กรรมการป.ป.ช. ‘สุภา ปิยะจิตติ’ ชี้พรรคการเมืองยังออกนโยบายวนเวียน ไม่เคยบอกว่าจริงใจหรือไฟไหม้ฟาง ยกกรณี PM2.5 - ปุ๋ยอินทรีย์ ไร้คนทำ ก่อนตั้งข้อสงสัยทำไมนักการเมืองถือครองที่ดินต่างๆเยอะ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ คอนเวนชั่นแจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่และสร้างการตระหนักรู้ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองนโยบายโปร่งใส รองรับการเลือกตั้งในปี 2566
@กรรมการ ป.ป.ช.สะท้อนไม่มีนโบายเพื่อประชาชนจริง
นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานเปิดการประชุม กล่าวตอนหนึ่งว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมา พบเจอแต่พรรคการเมืองหาเสียงนโยบายพรรควนเวียนๆ แต่ไม่มีใครบอกว่าตัวแปรชี้วัดต่างๆมีความจริงใจ หรือแค่ไฟไหม้ฟาง
ในความคิดเห็นส่วนตัว นโยบายที่ดีคือ นโยบายที่ต้องสร้างความยั่งยืนให้ประชาชน สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ เพราะฉะนั้น จะทำให้อย่างไรให้ประชาชนเห็น มีสายตายาวที่จะเห็นว่า พรรคการเมืองมีนโยบายที่ดีกับประชาชนและประเทศชาติ อย่างเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ว่าพรรคใดถูกผลกระทบหมด แต่ไม่มีใครทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราว แม้บางกลุ่มมองเป็นยาขม แต่คนทั้งประเทศจะได้ประโยชน์ หรือนโยบายการใช้ปุ๋ย ปุ๋ยอินทรีย์เป็นนโยบายที่ยั่งยืน เพราะเป็นการเอาขยะ เศษต่างๆแปลงเป็นปุ๋ยได้ ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และทำให้เนื้อดินอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น
แต่เท่าที่นั่งดูนโยบายแต่ละพรรคที่ผ่านๆมา มีนโยบายที่ดีบ้าง เช่น นโยบายเงินผันในสมัยของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งทำให้รัฐบาลได้งานตามแผน และสร้างงานให้ประชาชน แม้ว่าจะมีตกหล่นอะไรไปบ้าง แต่โดยรวมถือเป็นนโยบายที่ดี
@กาพรรคที่ทำนโยบายยาขม
ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. ทำกลไกตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป.การป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 เป็นการทำให้ประชาชนเห็นว่านโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงเชื่อได้ไหม? ซื่อสัตย์กับประชาชนไหม? สร้างภาระให้กับประเทศไหม? สร้างความยั่งยืนให้ประเทศหรือไม่? เกณฑ์ชี้วัดเป็นความพยายามที่จะสะท้อนว่า พรรคการเมืองที่ดำเนินการนโยบายสาธารณะ เป็นไปเพื่อประชาชนแท้ๆหรือไม่ วันเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์คุณภาพพรรคว่า จริงใจกับประชาชนหรือไม่ หากพรรคการเมืองยังทำนโยบายแบบเพื่อกลุ่มหรือบุคคลใด ต้องเลิกกา เลิกให้คะแนนเสียง แต่หากทำนโยบายแบบยาขม แต่ลูกหลานอยู่ดีกินดี ขอให้กาพรรคนั้นดีกว่า
@อัดนักการเมืองถือครองที่ดินเพียบ
ช่วงท้าย นางสาวสุภาตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารที่ดินของประเทศ หากไปดูจะพบว่า สมาชิกแต่ละคนของพรรคการเมืองถือครองที่ดินในเขต สปก. รุกล้ำเขตป่าสงวนเป็นว่าเล่น แต่ไม่มีใครทำอะไร ฮั้วกันหรือไม่ น่าสงสัย และหากพรรคยังไม่ตระหนักถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ยังหาผลประโยชน์ให้กลุ่มตัวเอง ก็เดือดร้อนทั้งประเทศ ดังนั้น ป.ป.ช.จึงต้องทำเครื่องมือตัวแปรวิเคราะห์นโยบายต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเลือกคนที่ใช่
“บางนโยบายเห็นชัดว่า แจกเงิน ถามว่าแจกเงินแล้วประชาชนยั่งยืนไหม ก็ไม่ แถมสร้างภาระหนี้ สร้างอาชีพก็มี แต่ก็เพียงนิดหน่อย มันเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องวิเคราะห์ว่า พรรคการเมืองพวกนี้สมควรเป็นรัฐบาลหรือไม่? ในฐานะประชาชนที่มีหนึ่งเสียง คิดว่าหนึ่งเสียงของทุกคนสำคัญยิ่ง และตัวแปรชี้วัดที่ ป.ป.ช.ดำเนินการนี้จะช่วยได้” นางสาวสุภาปิดท้าย
ที่มาภาพ: ป.ป.ช.