"...เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะชะลอตัว เป็นปัจจัยกดดันความต้องการซื้อ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนและเอเชียคาดว่าจะโตดีกว่าปี 65 ซึ่งยังพยุงกำลังซื้อได้ส่วนหนึ่ง..."
สองแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจภาคใต้คงหนีไม่พ้นภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตร ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าภาคการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัวจึงจะเป็นแรงผลักให้เศรษฐกิจภาคใต้ดีขึ้นได้ แต่สำหรับภาคเกษตรที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น การทราบถึงทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญ จะทำให้เห็นถึงแนวโน้มรายได้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นกำลังซื้อก้อนสำคัญที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2566 ต่อไป
ทำความรู้จักสินค้าเกษตรในภาคใต้
- เกือบทุกจังหวัดในภาคใต้พึ่งพาภาคเกษตรสูง โดยมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของมูลค่าเศรษฐกิจ มีเพียงภูเก็ต และสงขลาที่พึ่งพาไม่มาก อยู่ที่ 7% และ 12% ตามลำดับ
- สินค้าเกษตรหลักดั้งเดิมในภาคใต้ ได้แก่ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน มีการกระจายปลูกทั่วทั้งภาค ขณะที่ทุเรียนยังกระจุกตัวอยู่ในชุมพรเป็นหลัก และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ปัจจัยท้าทายทิศทางราคาสินค้าเกษตรในปี 2566
- เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะชะลอตัว เป็นปัจจัยกดดันความต้องการซื้อ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนและเอเชียคาดว่าจะโตดีกว่าปี 65 ซึ่งยังพยุงกำลังซื้อได้ส่วนหนึ่ง
- ภาพรวมสภาพอากาศในปีนี้กลับมาเป็นปกติ แต่ช่วงปลายปีต้องระวัง เพราะอาจเจอภาวะแล้งหรืออากาศร้อนกว่าปกติได้ ทั้งนี้ ปริมาณน้ำฝนที่มากในปีก่อนซึ่งทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อาจทำให้ราคาลดลงได้
- ราคาน้ำมันปรับลดลงจากปีก่อน แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงช่วยพยุงราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน แต่อีกด้านหนึ่งทำให้ต้นทุนเกษตรกรยังสูงอยู่ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง
- ราคาปุ๋ยปรับลดลงจากปีก่อน แต่ยังแพง เกษตรกรจึงยังคงมีต้นทุนสูง เกษตรกรบางส่วนที่ลดการใส่ปุ๋ย อาจเจอกับผลผลิตต่อไร่ (yield) ที่ลดลง ทำให้กำไรน้อยลงได้
ทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญของภาคใต้แต่ละชนิดจะเป็นอย่างไร
1) ยางพารา ราคามีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ตามความต้องการที่ลดลง
- ผลผลิตของโลกและไทยยังถูกกระทบจากโรคใบร่วง จึงเป็นปัจจัยพยุงราคา
- ความต้องการล้อยาง (70% ของการใช้ยางพารา) คาดว่าชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ
ปัจจัยที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ คือ การเปิดประเทศของจีน ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด
ปัจจัยที่ทำให้ราคาลดลงได้ คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทำให้ความต้องการลดลงมากกว่าคาด
2) ปาล์มน้ำมัน ราคามีแนวโน้มลดลง ตามผลผลิตปาล์มที่เพิ่มขึ้น โอกาสที่ราคาจะกลับไปเท่าช่วงครึ่งแรกของปี 65 มีน้อย
- ทั้งผลผลิตโลกและไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามพื้นที่ปลูก และปริมาณน้ำฝนที่มากในปีก่อน
- ราคาในปีก่อนสูงเป็นประวัติการณ์ จากวิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียใน เม.ย.-พ.ค. 65
ปัจจัยที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ คือ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่รุนแรงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ รวมถึงปาล์มเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ราคาลดลงได้ คือ ร่างกฎหมาย Deforestation-free law ของยุโรป อาจทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มลดลง
3) ทุเรียน ราคามีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
- การแข่งขันสูงขึ้น เวียดนามซึ่งมีผลผลิตมากราวครึ่งหนึ่งของไทยได้ใบอนุญาตส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้ว เมื่อ ก.ค. 65 และมีจุดแข็งเรื่องระยะเวลาขนส่งที่สั้นกว่าไทย
- ผลผลิตไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากการขยายพื้นที่ปลูกในสามปีก่อน (เป็นช่วงที่ราคาสูง) ซึ่งจะเริ่มให้ผลผลิตในปีนี้
ปัจจัยที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ คือ การเปิดประเทศของจีน ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด แต่ราคาอาจปรับเพิ่มไม่มาก จากการแข่งขันที่สูงขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ราคาลดลงได้ คือ การแข่งขันจากประเทศคู่แข่งอื่น เช่น ฟิลิปปินส์ ที่เพิ่งได้ใบอนุญาตส่งออกทุเรียนสดไปจีน นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่น อาทิ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา ที่รอใบอนุญาต
4) กุ้งขาว ราคามีแนวโน้มใกล้เคียงปีก่อน
- ผลผลิตไทยยังไม่มากเท่าภาวะปกติ จากโรคระบาดในกุ้งที่ยังคงรุนแรง
- ความต้องการบริโภคกุ้งมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงยังเป็นปัจจัยกดดันราคา
ปัจจัยที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ คือ การเปิดประเทศของจีน ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด แต่ราคาอาจปรับเพิ่มไม่มาก เพราะจีนไม่ใช่ตลาดใหญ่ที่สุด
ปัจจัยที่ทำให้ราคาลดลงได้ คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด ทำให้ความต้องการลดลงมากกว่าคาด
จากที่เล่ามาทั้งหมด จะเห็นว่าทิศทางราคาสินค้าเกษตรสำคัญในภาคใต้มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ความต้องการลดลง หรือผลพวงของฝนที่ตกมากในปีก่อน ทำให้บางสินค้ามีผลผลิตมากขึ้น ราคาจึงอาจลดลงตามมาได้ เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ราคาสินค้าเกษตรสำคัญในภาคใต้จะปรับเพิ่มขึ้นไม่ได้ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะจีนที่เพิ่งเปิดประเทศว่าจะทำให้ความต้องการในหลายสินค้าดีขึ้นได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น จะเห็นได้ว่าราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวน และเพื่อที่จะรับมือในเรื่องนี้ อาจต้องมาดูแลเรื่องของผลผลิตมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับรายได้ครัวเรือนเกษตรกร เช่น การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (yield) โดยเฉพาะในยางพาราและปาล์มน้ำมัน การรักษาคุณภาพผลผลิตทุเรียน รวมถึงการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการรักษาโรคในกุ้งขาว เป็นต้น
กฤตยา ตรีวรรณไชย, ณิชมล ปัญญาวชิโรกุล, ปิติยาธร พิลาออน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้