สำรวจ 5 โปรเจกต์สำคัญเชื่อมไทย-ลาวทั้ง ‘สะพาน-ถนน-ทางรถไฟ’ วงเงินรวม 8,615.237 ล้านบาท แบ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ และศึกษาเพิ่ม 2 โครงการ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กำลังจะเข้าสู่ขวบปีที่ 72 ซึ่งนับตั้งแต่ประเทศลาว เปิดใช้ทางรถไฟลาว-จีน ช่วงเวียงจันทน์ - บ่อเต็น ระยะทาง 600 กม. เมื่อปลายปี 2564 เป็นต้นมา ก็ทำให้เป็นประเทศที่หลายคนจับตามองและไม่อยากตกขบวน รวมถึงไทยด้วย
โดยฝั่งประเทศไทย ก็เตรียมโครงการเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากภูมิภาคอาเซียน ไปถึงประเทศจีน ซึ่งวันนี้ (28 ต.ค. 2565) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเดินทางไปเป็นประธานร่วมกับ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ)
นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 5 โครงการ ที่จะเสริมการเดินทางในภูมิภาคและทำให้การขนส่งสะดวกง่ายดายขึ้น อันนำไปสู่การบูมเศรษฐกิจในย่านนี้ในที่สุด
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูล 5 โครงการดังกล่าว ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 8,615.237 ล้านบาท อ้างอิงจากเว็บไซต์ของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. ซึ่งมีชื่อว่า ‘เนด้า’ อันเป็นหน่วยงานที่ปล่อยเงินกู้บางส่วนช่วยเหลือในการสนับสนุนโครงการต่างๆ มานำเสนอ ณ ที่นี้
@สะพานบึงกาฬ - บอลิคำไซ คืบแล้ว 60% เปิดใช้ปี 67
เริ่มต้นกับโครงการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระยะทาง 16.18 กม. วงเงิน 4,010.067 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 2,630 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 77 ล้านบาท) ส่วนฝั่ง สปป.ลาว มีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 1,380.067 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบาท/ค่าที่ปรึกษา 44 ล้านบาท/ค่าบริหารจัดการ 15 ล้านบาท/ค่าเผื่อเหลือเผิ่อขาด 63 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2.067 ล้านบาท)
ในส้วนของความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 แบ่งงานก่อสร้างฝั่งประเทศไทย คืบหน้าแล้ว 60% ส่วนความคืบหน้าฝั่ง สปป.ลาว คืบหน้าแแล้ว 57.37% เร็วกว่าแผนที่ต้องคืบหน้า 56.33% คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในปี 2567 โดยในรายละเอียดเนื้องานฝั่ง สปป.ลาว แบ่งได้ 2 สัญญา ดังนี้
สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่ง สปป.ลาว วงเงิน 476 ล้านบาท มี บจ.นภาก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าก่อสร้างอยู่ที่ 43.22% เนื้องานคือ งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่นาโขง (บึงกาฬ – บอลิคาไซ) 405 เมตร (แบ่งครึ่งกับ ฝ่ายไทยแล้ว) รูปแบบงานสะพานเป็นแบบ Extra-dosed Prestressed Concrete และโครงสร้างเชิงลาดในฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 130 เมตร วันเริ่มต้นสัญญา 4 ม.ค. 2564 วันสิ้นสุดสัญญา 3 ม.ค. 2567
สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างถนนและอาคารด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว มีกลุ่มบจ. สระหลวงก่อสร้าง ร่วมกับ Advance International Engineering Construction Sole Co., Ltd. เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าก่อสร้างอยู่ที่ 64.31% เนื้องานคือ 1. งานก่อสร้างถนนระยะทาง 2.86 กม. เป็นถนน 4 ช่องจราจร มีความกว้างช่องจราจร 3.50 เมตร จุดสลับทิศทางจราจรในฝั่ง สปป.ลาว รวมระบบงานระบายน้ำและระบบ ไฟฟ้าแสงสว่าง และ 2. งานอาคารด่านพรมแดนก่อสร้างตามมาตรฐานสากลประกอบด้วย 2 ส่วน แยกทางเข้า ออกจากกัน คือ กลุ่มอาคารสาหรับตรวจผู้โดยสารและกลุ่มอาคารสำหรับตรวจสินค้า พร้อมองค์ประกอบอื่นๆ อาทิ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสาร วันเริ่มต้นสัญญา 4 ม.ค. 2564 วันสิ้นสุดสัญญา 3 ก.ค. 2566
ความคืบหน้างานก่อสร้าง ภาพจากกรมทางหลวง
ภาพงานก่อสร้างอีกมุมหนึ่ง ภาพจากกรมทางหลวง
แนวเส้นทาง เริ่มต้นที่ ช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 บนพื้นที่ ต.วิศิษฐ์ ต.ไดสี และ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ ฝั่งประเทศไทย มุ่งไปทางทิศตะวันตกเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง มุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิมและตัดกับทางหลวงชนบทหมายเลข บก. 3013 เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพรมแดนฝั่งไทย และยกข้ามทางหลวงหมายเลข 212 ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง 200 เมตร จากนั้นจะข้ามแม่น้ำโขงผ่านจุดสลับทิศทาง จราจร และด่านพรมแดนฝั่ง สปป.ลาว สิ้นสุดโครงการบนทางหลวงหมายเลข 13
แบบจำลองสะพานเมื่อสร้างเสร็จ ภาพจากกรมทางหลวง
@รถไฟ ‘ท่านาแล้ง - เวียงจันทน์’ เสร็จ 100% แล้ว
โครงการที่ 2 โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะทาง 7.5 กม. วงเงิน 994.68 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 883.52 ล้านบาท/ค่าที่ปรึกษา 48.17 ล้านบาท/ค่าบริหารจัดการ 12 ล้านบาท/ค่าเผื้อเหลือเผื่อขาด 50.985 ล้านบาท) มีกรมทางรถไฟ สปป.ลาว เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และมี บจ.เสริมสงวนก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง
โดยทางรถไฟสายนี้ เป็นรถไฟที่เชื่อมต่อจากทางรถไฟช่วงหนองคาย - ท่านาแล้ง ความคืบหน้า ณ เดือนกันยายน 2565 เสร็จแล้ว 100% เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565
แนวเส้นทางรถไฟ ที่มาภาพ: สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ กับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน)
@พัฒนาถนนเชื่อม ‘ภู่ดู่-เวียงจันทน์’ คืบ 83%
โครงการที่ 3 เป็นโครงการใน สปป.ลาว คือ โครงการพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ-บ้านโนนสะหวัน-สานะคาม-บ้านวัง-บ้านน้ำสัง ระยะทาง 124 กม. วงเงิน 1,826.5 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1,673 ล้านบาท/ค่าที่ปรึกษา 50.2 ล้านบาท/ค่าบริหารจัดการ 17 ล้านบาท/ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 83.56 ล้านบาท/ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2.736 ล้านบาท ) โครงการนี้มี กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) สปป. ลาว เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งในอนาคตวางไว้เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อในโครงการแนวระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่ –เวียงจันทน์ (Chiangmai - Vientiane Economic Corridor: CVEC)
ความคืบหน้า ณ เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 83.55% เนื้องานประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 วงเงิน 850 ล้านบาท มี บจ.ประยูรชัย (1984) เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าอยู่ที่ 74.66% งานก่อสร้างประกอบด้วย ทางหลัก ช่วงบ้านน้ำสัง-บ้านวัง-บ้านดอนเฮี่ยง-บ้านโนนสะหวัน กม. ที่ 0+000 – กม. ที่ 59+300 ระยะทาง 60 กม., สร้างทางแยก ช่วงบ้านโนนสะหวัน-เมืองสานะคาม กม. ที่ 0+000 – กม. ที่ 17+600 ระยะทางประมาณ 18 กม. และซ่อมแซมถนน R11ฯ ช่วงบ้านตาดทองฯ กม. ที่ 29 ประมาณ 150 เมตร ระยะเวลาสัญญา 36 เดือน (15 ตุลาคม 2562 - 14 ตุลาคม 2565)
และสัญญาที่ 2 วงเงิน 823 ล้านบาท มี บจ.ส.เขมราฐอินดัสตรี ร่วมกับบริษัท Thavexok Development Group Sole Co., LTD. เป็นผู้รับจ้าง ความคืบหน้าอยู่ที่ 92.5% งานก่อสร้างประกอบด้วย ทางหลัก ช่วงบ้านโนนสะหวัน-ครกข้าวดอ กม. ที่ 59+300 – กม. ที่ 104+989 ระยะทางประมาณ 46 กม. ระยะเวลาสัญญา 36 เดือน (15 ตุลาคม 2562 - 14 ตุลาคม 2565)
แนวเส้นทาง ถ.หมายเลข 11 (R11) ช่วงครกข้าวดอ-บ้านโนนสะหวัน-สานะคาม-บ้านวัง-บ้านน้ำสัง ที่มาภาพ: สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ กับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน)
@แย้ม 2 โครงการ จ่อขอกู้ สพพ. ทำต่อ
ขณะเดียวกัน ยังมีอีก 2 โครงการที่กำลังศึกษาและกำลังจะขอพิจารณาเงินกู้จากทาง สพพ. ประกอบด้วย
1. โครงการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาเส้นทาง หมายเลข (R12) ช่วงเมืองท่าแขก - จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป.ลาว ระยะทาง 147 กม. วงเงินโครงการประมาณ 1,760 ล้านบาท มีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งของ สปป.ลาว เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานะปัจจุบัน ศึกษาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างที่กระทรวงการเงิน สปป.ลาว ทำคำขออย่างเป็นทางการ (Formal Request) มายัง สพพ. ขณะนี้สพพ.อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการนำเสนอ คณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (คพพ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางการเจรจาเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ ภายในเดือนต.ค. 2565
แนวเส้นทาง เริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม ประมาณ17 กม. ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวละพา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป.ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนสากลจาลอ เมืองกวางบิงห์ (Quang Binh Province) ประเทศเวียดนาม
แนวเส้นทางเบื้องต้น โครงการพัฒนาเส้นทาง หมายเลข (R12) ช่วงเมืองท่าแขก - จุดผ่านแดนนาเพ้า ที่มาภาพ: สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ กับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน)
และ 2. โครงการก่อสร้างสะพานเชียงแมน –หลวงพระบาง สปป.ลาว วงเงินศึกษา 23.99 ล้านบาท มีกรมขัวทาง กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ
สถานะปัจจุบัน อยู่ระหว่างออกแบบในรายละเอียดงานก่อสร้าง เพื่อจัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประมาณราคาค่าก่อสร้างของโครงการ และศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสังคม เป็นการทบทวนผลการศึกษา รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม การจราจรและการขนส่ง ประเมินความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า ผลประโยชน์ ผลกระทบของโครงการ แนวทางการพัฒนาเส้นทาง และการคาดการณ์ปริมาณการจราจร รวมถึงประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดการปฏิบัติงาน วันที่ 27 ก.พ. 2566
แนวเส้นทางเบื้องต้น ก่อสร้างถนน 2 ช่องจราจร และสะพานข้ามแม่นาโขงเชียงแมน–หลวงพระบาง เพื่อเชื่อมต่อระหว่างถนนจากเมืองหงสา – บ้านเชียงแมน กับถนนหมายเลข 13 ระยะทางยังไม่แน่ชัด
แนวเส้นทางเบื้องต้น สะพานเชียงแมน –หลวงพระบาง ที่มาภาพ: สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ กับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน)
เหล่านี้ คือ 5 โครงการ ที่รัฐบาลไทย-ลาว ‘ผูกเสี่ยว’ไว้ เพื่อเสริมแกร่งการไปมาหาสู่ระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นจริงหรือไม่ และจะยังผลให้การค้าขายในภูมิภาคกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ผลการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลกว่า 8,615.237 ล้านบาทดังกล่าว จะประสบความสำเร็จตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งใจไว้มากน้อยเพียงใด ต้องติดตามดูกัน ต่อไป