“...เด็กและเยาวชนไทย 80% เจอเรื่องการคุกคาม การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน หรือบนโซเชียลมิเดียเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ทั้งนี้จากการสำรวจเด็กและเยาวชนไทย 28% บอกว่าการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องปกติ ขณะที่อีก 39% บอกว่าการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องสนุก ส่วนที่เหลือ 59% เคยถูกกลั่นแกล้ง... ”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : คลินิกกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ STOP Bullying หยุดการกลั่นแกล้ง หยุดความรุนแรง หยุดสร้างความเกลียดชังในสังคม
โดยนายธีรยุธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า สถิติการกลั่นแกล้งทั่วโลกตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน จาก 28 ประเทศทั่วโลก พบว่า 1 ใน 5 ถูกกลั่นแกล้ง (Bullying) บนโซเชียลมีเดีย (Social Media) แบ่งเป็น เด็กอายุ 6-10 ปี ถูกกลั่นแกล้ง 47.77% อายุ 11-13 ปี ถูกกลั่นแกล้ง 56.4% อายุ 14-18 ปี ถูกกลั่นแกล้ง 59.9% และอายุ 19 ปีขึ้นไปถูกกลั่นแกล้ง 54.3% สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มการถูกกลั่นแกล้งเริ่มเกิดขึ้นในเด็กอายุน้อย และอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรงเรียนได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการถูกกลั่นแกล้ง เพราะพบอัตราการกลั่นแกล้งมากถึง 82.8%
นายธีรยุธ กล่าวอีกว่า เด็กและเยาวชนไทย 80% เจอเรื่องการคุกคาม การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน หรือบนโซเชียลมิเดียเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย โดยในจำนวนเด็กและเยาวชนดังกล่าว 75% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต พบเป็นกลุ่มอายุ 5-28 ปี ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึงวันละ 8 ชั่วโมง
ทั้งนี้จากการสำรวจเด็กเยาวชนไทย 28% บอกว่าการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องปกติ ขณะที่อีก 39% บอกว่าการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องสนุก ส่วนที่เหลือ 59% เคยถูกกลั่นแกล้ง
"ผมว่าเรื่องนี้มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราเองอาจจะต้องทำความเข้ากับประเด็นกลั่นแกล้งให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลั่นแกล้งในการใช้ชีวิตประจำวันในยุคปัจจุบันนี้ ที่เราต้องอยู่กับสิ่งนี้ และเราจะจัดการยังไงที่จะไม่ให้เกิดเป็นประเด็นปัญหาในเรื่องการทำร้ายคนอื่นหรือทำให้คนอื่นรู้สึกด้อยค่าในตัวเขา อันนี้คือสิ่งสำคัญ” นายธีรยุธ กล่าว
เด็กประถมกว่า 6 แสนคนถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน
ด้านนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาส่วนใหญ่เป็นเด็กประถม พบเฉลี่ย 600,000 รายต่อปี และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาของการถูกกลั่นแกล้งไม่ได้กระทบแค่สภาพกายแต่กระทบไปถึงสภาพจิตใจของเด็ก
กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเรื่องของด้านความปลอดภัยเป็นอันดับต้นๆ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยของกระทรวงศึกษา และจะมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักเรียนนักศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติเมื่อถูกกลั่นแกล้ง นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และการป้องกัน การแก้ไข ในสถานศึกษารวมถึงในโลกออนไลน์
ที่สำคัญในอนาคตจะมีการสอดแทรกเนื้อหาสาระเข้าไปในวิชาเรียนของเด็ก ๆ และมีการสร้างกระบวนการการเรียนรู้สร้างความเข้าใจให้แก่ครูและผู้ปกครองให้เกิดการตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาการกลั่นแกล้งหรือถูกกลั่นแกล้งด้วย
อย่างไรก็ตามจะมีการสร้างเครือข่าย สื่อดียุติการรังแก ที่มีเด็กเยาวชน ผู้ปกครอง และผู้มีอิทธิพลทางสื่อร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและป้องกันการถูกกลั่นแกล้ง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในระยะยาว
กลั่นแกล้งในออนไลน์สร้างรอยแผลไม่รู้จบ
ขณะที่นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า สมัยก่อนการล้อเลียน หรือการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องซึ่งหน้า เป็นเรื่องที่ผลกระทบก็จะอยู่ตรงนั้น แต่ในปัจจุบันการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นในโลกไซเบอร์ด้วย ส่งผลกระทบกว้างขวาง เพราะขยายไปถึงคนจำนวนมาก ที่สำคัญยังไปถึงอย่างรวดเร็วด้วย
ดังนั้นผลกระทบย่อมมากกว่าที่ผ่านมา เพราะการกลั่นแกล้งจะถูกผลิตซ้ำในโลกออนไลน์อยากให้ทุกคนตระหนักว่าเวลาทำอะไรไปอย่าคิดว่าไม่มีใครรู้ ทุกอย่างมีร่องรอยที่เผยตัวตนได้หมด สามารถขยายต่อได้ตลอด
นายวสันต์ กล่าวเน้นย้ำว่า เรื่องของการละเมิดสิทธิทางออนไลน์เป็นเรื่องที่สำคัญ การกลั่นแกล้งเป็นเรื่องหนึ่งของการละเมิดสิทธิคนอื่น นอกจากนี้ยังมีการสร้างความเกลียดชังการสร้างความแตกแยก หรือที่เรียกว่า เฮดสปีด (Hate Speech) ด้วย ซึ่งเรื่องพวกนี้ควรจะมีการแก้ไขและป้องกันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่การจะป้องกันได้ก็ต้องสร้างความตะหนักรู้ให้กับทุกคน
“เรื่องการสร้างความรู้ ความตระหนักรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าหากว่าเรามีภูมิคุ้มกัน หรือเราช่วยป้องกันปัญหา การละเมิดก็จะลดลง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาก็ลดลงไปด้วย” นายวสันต์ กล่าว
กฎหมายควรมีความเอื้อเฟื้อมากกว่าการตั้งกรอบ
นอกจากนี้ ศ.กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกคนมีสิทธิ์เสรีภาพในเรื่องการแสดงออก และสิทธิในความเป็นส่วนตัว
สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช่สิทธิ์ที่เด็ดขาด กฎหมายที่ควรจะเป็นควรมีความเอื้อเฟื้อ และสร้างทัศนคติที่ดี มากกว่ากฎหมายที่ห้ามหรือตั้งกรอบ ซึ่งเมืองไทยมีกฎหมายที่ตั้งกรอบเยอะไปหมด
และเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลก็เป็นสิทธิ์ที่ไม่เด็ดขาดเหมือนกัน ถูกจำกัดได้ แต่ต้องเชื่อมระหว่างสิทธิในการแสดงออกกับสิทธิส่วนบุคคล ก็คือความมั่นคงแห่งรัฐ และต้องมีตัววัดที่ชัดเจน โดยข้อจำกัดนั้นต้องมีเกณฑ์ในการจำกัดที่สมเหตุสมผล คือ จะต้อง 1.ไม่ได้เกิดขึ้นตามอำเภอใจของรัฐ 2.จำเป็นต้องจำกัดสิทธินั้น 3.มีสัดส่วนในการจำกัดสิทธินั้น
เพราะฉะนั้นสิทธิเสรีภาพเราต้องเอื้อเฟื้อกัน อดทนในการแสดงออก เด็ก ๆ กับเรื่องบนออนไลน์ที่พูดกันไม่ถึงขั้นนั้น จะทำยังไงถ้าไม่ถึงขั้น ก็ต้องคุยกันว่ามียุทธศาสตร์อะไรบ้าง ซึ่งมันมีวิธีตกลง แต่ไม่ใช่เอากฎหมายมาห้าม
"ตอนนี้รัฐ แพลตฟอร์ม ผู้คนและชุมชน รวมถึงกฎหมายยังไม่สมดุลกัน หากจะมีกฎหมาย รัฐจะต้องไม่ใช้กฎหมายที่เข้ามาห้ามแล้วห้ามอีก เพราะมีเยอะเกินไปอยู่แล้ว ถ้าจะมีก็ต้องเป็นกฎหมายที่ระวังมาก คาดว่าน่าจะเป็นกฎหมายที่ทำให้มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อ เช่น กฎหมายให้พ่อแม่เข้ามาเรียนระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเข้าใจฟิลเตอร์ที่บล็อกสิ่งที่จะเข้ามากระทบจิตใจของลูก" ศ.กิตติคุณวิทิต กล่าว