“…การจัดซื้อจัดจ้าง โดยการให้เงินชุมชนเขาไปซื้อเองนั้น เป็นไปได้หรือไม่ หรือว่ากรมการข้าวจะซื้อเอง ซึ่งถ้ากรมไปซื้อเอง บางทีเครื่องจักรมันก็อาจไม่ได้นำไปใช้งาน จึงอาจไม่ใช่การใช้งบฯที่โปร่งใสและได้ประโยชน์สูงสุดก็ได้ โดยเราเองเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรทำในสภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองแบบนี้…”
...................................
จากกรณีที่นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายรัฐชทรัพย์ นิชิด้า ประธานคณะที่ปรึกษา รมช.เกษตรฯ (นายประภัตร โพธสุธน) เข้าไปตรวจสอบการเสนอขอรับจัดสรรงบปี 2566 ของหน่วยงานในกำกับดูแลของ รมช.เกษตรฯ (นายประภัตร) โดยเฉพาะกรมการข้าว ซึ่งมีการเสนอของบเพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 กว่า 1.5 หมื่นล้านบาทนั้น (อ่านประกอบ : ‘ประภัตร’สั่งสอบปมงบ‘กรมการข้าว’พุ่ง 1.5 หมื่นล.-เผย‘อธิบดี’ไม่เคยเสนอเรื่องให้ทราบ)
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายรัฐชทรัพย์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่า ตามปกติแล้ว แต่ละโครงการที่เสนอขอจัดสรรงบประมาณประจำปีนั้น ฝ่ายการเมืองจะต้องพิจารณาว่า โครงการฯมีความคุ้มค่าหรือไม่ ทำแล้วชาวบ้านได้ประโยชน์อะไร และผลตอบรับทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร แต่เมื่อมีนำเรื่องการของบของกรมการข้าวเข้าไปพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566
ปรากฏว่ากรมการข้าวได้เสนอขอรับจัดสรรงบเพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าววงเงินสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และท่านรัฐมนตรี (นายประภัตร) ได้เคยมีความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ ว่า ด้วยศักยภาพของกรมการข้าวในปัจจุบัน ไม่น่าจะทำได้ และชาวนาเองไม่น่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง อีกทั้งมีวิธีการในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการปลูกข้าวที่ดีกว่านี้
“โครงการนี้ ไม่เคยผ่านมาทางเราเลย และอธิบดีกรมการข้าวเอง ก็ส่งเรื่องตรงไปยังรัฐมนตรีว่าการ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์) แล้วท่านรัฐมนตรีว่าการฯ ก็ส่งไปตามกระบวนการ โดยไม่ผ่านทางเรา ซึ่งในเรื่องนี้ เราเองไม่อยากพาดพิงคนอื่น แต่ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้
และโดยมารยาทแล้ว เรากำกับดูแลกรมการข้าวอยู่ พอมีประเด็นข่าวออกมาแบบนี้ ทั้ง ส.ส.ก้าวไกล หรือ ส.ส.พรรคอื่นๆที่ตามอยู่ ก็จะเข้าใจผิดว่า เราเสนอโครงการในลักษณะนี้เข้าไปได้อย่างไร ทั้งๆที่ไม่มีการปรึกษาหารือก่อน ผมจึงได้รับมอบหมายให้มาดูว่า อยู่ดีๆโครงการมันโผล่มาได้อย่างไร เพราะในปีงบ 2562-65 ก็ไม่เคยปรากฏโครงการในลักษณะนี้มาก่อน” นายรัฐชทรัพย์ กล่าว
นายรัฐชทรัพย์ กล่าวต่อว่า จากการที่ตนได้รับมอบหมายจาก รมช.เกษตรฯให้ดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการของกรมการข้าวดังกล่าว เบื้องต้นพบว่ามีการเขียนโครงการไม่เป็นไปตามแผนงาน
“บางเรื่องเขาเขียนไม่ตรง คือ เขามีกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรแล้ว และมีรายชื่อของศูนย์ข้าวชุมชนแล้ว แต่ในแนวทางปฏิบัติกลับไปเขียนว่า จะไปสอบถามกับชาวไร่ชาวนาว่าต้องการเครื่องมือ เครื่องจักร ครุภัณฑ์อย่างไร เพราะในเมื่อเขามีข้อมูลอยู่แล้วจะไปถามชาวไร่ชาวนาทำไม แล้วที่ไปถามเขา เขาเนี่ยเป็นใคร ชาวนาอยากได้จริงหรือเปล่า และเอาไปแล้วได้ใช้เครื่องไม้ เครื่องมือ เครื่องจักรนั้นเองหรือเปล่า
การจัดซื้อจัดจ้าง โดยการให้เงินชุมชนเขาไปซื้อเองนั้น เป็นไปได้หรือไม่ หรือว่ากรมการข้าวจะซื้อเอง ซึ่งถ้ากรมไปซื้อเอง บางทีเครื่องจักรมันก็อาจไม่ได้นำไปใช้งาน จึงอาจไม่ใช่การใช้งบประมาณที่โปร่งใสและได้ประโยชน์สูงสุด โดยเราเองเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรทำในสภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองแบบนี้” นายรัฐชทรัพย์ กล่าว
เมื่อถามว่า การสั่งการให้มีตรวจสอบโครงการฯ จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง รมว.เกษตรฯ และรมช.เกษตรฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มาจากต่างพรรคการเมืองกัน หรือไม่ นายรัฐชทรัพย์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าไม่น่าจะเกิดความขัดแย้ง เพราะเราทำงานกันเป็นทีมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอยู่ดีๆ โครงการนี้ (โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว) ก็ถูกบรรจุไว้ในงบปี 2566 โดยที่รัฐมนตรีช่วยฯที่กำกับดูแลกรมการข้าว ไม่ทราบเรื่อง
“ที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีการฮั้วกันระหว่างรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ และตัวอธิบดีหรือเปล่า ต้องเรียนตามตรงว่า เรายังไม่เคยคุยกับสำนักงบประมาณโดยตรงเลย ส่วนที่ถามว่ามีการทุจริตหรือไม่ ก็ต้องไปสอบดูว่ามีการทุจริตหรือเปล่า หรือเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งมันต้องมีไอ้โม่งโผล่มาแน่ หลังจากที่ผมได้ลงไปดูแล้ว และถ้าพบว่าเรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการฯ เป็นคนอนุมัติ ท่านก็ต้องรับผิดชอบ” นายรัฐชทรัพย์ กล่าว
นายรัฐชทรัพย์ กล่าวว่า ตามหลักปฏิบัติแล้ว เมื่อมีการเสนอโครงการของกรมที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ไปยังรัฐมนตรีว่าการฯโดยตรง เพื่อบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งตามปกติแล้วรัฐมนตรีว่าการฯ จะต้องแจ้งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการฯที่กำกับดูแลแต่ละกรมเพื่อทราบ แต่โครงการฯนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯไม่ได้รับแจ้งอะไรเลย
“พูดง่ายๆ คือ เรากำกับดูแลก็จริง แต่เขาไม่ได้ฟังเรา จึงอาจมีการหมกเม็ดกัน ซึ่งเรายอมไม่ได้ เพราะเงินตรงนี้ เป็นเงินภาษีของประชาชน เราจะไปใช้โดยที่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คงเป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่งามแน่ๆ และแน่นอนว่าประเด็นความขัดแย้งกัน เราไม่อยากให้มี แต่เป็นเรื่องการสื่อสารว่า ทำไมถึงไม่บอกเราซักนิดเลย พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทำให้สังคมเข้าใจผิด ผมเป็นห่วงประเด็นนี้มากกว่า” นายรัฐชทรัพย์ กล่าว
นายรัฐชทรัพย์ กล่าวด้วยว่า “ท่านรัฐมนตรีว่าการฯ (นายเฉลิมชัย) ไม่จำเป็นต้องชี้แจงอะไรก็ได้ เพราะพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ค่อยมีความขัดแย้งอะไรกับใครอยู่แล้ว และไม่ได้ขัดแย้งกับใคร โดยเราปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่เท่านั้นเอง”
อ่านประกอบ :
‘ประภัตร’สั่งสอบปมงบ‘กรมการข้าว’พุ่ง 1.5 หมื่นล.-เผย‘อธิบดี’ไม่เคยเสนอเรื่องให้ทราบ
‘กรมการข้าว’แจงงบพุ่ง 1.5 หมื่นล้าน ใช้อุดหนุนเกษตรกร สศก.ยันศึกรัสเซีย-ยูเครนไม่กระทบผลผลิต