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายๆกันทุกหนทุกแห่งทั่วโลกในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างไรก็ตามจะยังคงมีปรากฏการณ์อื่นๆที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อนตราบใดที่อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียยังหิวกระหายความสนใจของผู้คนและเจ้าของโซเชียลมีเดียยังต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากข้ออ้างเรื่องเสรีภาพของการแสดงออกโดยไม่แคร์ต่อ ความเท็จ ความหยาบคายและความเกลียดชังที่ปลิวว่อนอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง
เขียนโดย พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร
อ้างอิง
1. Social Warming โดย Charles Arthur
2. Instagod โดย Sonny Arvado
3. The Constitution of Knowledge โดย Jonathan Rauch
4. The Psychology of Social Media โดย ciaran mc mahon
5. ‘หิวแสง’: ทำไมมนุษย์บางคนจึงหิวโหยความสนใจจากผู้อื่น โดย Tomorn Sookprecha https://thematter.co/thinkers/spotlight-effect/128461
6. https://www.washingtonpost.com/news/morning-mix/wp/2018/08/06/patients-are-desperate-to-resemble-their-doctored-selfies-plastic-surgeons-alarmed-by-snapchat-dysmorphia/
7. https://today.line.me/th/v2/article/jENDw3
8. https://www.ined.fr/en/everything_about_population/demographic-facts-sheets/faq/more-men-or-women-in-the-world/
ภาพประกอบ