"...การเมืองและระบบราชการถูกครองพื้นที่โดยชนชั้นนำ ซึ่งไม่เข้าใจสังคมข้างล่าง หรือชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานของประเทศ การพัฒนาจึงกระทำแบบสร้างพระเจดีย์จากยอดคืออะไรๆ ก็จะเอาแต่ข้างบน โดยทิ้งฐานหรือทำให้ฐานอ่อนแอ เช่น ระบบเศรษฐกิจที่ทำลายเศรษฐกิจพึ่งตนเองของเกษตรกร ทำให้ชาวไร่ชาวนาล้มละลายหมดทั้งประเทศ กลายเป็นคนจนในชนบทและคนจนเมือง..."
100 ปี ประชาธิปไตยไทยไม่ไปถึงไหน
ประเทศไทยพยายามพัฒนาระบบประชาธิปไตยกันมา 100 ปี ถ้านับตั้งแต่กบฏหมอเหล็งในต้นรัชกาลที่ 6 แต่ไม่ไปถึงไหน และที่กำลังต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายขณะนี้ ก็มองไม่เห็นว่าจะไปถึงไหน ไม่ว่าใครชนะหรือไม่มีใครชนะ เพราะสู้กันอยู่ในระบบประชาธิปไตยโบราณที่ล้าสมัยแล้ว
ระบบประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ทั่วไป มีกำเนิดในประเทศอังกฤษเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ซึ่งสภาพสังคมเศรษฐกิจเป็นแบบหนึ่ง สังคมปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาประเทศต้นแบบเสรีประชาธิปไตย ระบบประชาธิปไตยก็กำลังมีปัญหา ที่ประเทศเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆ ดังที่เกิดปรากฏการณ์ 99 : 1 คือการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อคน 1 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 99 เปอร์เซนต์ ไม่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ความเหลื่อมล้ำที่มากเกินกำลังตลบหลังทำให้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง ซับซ้อนยิ่งขึ้นแก้ไขยากขึ้น การเมืองก็แบ่งขั้วสุดๆ และมีประสิทธิภาพต่ำ ยังหาทางออกไม่ได้
ระบบประชาธิปไตยเก่าหรือโบราณล้าสมัยไม่ให้ทางออก จำเป็นต้องออกแบบระบบประชาธิปไตยใหม่ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ประชาธิปไตยฐานแคบ vs ประชาธิปไตยฐานกว้าง
ที่เราแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบบทำลายไม่ได้เกือบ 100 ปี เพราะติดที่วิธีคิด สังคมไทยมีวิธีคิดว่าดีชั่วเป็นกรรมส่วนบุคคล ไม่เข้าใจว่าโครงสร้างและระบบกำหนดพฤติกรรมของบุคคลและองค์กร เพ่งเล็งอยู่แต่ว่าใครดีใครชั่ว จึงทะเลาะและมีการทำลายบุคคลสูง โดยไม่สนใจออกแบบระบบและโครงสร้าง ที่จะลดความขัดแย้งเชิงทำลาย แต่เพิ่มสมรรถนะทางปัญญา ซึ่งสามารถทำได้ถ้าออกแบบระบบให้ดี
ระบบประชาธิปไตยที่ใช้ในปัจจุบันเป็นระบบโบราณที่ฐานแคบ
อะไรที่แคบก็จะกระทบกระทั่งกันและตีบตันง่าย ทำให้คนไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่งที่จิกตีกันร่ำไป แต่ถึงจิกตีกันเลือดตกยางออกเท่าใดๆ ก็ออกจากเข่งไม่ได้เพราะ “เข่ง” คือ โครงสร้างอันแข็งแกร่งที่กักขังไว้ในที่แคบให้กระทบกระทั่งกันง่าย
สมควรที่คนไทยจะทำความเข้าใจ เรื่อง ประชาธิปไตยฐานแคบและประชาธิปไตยฐานกว้าง
ประชาธิปไตยโบราณที่ฐานแคบ
ระบบประชาธิปไตยที่ใช้กันในปัจจุบันเกิดขึ้นในสังคมครั้งโบราณ
สมัยนั้น การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมไม่สะดวก ประชาชนต้องเลือกตัวแทนขี่ม้าหรือนั่งเกวียนไปประชุมที่เมืองหลวง เป็นประชาธิปไตยทางอ้อม (Indirect democracy) ที่ประชาชนไม่ได้ใช้อำนาจโดยตรง แต่ผ่านการเลือกตัวแทนหรือประชาธิปไตยแบบใช้ตัวแทน (Represented democracy)
สมัยปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมเป็นไปอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ประชาชนทั้งประเทศสามารถรับรู้สิ่งเดียวกันทั้งประเทศทันที และสามารถมีส่วนร่วมได้โดยตรง ระบบประชาธิปไตยทางอ้อมแต่เพียงอย่างเดียวฐานจึงแคบ ได้ผู้แทนที่ค่อนข้างเป็นคนประเภทเดียวคือ ผู้มีความสามารถในการหาเสียงให้ได้รับเลือกตั้ง แบบที่เรียกว่านักการเมืองอาชีพ ซึ่งตกอยู่ในอาณัติของนายทุนได้ง่าย เพราะต้องอิงอาศัยแหล่งเงินแบบที่เรียกว่าลิงกินกล้วย จึงมีเจ้าของสวนกล้วยหรือผู้มีอิทธิพลทางการเงินเข้ามาคุมกลุ่มก๊วนทางการเมือง เพื่อเป็นอำนาจต่อรองโควต้ารัฐมนตรี ธนาธิปไตยจึงมีส่วนสูงแทนที่ธรรมและปัญญา การเมืองจึงมีคุณภาพและสมรรถภาพต่ำ ทำให้บ้านเมืองแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ สะสมปัญหาจนวิกฤต นอกจากนั้นเพราะเป็นการเมืองเชิงอำนาจและผลประโยชน์ การต่อสู้แย่งชิงกันจึงรุนแรง การเมืองจึงวิกฤตเรื้อรังไม่มีทางลงตัว มีรัฐธรรมนูญกว่า 20 ฉบับ ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะระบบยังเหมือนเดิม ถึงจะต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันอย่างไรๆ พฤติกรรมทางการเมืองก็ยังซ้ำๆ เหมือนเดิม ถ้าไม่ออกแบบระบบใหม่ที่เป็นปัจจัยให้พฤติกรรมทางการเมืองมีความถูกต้อง
ออกแบบระบบประชาธิปไตยใหม่ที่ฐานกว้าง
โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
1. มีระบบรัฐสภาอย่างเดิม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม
2. มีประชาธิปไตยทางตรงเข้ามาเชื่อมโยง ที่คนทั้งประเทศมีส่วนร่วมโดยตรง โดย
2.1 จัดตั้งระบบ Big Data ประชาธิปไตย ที่จัดให้มีระบบสื่อสารดิจิทัลที่คนไทยทุกคนทั่วประเทศสามารถสื่อสารเข้ามาได้ตลอด 24 ชั่วโมง อาจเป็นเรื่องปัญหา ร้องทุกข์ ข้อเสนอแนะ มีการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับอย่างทันควัน ให้เป็นความรู้เพื่อการใช้งาน นำไปเผยแพร่และองค์กรปฏิบัติได้รับรู้เพื่อนำไปแก้ไข หรือไปสังเคราะห์เป็นนโยบายนี้อาจเรียกว่า Instant Direct Democracy เพราะรวดเร็วทันใจตลอดเวลา อาจเรียกว่าประชาธิปไตย 24 ชั่วโมง การมีสิทธิ์ออกเสียงเพียง 1 นาที ต่อ 4 ปี ไม่ทันการ โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถสำรวจประชามติด้วยราคาถูกได้ทุกวัน
2.2 ประชาธิปไตยชุมชน สาเหตุที่ประเทศติดขัด เดินผิดทิศผิดทาง มาจากการที่ชนชั้นนำไม่เข้าใจสังคมข้างล่างเพราะเป็นสังคมทางดิ่ง (Vertical society) และระบบการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงของชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ และชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง เมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้
การเมืองและระบบราชการถูกครองพื้นที่โดยชนชั้นนำ ซึ่งไม่เข้าใจสังคมข้างล่าง หรือชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานของประเทศ การพัฒนาจึงกระทำแบบสร้างพระเจดีย์จากยอดคืออะไรๆ ก็จะเอาแต่ข้างบน โดยทิ้งฐานหรือทำให้ฐานอ่อนแอ เช่น ระบบเศรษฐกิจที่ทำลายเศรษฐกิจพึ่งตนเองของเกษตรกร ทำให้ชาวไร่ชาวนาล้มละลายหมดทั้งประเทศ กลายเป็นคนจนในชนบทและคนจนเมือง
พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ถ้าฐานแข็งแรงก็จะรองรับส่วนบนให้มั่นคง ชุมชนท้องถิ่นคือฐานพระเจดีย์
ชุมชนเข้มแข็ง คือ คอนกรีตบล็อกของการสร้างประเทศ
สภาผู้นำชุมชน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำตามธรรมชาติ ชุมชนละ 40 - 50 คน คือ องค์กรชุมชนหรือองค์กรจัดการชุมชน สภาประชาชนหรือสภาชุมชนคือ ที่ประชุมของคนทั้งชุมชน ซึ่งมีประมาณ 500 - 1,000 คน เป็นประชาธิปไตยทางตรง
ประชาธิปไตยชุมชน เป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง เพราะเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่ผ่านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง และเป็นประชาธิปไตยที่ฐานของประเทศ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเฉพาะที่ยอดพระเจดีย์
เพราะฉะนั้นต้องมีระบบที่นำประชาธิปไตยข้างล่างคือ ประชาธิปไตยชุมชนเข้ามาเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยข้างบนคือ ระบบรัฐสภา พรบ.องค์กรชุมชนกำหนดให้มีสภาองค์กรชุมชนระดับต่างๆ อยู่แล้ว โจทย์คือจะเชื่อมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติกับระบบรัฐสภาอย่างไร เรื่องนี้จะมีข้อเสนอภายหลัง
2.3 ประชาธิปไตยจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐสภาประกอบด้วยคนที่มีลักษณะจำเพาะคือ นักเลือกตั้ง ขาดความทั่วถึงของตัวแทนจากทุกภาคส่วนของสังคม ฉะนั้นควรจะมีสภาอีกประเภทหนึ่ง ที่ทุกภาคส่วนของสังคมเลือกตัวแทนเข้าไปเป็นสมาชิก สมมุติว่านับแล้วว่าสังคมมี 100 ภาคส่วน เช่น ภาคธุรกิจ สังคม ครู แพทย์ ศิลปิน สื่อมวลชน กองทัพ ตำรวจ ฯลฯ ให้แต่ละภาคส่วนคัดเลือกตัวแทน สมมติว่าภาคส่วนละ 5 คน สภาประชาธิปไตยทางสังคม ก็จะมีสมาชิก 500 คน ซึ่งกระจายครบทุกภาคส่วนของสังคม ทำให้ประชาธิปไตยฐานกว้างที่มีตัวแทนครบทุกภาคส่วนจริงๆ ทำให้สังคมเข้ามามีบทบาทกำหนดนโยบาย เป็นการกระจายการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เป็นการกระจายอำนาจออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่กระจุกอยู่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอำนาจรัฐและอำนาจเงินเข้ามาครอบง่ายๆ
ทั้ง 3 ประชาธิปไตยที่เพิ่มเข้ามาร่วมกับระบบรัฐสภา จะทำให้ประชาธิปไตยมีฐานกว้างมาก
นั่นคือ 1) ระบบ Big Data ประชาธิปไตย ที่ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมได้ตลอด 24 ชั่วโมง
2) ระบบประชาธิปไตยชุมชน ซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางตรงจากชุมชนทั้งประเทศ ผ่าน สภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ
3) สภาประชาธิปไตยสังคม ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนของสังคมทั่ว ประเทศ
โจทย์คือ จะมีระบบหรือกลไกอย่างไรที่เชื่อมโยงประชาธิปไตยฐานกว้างกับรัฐสภา
สมัชชานโยบายแห่งชาติ
ให้รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมัชชานโยบายแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ประชุมร่วมของ 4 องค์กร ดังในรูป เป็นโครงสร้างที่ประชาธิปไตยทางอ้อมอย่างเดิมคือ รัฐสภาไม่ถูกรบกวนอะไร เคยเป็นอย่างไรก็อย่างนั้น
แต่มีกลไกประชาธิปไตยทางตรงอีก 3 องค์กร เข้ามาเชื่อมโยง สมัชชาแห่งชาติทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม
นโยบายสาธารณะ หรือนโยบายสาธารณะแห่งชาติ เป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศ และจะทำหรือไม่ทำอะไร และทำอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน ฉะนั้นต้องออกแบบระบบนโยบายให้มีคุณภาพสูงสุดและเป็นกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่เรียกว่า
“กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” หรือ P4 (Participatory Public Policy Process) ที่ผ่านมานโยบายต่างๆ ไม่นำไปสู่ความสำเร็จ เพราะทำเป็นส่วนๆ หรือเป็นบางส่วน ไม่เป็นระบบครบวงจร ก็เหมือนวงจรไฟฟ้าถ้าไม่ครบวงจรไฟก็เดินไม่ได้ ถ้าทำเป็นระบบครบวงจร 12 ขั้นตอน[1] ก็จะสำเร็จทุกเรื่องไม่ว่าจะยากเพียงใด ถ้านโยบายสำคัญๆ ประสบความสำเร็จ บ้านเมืองก็จะลงตัว พ้นจากความยากจน มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความสมดุล ก็จะสงบสุข ไม่ปั่นป่วนวุ่นวาย ประชาชนกินอิ่มนอนหลับ ก็จะมีความพึงพอใจในรัฐบาลและการปกครอง วิกฤตการเมืองก็จะยุติกลายเป็นระบบการเมืองที่สร้างสรรค์
ฉะนั้นขอให้ศึกษาระบบนโยบายสาธารณะครบวงจรให้ดีๆ และจะเข้าใจว่า P4 หรือกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 5 มิติ กล่าวคือ
1. ประชาธิปไตยทางจิตวิญญาณ (Spiritual democracy)
2. ประชาธิปไตยทางสังคม (Social democracy) คือการที่คนทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย
3. เป็นกระบวนการทางปัญญาสูงสุดของคนในชาติร่วมกัน เป็นประชาธิปไตยทางปัญญา (Collective wisdom democracy)
4. เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (Economic democracy) ที่คนทั้งประเทศร่วมกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน (หมายเหตุ : ประชาธิปไตยแบบโบราณใน สหรัฐอเมริกา ประชาชนกำหนดอนาคตทางเศรษฐกิจของตนเองไม่ได้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆ)
5. ประชาธิปไตยทางการเมือง (Political democracy) คือประชาธิปไตยอย่างเก่า
ประชาธิปไตยแบบโบราณ เป็นประชาธิปไตยทางการเมืองมิติเดียว ขาดความเป็นประชาธิปไตยอีก 4 มิติ ดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สมบูรณ์ก็คือพิการ จึงไม่มีพลังของความถูกต้อง
สำนักเลขาธิการสมัชชานโยบายแห่งชาติ เครื่องมือขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร
หัวใจของความสำเร็จอยู่ที่การมีสำนักเลขาธิการสมัชชานโยบายแห่งชาติ ที่เป็นอิสระ มีความคล่องตัว และมีสมรรถนะสูงในการขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร สำนักนี้จึงเป็นระบบราชการไม่ได้ ต้องเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ที่สามารถเลือกสรรคนที่มีคุณภาพสูงสุดในหน้าที่นี้เข้ามาทำงาน ฉะนั้นในการออกแบบสำนักงานเลขาธิการสมัชชานโยบายแห่งชาติ จำเป็นต้องพิถีพิถันอย่างยิ่ง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของระบบประชาธิปไตยใหม่
สรุปสาระสำคัญ ระบบประชาธิปไตยใหม่
1. ระบบประชาธิปไตยเก่าเกิดขึ้นในสังคมโบราณฐานแคบ ขาดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ถูกครอบงำด้วยอำนาจเงินได้ง่าย คุณภาพต่ำ ขัดแย้งสูง ไม่สามารถพาประเทศออกจากภาวะวิกฤตได้
2. ระบบประชาธิปไตยใหม่มีฐานกว้าง เปิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของประเทศ โดยนำประชาธิปไตยทางตรงเข้ามาเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยตัวแทนหรือระบบรัฐสภา
3. แนวคิดนี้ไม่รื้อของเก่าคือระบบรัฐสภา แต่รวมตัวกันทำของใหม่ที่ดีเพิ่มขึ้น จึงไม่มีการต่อสู้แต่ร่วมมือกัน
4. ประชาธิปไตยทางตรงที่เข้ามาเชื่อมและขยายฐาน คือ
(1) ระบบ Big Data ประชาธิปไตย ที่ประชาชนทั้งประเทศสื่อสารด้วยระบบดิจิทัลได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นประชาธิปไตย 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ 4 ปี ไปออกเสียง 1 นาที
(2) สภาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนทั่วประเทศ
(3) สภาประชาธิปไตยทางสังคม ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ กองทัพหรืออะไรอื่น ทุกภาคส่วนมาร่วมกันกำหนดนโยบาย ไม่มีอะไรจะต้องไปรบราฆ่าฟันกัน
5. จัดให้มีสมัชชานโยบายแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ประชุมร่วมของ 4 ภาคส่วน คือ รัฐสภา + ระบบ Big Data ประชาธิปไตย + สภาองค์กรชุมชน + สภาประชาธิปไตยทางสังคม เป็นประชาธิปไตยฐานกว้างที่อำนาจใดๆ ครอบงำไม่ได้ เป็นระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของคนทั้งประเทศ
6. สมัชชานโยบายแห่งชาติ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม หรือ P4 (Participatory Public Policy Process) ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จทุกเรื่อง บ้านเมืองพ้นวิกฤตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างถาวร
7. โดยที่กระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมาคือ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริง ที่ยิ่งทำยิ่งรักกันมากขึ้น ยิ่งเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้น ยิ่งฉลาดมากขึ้น และฉลาดร่วมกัน เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) ทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ และเกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน บ้านเมืองจะลงตัว วิกฤตการเมืองเรื้อรังมา 100 ปี จะผ่านพ้นไป
8. ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ริเริ่มระบบประชาธิปไตยใหม่ เป็นตัวอย่างให้ประเทศต่างๆ ที่พบความตีบตันในระบบประชาธิปไตยเก่ากันถ้วนหน้า เป็นการช่วยให้โลกมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และมีอรรถประโยชน์อย่างแท้จริง
หมายเหตุ :
[1] ดูหนังสือ คู่มือขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ (คู่มือสัมฤทธิศาสตร์พาชาติออกจากวิกฤต)