"...การทำให้กรุงเทพธนาคม โปร่งใสตามเป้าหมายของนายชัชชาติ มีแนวปฏิบัติ 2 ข้อ 1.ต้องมีธรรมาภิบาล 2.คิดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม กรุงเทพธนาคมต้องให้บริการต้องต่อเนื่องและมีคุณภาพ ต้องได้รับไว้วางใจจากสาธารณชนและผู้ประกอบการ หากมี 2 สิ่งนี้ก็ไม่มีอะไรยาก กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวน่าจะเป็น Sandbox ของการทำให้กรุงเทพธนาคมโปร่งใส..."
'ธงทอง จันทรางศุ' เป็นที่รู้จักในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ราชสำนัก และเป็นผู้ชำนาญด้านกฎหมายมหาชน ในฐานะอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นอดีตข้าราชการที่ได้รับบทบาท-หน้าที่สำคัญในรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย
เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ รองโฆษกกระทรวงยุติธรรมในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544
เป็นโฆษกพิเศษศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทภัย (ศปภ.) ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำหน้าที่สื่อสารในภาวะวิกฤตช่วงเกิดมหาอุทภัยปี 2554 ก่อนได้รับตำแหน่งตั้งเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในปีเดียวกัน
ปี 2557 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกย้ายเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี จนเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2558 ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ด้านนิติศาสตร์ ตั้่งแต่ปี 2563
ปี 2565 ชื่อของ 'ธงทอง' ปรากฎอีกครั้ง ในฐานะประธานคณะกรรมการ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) หลังถูกเชิญชวนร่วมงานโดย 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คนปัจจุบัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์พิเศษ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กับบทบาทใหม่ในฐานะ ประธานบอร์ดกรุงเทพธนาคม (เคที) กับภารกิจสางปมปัญหาภายในองค์กร ที่ 'ชัชชาติ' มองว่าเป็นหลุมดำของ กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี 'สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว'
เบื้องหลังนั่งประธานบอร์ด ‘กรุงเทพธนาคม’
นายธงทอง เริ่มต้นเล่าว่า ส่วนตัวรู้จักกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.มากว่า 10 ปี แต่รู้จักแบบผิวเผิน เจอกันครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยที่นายชัชชาติ เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายจัดการทรัพย์สิน แต่ตอนนั้น ตนออกไปรับราชการที่กระทรวงยุติธรรมแล้ว เหลือเพียงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น จึงเจอกันเฉพาะเวลาที่ได้ประชุมสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งก็เห็นแววและความเก่งกาจใช้ได้ตั้งแต่ตอนนั้น
ต่อมได้ร่วมงานกันอีกครั้งสมัยร่วมรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุคนั้นตนเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนนายชัชชาติ เป็น รมช.คมนาคม ก่อนรับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในเวลาต่อมา แต่ก็เจอกันแบบผ่านๆ เพราะอยู่คนละสายงานกัน เจอกันตามงานพิธีการเท่านั้น
ส่วนการตอบรับเทียบเชิญครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 นายชัชชาติคงเห็นว่ามีการโพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กผ่านเพจ Tongthong Chandransu บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาในกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องฟุตบาทที่ปูแบบไม่เรียบเสมอกัน ทำให้บางครั้งเดินสะดุดจนหกล้มก็มี ในขณะที่เมืองใหญ่อื่นๆ ในต่างประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทำให้คนเดินทางสะดวกขึ้น นอกจากนี้ ในฐานะที่สนใจด้านวัฒนธรรม ก็มีโพสต์เฟซบุ๊ก ในเรื่องของการนำลานคนเมือง มาทำอะไรให้มีชีวิตชีวามากกว่าให้เป็นแค่ลานจอดรถ เพราะพื้นที่กรุงเทพฯในบริเวณนั้นเป็นย่านเมืองเก่า มีอะไรให้เที่ยวชมมากมาย
จากจุดนี้ น่าจะเป็นสาเหตุให้ นายชัชชาติ เดินทางมาพบที่บ้านพักส่วนตัว โดยมาขอความเห็นหลายเรื่อง พร้อมกับถามว่า "ใน กทม.มี บจ.กรุงเทพธนาคม อยู่ ถ้าได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.อาจารย์พอจะเข้ามาช่วยผมได้ไหม" ตอนนั้นตนจึงตอบไปว่า "ไว้ถ้าได้รับเลือกตั้ง แล้วค่อยมาคุยอีกที" จากนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และหาข้อมูลเกี่ยวกับกรุงเทพธนาคมทันที โดยไม่ได้มีการติดต่ออะไรกันอีก
กระทั่งผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 นายชัชชาติได้รับเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลอย่างเป็นทางการแล้ว ก็มีโทรศัพท์จากนายชัชชาติมาทวงถามสัญญา นายธงทองบอกว่า "กรุงเทพธนาคมเรื่องมันเยอะ อาจารย์คิดว่าผมจะไหวหรือ อาจารย์จะเปลี่ยนใจก็ได้นะ ผมไม่ว่า" ขณะที่นายชัชชาติตอบกลับมาว่า "ผมคิดดีแล้ว อาจารย์นั่นแหละเหมาะสมที่สุด"
หลังจากนั้นก็คุยกันเรื่องอื่นอีกครึ่งชม. แล้ววางสายไป เช้าวันถัดมา นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ติดต่อมาเพื่อหารือเกี่ยวกับงานของกรุงเทพธนาคม และช่วยกันพิจารณาสัดส่วนกรรมการในบอร์ดของกรุงเทพธนาคม
“ตอนนั้นผมคิดว่า องค์ประกอบกรรมการกรุงเทพธนาคม ควรมีอย่างน้อย 2-3 ด้าน ได้แก่ กฎหมาย ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านคดีปกครองและคดีทางธุรกิจการค้า, วิศวกรรม เพราะงานของกรุงเทพธนาคม ต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทั้งนั้น โรงขยะ, สายสื่อสารลงดิน, รถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องมีคนที่รู้มาเป็นบอร์ดด้วย และการเงิน เพราะไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่มีเรื่องตัวเลขอีกมากมายที่ต้องมาช่วยกัน” นายธงทอง กล่าว
นายธงทอง กล่าวอีกว่า บอร์ดกรุงเทพธนาคม ชุดปัจจุบัน 7 คน ได้มีการเสนอชื่อ ศ.พิเศษ ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์ เพราะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านคดีทางปกครอง จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นกรรมการชุดต่างๆทั่วโลก มีลูกศิษย์ลูกหาและมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ อีกคนที่ไปเชิญมาคือ นางทิพยสุดา ถาวรามร เพราะเคยเป็นรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) น่าจะมองภาพด้านธุรกิจและการจัดการมากกว่า นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลที่นายต่อศักดิ์ไปเชิญมา
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่ากทม.
ไว้ใจ 'ชัชชาติ' ทำงาน-เห็นต่างกันได้
เมื่อถามว่า หากมีความเห็นไม่ตรงกับผู้ว่าฯ กทม.จะกล้าโต้แย้งหรือทัดทานหรือไม่ นายธงทอง ระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่านายชัชชาติที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักไม่น่ามีอะไรเคลือบแคลงสงสัยว่าจะมีนอกมีในหรือไม่ ความเห็นมีแตกต่างกันได้ ณ วันนี้ ยังมีความไว้ใจในตัวนายชัชชาติ และทางนั้นก็ไว้ใจในตัวผมด้วย หากมีประเด็นที่ตนเห็นต่าง ก็กล้าที่จะเรียนให้ทราบ เพราะส่วนตัวก็แก่ปูนนี้แล้ว (หัวเราะ)
“โชคดีที่เรา (นายธงทองและนายชัชชาติ) เคยทำงานในมหาวิทยาลัยมาก่อน การอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่ใช่การมีสายบังคับบัญชา ไม่ใช่ว่าใครสั่งได้ แต่มันอยู่ที่เหตุผล การอยู่ร่วมกันต้องรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เมื่อตัดสินใจร่วมกันแล้ว ผู้ที่อยู่ในวงในการตัดสินใจนั้นก็พร้อมที่จะเดินในเส้นทางนั้นไปด้วยกัน เป็นธรรมชาติของอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมว่ามันไม่เหมือนกับธรรมชาติของสายบังคับบัญชาในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ จะเห็นเหมือนกันหรือไม่เห็นเหมือนกันก็ไม่ใช่ของแปลก ไม่มีใครแพ้ไม่มีใครชนะ มันคุยกันด้วยเหตุและผลได้” นายธงทอง กล่าว
สางปัญหา 'กรุงเทพธนาคม' ต้องพิถีพิถันรอบคอบ
เมื่อถามว่าการเข้าทำงานในระยะเวลาครึ่งเดือนที่ผ่านมาได้สัมผัสและเห็นอะไรในกรุงเทพธนาคมบ้าง นายธงทองตอบว่า ต้องยอมรับก่อนว่า แต่ละเรื่องในกรุงเทพธนาคม เป็นเรื่องที่มีความเป็นมายาวนาน ต้องทำการบ้านเยอะ กว่าจะสาวถึงปัจจุบัน ก็ต้องดูกันต่อไป แค่รถไฟฟ้าสายสีเขียว เอกสารยังเป็น 1,000 หน้า ส่วนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องยังทำไม่ได้
วันก่อนมีคนถามเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ ก็ตอบตรงๆว่า ยังไม่ได้ทำ เพราะตอนนี้ต้องเน้นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวก่อน โดยรวมแล้ว ไม่กังวลว่ายากเกินความสามารถ แต่ต้องศึกษาให้รอบคอบ พิถีพิถัน และเปิดใจกว้างในการรับฟังความเห็น
คณะผู้บริหารกรุงเทพธนาคมชุดปัจจุบัน (2565)
ทำ Sandbox 'สายสีเขียว' โชว์ข้อมูลโปร่งใส ตรวจสอบได้
เมื่อถามว่าเห็นหลุมดำที่ นายชัชชาติ ชี้เป้าแล้วหรือไม่ นายธงทอง กล่าวว่า กรรมการชุดนี้ยังไม่ศึกษาอะไรลึกซึ้ง การทำให้ทุกอย่างอธิบายได้ด้วยเหตุผล เปิดเผย และโปร่งใส จะทำให้ความกังวลของคน กทม.และคนไทยโดยรวม สบายใจขึ้น อย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องการเปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถที่ทำไว้เมื่อปี 2555 ก็น่าจะทำได้ เพราะเป็นสัญญาระหว่าง กรุงเทพธนาคม และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และมีระบุไว้ว่า ห้ามเปิดเผยสาธารณะ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคู่สัญญา
ดังนั้น แนวทางที่คาดว่า น่าจะเป็นไปได้ในเปิดเผยสัญญานี้ คือ กทม.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของกรุงเทพธนาคม ขอดูข้อมูลส่วนนี้ เพราะเป็นอำนาจของผู้ถือหุ้น ส่วนผู้ถือหุ้นจะเอาไปทำอะไร ต้องส่งจดหมายมาแจ้งขออนุญาตก่อน และต้องดูอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และหากจะเปิดเผยก็น่าจะไม่ติดขัดอะไร เพราะตัวสัญญามีศักดิ์และสิทธิ์ตามกฎหมายน้อยกว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540
ส่วนการทำให้กรุงเทพธนาคม โปร่งใสตามเป้าหมายของ นายชัชชาติ มีแนวปฏิบัติ อยู่ 2 ข้อ 1.ต้องมีธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 2.คิดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม กรุงเทพธนาคม ให้บริการประชาชนระดับล้านคน การให้บริการต้องต่อเนื่องและมีคุณภาพ รวมถึงต้องได้รับไว้วางใจจากสาธารณชนและผู้ประกอบการด้วย หากมี 2 สิ่งนี้ก็ไม่มีอะไรยาก และมองว่า กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวน่าจะเป็น Sandbox ของการทำให้กรุงเทพธนาคมโปร่งใส
เมื่อถามว่า แล้วบทบาทกรุงเทพธนาคม นอกจากการบริการสาธารณะยังต้องเพิ่มภารกิจอะไรหรือไม่ เพื่อหารายได้เข้า กทม. อ.ธงทองกล่าวว่า กรุงเทพธนาคม คงทำได้แค่ในภารกิจสาธารณูปโภค เพราะมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกากำกับไว้แล้ว ขณะที่การจดทะเบียนประเภทกิจการในหนังสือบริคณห์สนธิไว้เกือบ 50 อย่างก็เป็นจดเผื่อไว้เท่านั้น ตามทัศนคติในอดีต
รายชื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8
งานนอก ‘กรุงเทพธนาคม’
นอกจากนี้ นายธงทอง ยังกล่าวถึงงานที่นอกเหนือจากการเป็นประธานบอร์ดเคทีว่า ตอนนี้ก็รับบรรยายในงานเสวนา งานสอนพิเศษ และวิทยากรต่างๆ แต่ภาระหน้าที่หลักตอนนี้ ก็ยังเป็นกรรมการในคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8 ดูแลกฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษา การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬาด้วย
การประชุมส่วนใหญ่ จะมีทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี แต่ช่วงนี้วาระหารือยังไม่มากนัก จึงไม่ค่อยกระทบเวลาในชีวิตประจำวันเท่าไหร่ ส่วนตัวได้รับเลือกให้มาเป็นกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว นอกจากนั้น ยังได้รับเชิญไปร่วมในคณะพิเศษที่มี ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ดูงานเกี่ยวกับกฎหมายอุดมศึกษาสมัยใหม่เป็นหลัก
ทั้งนี้ การแบ่งเวลามาทำงานที่กรุงเทพธนาคม ก็ไม่ได้ทำในนามส่วนตัวของใคร แต่มาทำในฐานะที่ประชาชนได้ประโยชน์ส่วนรวม
เมื่อถามว่า การทำงานในคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกทางการเมืองหรือไม่ นายธงทองระบุว่า ไม่มี ระบบภายในป้องกันไว้ดีมาก เพราะคุณสมบัติของกรรมการแต่ละคนก็ระดับ รองศาสตราจารย์ (รศ.) ขึ้นไป ซึ่งก็มีอาวุโสพอสมควร วาระการดำรงตำแหน่งกรรมการกฤษฎีกา มีวาระ 3 ปี เมื่อครบวาระแล้ว ก็กำหนดสรรหาใหม่ มีประธานคณะเป็นผู้เสนอชื่อ และส่วนมากผู้ที่มาเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดต่างๆ ก็อายุอานามไม่ต่ำกว่า 70 ปีเข้าไปแล้ว ไม่เกรงกลัวใครแล้ว (หัวเราะ)
“สมมุติเดิมที กรรมการกฤษฎีการวมมีประมาณ 140 คน แต่ 3 ปีที่ผ่านมา อาจมีบางท่านป่วยบ้าง เสียชีวิตบ้าง ก็ต้องมีการเสนอชื่อคนอื่นเข้ามา หรือพูดตรงๆ ก็มีระเบียบอยู่ว่า หากกรรมการบางท่านขาดประชุมบ่อย เพราะติดภารกิจที่อื่นบ้างหรือมีธุระจำเป็นอย่างอื่น ก็อาจจะมีการสรรหากรรมการกฤษฎีกาเพิ่มได้ ซึ่งประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดต่างๆจะหารือร่วมกัน เมื่อได้รายชื่อก็จะเสนอไปที่นายกรัฐมนตรีดู ถ้านายกฯ เห็นชอบก็นำความกราบบังคมทูลฯ แต่ถ้าหากนายกฯ ไม่เห็นด้วยหรืออยากจะเสนอใครเพิ่ม ก็ต้องเอากลับมาถามประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาเหล่านี้อยู่ดี มันมีการสอบทานซึ่งกันและกันอยู่ ยืนยันได้ว่ากรรมการกฤษฎีกามีความเป็นอิสระ แล้วแต่ละคนก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะต้องกังวลอะไร” นายธงทองขยายความ
นายธงทอง (ใส่แว่นยืนกลาง) นายวิษณุ (ที่ 2 นับจากขวาสุด) และ นายบวรศักดิ์ (ขวาสุด) ภาพจาก Tongthong Chandransu
นิยาม 'เนติบริกร' ขึ้นอยู่ที่ใครจะมอง
ส่วนกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมักถูกนิยามว่าเป็น 'เนติบริกร' นายธงทอง ถอนหายใจยาว ก่อนตอบว่า เวลาที่อยู่ในราชการ ความคิดเห็นทางกฎหมายของเรามักถูกจำกัดกรอบด้วยอำนาจหน้าที่ เช่น ช่วงที่ยังรับราชการที่กระทรวงยุติธรรม ก็ต้องไปให้ความเห็นในฐานะผู้แทนกระทรวงยุติธรรม แต่เมื่อตนเกษียนอายุราชการเมื่อปี 2558 แล้ว ภาระงานต่างๆด้านกฎหมายก็เบาตัวลง ซึ่งเชื่อว่าตัว นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ก็คงเบาตัวลงแล้ว ตอนนี้ก็หาโอกาสทำสิ่งที่ชอบมากขึ้น อะไรที่ไม่ชอบก็ไม่ทำ เพราะไม่ต้องถูกบังคับ ส่วน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี น่าจะยังไม่เบาตัวลง เพราะยังต้องอยู่ในกรอบงานหน้าที่ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ส่วนใครจะคิดอย่างไรกับคำว่า 'เนติบริกร' ก็แล้วแต่คนที่มอง และเจ้าตัวเองที่จะอธิบายตัวเองอย่างไร
นายธงทอง ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ของตนเองกับนายวิษณุ และนายบวรศักดิ์ ว่า ยังติดต่อกันอยู่ ถือเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันมาตลอดชีวิต กับนายบวรศักดิ์ รู้จักตั้งแต่เป็นนิสิตที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2516 ส่วน นายวิษณุ รู้จักกันเมื่อปี 2519 หลังเข้ามาเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งตอนนั้นตนเรียนอยู่ปี 4 และเมื่อมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ก็มีห้องทำงานติดกันด้วย
และปัจจุบันก็ยังทำงานกันอยู่ กับนายบวรศักดิ์ก็ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการกฤษฎีกาหลายคณะ ส่วน นายวิษณุ ก็ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการกลั่นกรองระเบียบกฎหมายต่างๆ และทำงานร่วมในคณะกรรมการเอกลักษณของชาติ (กอช.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ด้วย ทั้งนี้ ทั้ง 2 ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร หรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำงานที่กรุงเทพธนาคมแต่อย่างใด
หลังจากนี้ สังคมน่าจะจับตาบทบาทในฐานะ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ของ 'ธงทอง' ที่จะนำพาคำพูดของ 'ชัชชาติ' ที่หวังให้ขจัดความเคลือบแคลงสงสัยในวิสาหกิจแห่งนี้ ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่ ปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน อีกไมนานคงรู้กัน