"...ต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งพลเอกประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามความในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 และเมื่อนับ รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 พลเอกประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียังไม่ครบตามระยะเวลาในรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่..."
กรณีศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดีความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ว่าให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ยังไม่ครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
โดยการพิจารณาตัดสินคดีนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 6 เสียงต่อ 3 เสียง ที่ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
เสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
ส่วนอีก 3 เสียงข้างน้อย ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำวินิจฉัยส่วนตนของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ,นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ ที่เห็นควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- คดี 8 ปีประยุทธ์ คำวินิจฉัย 'นครินทร์' : การผูกขาดอำนาจ อาจก่อให้เกิดวิกฤต-การทุจริต
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ :เปิดคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย ‘ทวีเกียรติ' ไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจ!
- คดี 8 ปี ประยุทธ์:คำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย‘นภดล'ให้นับเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯตามความเป็นจริง
ต่อไปนี้ เป็นคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ในส่วนของ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่า การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งพลเอกประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามความในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 และเมื่อนับ รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 พลเอกประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียังไม่ครบตามระยะเวลาในรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จึงไม่สิ้นสุด
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประเด็นวินิจฉัย
ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
ความเห็น
ข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศและประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 สิ้นสุดลง ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 หลังจากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 19 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
โดยมาตรา 19 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 35 คนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินดำเนินการให้มีการปฏิรูปด้านต่างๆและส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ’
นายก 3 ช่วงเวลา
โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสิ้นสุดลงของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ มาตรา 20 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ’ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งหรือเมื่อมีกรณีตามมาตรา 9 วงเล็บ (1) หรือ (2)’ อันหมายถึงตายหรือลาออก ซึ่งพลเอกประยุทธ์ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 หรือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระยะแรก
ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ประกาศใช้บังคับอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดรูปแบบของรัฐ ประมุขของรัฐ และองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งโดยหลักทั่วไป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 ถูกยกเลิกไปในทันทีที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปรากฏในคำปรารภระบุว่า
“จึงมีพระราชโองการดํารัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ตั้งแต่วันประกาศนี้ จึงมีผลให้กฎเกณฑ์ กติกาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ย่อมเป็นอันสิ้นสุดลงไปนับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560”
แต่เนื่องจากกระบวนการตามรัฐธรรมนูญยังต้องรอการบัญญัติกฎหมายประกอบอีก 10 ฉบับ จึงเริ่มกระบวนการเลือกตั้งซึ่งต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร เพื่อไม่ให้การบริหารราชการแผ่นดินหยุดชะงัก ขาดความต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง จึงต้องมีบทเฉพาะกาลยกเว้นการบังคับใช้บทหลักทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 264 ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปด้วย ทำให้พลเอกประยุทธ์เริ่มต้นเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะเวลาที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นับจากวันประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
ต่อมามีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 9 มิถุนายน 2562 พลเอกประยุทธ์จึงเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะเวลาที่ 3 จนถึงปัจจุบัน
จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่าการนับระยะเวลา 8 ปีของพลเอกประยุทธ์นั้นจะต้องนับตั้งแต่การเป็นรัฐมนตรีในช่วงระยะเวลาแรกหรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีการบัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คณะรัฐมนตรี ที่เคยปฏิบัติหน้าที่ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปเข้ารับหน้าที่ เพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญในช่วงเวลาก่อน และระหว่างวันใช้บังคับรัฐธรรมนูญ มีความต่อเนื่องและเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่หยุดชะงัก ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ดำรงสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปตามบทเฉพาะกาลดังกล่าว
ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามกระบวนการรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งตามประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ 9 มิถุนายน 2562
เมื่อพิจารณา รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เห็นได้ว่า การที่พลเอกประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามประกาศพระบรมราชโองการทั้ง 2 ฉบับ เป็นการได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งที่ต่างกัน
กล่าวคือ ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 35 คนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี
มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปด้านต่างๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ ซึ่งเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติให้พลเอกประยุทธ์ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้รับการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 24 สิงหาคม 2557
แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาและการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามที่ปรากฏในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 และบทหลักในมาตรา 158 และมาตรา 159 ความว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้บริการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 และจากการพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่งให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาและมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 59 วรรคสามต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาและในระหว่างเวลาดังกล่าว
หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88 สมาชิกของทั้งสองสภาจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง โดยให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันโดยพลันและในกรณีที่สภามีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา ให้ยกเว้นได้ให้ดำเนินการต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้จึงเห็นว่ากระบวนการและขั้นตอนในการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ
คำวินิจฉัย ศาลรธน. 5/61-7/62 ใช้อ้างอิงไม่ได้
ส่วนที่ผู้ร้องหรือประธานสภาผู้แทนราษฎรอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 คำวินิจฉัยที่ 7/2562 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เห็นว่า จากคำวินิจฉัยดังกล่าวศาลธรรมนูญได้ใช้บทบัญญัติตามบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 ในการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานการณ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย, หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร และนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ว่ามีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่อย่างไรเพื่อที่จะพิจารณาวินิจฉัยกรณีการกระทำอันเป็นต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 186 และ 187
เห็นว่ากรณีดังกล่าวได้วินิจฉัยสรุปว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 264 เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจนกว่า คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ามารับหน้าที่ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 264 วรรค 2 บัญญัติยกเว้นกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) เฉพาะกรณีตามมาตรา 184 วรรค 1 (1) เท่านั้น
โดยไม่ได้ยกเว้นกรณีตามมาตรา 186 ประกอบ มาตรา 184 วรรค 1 (2) และวรรคสามและมาตรา 187 แต่อย่างใด ดังนั้น รัฐมนตรีซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 และต้องนำรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 และ 187 มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรีดังกล่าวด้วยโดยจะต้องถือเอาวันที่ประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี
ดักคอ กรธ. ให้นับตั้งแต่แรก ควรร่างไว้ใน รธน.ให้ชัด
ส่วนกรณีที่มีการอ้างถึงการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 ลงวันที่ 7 กันยายน 2561 และครั้งที่ 501 ลงวันที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งมีกรรมการร่างฯ บางคนเห็นว่า ควรนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับด้วย ก็เป็นความเห็นของกรรมการบางคนเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมการร่างส่วนใหญ่ อีกทั้ง ไม่ใช่มติของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพียงแต่มีการรับรองบันทึกการประชุมเท่านั้น ทั้งความเห็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
และหากจะให้เกิดความชัดเจนว่า เวลามีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้นับตั้งแต่การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ก็ควรจะบัญญัติให้ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 รวมทั้งบันทึกความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญในมาตรา 158 วรรค 4 ก็มิได้ระบุให้มีการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีว่า เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่เมื่อใด มีการอธิบายในส่วนที่ว่าด้วยการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีอันเป็นการระบุวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะตามธรรมนูญปี 2560 เท่านั้น
ตีความอายุนายกฯ ใช้ รธน.สำคัญ ประเด็นยื่นทรัพย์สิน ป.ป.ช. ปัดตก
และการที่พลเอกประยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช เมื่อคราวได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 ย่อมแสดงให้เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องมีความต่อเนื่อง ระยะเวลาดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกัน
เห็นว่า การกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ คณะกรรมการป.ป.ช. จะต้องยื่นภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขย่อมเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 กำหนด ซึ่งในมาตรา 105 วรรคสี่ ได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่าถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมภายใน 1 เดือนผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้าดำรงตำแหน่งใหม่
ดังนั้น การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อคราวเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 เป็นการได้รับการยกเว้นตามมาตรา 105 วรรค 4 แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องนำข้อยกเว้นดังกล่าวมาใช้ในการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ เพราะการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงรับฟังไม่ได้
และประเด็นที่ว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์สิ้นสุดลงเนื่องจากลงตำแหน่งครบ 8 ปีตามมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรคสี่นั้น แม้มีการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรวตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน แต่ต้องถือว่า ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่ละครั้งนั้นมีที่มาและกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งตามความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคนละฉบับ จึงมีผลทำให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ต่อเนื่องกันตามนัยยะของกฎหมาย
หลักทั่วไปในการบัญญัติกฎหมายเป็นที่ยอมรับทั่วสากลว่า กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีต่อการใช้อํานาจนิติบัญญัติของรัฐ โดยมีหลักการว่า กฎหมายจะใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นในอนาคต นับแต่วันที่ประกาศใช้กฎหมายเป็นต้นไป ในกรณีมีเหตุจำเป็นที่จะให้กฎหมายมีผลย้อนหลัง ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่
ประการแรก ต้องระบุให้ชัดเจนในกฎหมายนั้นว่าให้มีผลย้อนหลัง ตัวอย่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยจำนวนหลายฉบับเช่นพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2558 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2558 และมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกนับสิบฉบับต่างมีบทบัญญัติ ให้อธิการบดีมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ โดยมีบทบัญญัติเฉพาะกาลว่า ให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอยู่ก่อนตามพระราชบัญญัติฉบับก่อนอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ และการนับวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีให้นับรวมวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฉบับก่อนด้วย จึงเป็นบทบัญญัติให้ใช้บังคับมีผลย้อนหลังโดยระบุอย่างชัดเจน
ประการที่ 2 ผลบังคับย้อนหลังที่ระบุไว้ชัดเจนนั้น ต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มิได้มีที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้ รวมเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรค 4 จะต้องบัญญัติไว้โดยชัดเจน
แต่ในกรณีนี้ไม่ปรากฏว่า มีบทบัญญัติมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรค 4 ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับอื่นด้วย มาตรา 158 วรรค 4 กำหนดไว้แต่เพียงว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังจากพ้นตำแหน่ง การที่บัญญัติว่า ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ จึงย่อมหมายความเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญจะไม่ได้บัญญัติไว้โดยชัดเจนว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรค 4 ให้นับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ภายใต้และลงทะเบียนด้วย จึงไม่อาจตีความเกินไปกว่า เจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดจนกระทบต่อบุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในอดีต
เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ได้กำหนดวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีแตกต่างจากการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ หลายประการ ดังนั้น การจำกัดวาระ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีย่อมหมายความถึงนายกรัฐมนตรีที่ได้มา ตามวิธีการและกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เท่านั้น ไม่อาจหมายรวมถึงนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยเหตุที่การเข้าสู่ตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 กับการเข้าสู่ตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีความแตกต่างกัน
การเป็นนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ตามธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จึงไม่ผูกพันที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรค 4 มาตรา 264 วรรค 2 จึงมิได้บัญญัติยกเว้นมาตรา 170 วรรคสองไว้ ในส่วนมาตรา 160 กำหนดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ดำรงตำแหน่งต้องมี หรือต้องไม่มีก่อนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งนั้น หากรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้การจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งเป็นสิ่งที่ผู้ดำรงตำแหน่งต้องไม่มีอันเป็นลักษณะต้องห้ามก็ย่อมจะต้องบัญญัติไว้กับลักษณะต้องห้ามเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีไว้ในลักษณะต้องห้ามก็ย่อมหมายความว่ารัฐธรรมนูญไม่มีจุดความมุ่งหมายให้นำเรื่องการจำกัดระยะเวลา 8 ปีไปใช้กับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่รับอนุญาตแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 จะมีผลบังคับใช้นอกจากนี้เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 บทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า
ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสามมาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลมโดนลักษณะบทเฉพาะกาลเป็นบทบัญญัติที่ใช้เพียงชั่วคราวมาตรา 264 วรรค 1 กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อความต่อเนื่องของสถาบันและบุคคลที่อยู่ตามรัฐธรรมนูญเดิมให้เป็นสถาบันและบุคคลที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพียงเท่านั้นไม่มีความหมายมากไปกว่านั้นดังนั้นรัฐธรรมนูญมาตรา 264 วรรค 1 จึงเป็นเพียงการบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่มีอยู่เดิมเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อไม่ให้เกิดการว่างเว้นคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีความสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะที่จำเป็นต้องมีความต่อเนื่องไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการกำหนดการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มีการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในบทหลักตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 แล้วเท่านั้น
หากบทเฉพาะกาลมีความมุ่งหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะก็จะมีการบัญญัติไว้ให้ชัดเจนอย่างเช่นที่บัญญัติไว้ในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนักดนตรีเดิมที่จะมาเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 264 วรรคสองว่าจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ซึ่งเป็นบทหลักของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วยดังนั้นหากรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายให้บทบัญญัติในเรื่องกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีนั้นเป็นสิ่งที่จะใช้กับนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะที่รัฐบาลวันนี้ใช้บังคับก็จะต้องบัญญัติไว้เช่นเดียวกันในเรื่องลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี
ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เมษายน 2560 และ พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์จึงเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีภายใต้และรัฐธรรมนูญนี้ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 158 วรรค 4 ตามบทหลักรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งพลเอกประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามความในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 และเมื่อนับ รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 พลเอกประยุทธ์จึงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียังไม่ครบตามระยะเวลาในรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จึงไม่สิ้นสุดลงตาและมนูญมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรค 4 อาศัยเหตุผลข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลงตามมนูญมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรค 4
ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7867