"....ในการจัดประกวดราคาครั้งแรก มีเอกชนให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองกว่า 20 ราย แต่มีเอกชน 4 ราย ยื่นข้อเสนอมา แต่เอกชนแรกที่ 1 กับรายที่ 2 ไม่ผ่านการพิจารณาเนื่องจากผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ คือการไม่มีตัวแทนในประเทศไทย เหลือแค่เอกชนรายที่ 3 และ 4 ที่ผ่านเกณฑ์ ขณะที่เอกชนราย ที่ 3 เสนอราคางานต่ำกว่า เอกชนรายที่ 4 จึงทำให้เอกชนรายที่ 3 มีผ่านเกณฑ์การคัดเลือกได้รับการว่าจ้างดำเนินการโครงการนี้ แต่แทนที่ผู้มีอำนาจของ กฟภ. จะนำเรื่องเข้าเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ กฟภ. เพื่อให้พิจารณาอนุมัติผลการประกวดราคา กลับสั่งการให้มีการยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว และตั้งคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการประกวดราคาโครงการนี้แทน ..."
การประกวดราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำ 115 เควี (วงจรที่ 4) เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี วงเงิน 2,133,055,700 บาท ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อปรากฎข้อมูลว่า ผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ผิดปกติของผู้มีอำนาจใน กฟภ. ที่เข้ามาแทรกแซงล้วงลูกขั้นตอนการประกวดราคา โดยการสั่งยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง จนทำให้การประกวดราคาโครงการเกิดความล่าช้า ทั้งที่ ได้ตัวเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกทั้งเรื่องคุณสมบัติและราคางานไปแล้ว
แหล่งข่าวจาก กฟภ. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า การประกวดราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำ ไปยังเกาะสมุย วงเงิน 2,133,055,700 บาท ดังกล่าว ถูก กฟภ. สั่งยกเลิกการประกวดราคามาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่การประกวดราคาครั้งแรก ช่วงเดือนต.ค.2562 ได้ตัวเอกชนผู้ชนะไปเรียบร้อยแล้ว
โดยในการจัดประกวดราคาครั้งแรก มีเอกชนให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองกว่า 20 ราย แต่มีเอกชน 4 ราย ยื่นข้อเสนอมา แต่เอกชนแรกที่ 1 กับรายที่ 2 ไม่ผ่านการพิจารณาเนื่องจากผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ คือการไม่มีตัวแทนในประเทศไทย เหลือแค่เอกชนรายที่ 3 และ 4 ที่ผ่านเกณฑ์
ขณะที่เอกชนราย ที่ 3 เสนอราคางานต่ำกว่า เอกชนรายที่ 4 จึงทำให้เอกชนรายที่ 3 มีผ่านเกณฑ์การคัดเลือกได้รับการว่าจ้างดำเนินการโครงการนี้
แต่แทนที่ผู้มีอำนาจของ กฟภ. จะนำเรื่องเข้าเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ กฟภ. เพื่อให้พิจารณาอนุมัติผลการประกวดราคา กลับสั่งการให้มีการยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว และตั้งคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการประกวดราคาโครงการนี้แทน
"มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้มีอำนาจของกฟภ. ออกคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว เพราะเห็นว่า เอกชนรายที่ 2 ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนจากประเทศจีน เสนอราคางานต่ำกว่าเอกชนรายที่ 3 อย่างมาก จะช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้มาก ขณะที่เงื่อนไขทีโออาร์เรื่องการไม่มีตัวแทนในไทย กรมบัญชีกลาง ได้มีการประกาศผ่อนปรณแล้วในภายหลัง” แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว ยังกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่มีการออกคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาครั้งแรกไปแล้ว ก็มีการออกสั่งยกเลิกงานที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคาตามมาอีก 2 ครั้งด้วย จึงทำให้จนถึงปัจจุบันการดำเนินงานโครงการนี้ ก็ยังไม่ได้ตัวผู้รับจ้าง
แหล่งข่าว ยังกล่าวด้วยว่า แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ของผู้มีอำนาจใน กฟภ. ในการเข้ามาแทรกแซงล้วงลูกขั้นตอนการประกวดราคา มีการสั่งยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง จนทำให้การประกวดราคาเกิดความล่าช้า ส่อให้เห็นถึงข้อพิรุธในการดำเนินงานหลายประการ โดยใช้คำว่า "มีความกังวลใจ" และเห็นว่ามี "พฤติการณ์ผิดปกติ"
"แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของ กฟภ. ได้ทำหนังสือชี้แจงถึง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อยืนยันว่าขั้นตอนการดำเนินงานประกวดราคาโครงการนี้ ว่า เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่มีเจตนายกเลิกการประกวดราคาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งแล้ว" แหล่งข่าวระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับโครงการฯ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2562 ได้มีมติเห็นชอบให้ กฟภ. ดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงินลงทุน 2,130 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ภายในประเทศ 1,597 ล้านบาท โดยจะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ และเงินรายได้จาก กฟภ. รวม 533 ล้านบาท
สำหรับโครงการก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำ 115 เควีนั้น เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อทดแทนการจ่ายไฟของสายเคเบิ้ลใต้น้ำระบบ 33 เควี ที่มีอายุการใช้งานครบ 30 ปี และสายเคเบิ้ลใต้น้ำระบบ 115 เควี ชนิด Oil Filled ที่ชำรุด เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า เพื่อลดความเสียหายเนื่องจากไฟฟ้าดับ ทั้งนี้ โครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2562-2563
จากกรณีดังกล่าวนั้น สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยังนายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ.เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้
โดยนายสมพงษ์ชี้แจงว่า "ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ คือ ที่ผ่านมานั้นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้มีความพยายามที่จะจ้างเอกชนที่เสนอราคามาในลำดับที่ 3 แต่ส่วนตัวแล้วเมื่อได้ดูในรายละเอียดก็พบว่าเอกชนลำดับที่ 3 นั้น มีการเสนอราคาแพงกว่าเจ้าที่ 2 ถึงกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ว่าฯ กฟภ. เราก็ได้เรียกร้องให้เขาชี้แจงในหลายมิติ แต่ก็ไม่ได้รับคำชี้แจงกลับมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับองค์กรจึงได้มีการหารือกับทางด้านคณะกรรมการ กฟภ. และยกเลิกการประกวดราคาไป"
"ในการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างนั้นไม่อยากให้ดูเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้ดูข้อมูลในเรื่องเทคนิคต่างๆ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้นั้นรายละเอียดมันค่อนข้างเยอะ มีเอกสารมากมาย อาจจะต้องมีการพูดคุยและชี้แจงกันอีกทีหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่าโครงการนี้มีผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมเข้ามาทำหน้าที่ด้วย ซึ่งทางเราก็ได้ชี้แจงให้เขาได้ทราบรายละเอียดไปหมดแล้ว แต่ถ้าหากทางด้านองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเขาสงสัยและจะเข้ามาตรวจสอบ ทาง กฟภ.ก็ไม่ขัดข้องอะไรตรงนี้" ผู้ว่าฯ กฟภ. ระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/