ทางออกจากความตีบตันทางการเมือง คือ P4 “กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Public Policy Process)
....................
อะไรที่แคบตีบตันง่าย
การเมืองอย่างที่เป็น เป็นที่แคบ จึงบีบคั้น ตีบตันง่าย กระทบกระทั่งและขัดแย้งกันสูง ปะทุสู่ความรุนแรงง่าย แล้วยังไม่ได้ผลสัมฤทธิ์ บ้านเมืองจึงวิกฤตซ้ำซาก
ถ้าเข้าใจเรื่องโครงสร้างอำนาจ ก็จะรู้ว่าขณะนี้การเมืองตีบตันแล้ว และเสี่ยงต่อการปะทุเป็นความรุนแรง ที่ร้ายก็คือ รุนแรงแล้วก็ยังไม่ได้ผล
ทางออก คือ ออกจากที่แคบไปสู่ที่กว้าง
แนวคิดแนวทางใหม่ จากการเมืองเรื่องอำนาจ สู่การเมืองเรื่องนโยบาย
การเมืองเรื่องอำนาจ คับแคบ บีบคั้น รุนแรง ขาดอรรถประโยชน์ การเมืองเรื่องนโยบายใหญ่กว่า คนทั้งประเทศร่วมได้ และมีอรรถประโยชน์ใหญ่
นโยบายควรเป็นปัญญาสูงสุดของชาติใดชาติหนึ่ง เพราะมีผลกระทบต่อทุกองคาพยพของประเทศ ทั้งทางวัฒนะ และหายนะ
พันธกิจของการเมือง คือ นโยบาย ทั้งรัฐสภา และครม.
แต่ทำไมประเทศจึงไม่ได้รับอรรถประโยชน์อย่างใหญ่จากนโยบายที่ดี กลับเป็นว่าทำอะไรดีๆ ไม่ค่อยสำเร็จ ประเทศสะสมปัญหาจนวิกฤตทุกทาง รวมกันเป็นวิกฤติใหญ่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ
สังคมไทยขาดสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ ติดกับการคิดเชิงพฤติกรรมส่วนบุคคลและคิดเชิงเทคนิค เป็นเช่นนี้โดยทั่วตลอด รวมทั้งมหาวิทยาลัยทั้งหมด
นโยบายก็เป็นระบบ ถ้าไม่ทำทั้งระบบครบวงจร ก็ไม่เกิดผล
ระบบเครื่องบิน ถ้าประกอบเครื่องครบมันก็บินได้
อุปมาอุปไมยเรื่องระบบมีให้เห็นรอบตัว รถยนต์หรือเครื่องบินถ้าออกแบบระบบให้ถูกต้องและประกอบเครื่องครบ ก็เป็นรถยนต์ที่วิ่งได้ หรือเครื่องบินที่บินได้ แต่ถ้าทำเป็นส่วนๆ หรือบางส่วน ก็ไม่มีรถยนต์หรือเครื่องบินที่จะวิ่งได้หรือบินได้
นั่นแหละปัญหาของประเทศไทย มีนโยบายต่างๆ มากมายที่ไม่ได้ผล เพราะทำเป็นบางส่วน ไม่เป็นระบบครบวงจร ถ้าทำเป็นระบบครบวงจรก็ไม่มีทางที่จะไม่ได้ผล
การขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน สู่ความสำเร็จ
ระบบนโยบายโดยย่อมี 3 องค์ประกอบ โดยขยายมี 12 คือ
• การสังเคราะห์นโยบาย …………………..............… วิชาการ 4 ขั้นตอน
• การตัดสินใจทางโยบาย ………………….............… การเมือง 1 ขั้นตอน
• การบริหารจัดการนโยบายไปสู่ความสำเร็จ ………… การบริหารจัดการ 7 ขั้นตอน
รวม 12 ขั้นตอน
การตัดสินใจทางนโยบายเป็นหน้าที่ของการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของระบบนโยบาย สิ่งที่ขาด คือ การสังเคราะห์นโยบายที่ดีที่มหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยทำ และการบริหารจัดการนโยบายที่ตัดสินใจแล้วไปสู่ความสำเร็จ
เมื่อมีอะไรไม่ดีผู้คนมักเพ่งเล็งไปที่การเมือง ขาดความเข้าใจส่วนขาดที่แท้จริง คือ การสังเคราะห์นโยบายสาธารณะที่ดี และการบริหารนโยบายไปสู่ความสำเร็จ
เมื่อไม่สำเร็จก็ออกแบบนโยบายอีกๆ อย่างเรื่องเด็กปฐมวัย แล้วก็ไม่สำเร็จไปเรื่อยๆ เพราะขาดความเข้าใจส่วนการบริหารนโยบายไปสู่ความสำเร็จอีก 7 ขั้นตอน
เมื่อไม่สำเร็จก็กล่าวโทษและทะเลาะกัน แตกแยกกัน เพราะคิดเชิงพฤติกรรมส่วนบุคคลขาดสมรรถนะการคิดเชิงระบบ และการจัดการ
ฉะนั้น การทำความเข้าใจระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน และฝึกให้ขับเคลื่อนระบบนโยบายเป็น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่จะทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จทุกเรื่อง ทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก
ตัวอย่างนโยบายที่มีผลใหญ่
ท่ามกลางการขาดความสำเร็จในเรื่องดีๆ ของประเทศไทย ที่มีบ้างและมีผลใหญ่ เช่น นโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่คุณหมอสงวนขับเคลื่อน มีผลลดความทุกข์ยากของคนจนทั้งประเทศ
นโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่คุณหมอหทัย คุณหมอประกิต และคุณบังอร ขับเคลื่อนเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมของคนไทยทั้งประเทศ จากการคิดว่าสูบบุหรี่ เท่ โก้เก๋ เป็นสิ่งพึงรังเกียจที่ทำลายสุขภาพ ทำให้ประเทศไทยปลอดจากควันบุหรี่ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง และโรคอื่นๆ
คุณหมอสงวน คุณหมอหทัย คุณหมอประกิต และคุณบังอร บุคคลเหล่านี้คือ นักขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ความสำเร็จ
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นนโยบายที่ใหญ่มาก คือ การที่ประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) เมื่อ พ.ศ.2537 คพป. ขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปการเมือง โดยการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องยากสุดๆ หรือเป็นไปไม่ได้ในยามปรกติ แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงบางมาตรา แต่การขับเคลื่อนของ คพป.ก็สำเร็จเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด
โดยสรุป นโยบายที่ดีๆ ถ้ามีการขับเคลื่อนที่ถูกต้อง สามารถนำไปสู่ความสำเร็จ และมีผลใหญ่ จึงควรใส่ใจวิธีขับเคลื่อนนโยบายสู่ความสำเร็จ
กระบวนการนโยบายแบบมีส่วนร่วมหรือ P4 (Participatory Public Policy Process) คือ ประชาธิปไตยที่ใหญ่และมีอรรถประโยชน์มากที่สุด
ถ้าพิจารณาระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน จะเห็นว่ากระบวนการนี้ประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อม (การเมืองโดยการเลือกตั้ง) เข้ามาบรรจบกัน เป็นกระบวนการทางปัญญาสูงสุดของชาติ เกิดอรรถประโยชน์ใหญ่จากความสำเร็จของนโยบายที่ดี แม้ยากเพียงใดก็สำเร็จได้ด้วยกระบวนการนี้
และเมื่อคนทั้งประเทศร่วมขับเคลื่อนนโยบาย และนโยบายเป็นระบบครบวงจร คนไทยทุกคนก็จะกลายเป็นคนเก่งและคนดี รวมทั้งนักการเมืองด้วย เพราะทุกภาคส่วนลงตัวและสัมพันธ์กันในระบบ ไม่มีใครแตกแถวเข้ารกเข้าพง แม้แต่ความรุนแรงก็จะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนระบบ ดูตัวอย่างระบบรถยนต์และระบบเครื่องบิน การระเบิดน้ำมันในเครื่องยนต์นั้นรุนแรงมาก แต่ไม่ทำอันตรายใคร แต่เป็นพลังขับเคลื่อนระบบ ความรุนแรงถ้าอยู่โดดเดี่ยวนอกระบบ มันคือลูกระเบิด ประเทศไทยมีลูกระเบิดในสังคมมาก เพราะขาดการจัดระบบ จึงกล่าวว่าถ้าเรามีระบบนโยบายที่ดีทุกอย่างจะลงตัวและไม่มีความรุนแรงอีกต่อไป พรรคการเมืองจะกลายเป็นสถาบันพัฒนานโยบายสาธารณะ นักการเมืองจะกลายเป็นนักขับเคลื่อนนโยบาย การเมืองเรื่องอำนาจจะกลายเป็นการเมืองเรื่องนโยบาย และไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวคับแคบ แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนโยบายที่คนทั้งประเทศมีส่วนร่วม
P4 หรือกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นทางออกจากการเมืองที่คับแคบและตีบตัน สร้างประชาธิปไตยฐานกว้าง เป็นประชาธิปไตยทางปัญญา และประชาธิปไตยอรรถประโยชน์ จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ด้วยก็ยังได้ หรือเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
การกำหนดประเด็นใหญ่ประเทศไทย (Thailand Big Issues)
ไม่เป็นการยากที่คนไทยจากภาคส่วนต่างๆ จะร่วมกันระดมความคิดว่า ประเทศไทยมีประเด็นใหญ่อะไรบ้าง อาจมีประมาณ 20 – 25 ประเด็น ประเด็นใหญ่เหล่านี้ก็คือ ประเด็นนโยบายสาธารณะ นำไปสู่การรับรู้ของสาธารณะอย่างทั่วถึง คนไทยก็จะเกิดความมุ่งมั่น (Purpose) ร่วมกัน คนไทยไม่เคยมีความมุ่งมั่นร่วมกัน มีแต่ไปคนละทิศละทางเหมือนแย้ลงรูเมื่อใดมีความมุ่งมั่นร่วมกัน จะมีพลังทะลุทะลวงประตูแสงเลเซอร์
สมมุติว่ามีประเด็นนโยบายสาธารณะ 25 ประเด็น ก็มีกลุ่มขับเคลื่อนนโยบาย 25 กลุ่ม ถ้าแต่ละกลุ่มมีวิธีขับเคลื่อนเป็นระบบครบวงจร ก็จะประสบความสำเร็จทั้ง 25 เรื่อง
ลองนึกภาพว่าประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในนโยบายใหญ่ๆ 25 เรื่อง จะเป็นอย่างไร
ตัวอย่างประเด็นใหญ่ประเทศไทย
1. ประเทศไทยพ้นภัยโควิด ภายใน 1 ปี
2. ความเหลื่อมล้ำและการขาดความเป็นธรรม
3. ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ
4. ฐานของประเทศแข็งแรง ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
5. ปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างสมรรถนะของชาติ
6. คุณภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว
7. ขจัดการตายของคนไทยปีละ 20,000 คน จากอุบัติเหตุจราจร
8. ระบบดิจิทัลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม
9. ปฏิรูประบบความยุติธรรม
10. คนรุ่นใหม่กับอนาคตประเทศไทย
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่าง ไม่เป็นการยากที่คนไทยจะร่วมกันกำหนดประเด็นใหญ่ประเทศไทย ซึ่งอาจมี 20 - 25 ประเด็น
เครื่องมือขับเคลื่อนระบบนโยบาย
“การขับเคลื่อน” เป็นคำกุญแจ ถ้ามีแต่การทำงานเป็นส่วนๆ ถ้าไม่มีการขับเคลื่อนส่วนต่างๆ ก็อยู่แยกและไม่ครบ เช่น แพลนนิ่ง มันอาจจะนิ่งอยู่กับที่ การมีแผนแต่ไม่มีการขับเคลื่อนก็ไม่เกิดความสำเร็จ เรามีองค์กรที่ทำแผนแห่งชาติในเรื่องต่างๆ หลายองค์กร แต่ก็ไม่เกิดความสำเร็จถ้าขาดการขับเคลื่อน การขับเคลื่อนทำให้ส่วนต่างๆ ครบ และเข้ามาเชื่อมโยงกัน
ที่ดีที่สุด คือ คนที่มีฉันทะ วิริยะ และสมรรถนะ ในประเด็นนโยบายหนึ่งๆ มาก่อตัวกันขึ้น (Self-organized) เป็นกลุ่มขับเคลื่อนนโยบาย การแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งประกอบด้วยผู้มีตำแหน่งต่างๆ เช่น คณะกรรมการแห่งชาติเรื่องนั้นเรื่องนี้ แม้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็มักไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ใช่ผู้ที่มีฉันทะ วิริยะ และทักษะเหมาะสม
“กลุ่มขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ” จะอยู่ที่ไหนก็ได้ เช่น เป็นกลุ่มอิสระ หรืออยู่ในกระทรวง ทบวง กรม มูลนิธิ มหาวิทยาลัย ฯลฯ ขอให้เป็นของแท้และมีอิสระ หากมหาวิทยาลัยมีสมรรถนะในการคิดเชิงระบบและการจัดการ แล้วทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต
รัฐบาลกับประเด็นใหญ่ประเทศไทย 25 ประเด็น
ต่อไปใครมาเป็นรัฐบาล ก็จะทำงานง่ายและประสบความสำเร็จสูง คือ
1. ประกาศว่า 25 ประเด็นใหญ่ เป็นนโยบายของรัฐบาล เพราะประเด็นเหล่านี้ผ่านการร่วมคิดของสังคมไทยมาแล้ว
2. ตั้งคณะกรรมการอิสระขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ 25 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วยประธานที่มีปัญญาบารมีสูง และสมาชิกกลุ่มที่มีสมรรถนะเหมาะสม ซึ่งสามารถระดมมาได้จากทุกวงการ เมื่อคณะกรรมการแต่ละคนขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอน ก็ไม่มีทางที่จะไม่สำเร็จ นโยบายสาธารณะก็จะสำเร็จทุกเรื่อง
3. รัฐบาลออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหรือพรบ. 25 ฉบับ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายแต่ละเรื่องก็ได้
4. ในทุกกลุ่มขับเคลื่อนนโยบาย ควรมีผู้นำคนรุ่นใหม่เข้าร่วมด้วย เพราะเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะในการคิดเชิงระบบ และการจัดการสู่ความสำเร็จเพื่อเป็นพลังอนาคตประเทศไทย การศึกษาในระบบไม่ใช่คำตอบ หรือการลงถนนประท้วงก็ไม่สามารถสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพได้เท่ากับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
P4 จึงเป็นเครื่องมือออกจากความตีบตันทางการเมือง