"...ในมุมของผู้บริโภคคนหนึ่งแล้ว ประกันโควิดเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ผู้บริโภคได้มี Moment of Truth หรือได้เห็นคุณค่าของการประกันภัย แต่ก็เป็นดาบสองคมที่ทำให้บริษัทประกันล้มหายตายจากไป จนมีผลกระทบกับกรมธรรม์รถยนต์และกรมธรรม์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับประกันโควิด ที่โดนหางเลขไปด้วย แม้แต่ฝ่ายที่ให้บริการกับบริษัทประกันเช่น อู่ซ่อมรถยนต์ ก็โดนผลกระทบไปไม่มากก็น้อยเช่นกัน..."
.................................
จากตัวเลขผู้ติดโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง เพราะยอดผู้ติดเชื้อ ทั้ง RT- PCR และ ATK รวมสูงหลายหมื่นคน จึงทำให้เกิดกระแสที่น่ากังวลขึ้นมาอีกครั้งว่าประกันโควิดนั้นจะผ่านพ้นช่วงสงกรานต์ไปได้หรือไม่
เดลต้าที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว กลายมาเป็นโอมิครอนที่ติดง่ายคล้ายไข้หวัดใหญ่ ทำให้กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อประกันโควิด มีสิทธิ์เข้าเคลมสินไหม และมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
สิ่งที่ประชาชนจับตามอง คือ การขอเบิกเคลมโควิดในจำนวนมาก และการจ่ายสินไหมของหลายบริษัทก็จะล่าช้ามากจนเกิดความไม่สบายใจกับผู้เอาประกัน ทำให้เกิดภาพตามพาดหัวข่าวที่ไปเรียกร้องยังหน้าบริษัทต่างๆ บ่อยครั้งขึ้น กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่สู้จะดีนักในสายตาของคนทั่วไป
หากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ต้องยอมรับว่าประกันโควิดเป็นความเสี่ยงอย่างมากของวงการประกันภัย เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วบริษัทประกันที่ให้บทบาทหน้าที่กับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในการตรวจสอบแบบประกันก่อนออกขาย มักจะไม่เห็นด้วยกับการรับประกันประเภทนี้ เพราะไม่มีสถิติคำนวณว่าเบี้ยประกันควรจะเป็นเท่าไหร่
ส่วนบริษัทประกันต่างชาตินักคณิตศาสตร์ประกันภัยซึ่งมีบทบาทในการคิดแบบประกันก่อนออกขายกันภายในก็ยิ่งไม่กล้าที่จะออกแบบประกันนี้มาขายสู่ท้องตลาดเลย เพราะถ้าต้องคำนวณเป็นเบี้ยออกมาแล้ว อาจจะเป็นเบี้ยที่แพงมาก และบริษัทประกันภัยคงได้ไม่คุ้มเสียและทำให้เกิดผลกระทบกับลูกค้าตามมาก็เป็นได้
ผมเคยโพสต์บทความวิชาการอยู่หลายครั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมาว่า วิวัฒนาการของไวรัส วิวัฒนาการของยา และวิวัฒนาการของวัคซีนนั้น จะเป็นตัวแปรสำคัญในการประมาณการเบี้ยประกันและค่าใช้จ่ายในการเคลม และกำหนดความอยู่รอดของแบบประกันนี้ในอนาคต
ยกตัวอย่างเช่น การรับประกันที่คำนวณจากเชื้อโรคตัวเดิมที่ติดยาก กลายเป็นตัวใหม่อย่างโอมิครอน ทำให้ความเสี่ยงของธุรกิจประกัน เพิ่มขึ้นตามอัตราการกระจายของเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม เป็นต้น
หลังจากเหตุการณ์ของโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่เห็นประจักษ์แล้ว เราจะเห็นว่ามีบริษัทประกันบางแห่งมองเห็นปัญหาที่ตามมานั้นคงจะมีอยู่เป็นแน่ จึงแก้ปัญหาโดยขอคืนกรมธรรม์ให้กับลูกค้า โดยเข้าใจว่ากรมธรรม์สามารถยกเลิกได้ถ้าแจ้งล่วงหน้าไว้ 30 วัน
แต่ในมุมผู้บริโภคแล้ว ก็จะมองว่าไม่เป็นธรรม เพราะซื้อกรมธรรม์มาแล้ว มีความคาดหวังว่าไม่ควรจะถูกยกเลิก เมื่อความคาดหวังไม่ตรงกัน ความไม่พอใจก็เกิดขึ้นตามมา
บทเรียนจึงกลับไปที่สาเหตุหลักที่ว่า การสื่อสารทำความเข้าใจในตัวกรมธรรม์ประกันภัยก่อนการตกลงจะซื้อจะขายนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทประกันต้องบริหารความคาดหวังของผู้บริโภคเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือไปด้วย
ถึงแม้ว่า บริษัทประกันนั้นอาจจะรู้ตัวล่วงหน้าถึงสัญญาณร้าย แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว ซึ่งการจะแก้ปัญหานั้น ก็คงต้องยึดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทุกฝ่ายเป็นที่ตั้ง และยึดเหตุและผลตามหลักการ ซึ่งก็เห็นหลายบริษัทประกันที่ควักเงินเพิ่มทุนจากหลักพันล้านจนถึงหมื่นล้าน มาเติมลงไปให้กับบริษัทของตนเอง เพื่อให้บริษัทต่อลมหายใจอยู่รอดต่อไปได้
แต่เมื่อเงินที่เติมลงไปเท่าไร ก็เติมไม่เต็มเสียที เป็นอันน่าเสียดายที่เห็นบริษัทประกันเริ่มล้มหายตายจากไป บริษัทเหล่านี้มีรายจ่ายกับสินทรัพย์ที่มีไม่เพียงพอในการดำรงอยู่ของกิจการ ส่งผลให้ลูกค้าที่ยังไม่ได้เคลมจะได้แค่เงินคืนตามสัดส่วนของวันประกันที่เหลืออยู่ ขณะที่ลูกค้ารอเงินเคลมจะได้รับตามสัดส่วนเงินที่เหลือในฐานะเจ้าหนี้ร่วม
ในมุมของผู้บริโภคคนหนึ่งแล้ว ประกันโควิดเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ผู้บริโภคได้มี Moment of Truth หรือได้เห็นคุณค่าของการประกันภัย แต่ก็เป็นดาบสองคมที่ทำให้บริษัทประกันล้มหายตายจากไป จนมีผลกระทบกับกรมธรรม์รถยนต์และกรมธรรม์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับประกันโควิด ที่โดนหางเลขไปด้วย แม้แต่ฝ่ายที่ให้บริการกับบริษัทประกันเช่น อู่ซ่อมรถยนต์ ก็โดนผลกระทบไปไม่มากก็น้อยเช่นกัน
ในส่วนตัวแล้วผมมองว่า ความเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคงจะเป็นรากฐานของทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องมันเกิดขึ้นไปแล้ว ทุกฝ่ายต่างก็กำลังพยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้วงการธุรกิจประกันภัยมีความน่าเชื่อถือและเป็นแกนกระดูกสันหลังของชาติในการบริหารความเสี่ยงในระดับครัวเรือนได้อยู่ต่อไป
ผู้เขียน : พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย และกรรมการบริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น (ABS) จำกัด
อ่านประกอบ :
‘บอร์ด คปภ.’สั่ง‘อาคเนย์ฯ-ไทยประกันภัย’หยุดรับประกันฯชั่วคราว-แก้ไขฐานะการเงินใน 30 วัน
'อาคเนย์ฯ-ไทยประกันภัย' แจ้งย้ายสถานที่เคลมประกัน'เจอ จ่าย จบ' หลังพบ'จนท.'ติดโควิด
'อาคเนย์ฯ-ไทยประกันภัย'เสนอคืนเบี้ยประกันโควิดลูกค้า หลัง'บอร์ด คปภ.'รับคำขอเลิกธุรกิจ
‘บอร์ด คปภ.’ รับคำขอเลิกประกอบธุรกิจ ‘อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย’
‘อาคเนย์ประกันภัย’ แจงยังดำเนินธุรกิจตามปกติ-บอร์ด ‘คปภ.’ ถกคืนใบอนุญาตฯ 28 ม.ค.นี้
TGH ไฟเขียว'เลิก'ประกอบธุรกิจ'อาคเนย์ประกันภัย' คืนไลเซนส์-โอนลูกค้าให้กองทุนประกันฯ
คปภ.ยันประกันโควิด'เจอจ่ายจบ'เคลมได้ตามปกติ หลังศาลยังไม่ชี้ขาดรับฟ้องคดี
‘รมว.คลัง’ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ ‘เดอะวัน ประกันภัย’ แล้ว-พบค้างจ่ายสินไหมฯ 2.7 พันล.
จากโอกาสเป็นวิกฤต ‘เจอจ่ายจบ’ สะเทือนวงการประกัน ผู้บริโภคดูแลตัวเองอย่างไร
หนี้สินเกินทรัพย์สิน! ‘บอร์ด คปภ.’ มีมติให้ ‘เดอะวันประกันภัย’ หยุดรับประกันฯชั่วคราว
จากโอกาสเป็นวิกฤต ‘เจอจ่ายจบ’ สะเทือนวงการประกัน ผู้บริโภคดูแลตัวเองอย่างไร
ฐานะไม่มั่นคง! ‘บอร์ด คปภ.’ สั่ง ‘บ.เอเชียประกันภัยฯ’ หยุดรับประกันภัยชั่วคราว