กมธ.งบปี 66 สแกนงบกระทรวงเกษตรฯ กังขา ‘กรมการข้าว’ งบพุ่งพรวดอีก 1.5 หมื่นล้าน แจงใช้ในการอุดหนุนเกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่มากขึ้น ด้าน ‘สศก.’ ยันสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่กระทบผลผลิตทางการเกษตร และการส่งออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 17 มิถุนายน 2565 นายบัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์, นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ, นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการประชุม ซึ่งคณะ กมธ. ได้ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณมาแล้ว 7 วัน รวม 65 ชั่วโมง มีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว 2 กระทรวง 6 หน่วยงาน 2 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 7.4 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด
โดยเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย. 65) เป็นการประชุม ครั้งที่ 9/2565 ซึ่งคณะ กมธ. ได้พิจารณางบประมาณในภาพรวมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์งบประมาณทั้งสิ้น 126,067,052,900 บาท หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่ออีก 6 หน่วยงาน จากทั้งหมด 19 หน่วยงาน 1 กองทุน
1. สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 1,085,703,400 บาท
2. สานักงานเศรษฐกิจการเกษตร จำนวน 601,888,700 บาท
3. สานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ จำนวน 226,556,500 บาท
4. กรมการข้าว จำนวน 17,343,325,400 บาท
5. กรมวิชาการเกษตร จำนวน 3,068,502,800 บาท
6. กรมหม่อนไหม จำนวน 525,782,700 บาท
แจงกรมการข้าวได้งบอื้อ เพราะอุดหนุนเกษตรกร
ในการพิจารณางบประมาณดังกล่าว มีกรรมาธิการสอบถาม กรมการข้าว เกี่ยวกับงบประมาณในปี 2566 จำนวน 17,343,325,400 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มมากขึ้นประมาณ 15,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ได้รับจัดสรรเพียง 2,037,886,000 บาท เท่านั้น อีกทั้ง บางโครงการมีการผูกพันงบประมาณต่อไปอีกประมาณ 8-10 ปี เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ งบประมาณ 49,706,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (2562 - 2569) เป็นต้น รวมถึงจากการได้รับการจัดสรรงบประมาณมากขึ้นขนาดนี้ มีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตอย่างไร เพื่อรับประกันได้ว่า เกษตรกรจะได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ดีและได้รับจัดสรรอย่างเป็นธรรม เพราะเกษตรกรมักจะต้องเผชิญกับปัญหาการ ขาดแคลนเมล็ดข้าวจนต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวในราคาแพง
โดยผู้แทนจากกระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงว่า เดิมรัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุนเกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เป็นการใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เป็นการช่วยเหลือแบบให้อุดหนุน ดังนั้น หน่วยงานจึงได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า หากหน่วยงานได้รับงบประมาณในส่วนนี้มาสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในชนบทน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น
ทั้งนี้ หน่วยงานจะนำงบประมาณมาใช้ในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรสามารถจาหน่ายผลผลิตทางการเกษตรด้วยตัวเอง และคาดว่า จะลดต้นทุนได้ประมาณ ไร่ละ 300 บาทเศษ และมีการจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งเป็นศูนย์ที่ให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง โดยงบประมาณจำนวน 15,000 ล้านบาท ลงไปให้เกษตรกร 5,000 ตำบลผ่านศูนย์ข้าวชุมชน ศูนย์ละ 3 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร สาหรับปลูกข้าว การเตรียมดิน และการแปรรูป ตามความต้องการของแต่ละศูนย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและสร้างความยั่งยืน ให้กลุ่มเกษตรกร โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง ร่วมพิจารณาโครงการ
ศึกยูเครน-รัสเซีย ไม่กระทบผลผลิตทางการเกษตรของไทย
ส่วนในการพิจารณางบประมาณของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) งบประมาณ 601,888,700 บาท คณะ กมธ.หารือเกี่ยวกับปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าทางการการเกษตรในหลายประเทศ จนผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกขาดแคลน หน่วยงานมีแผนการในการช่วยเหลือเกษตรกรไทยอย่างไร ผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ชี้แจงว่า ประเทศไทยมีอาหารที่เพียงพอต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และมีเพียงพอที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ