“...หลักการสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ ต้องรักษาสมดุลประโยชน์สาธารณะ สิทธิประชาชน สิทธิมนุษยชนต่างๆ แต่สิ่งที่เจอในปัจจุบัน สิ่งที่ยังขาดคือ สิทธิมนุษยชน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรมไปได้ด้วยดี เป็นธรรม และได้มาตรฐานสากล…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 15 กันยายน 2565 สถาบันนิติวัชร์ จัดงานเสวนาวิชาการ ‘เปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างไร ไม่ให้ซ้ำรอยเดิม’ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ. ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา โดยมีผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
อุดม: ‘หัว’ ไม่ใช่ปัญหาเดียว
เริ่มต้นที่ ศ.ดร.อุดม กล่าวว่า การพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรม มีปัญหาทั่วโลก เพียงแต่จะเกี่ยวกับประเด็นอะไร ตอนที่ตนไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส ก็มีการปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาทางอาญาตลอดเวลา เพียงแต่เรารู้สึกว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยง่ายหรือยากในการปรับเปลี่ยนและปฏิรูป ซึ่งคิดว่าทุกคนหนักใจในประเด็นที่เราไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูป
ส่วนสิ่งที่ศ.กิตติคุณ ธงชัย วินิจจะกูล พูดถึงก่อนหน้านี้ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าปัญหาหนักหน่วงจริงๆ แต่ถ้าพูดถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่แค่หัวอย่างเดียว เป็นเรื่องของประชาชนและการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วย ดังนั้น จะมองแต่ด้านผู้นำไม่ได้ และไม่ใช่ด้านกฎหมายอย่างเดียว แต่ปัญหาของสังคมไทยคือ ปัญหาญาณวิทยาคือ อะไรคือความจริง อะไรคือองค์ความรู้ที่แท้ เพราะสิ่งที่เรียนรู้ในระบบการศึกษาไม่ได้สอนการคิดวิเคราะห์ แต่สอยเฉพาะว่าอะไรดี แล้วนำไปใช้ ทำให้เราสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ได้ ดังนั้น แรงที่จะทำให้เราพัฒนาสังคมและตัวเองได้จึงมีจำกัด
“เวลาเราโทษว่าผู้นำไม่ยอมเปลี่ยนผู้นำเป็นอำนาจนิยมผมว่าเราควรกลับไปคิดดูว่าผู้นำอย่างเดียวมันอยู่ไม่ได้มันต้องมีประชาชนที่มาสนับสนุนผู้นำด้วยถึงจะอยู่กันได้ ดังนั้นการเถียงว่าอะไรถูกอะไรผิดจึงเป็นเพียงแค่มุมหนึ่ง เถียงไม่เชิงเหตุผลได้แต่ว่าปัญหาในเชิงปฏิบัติก็ต้องมาดูอีกสภาพหนึ่ง” ศ.ดร.อุดมกล่าว
นอกจากปัจจัย 4 เชื่อว่าคนเราต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลาง ความถูกต้องความมีเหตุผลเท่านั้นความยุติธรรมเป็นสิ่งที่สังคมพึงปรารถนา สิ่งที่เราจะเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมจึงต้องเข้าใจกระบวนการยุติธรรมก่อน โดยแท้ที่จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมเป็นการปรับใช้กฎหมายเพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ที่ถูกต้อง สมบูรณ์ และมีเหตุผล ซึ่งกว้างการต่อสู้ในศาลแล้วชี้ว่าใครถูกใครผิด
เมื่อครู่ได้ฟัง ศ.กิตติคุณ ธงชัย ก็ขอเรียนว่า กฎหมายเราคุ้มครองสิทธิก็มี โดยเฉพาะประมวลกฎหมายพิจารณาคดีความทางอาญา ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำตามกฎหมาย ในมาตรา 86, 87 ควบคุมตัวไม่ให้หนี ไม่ใช่ควบคุมตามอำเภอใจ ลองไปดูในกฎหมายดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติอาจมีคำถามว่าทำไม่ไม่เป็นไปตามนั้น ก็เพราะการศึกษากฎหมาย เราศึกษาเป็นท่อนๆ ครูพักลักจำ คนสอนมาจากผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่
แน่นอนสิ่งที่อยากเห็นคือการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้คนเข้าใจกฎหมายได้ดี ทำอย่างไรไม่ให้กฎหมายเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ซึ่ีงในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 ได้ระบุไว้แล้วว่า กฎหมายที่ไม่มีความจำเป็นอย่าได้ออกมาเด็ดขาด กฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับยุคสมัยขอให้ยกเลิกไป ในกระบวนการยุติธรรม เรื่องที่เป็นปัญหาต้นน้ำ คือ การบังคับใช้กฎหมายได้ไม่ตรงไปตรงมา ดังนั้นมาตรา 258 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุถึงการแก้องค์กรตำรวจ และมาตรา 260 ก็ระบุให้การปฏิรูปองค์กรตำรวจเช่นกัน แต่ลำพังการแก้ไขโดยบัญญัติลงไปในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้สัมฤทธิ์ผล
สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่ง การศึกษาทางกฎหมาย ต้องยอมรับว่าการศึกษากฎหมายให้กับผู้ที่เพิ่งพ้นวัยมัธยมมาไม่ใช่ง่าย ที่จะทำให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรม แต่คนที่ไปอยู่ในแวดวงแล้ว ปัญหาคือปัญหาระบบ ซึ่งมีช่องลอดไปได้และทำตามอย่างทำกันมา เพราะฉะนั้น เขาทำตามๆกัน ก็เปลี่ยนแปลงอะไรยาก ดังนั้น การปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันยุคทันสมัย จึงเป็นเรื่องที่ต้องกล้าปรับระบบของตัวเอง แต่ถึงขนาดว่าจะไม่มีเรื่องเส้นสา หรือระบบฝากนั้น มันพูดได้ แต่การกระทำทำไม่ได้ ต้องวางระบบกันใหม่ เหมือนเราป่วยเป็นมะเร็ง การที่เราบอกว่าจะเอาโรคมะเร็งออกไปให้ได้ มันพูดแค่นั้นไม่ได้ วิธีการเป้นอย่างไร การบอกว่า ด่าทุกวัน วิจารณ์ทุกวันอาจเปลี่ยน ก็อาจจะเป็นวิธีหนึ่ง แต่ตนคิดว่า การศึกษาต้องเปลี่ยนในหลายๆมุมก่อน
“ผมไม่มีข้อขัดข้องในการที่อยากจะเปลี่ยนให้สิ่งที่ไม่ดี ระบบที่มีการคอรัปชั่น ระบบที่ไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายมันต้องเปลี่ยน ซึ่งตนเชื่อว่าในสังคมไทยนี้เห็นด้วยอยู่แล้วว่า เราจะใช้อำนาจไม่เป็นธรรมหรือเราจะใช้วิธีระบบอุปถัมภ์พรรคพวกในการจัดการอะไรต่างๆนี้ ทุกคนไม่มีใครยอมรับเหตุผลในส่วนเหล่านี้เพียงแต่ว่าเราจะเริ่มต้นจากอะไรเราจะเปลี่ยนแปลงจากตัวบทกฎหมายอะไรหรือเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างหรือระบบ ผมเห็นว่าทุกคนมีส่วน แต่ถ้าระบบไม่ดีไม่สามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้ต่อให้คนดียังไงก็อยู่ไม่ได้” ศ.ดร.อุดมกล่าว
อุดม รัฐอมฤต อดีตเคยเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 และศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปกป้อง: แก้วิ.อาญา เพิ่มสิทธิมนุษยชนในกฎหมายไทย
ขณะที่ รศ.ดร.ปกป้อง กล่าวว่า โดยปกติหลักการสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คือ ต้องรักษาสมดุลประโยชน์สาธารณะ สิทธิประชาชน สิทธิมนุษยชนต่างๆ แต่สิ่งที่เจอในปัจจุบัน สิ่งที่ยังขาดคือ สิทธิมนุษยชน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรมไปได้ด้วยดี เป็นธรรม และได้มาตรฐานสากล
สิทธิมนุษยชน นิยามหลากหลาย แต่ที่อยากเน้นคือ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ซึ่งไทยอยู่ใน 173 รัฐภาคีใต้กติกาดังกล่าว ซึ่งมีหลายสิทธิที่ขอพูดถึง ประกอบด้วย
1.สิทธิที่ไม่อาจถูกพักใช้ได้ (Non-Derogable Rights) ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะสงคราม ความไม่สงบ ความไม่มั่นคงต่างๆ รัฐอ้างเพื่อรักษาความสงบความมั่นคงใดๆไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐขอพักใช้ เซ็นเซอร์สื่อได้ในการชั่วคราวเท่านั้น และต้องรายงานสหประชาติ (UN) ด้วย และเมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุด ต้องกลับมาคุ้มครอง ซึ่งจะละเมิดสิทธินี้ไม่ได้ เช่น จะถูกฆ่าไม่ได้, ถูกทรมานไม่ได้, อุ้มหายไม่ได้ ซึ่งในข้อนี้ประเทศไทยกำลังมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และระบุในมาตรา 12 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว
2.ความเป็นอิสระของตุลาการ ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 66 วรรค 2 ระบุว่า ‘อำนาจตุลาการคือผู้พิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน’ เพราะที่ฝรั่งเศสคิดว่า ฝ่ายบริหารต้องรักษาความสงบ ปราบยปรามอาชญากรรมภายใต้กฎหมาย ดังนั้น ตุลาการต้องเป็นฝ่ายที่พิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งต้องมีความอิสระเป็นสิ่งสำคัญ หากตุลาการไม่อิสระถูกแทรกแซง การพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็อ่อนลง
ความอิสระของตุลาการ มองได้ 2 แบบ แบบที่ 1 อิสระแบบแนวระนาบ อิสระจากอำนาจนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร และแบบที่ 2 อิสระแนวตั้ง ซึ่งหมายถึงอำนาจเหนือศาลไม่สามารถแทรกแซงอำนาจใดๆของศาลได้ โดยศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรป มองว่าความเป็นอิสระของศาลถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ประเทศต่างๆในยุโรป หากเห็นว่ากฎหมายหรือคำพิพากษาละเมิดสิทธิ ก็สามารถมาฟ้องที่ศาลสิทธิมนุษยชนที่ยุโรปได้
3.สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกควบคุมตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ที่ให้อำนาจตำรวจฝากขังผู้ต้องหาที่โรงพักได้ 48 ชม. ก่อนที่จะขออำนาจศาลฝากขังต่อนั้น ก็มีคำถามว่าจะไปหาศาลทำไม และและเมื่อตั้งคำถามนี้แล้วสิ่งที่ตามมาคือ การตรวจหมายขังนัดแรก นายคณิต ณ นคร ระบุไว้ว่า แทบจะเป็นการออกหมายขังโดยอัตโนมัติ ทั้งๆที่กฎหมายกำหนดให้มาเจอศาล
หากมองในแง่สิทธิมนุษยชน ไม่ได้เขียนแบบไร้ความหมาย แต่เขียนภายใต้กติกา ICCPR ให้ผู้ที่ถูกจับกุมต้องปรากฎตัวต่อศาลโดยไม่ชักช้า คำว่าไม่ชักช้า คือ 48 ชม. แต่ในเด็กต้อง 24 ชม. อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฎวัตถุประสงค์ว่า เมื่อปรากฎตัวแล้ว เปิดโอกาสให้ไต่สวนคือการปฏิบัติที่ผู้ถูกควบคุมได้รับระหว่างถูกคุมขัง เป็นการเปิดโอกาสให้ศาลไต่สวนว่า มีการซ้อมทรมาน เกิดการบังคับ ขังเกินระยะเวลาหรือไม่ ก่อนออกหมายขัง
ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรม เพียงแต่การเปลี่ยนผ่านนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านในระดับข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา ฉบับที่ 5 (2565) ไม่ได้เปลี่ยนผ่านในระดับกฎหมาย
นอกจากเรื่องของสิทธิแล้ว วิธีการก็สำคัญ หลักการคือ สิทธิมนุษยชนควรเข้ามาอยู่ในตัวกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ควรเข้ามาอยู่ในทางปฏิบัติและแนวปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรม การที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนเข้ามามี 2 แบบคือ 1 เรียกร้องให้คณะนิติศาสตร์ เพิ่มบทบาทเรื่องพวกนี้เข้าไป และ 2 ปฏิรูประบบแก้กฎหมายเพื่อให้สิทธิมนุษยชนถูกบรรจุลงไปในกฎหมายที่ต้องสอน
“เรื่องนี้เหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันแต่ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าควรเกิดขึ้นพร้อมกัน นิติศาสตร์ก็ต้องทำระบบปฏิรูปก็ต้องทำไปพร้อมๆกันไม่ว่าใครทำก่อนทำหลังเป็นผลดีทั้งนั้น” รศ.ดร.ปกป้องระบุ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเพิ่มมิติทางสิทธิมนุษยชนแล้ว ก็ยังมีผลกระทบแค่บางส่วนเท่านั้น เพราะในคณะอื่นๆที่ยังสอนตามคดีฎีกาหรือทางปฏิบัติอยู่ ก็ยังยากที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ตรงกันข้ามหากไปเปลี่ยนในการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ ก็เชื่อว่านิติศาสตร์ทั้งประเทศก็จะต้องสอนตามกฎหมายและเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนในที่สุด
สำหรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีมาตั้งแต่ปี 2477 ซึ่งไม่เคยบรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนลงไปในนั้นเลย หากต้องแก้ประมวลกฎหมายขึ้นมา จะทำให้นักศึกษากฎหมายได้เรียนผู้บังคับใช้กฎหมายได้ทราบและประชาชนก็ได้รับทราบในที่สุด
แต่ความเป็นจริงในปัจจุบัน การแก้ไขประมวลกฎหมายฉบับดังกล่าวได้รับการแก้ไขน้อยครั้งมาก มีการแก้ไขเพียง 2 ครั้งคือในปี 2547 และ 2562 การออก พ.ร.บ. หรือกฎหมายลูก มันมีปัญหาเพราะในการศึกษาในระดับเนติบัณฑิต หรือการศึกษากฎหมายทั้งหลายนั้น การศึกษาแค่ประมวลกฎหมายเท่านั้น การออกกฎหมายเล็กๆน้อยๆจะทำให้ระบบเสีย
“ในกฎหมายหลักของประเทศฝรั่งเศสแทบจะแก้กันทุกๆ 2 เดือนเพราะเขามองว่าประมวลไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีปัญหาก็ต้องแก้ และสิ่งที่เขาแก้ ได้แรงผลักดัน 2 อย่างคือศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรป และศาลรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส หากมาตราใดขัดกับสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญก็จะส่งให้มีการแก้ไขโดยรัฐสภา เพราะฉะนั้นการแก้ที่ระบบจึงสำคัญที่สุด” รศ.ดร.ปกป้องสรุป
รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประสงค์: ผู้นำ-เจตจำนงการเมือง-เปิดข้อมูลสาธารณะ
ต่อมา นายประสงค์ ในฐานะสื่อสารมวลชน กล่าวว่า นอกจากการปฏิรูปประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญแล้ว แต่เจตจำนงทางการเมืองของผู้นำก็มีส่วนสำคัญซึ่งมีน้ำหนักสูงมาก เพราะตั้งแต่การยึดอำนาจในปี 2557 ผู้นำของประเทศทำลายกระบวนการยุติธรรมไปเยอะมากและถ่วงเวลาในการปฏิรูป
สิ่งแรกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำลายลง คือ ทำลายการถ่วงดุลเรื่องสั่งและชี้ขาดคดี จากเดิมในการสั่งฟ้องคดี จะให้อำนาจผู้ว่า แต่ไปปรับเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของนายตำรวจระดับผู้บัญชาการภาค
สิ่งที่ 2 คือ ทำลายระบบสอบสวนของตำรวจ ด้วยการยุบทิ้งงานสอบสวนทิ้งไป
สุดท้ายคือ การถ่วงการปฏิรูปตำรสจมีการตั้งคณะกรรมการร่างถึง 2 คณะ แล้วถ่วงเวลาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อีก 3 ปี กว่าจะกลับมาเข้ารัฐสภา กฎหมายที่ออกมาเข้าทำนองว่า ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่เหลาลงไปเป็นบ้องกัญชา ทุกอย่างถูกทำลายโดยผู้นำทางการเมืองทั้งสิ้น ซึ่งไม่มีเจตจำนงในการปฏิรูปอะไรเลย
นอกจากนั้นยังทำลายโอกาสในการปฏิรูปกระบวนการต่างๆ มาแล้วหลายครั้ง เมื่อเกิดวิกฤตในกระบวนการยุติธรรม
เรื่องที่ 1 คดีเพชรซาอุ ผู้ที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นมาคือตำรวจระดับชั้นผู้ใหญ่ ก็เห็นชัดเจนว่า ระบบตำรวจให้บุคคลที่ใช้อำนาจไม่ชอบไต่เต้าเป็น พล.ต.อ.ได้ ก็นึกว่าจะมีการรื้อระบบตำรวจแต่ไม่ทำอะไรเลย เป็นการเสียโอกาส เพราะสังคมไทยเป็นสังคมไฟไหม้ฟาง วิจารณ์อยู่ 3 วันก็เลิก ไม่ทำอะไรเลย ไม่แตะต้องโครงสร้างใดๆ
เรื่องที่ 2 คดีเชอร์รี่แอน เป็นคดีที่สะท้อนว่าตำรวจ อัยการ และศาลไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงการสอบสวนในแต่ละชั้นได้เลย แม้ข้อเท็จจริงปรากฎตามสื่อ แต่ศาลก็ไต่สวนไม่ได้ จำเลยที่จับผิดตัวต้องโทษจำคุก จนบางคนเสียชีวิตในคุก ซึ่งศาลใช้ระบบกล่าวหา ไม่ได้ใช้ระบบไต่สวน ดังนั้น จึงเสียโอกาสไปอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องที่ 3 คดีบอส อยู่วิทยา ซึ่งสะท้อนความฉ้อฉลตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมาจนถึงระดับอัยการ 1ปีที่นายวิชา มหาคุณ สอบสวนข้อเท็จจริงมา จนพบความบกพร่องในแต่ละจุด แต่ถามว่าได้ทำอะไรหรือไม่ ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ต่อมามีแนวโน้มจะสอบสวนรองอัยการสูงสุด ที่เกี่ยวพันกับคดีนี้ แต่สุดท้ายไม่สอบ โดยอ้างไม่มีระเบียบรองรับ ต้องออกระเบียบมาภายหลัง และเมื่อเร็วๆนี้เพิ่งทราบว่า มีข้อบกพร่องว่า ไม่มีระเบียบใดให้สอบอัยการสูงสุดหากทำผิดได คณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) สอบไม่ได้ ต้องยื่นให้ ป.ป.ช. สอบเท่านั้น
นายประสงค์กล่าวว่า นอกจากนั่น การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนมีราคาแพง ยกตัวอย่างเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตนถูกฟ้องหมิ่นประมาทที่ศาลอาญาธนบุรี ขั้นตอนประกันตัว ใช้หลักทรัพย์ 200,000 บาท ซึ่งมากกว่าคดีล่าเสื้อดำของนายเปรม กรรณสูต เหตุผลอ้างว่า เป็นการใช้ดุลยพินิจ ของศาล หรือกรณีถูกแจ้งความที่สถานีตำรวจ ซึ่งอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนถึง 3 ปี ชั้นอัยการอีก 3 ปี และสุดท้ายอยู่ในชั้นศาล เรียกค่าประกันตัว 100,000 บาท ระหว่างรอประกันต้องถูกขังในห้องขังใต้ถุนศาลเหมือนนักโทษคดีอุจฉกรรจ์ ซึ่งทุกอย่างยังเป็นแบบนี้อยู่
“ปัญหานี้จึงอยู่ระบบวิธีคิด ซึ่งเปลี่ยนยาก จำเลยไม่ใช่วัตถุ คดีหมิ่นประมาทที่มาประกันตัว ไม่ได้หนีไปไหน และยอมความได้ ไม่ใช่คดีร้ายแรง ซึ่งคนในกระบวนการยุติธรรมมองคนเป็นวัตถุที่ต้องทำตามระบบ และที่อ.ปกป้องบอกว่า ศาลต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่ดูกระบวนการทางธุรการ ยังมีชั้นตอนที่ยาวเหยียด เป็นภาระของประชาชน อัยการก็เช่นกัน” นายประสงค์กล่าว
ส่วนข้อความที่ว่า ‘ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสิน’ คำถามคือ จริงหรือไม่? นักโทษในกรมราชฑัณฑ์มีทั้งหมด 238,000 คน เป็นนักโทษเด็ดขาด 190,700 คน อีก 45,000 คน คือผู้ที่ถูกคุมขังแบ่งเป็น ผู้ที่ถูกกุมขังระหว่างพิจารณาอุทธรณ์และฎีกา 27,000 คน อยู่ระหว่างพิจารณา 6,700 คน และอยู่ระหว่างสอบสวน 11,800 คน
เมื่อจำแนกใน 190,700 คน 90% เป็นนักโทษคดียาเสพติดเกือบทั้งหมด ซึ่งในนักโทษยาเสพติด 70% เป็นความผิดเกี่ยวกับยาบ้า ที่ผ่านมา โครงการกำลังใจในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มีการดำเนินโครงการที่พยายามจะลดระดับยาบ้าเป็น ยาเสพติดประเภทที่ 5 ให้จ่ายในระดับสาธารณสุขเท่านั้น ไม่จำหน่ายทั่วไป หากทำได้จริง พ่อค้ายาล้มละลายทันที ส่วนผู้เสพก็เข้าสู่กระบวนการรักษาไป ลองคิดดูว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ และน่าคิดด้วยว่า ที่ยังคงกระบวนการแบบนี้ เพราะมีผลประโยชน์ผูกพันกันหรือไม่
และผลพลอยได้ อัยการและศาลงานจะไม่ล้นมือ สามารถเอากำลังบางส่วนไปทำกรมสอบสวนตามกฎหมายใหม่ได้ แต่ต้องคุมไม่ให้ยาหลุดจากระบบ และเมื่อนักโทษพ้นจากโทษจองจำแล้ว รัฐต้องคิดว่าจะทำอย่างไร จะเปลี่ยนทัศนคติสังคมให้เลิกรังเกียจคนเหล่านี้อย่างไรด้วย
สุดท้าย การใช้ดุลยพินิจของอัยการ ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ ในที่นี้ขอยกมา 3 คดี
คดีที่หนึ่ง การโอนหุ้นคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ให้พี่บุญธรรม ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 3 คน ฐานหลีกเลี่ยงภาษี ต่อมาศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกพี่บุญธรรม ที่เหลือรอลงอาญา และสุดท้าย อัยการสูงสุดไม่ยื่นฎีกา ทั้งๆที่สองศาลตัดสินแตกต่างกัน
คดีที่สอง ฟอกเงินของพวกเดียวกัน มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่ผู้พิพากษา 2 คนมีความเห็นต่างกัน แต่ตาม ป.วิอาญาให้การตัดสินเป็นคุณกับจำเลย แต่พนักงานอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์
และคดีที่สาม อัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบริษัทในเครือของนายเปรมชัย กรรณสูต โดยอ้างว่า ตอนออกเอกสารสิทธิ์ นายหน้าที่ดินกระทำ ผู้คต้องหาไม่ได้รู้เห็นด้วย แต่ในสำนวนปรากฎว่า มีการเพิกถอนโฉนด แต่ผู้ต้องหาอ้างว่า จะมีการรังวัด จึงอยู่ต่อ แสดงเจตนาว่า ต้องการครอบครองที่ดินซึ่งรุกป่าในตอนหลัง แต่ไปยกเอาเหตุผลที่อ้างว่าไม่มีส่วนร่วมกับนายหน้าในการออกเอกสารสิทธิ์ในการวินิจฉัย จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องและไม่เผยแพร่ผลคำสั่งไม่ฟ้องต่อสาธารณะด้วย แต่มีเอกสารหลุด
ทั้ง 3 คดีนี้ไม่มีระบบการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของอัยการเพราะไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงควรมีการเปิดเผยข้อมูลหลังคดีความเสร็จสิ้นทั้งหมด และระบบสารสนเทศก็แย่มาก ประชาชนตรวจสอบไม่ได้เลย พูดตรงๆว่า นักกฎหมายโดยรวมไม่มีแนวคิดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเป็นระบบและเข้าถึงง่าย
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา
พงศ์เทพ: ข้อเสนอถึงกระบวนการยุติธรรม
ปิดท้าย นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรม ต้องมองในภาพใหญ่ ซึ่งไล่ตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล ราชฑัณฑ์ ไปจนถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานอื่นๆ คนตั้งข้อสงสัยว่า ได้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ยุติธรรม ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่
ช่วงที่ผ่านมา ได้เห็นตัวอย่างของยอดภูเขาน้ำแข็ง เช่น รองอัยการสูงสุดถูกให้ออกจากราชการ, ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกให้ออกจากราชการ, ศาลยุติธรรม รองประธานศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์และหัวหน้าคณะผู้พิพากษาในศาลฎีกาถูกไล่ออก หรือผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ ถูกไล่ออกและถูกสั่งจำคุก 5 ปี หรือดีตเลขาสำนักงานศาลยุติธรรมถูกไล่ออก ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยอยู่ที่อันดับ 110 ได้ 35 คะแนนจาก 100 ซึ่งการทุจริตเกิดขึ้นในทุกวงการ
นักธุรกิจที่รับงานรัฐ แม้ทำทุกอย่างถูกต้อง แค่รับเงินยังต้องเสียเปร์เซ็นต์ให้เลย ตนก็เคยเจอเมื่อตอนอยู่กระทรวงยุติธรรม เคยถูกขอให้ย้ายนักโทษจาก จ.เชียงใหม่ ไปภูเก็ต เพราะนักโทษคนนี้มีแฟนเป็นลูกนักธุรกิจชาวต่างชาติที่ จ.ภูเก็ต จึงอยากให้ย้ายไปภูเก็ต ซึ่งตามกระบวนการแล้ว ทำได้ไม่มีปัญหา แต่เมื่อเกิดสึนามิในปี 2547 ปรากฎว่า มีการขอให้ไปรับเรือประมง เพราะนักธุรกิจคนนั้นบอกว่า เมื่อมาเมืองไทยต้องเสียเงินตลอด มีไม่เสียเงินก็ตอนมาขอให้ไปช่วยรับเรือ
ดังนั้น เวลาพูดถึงการใช้ดุลยพินิจ มีการใช้ดุลยพินิจที่สุจริตก็มี แตกต่างกันได้ แต่ควรมีเหตุผล หากเป้นการใช้ดุลยพินิจที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ก็คือการทุจริต ซึ่งจับกันไม่ง่าย
นายพงศเทพ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราต้องการคือ ระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง ซึ่งข้อมูล ประชาชนและสื่อมวลชนต้องเข้าถึงได้ การตรวจสอบไม่ใช่มาจากภายใน เชื่อไม่ได้ 100% ภายนอกต้องเข้าไปช่วยด้วย กลไกแรกของกระบวนการยุติธรรมคือ ตำรวจ สิ่งที่เป็นปัญหามากคือ วัฒนธรรมองค์กร การย้ายหรือเลื่อนขั้นต้อง ‘วิ่ง’ เพื่อให้ได้ตั๋วและไปอยู่ในที่ที่ต้องการ ยิ่งยุคนี้ เมื่อได้ย้ายไปแล้ว ต้องรักษาตำแหน่งที่ได้ด้วย คำถามถัดมาคือ จะแก้อย่างไร?
การร่างพ.ร.บ.ตำรวจ มีกลไกตรวจสอบการแต่งตั้งโยกย้าย มีคณะกรรมการร้องเรียนเรื่องตำรวจ แต่ต้องระวัง เพราะคณะกรรมการที่ทำจะอยู่ยาว และครู่เดียวจะมีตำรวจไปสร้างไมตรี ซึ่งเป็นตำรวจที่มีอำนาจ สักพก คณะกรรมการชุดนี้ อาจคล้อยตัวผู้มีอำนาจ
ในการปฏิรูปตำรวจ ข้อแรก ควรเลิกการเอาวัฒนธรรมทหารมาอยู่กับตำรวจ ตำรวจจากโรงเรียนเตรียมทหารควรไม่มีได้แล้ว เพราะตำรวจกับทหารคนละบทบาท การฝึกอบรมใช้ความคิดทหารไม่ได้ ข้อสอง ระบบงานสอบสวน ไม่ใช่ให้ใครมาสั่ง ครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นผู้พิพากษาได้คุยกันกับคณะว่า ‘ชีวิตเราก็แปลก เช้ามาก็แต่งชุดมนุษย์ค้างคาว มาฟังเขาโกหก’ เพราะพยานจำนวนมากให้การโกหก ตำรวจที่มาเป็นพยาน จำนวนไม่น้อยก็พูดเท็จ
การแยกงานสอบสวนออกมา ก็มีคำถามว่า แล้วจะแยกไปอยู่ไหน อยู่กับอัยการหรือไม่ แล้วนำบุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมทางกฎหมาย การสอบสวน และนิติวิทยาศาสตร์เข้ามา ส่วนตำรวจ ถ้าจะให้รับใช้ประชาชนดีขึ้น ควรมีตำรวจท้องถิ่น แยกจากตำรวจส่วนกลาง เพื่อเอางานที่ไม่ใช่คดีใหญ่โตมาให้ตำรวจท้องถิ่นทำ ซึ่งจะโยกกับการบริหารรราชการส่วนภูมิภาค นายก อบจ. ควรเป็นผู้ดูแลตำรวจท้องถิ่น เพราะเขาจะบอกได้ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น และสังคมจะกดดันไปยังนายกอบจ.
ส่วนอัยการ ถ้ากรณีสั่งไม่ฟ้อง เนื่องระบบเปิดให้ผู้เสียหายฟ้องคดีเองได้ ก็ช่วยลดปัญหาที่อัยการสั่งไม่ฟ้องไปได้ แต่ขอเสนอว่า ผู้เสียหายเมื่อไปฟ้องเอง ส่วนมากไม่มีข้อมูลเหมือนตำรวจฟ้องที่จะมีสำนวนส่งให้อัยการ ดังนั้น ควรให้ผู้เสียหายขอสำนวนการสอบสวนจากอัยการได้ เพื่อประกอบในการฟ้องเอง ส่วนปัญหาที่อัยการสั่งฟ้องก็มี คดีที่ไม่ควรสั่งฟ้อง ก็ต้องดูว่าการสั่งฟ้องคดีโดยไม่จำเป็น แล้วทำให้การลงโทษของศาลต่ำมาก แสดงว่า คนที่ไม่สมควรถูกดำเนินคดีมีมาก ในญี่ปุ่น หากคดีที่อัยการสั่งฟ้อง ศาลพิจารณาในอัตรา 90-100% ในไทยจะน้อยกว่าอยู่ที่ 60%
ขณะที่ศาล ความเป็นอิสระเป็นเรื่องสำคัญ แต่ละท่านแต่ละองค์คณะ ไม่จำเป็นต้องมองเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนกัน สิ่งที่เกี่ยวพันกับความอิสระ การที่ผู้พิพากษาคณะใด ท่านใดจะได้ทำสำนวนคดีอะไร ดังนั้น การจ่ายสำนวน ต้องให้ใช้ระบบ AI หรือสุ่มเข้ามาแทน หากจะถือว่าผู้พิพากษาทั้งหมดมีความรู้ คุณภาพใกล้เคียงกัน ตกองค์คณะไหนก็เหมือนกัน ไม่ใช่การชี้ว่า ผู้บริหารศาลจะจ่ายให้ใคร เพราะที่ผ่านมามีหลายคดีที่ตกกับผู้พิพากษาคนเดียวและผลการตัดสินออกมาในทำนองเดียวกันหมด
นอกจากระบบการตรวจสอบของแต่ละศาลแล้ว เดิมจะมีคณะกรรมการจากรัฐสภา แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ผู้พิพากษามีส่วนในการคัดเลือก ขาดการยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจ ควรให้มีกรรมการจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 1 คน มาร่วมเป็นกรรมการ จะได้ถ่วงดุลกัน
ส่วนกรมราชฑัณฑ์ มี 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 โทษประหารชีวิต ถึงเวลายกเลิกแล้ว แต่ด้านหนึ่งการที่มีอภัยโทษบ่อยครั้ง คนที่ถูกประหารถูกลดโทษเรื่อยๆ จนสังคมอาจจะรับไม่ได้ ดังนั้น หากยกเลิกโทษประหาร จะต้องให้คงโทษจำคุกตลอดชีวิต กำหนดขั้นต่ำต้องจำคุก 40 ปี เป็นอย่างน้อยจึงจะมีโอกาสรับการพักโทษ รวมถึงทบทวนการอภัยโทษ ต้องไม่เหวี่ยงแห ต้องจำกัดมากขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่สมควรถูกปล่อยตัว และสุดท้าย นักโทษที่เข้าเรือนจำทำผิดหลากหลาย ทำผิดครั้งเดียวก็มี สมควรจะแยกจากนักโทษคดีร้ายแรง
พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี
อ่านประกอบ
ธงชัย วินิจจะกูล : ยุติรัฐอภิสิทธิ์ สถาปนา Rule of Law ที่แท้จริง