‘ศักดิ์สยาม’ เปิดใจ ‘อิศรา’ 4 เดือนสุดท้ายรัฐประยุทธ์ 2 ‘คมนาคม’ จัดคิวเต็มคาราเบล 6 โปรเจกต์ ดันผ่าน ครม. ก่อนหมดวาระ มี.ค. 66 ‘สายสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทาง’ ‘แผนแลนด์บริดจ์’ ‘มอเตอร์เวย์บางปะอิน’ ‘EV-BRT ภูเก็ต’ ‘ทางด่วนภูเก็ต’ ‘โอน 3 สนามบินภูธร’
หากว่ากันตามปฏิทินที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ชัดเจนว่าอายุของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กลับมารั้งบัลลังก์นายกรัฐมนตรีรอบ 2 จากการเป็นแคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐ
หากไม่มีการยุบสภาตามที่กำลังลือเซ็งแซ่กันขณะนี้ รัฐบาลนี้ก็จะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งนับนิ้วแล้วเหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือนเท่านั้น
แต่จากบรรยากาศอึมครึม ไม่แน่ไม่นอนทางการเมืองว่าจะยุบสภาหลังการประชุมเอเปกหรือไม่ ก็ส่งผลให้ตลาดซื้อขายนักการเมืองในช่วงนี้คึกคัก มีพรรคใหม่เกิดขึ้น มีการควบรวมพรรค นักการเมืองวิ่งย้ายสลับขั้วกันมโหฬาร
อีกฉากทัศน์หนึ่งนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ที่คั่วตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคนก็กำลังเร่งทำผลงานช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อซื้อใจประชาชนให้ได้มากที่สุด หนึ่งในนั้นก็ไม่พ้น ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยและในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สนทนากับ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ ถึงแผนงานและโครงการที่จะเร่งดำเนินการในช่วงโค้งสุดท้าย 4 เดือนนี้
@ชง ครม. เคาะส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง
นายศักดิ์สยาม เริ่มต้นว่า ในช่วงปลายยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แผนงานที่คาดว่าจะสามารถผลักดันได้ในช่วงปลายปี 2565 คือ โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 3 เส้นทาง วงเงินรวม 21,833.32 ล้านบาท ประกอบด้วย สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท ซึ่งในวงเงินนี้รวมการก่อสร้างสถานีในช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน 3 สถานี ได้แก่ สถานีสะพานพระราม 6 สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี
สถานะของโครงการนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้อนุมัติการปรับกรอบวงเงินของทั้ง 3 สายทางเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ได้เสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคม โดยผู้เกี่ยวข้องกำลังสรุปข้อมูล เพื่อให้ตนได้พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการปรับกรอบวงเงินดังกล่าว โดยน่าจะเสนอ ครม.พิจารณาภายในปี 2565 นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการปรับกรอบวงเงินของทั้ง 3 สายทางเกิดจากนโยบายของนายศักดิ์สยามที่ให้ รฟท. ไปศึกษาการทำโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) ซึ่งผลการศึกษาให้ รฟท. เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านโยธา งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนงานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า งานให้บริการด้านการเดินรถพร้อมบำรุง และชดเชยค่าขบวนรถไฟฟ้าที่รัฐได้จัดซื้อไปใช้แล้วในช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน และบางซื่อ - รังสิต วงเงิน 5,624 ล้านบาท
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ปรับกรอบวงเงินมาจากการนำเนื้องานด้านระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และด้านการจัดหาตู้รถไฟฟ้าออก มีเพียงสายบางซื่อ - ตลิ่งชันเท่านั้นที่เพิ่มวงเงินประมาณ 470 ล้านบาท เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาที่อ่อนตัวลง ราคาเหล็ก ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างที่สำคัญเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น จาก 30 บาทต่อลิตรเป็น 35 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มเกือบ 20%
ที่มาภาพ: ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม
@พิมพ์เขียว ‘แลนด์บริดจ์’ ชงครม. ปลายปี 65
แผนงานที่ 2 กับการพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ จากที่ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษา วงเงิน 68 ล้านบาท เมื่อต้นปี 2564 ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาเสร็จแล้ว และได้ส่งรายงานดังกล่าวมาถึงมือเรียบร้อย
ทั้งนี้ ตนได้คอมเมนต์กลับไปว่า ควรให้ศึกษาในสิ่งที่ทำได้จริง และตัวเลข วงเงินต่างๆต้องสะท้อนความเป็นจริง เพราะโครงการนี้จะถูกเปรียบเทียบกับโครงการของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ที่กำลังดำเนินโครงการท่าเรือตูอัส ซึ่งทางกระทรวงเองก็ได้ไปเยี่ยมชมาแล้ว โดยเฉพาะเงื่อนไขการก่อสร้างที่ตสิงคโปร์สามารถถมทะเลได้จบภายใน 3 ปีได้ แล้วทำไมประเทศไทยจะทำไม่ได้ อายุสัมปทานเองควรผนวกเอาช่วงระยะเวลาที่กำลังก่อสร้างรวมไปด้วย เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการทำงาน
โดยประเด็นนี้ได้ให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เข้ามาช่วยดูในรายละเอียด ซึ่งตัวเลขและต้นทุนต่างๆยังแพงไปหน่อย โดยท่าเรือตูอัสของประเทศสิงคโปร์ สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆอยู่ภายในท่าทั้งหมด เป็นการรวมสิ่งที่ต้องใช้ไว้ทั้งหมด ส่วนการให้บริการกับประชาชนและเอกชน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งทำตามมาได้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568
ส่วนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) คาดว่าจะผลักดันในรัฐบาลถัดไป หากแลนด์บริดจ์สำเร็จ จะทำให้นโยบาย EEC ของรัฐบาลสำเร็จด้วย เพราะการพัฒนาปัจจุบันก็ยังไม่เต็มเฟส หากมีแลนด์บริดจ์ช่วย ก็เป็นการเติมเต็มด้านการขนส่งสินค้า
ขณะที่รูปแบบการลงทุน เบื้องต้นวางไว้ว่า จะไม่เหมือนกับที่กำลังพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในตอนนี้ ที่มองเอาไว้คือ จะให้เอกชนไปรวมกลุ่มในลักษณะกิจการร่วมค้ากันมาให้เวร็จแต่แรก แล้วค่อยเข้ามาประมูลโครงการ กำหนดให้ใช้วัสดุอุปรกรร์และผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (Thai First) 30% ต้องมีบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างและบริหารท่าเรือ มีสายการเดินเรือของตัวเอง และมีแหล่งเงินทุนชัดเจน รวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมด้วย ต้องมีเรื่องพวกนี้มาให้พร้อมทั้งหมด
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอแผนการพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามันให้ ครม. เห็นชอบในหลักการในช่วงปลายปี 2565
@สั่ง ‘ทางหลวง’ จบปัญหางานงอก ‘มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช’
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ขณะที่ปัญหาวงเงินในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นในโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครราชสีมา จำนวน 16 สัญญา วงเงินประมาณ 6,700 ล้านบาทนั้น ล่าสุด ได้สั่งการนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการไปสรุปว่า สัญญาใดที่เริ่มงานก่อสร้างไปแล้ว และสัญญาใดที่ยังไม่เริ่มงาน โดยให้แยกเอาสัญญาที่ยังไม่เริ่มงานมารวมกัน เพื่อเสนอ ครม. เห็นชอบในการปรับเพิ่มวงเงินของแต่ละสัญญา ส่วนสัญญาที่เริ่มงานไปแล้ว ก็ให้เอกชนไปดำเนินการฟ้องศาลเอา เพราะตามกฎหมายไม่สามารถจ่ายค่างานที่เพิ่มขึ้นให้กับสัญญาที่เริ่มงานไปแล้วได้
@สั่ง รฟม. เพิ่มโจทย์ ‘รถเมล์ไฟฟ้าภูเก็ต’ ตอบกลับใน พ.ย.นี้
ขณะที่แผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาค นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ตอนนี้จะนำร่องกันที่ จ.ภูเก็ตก่อน จากเดิมที่ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างระบบรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยล้อเหล็ก (Trams) กับระบบขับเคลื่อนด้วยล้อยาง (ART) ตอนนี้เห็นว่าควรจะเพิ่มอีก 1 ระบบให้ไปศึกษาคือ ระบบรถเมล์ไฟฟ้าด่วนพิเศษ (EV-Bus Rapid Transit) หรือ EV-BRT รูปแบบคล้ายกับรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit) หรือ BRT ของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
โดยให้ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านการขนส่ง และนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปร่วมกันหารือว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ส่วนแนวเส้นทางก็จะใช้แนวเส้นทางเดิมที่วางไว้คือช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง หากเห็นชอบกันในแนวทางนี้ ก็จะให้กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำกับดูแลและอนุมัติเส้นทางเดินรถเหมือนที่กำกับดูแลเส้นทางรถเมล์ในกรุงเทพฯ - ปริมณฑลขณะนี้นั่นเอง ซึ่งการเสนอตัวเลือกนี้ เพราะเห็นว่าลงทุนไม่สูงมากเมื่อเทียบกับอีก 2 ระบบที่ต้องใช้เงินลงทุนระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป
ส่วนแผนการดำเนินการที่มองเอาไว้คือ EV-BRT นี้จะวิ่งบนเส้นทางพิเศษ มีรั้วกั้นทางไม่ให้รถชนิดอื่นเข้ามาใช้ทางโดยเด็ดขาด ซึ่งถนนในจ.ภูเก็ตเป็นของกรมทางหลวง (ทล.) อยุ่แล้ว สามารถประสานขอใช้พื้นที่สำหรับปรับปรุงถนน สร้างรั้ว และทำป้ายรถเมล์ได้ แต่การจะทำ EV-BRT เต็มรูปแบบนี้ ด้านหนึ่งอาจจะทำให้ปริมาณจราจรในจ.ภูเก็ตติดขัดได้ ดังนั้น ในความคิดของตนควรจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางถนนให้ครบก่อน โดยเฉพาะโครงการทางด่วนสายเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กะทู้ ระยะทางประมาณ 30 กม.ที่เป็นแผนต่อขยายของทางด่วนกะทู้ - ป่าตอง มีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นเจ้าของโครงการ
ทั้งนี้ ตนให้เวลา รฟม. เอาโจทย์นี้ไปศึกษาความเป็นไปได้และรายงานกลับมาภายในสิ้นเดือน พ.ย. 2565 นี้ จะได้ลงพื้นที่ไปคุยกับประชาชนใน จ.ภูเก็ต และจะได้เป็นโมเดลในจังหวัดอื่นๆด้วย
แบบจำลองรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Tram) จ.ภูเก็ต ภาพจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
แบบจำลองรถเมล์ ART จากต่างประเทศ ภาพจาก: สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
ตัวอย่างรถเมล์ไฟฟ้าแบบ BRT ภาพจากเว็บไซต์ วอลโล่
@ด่วนกะทู้-ป่าตอง เอกชนคิดหนัก ลงทุนสูง ผลตอบแทนน้อย
เมื่อถามถึงอีกโครงการในจ.ภูเก็ต คือ ทางด่วนกะทู้ - ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงินลงทุน 14,670.57 ล้านบาท หลังจากผ่านมติ ครม.ให้ดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค. 2565 มีความคืบหน้าอย่างไรบ้างแล้วนั้น นายศักดิ์สยาม ระบุว่า อยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำรูปแบบการลงทุนในแนวทางให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) โดยกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) แต่เท่าที่รับทราบจาก กทพ. มีกระแสว่าเอกชนยังไม่ค่อยสนใจ เพราะผลตอบแทนต่ำ อีกทั้งปริมาณจราจรที่จะมาใช้งานก็ดูไม่เยอะ หากเทียบกับปริมาณจราจรทางด่วนในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนจะขยายไปเมืองใหม่ - เกาะแก้วให้ยาวขึ้นหรือไม่ ก็กำลังคิดกันอยู่ ซึ่งในสิ้นเดือน พ.ย.นี้ ก็ให้เอามารายงานพร้อมกับ EV-BRT
@โอน 3 สนามบิน อยู่ในมือกรมธนารักษ์ ชงครม.ต้นปี 66
ขณะที่งานด้านอากาศ แผนงานให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์และท่าอากาศยานกระบี่ ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ความคืบหน้าอยู่ระหว่างที่กรมธนารักษ์กำลังพิจาณา เพราะสิ่งที่กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ศึกษาเพิ่มเติมได้ดำเนินการทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อกรมธนารักษ์พิจารณาอัตราค่าเช่าและค่าใช้จ่ายต่างๆในการรับโอนสนามบินทั้ง 3 แห่ง แล้วเสร็จจะต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม. รับทราบอีกครั้ง คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ภายในต้นปี 2566
นอกจากนี้ ได้หารือกับนายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้คำแนะนำไปว่า อย่าคิดว่า ทย. จะต้องบริหารสนามบินทั้งหมด กำลังของหน่วยงานเราน้อย และอนาคตหากมีสนามบินที่มีศักยภาพเป็น International Airport ต่างจังหวัดมันจะเกิด และความคับคั่งในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิจะลดลง
นี่คือแผนงานต่างๆที่ต่อจากนี้ 4 เดือน กระทรวงคมนาคจะเร่งผลักดัน ต้องมาตามกันต่อว่าจะผลักดันได้จริง หรือเป็นการวาดวิมานในอากาศ เพื่อดึงไปหาเสียงต่อในสมัยหน้า ก็ต้องติดต่อกันต่อไป
ภาพปก: ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม
อ่านประกอบ