เหตุผลของการรัฐประหาร ส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผู้นำของรัฐบาล แต่ละครั้งมักเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร โดยมีเหตุผลอ้างถึงความเลวร้ายของรัฐบาล ผลการปฏิบัติของรัฐบาลที่ไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งความเข้มแข็งของประเทศหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงจำเป็นต้องโค่นล้มรัฐบาลลงและต้องการทำบ้านเมืองให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
หมายเหตุ เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสืออัตชีวประวัติของศาสตราจารย์มารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา ชื่อ 'คนห้าแผ่นดิน รอประชาธิปไตยของเมืองไทย' บทที่นำมาเผยแพร่นี้อยู่ในหัวข้อ 'ด้วยจิตวิญญาณแห่งการรอคอยประชาธิปไตย'
ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบของประเทศไทยหากจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ระยะเวลานานมากน้อยสักเพียงใด
เป็นคำถามที่หลายๆคนแสวงหาคำตอบและต้องใช้เวลาที่จะได้การได้รับคำตอบก็คือ ประชาธิปไตยของไทยสมบูรณ์แบบเมื่อใด ที่ผมคิดอยู่เสมอก็คือ ผมเป็นถึงคนห้าแผ่นดินก็ยังคงแสวงหาคำตอบนี้อยู่ และไม่ทราบว่าจะได้รับคำเฉลยคำตอบนี้เมื่อใด
ผมจะขอกล่าวถึงขณะในวัยเด็กๆ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมและประชาชนคนไทยหลายท่านก็คงเข้าใจเช่นเดียวกันว่า“ประชาธิปไตยของไทย ก็คือ เจ้าคุณพหล”(พระยาพหล พลพยุหเสนา)
ครั้นต่อมาขณะที่ผมเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตั้งแต่เริ่มเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จนถึงขั้นศึกษาจนจบธรรมศาสตร์บัณฑิต และเรียนต่อปริญญาโท ผมก็เข้าใจเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น ผมจึงใคร่จะขอกล่าวถึงประชาธิปไตยสักเล็กน้อย
“ประชาธิปไตย”ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ หรือการถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่”
ประชาธิปไตยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ ในสมัยกรีกโบราณเมื่อประมาณ 2000 ปีมาแล้ว แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก และได้รับความนิยมอีกครั้งในยุคที่สหรัฐอเมริกาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 14 กรกฎาคม 2319 หรือในช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาจึงแพร่หลายไปยังทวีปยุโรป และนานาประเทศ กระแสความเปลี่ยนแปลงแพร่ขยายมาสู่ทวีปเอเซียตามลำดับ
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ให้ความหมาย “ประชาธิปไตย” หมายถึง “ระบอบการปกครองแบบหนึ่งซึ่งการบริหารอำนาจรัฐมาจากเสียงข้างมากของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนด้วยตนเอง หรือผ่านผู้แทนที่เลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้...”
ความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ คนส่วนใหญ่มีความต้องการสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค โดยที่จะไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย
สำหรับประเทศไทยนั้น ผมต้องขอกล่าวตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีพื้นฐานความรู้ทางภาษาและวิทยาการตะวันตกเป็นอย่างดีจากการศึกษาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงสมณเพศก่อนขึ้นครองราชย์ อีกทั้งยังทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาภาษาต่างประเทศ ด้วยทรงเห็นว่าการศึกษาภาษาต่างประเทศจะเป็นด่านแรกที่จะเข้าถึงวิทยาการต่างๆ ของชาติตะวันตก พระองค์ทรงเปิดรับรับประเพณีและวัฒนธรรมของตะวันตก พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระประยูรญาติได้รับการศึกษาแบบเดียวกับราชสำนักในยุโรป
ครั้นต่อมา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองและการปฏิรูปการศึกษาตามแบบตะวันตก เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาถึงขั้นอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย บุตรหลานขุนนาง หรือราษฎรสามัญชนที่พ้นจากความเป็นไพร่หรือทาส ถ้าบุคคลใดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็จะมีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศตะวันตกโดยพระบรมราชานุเคราะห์
จากผลการปฏิรูปการศึกษา ทำให้คนไทยบางกลุ่มที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตก มีความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองประเทศในระบอบรัฐธรรมนูญในระบบรัฐสภา บุคคลเหล่านี้จึงมีความคิดตามแนวชาติทางตะวันตกในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงศึกษาวิชาการจากต่างประเทศ และเมื่อเสด็จกลับมาแล้วพระองค์ได้ทรงนำเอาแบบอย่างและวิธีการที่เป็นประโยชน์มาใช้เป็นหลักในการปรับปรุงการศึกษา เช่น ทรงนำเอาแบบอย่างและวิธีการที่เป็นประโยชน์มาใช้เป็นหลักในการปรับปรุงการศึกษา เช่น ทรงนำเอาวิชาลูกเสือจากประเทศอังกฤษเข้ามาจัดตั้งกองเสือป่า พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์โดย ทรงแปลวรรณคดีต่างประเทศเป็นภาษาไทยและทรงนิพนธ์วรรณคดีไว้หลายเรื่อง
นอกจากนี้พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องของระบอบประชาธิปไตยที่อยากจะให้อำนาจเป็นของประชาชน ให้ความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ละเลยความสัมพันธ์ของคนส่วนน้อย ให้มีส่วนในการปกครองประเทศ ท่านจึงได้ทดลองดุสิตธานี เพื่อดูว่าถ้าเราจะปกครองตามแบบระบอบประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไรบ้าง และพระองค์ท่านยังได้ส่งคนไปเรียนในต่างประเทศ เพื่อที่จะให้รู้ว่าประเทศที่เขาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเขาเป็นอย่างไรกัน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อก่อนที่คณะราษฎร์จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์ท่านคิดว่าน่าจะยังไม่ถึงเวลา แต่ในเมื่อเป็นความต้องการของประชาชนท่านก็ทรงยินดี แต่ก็ทรงให้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า ทรงอยากให้อำนาจตกอยู่กับประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่ให้อำนาจไปตกอยู่กับ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือคณะหนึ่งคณะใด เป็นคณะบุคคลเท่านั้น ก็จะเห็นได้ว่าท่านทรงให้ความสำคัญกับประชาชน ให้ความสำคัญกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในแผ่นดิน
จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ของไทยเรา ทรงให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็คือ การรัฐประหาร ซึ่งยึดอำนาจสำเร็จโดยไม่จำเป็นต้องเกิดความรุนแรงหรือเสียเลือดเนื้อเสมอไป หากก่อรัฐประหารไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ก่อการมักถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ
ปัจจุบันในต่างประเทศได้มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในประเทศแถบทวีปแอฟริกา และประเทศด้อยพัฒนา ทั้งสิ้น
แรงจูงใจให้ทำการรัฐประหาร หรือเหตุผลการทำรัฐประหาร บางทีเกิดจากสาเหตุเดียวเป็นเบื้องต้น แต่ผู้ทำรัฐประหารจะโยงหลายสาเหตุเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความเหมาะสมที่ต้องกระทำ
เหตุผลของการรัฐประหาร ส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผู้นำของรัฐบาล แต่ละครั้งมักเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร โดยมีเหตุผลอ้างถึงความเลวร้ายของรัฐบาล ผลการปฏิบัติของรัฐบาลที่ไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งความเข้มแข็งของประเทศหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงจำเป็นต้องโค่นล้มรัฐบาลลงและต้องการทำบ้านเมืองให้ดีขึ้น เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
บางครั้งผู้นำรัฐประหารอ้างความทุกข์ยาก และความเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชน จนได้รับฉายาว่าเป็น “บุรุษผู้รักชาติจนน้ำตาไหล” บ้าง “จอมพลเจ้าน้ำตา” บ้าง เพราะทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์เรื่องการรัฐประหารครั้งนี้ น้ำตาของท่านก็มักไหลนองออกมาด้วยความตื้นตันสงสารประชาชน แต่ผลปรากฏว่าหลังจากที่แต่ละคณะที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็มิได้ทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้นแต่จะกลับเพิ่มความทุกข์ยากให้แก่ประชาชน
ผมตรึกตรองเกี่ยวกับการรัฐประหารในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาถึง 89 ปีที่มีระบอบประชาธิปไตยในไทย ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ การรัฐประหารที่ผู้นำยึดอำนาจรัฐบาลตนเองถึง 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และครั้งที่ 3 รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี การรัฐประหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลที่ตนเองเคยแต่งตั้งมาก่อนแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ.2491 นำโดย พล.โท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งคณะรัฐประหารคณะนี้เคยแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเองหลังจากที่พล.โท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ครั้งที่ 2 รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าได้แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีเองหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ทำการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นอกจากนี้มีรัฐประหารตามที่ตกลงกันไว้ 1 ครั้ง คือรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร
ผมพอจะรวบรวมจากความทรงจำของผม การรัฐประหารของไทยเกิดขึ้นมีจำนวนมากครั้งกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเทศไทยมีรัฐประหารมาแล้วทั้งหมด13 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1.รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ทำการยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
พระยามโนฯ ได้ประกาศยึดอำนาจโดยใช้ พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีกำลังทหารฝ่ายสนับสนุนเตรียมพร้อมในที่ตั้ง หรือ“รัฐประหารเงียบ”
เหตุผลการทำรัฐประหาร คือ มี ส.ส. ข้างมากในสภา และมีรัฐมนตรีข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี ต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่มีมาแต่โบราณกาลให้เป็นแบบ “คอมมิวนิสต์”
จากพระราชกฤษฎีกาที่ใช้ทำรัฐประหารฉบับนี้ ทำให้พระยามโนฯ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มีอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จในแบบรัฐบาลอำนาจเผด็จการ นับแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา พระยามโนฯ จึงมีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีเผด็จการคนแรกในการเมืองไทยสมัยใหม่ คนสมัยนั้นเรียกช่วงเวลานี้ว่ายุค ‘มโนเครซี’ โดยเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Monocracy’ ซึ่งแปลโดยนัยว่า พระยามโนฯ ผู้มีอำนาจเป็นเผด็จการคนเดียว
ครั้งที่ 2.รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
เหตุผลการทำรัฐประหาร คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลายบท คณะทหารบก ทหารเรือ กองทัพอากาศ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ
ครั้งที่ 3.รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ
เหตุผลการทำรัฐประหาร คณะรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสดัง เช่น รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขในเรื่องภาวะการครองชีพของประชาชนการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะเรื่องข้าว มิหนำซ้ำยังปล่อยให้เกิดทุจริตเรื่องนี้ และเรื่องปัญหาเศรษฐกิจการเงิน ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาลพลเรือน และปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ
ครั้งที่ 4.รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491
นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ
เหตุผลการทำรัฐประหาร คณะนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในคณะรัฐประหาร ยึดอำนาจและใช้วาจาบังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อ้างว่ารัฐบาลนายควงไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจของชาติที่ตกต่ำได้ และมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ครั้งที่ 5.รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
เหตุผลการทำรัฐประหาร ประเทศไทยถูกภัยแห่งคอมมิวนิสต์คุกคามเข้ามาอย่างรุนแรง ในคณะรัฐมนตรี และ ในรัฐสภา มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นมาก แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ทั้งไม่สามารถปราบการทุจริตได้ดังที่มุ่งหมายไว้ ความเสื่อมโทรมมีมากขึ้น จนเป็นที่วิตกกันทั่วไปว่า ประเทศชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์การเมืองอย่างนี้จึงคณะทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490พร้อมด้วยประชาชนผู้รักชาติ มุ่งความมั่นคงดำรงอยู่แห่งชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์บรมราชจักรีวงศ์ และระบอบรัฐธรรมนูญ ได้พร้อมกันเป็นเอกฉันท์ กระทำการเพื่อนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ให้เป็นความรุ่งเรืองสถาพรแก่ประเทศชาติสืบไป
จากนั้นคณะบริหารประเทศชั่วคราวได้สั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2492 หันกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกมาใช้แทน
ครั้งที่ 6.รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500
จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เหตุผลการทำรัฐประหาร รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ การเลือกตั้งสกปรก
ครั้งที่ 7.รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เหตุผลการทำรัฐประหาร เหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม มีเหตุผลจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงอย่างยิ่งต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ราชบัลลังก์ ตลอดจนเป็นอุปสรรคขัดขวางการบริหารงานราชการแผ่นดินมิให้ก้าวหน้าไปได้ตามแผนการที่ได้วางไว้แล้ว
เหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามประเทศไทยอย่างรุนแรง ดังประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 4 คือ
เหตุผลที่หนึ่ง การคุกคามของคอมมิวนิสต์เป็นภัยใหญ่หลวงภายในประเทศที่พยายามสร้างอิทธิพลเหนือจิตใจของประชาชน การแทรกแซงของตัวแทนลัทธิคอมมิวนิสต์มีอยู่ทุกกระแสในทางการเมือง เศรษกิจและสังคม โดยใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อและแผนการที่ชาญฉลาด ดำเนินการทั้งในทางลับและเปิดเผย ด้วยการพยายาม ทุกวิถีทางที่จะให้ เกิดความเสื่อมโทรมระส่ำระสายในประเทศ ขุดโค่นราชบัลลังก์ ล้มล้างพระพุทธศาสนา และทำลายสถาบันทุกอย่างที่ชาติไทยได้ผดุงรักษามา
เหตุผลที่สอง พรรคการเมืองหลายพรรคได้หลอกใช้รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยด้วยวิธีการอันเห็นแก่ตัวของพรรค การใช้อภิสิทธิ์และเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ไปในทางที่ผิดของพรรรคการเมืองเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของชาติ ได้สร้างความแตกแยกภายในชาติและทำให้ประชาชนเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน พฤติการณ์นี้จะนำไปสู่ความแตกแยกและความเสื่อมของชาติในที่สุด ความเลวร้ายต่าง ๆ ภายในชาติเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวบุคคล หรือเพียงแต่แก้ระบบบางอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างนับเป็นความผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งการปฏิวัติเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้
เหตุผลที่สาม ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยสถานการณ์ที่ทรุดหนักลงในอินโดจีนและการเป็นปฏิปักษ์ขึ้นทุกทีระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาในกรณีเขาพระวิหาร
เพื่อให้สามารถเผชิญหน้ากับการคุกคามเหล่านี้ คณะปฏิวัติเห็นว่าจะต้องหาหนทางใหม่เพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่ชาติที่อยู่บนหลักการประชาธิปไตยอย่างมั่นคง จัดระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมกับการอยู่รอดของชาติและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย(รัฐประหารตามที่ตกลงกันไว้)
ครั้งที่ 8.รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร จอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารตนเอง
เหตุผลการทำรัฐประหาร ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา
การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน
ครั้งที่ 9.รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่
เหตุผลการทำรัฐประหาร การยึดอำนาจครั้งนี้เพื่อรักษาสถาบันที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐให้ดำรงอยู่ตลอดไป องค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับการอารักขาจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอย่างปลอดภัยแล้วทุกประการ
คณะทหารอ้างว่าไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ โดยใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เพื่อความอยู่รอดของชาติและมิให้ประเทศไทยต้องตกไปเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์
ครั้งที่ 10.รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่
เหตุผลการทำรัฐประหาร การบริหารงานของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่อาจแก้ปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม ให้ลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนท่าทีของรัฐบาลในการลอบวางระเบิดใกล้พลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จังหวัดยะลาทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกกังวล
ครั้งที่ 11.รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์
เหตุผลการทำรัฐประหาร 1.พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง 2.ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต 3.รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา 4.การทำลายสถาบันทางทหาร 5.การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
ครั้งที่ 12.รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
เหตุผลการทำรัฐประหาร มีการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงองค์กรอิสระ การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้
ครั้งที่ 13.รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลัง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)เป็นนายกรัฐมนตรี
ผู้นำรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เหตุผลการทำรัฐประหาร เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวก ทุกฝ่าย มีความขัดแย้งทางความคิดการเมืองอย่างรุนแรงจนถึงระดับครอบครัวคนไทย
การใช้อำนาจการปกครองแบบเดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการกระทำผิด แนวทางการเลือกตั้งในรูปแบบเดิมมีการต่อต้านอย่างกว้างขวาง ถ้าปล่อยไว้อาจเกิดปัญหาวุ่นวาย ไม่รู้จบ การชุมนุมทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี ปัญหาทุจริต การบังคับใช้กฎหมายต่อปัญหาข้างต้น บังคับใช้ไม่ได้ทุกกลุ่ม ทำให้เกิดความหวาดระแวง เกลียดชังกันในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง มีการยุยงปลุกปั่นให้ใช้ความรุนแรง การบริหารราชการแผ่นดินไม่สามารถกระทำได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และความทุกข์ของประชาชน ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย การปลุกระดมมวลชนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มีการจัดตั้งและใช้กองกำลังติดอาวุธ
ผมขอสรุปจากเหตุผลการทำรัฐประหารในอดีตที่ผ่านมาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเหตุผลในการทำรัฐประหารส่วนใหญ่จะอ้างประชาชนเสมอมา เช่น นายพลผู้เฒ่าท่านหนึ่ง ผมไม่ขอเอ่ยชื่อ ในขณะที่เริ่มปฏิวัติก็อ้างว่าสงสารประชาชนจนน้ำตาไหล แต่ต่อมาอยู่กับอำนาจนานๆไป ไม่ทราบเป็นอะไรก็อยากกินไปหมดจนน้ำลายไหล
ความจริงประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่แพ้ชาติอื่นๆ แต่หลายยุคหลายสมัยที่ถูกทหารในเครื่องแบบเข้ายึดอํานาจ เหมือนเป็นเช่นประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ ปกครองในระบอบเผด็จการ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการยึดอํานาจหลายยุค ก็ร่ำรวยกันมหาศาล ส่วนประชาชนในชั้น รากหญ้าก็คงยากจนเช่นเดิม
สิ่งที่ผมไม่สบายใจกับเหตุการณ์บ้านเมือง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก็คือ บ่อยครั้งที่ปรากฏว่ามีผู้ที่เล่นการเมืองบางท่านไม่ได้เข้ามาโดยถูกต้องถูกทางตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ตั้งพรรคการเมือง แต่อาศัยทางลัดใช้อํานาจทางการทหารเข้ามายึดอํานาจปกครองประเทศ
ด้วยจิตวิญญาณแห่งการรอคอยประชาธิปไตยของคนห้าแผ่นดิน เช่นผม ที่ผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าจะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เมื่อไหร่ ก็เพราะ เหตุที่ยังมีบุคคลบางกลุ่มยังนิยมชมชอบการเล่นการเมืองแบบนอกลู่นอกทาง ไม่ยอมใช้วิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย โดยได้รับการเลือกตั้งมาจาก เสียงของประชาชน แต่กลับต้องการเข้าไปนั่งในสภาและเข้าปกครองประเทศ ดังตัวอย่างเช่น ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีรัฐบาลทหารเข้ายึดอํานาจสูงสุด ขณะนี้ ก็ยังไม่จบ มุ่งเข่นฆ่าประชาชนอยู่เสมอ เพราะประชาชนไม่ชอบการกระทำของนักรัฐประหาร