“...เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 มีการเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กฟภ. ได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคา ณ วันที่ 26 ก.พ. 2563 ทำให้ข้อกังวลใจชัดแจ้งขึ้น คือ มีเจตนายกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้ก่อนครบกำหนดยืนราคาในวันที่ 22 ก.พ. 2563 เพียง 3 วัน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นเสนอราคาบางรายหรือไม่ vs กฟภ. มีสิทธิยกเลิกประกวดราคาตามระเบียบกระทรวงการคลัง ข้อ 53 แม้ว่าจะอยู่ในขั้นตอนขอความเห็นชอบจากผู้ว่า กฟภ. เพื่อเสนอคณะกรรมการ กฟภ. อนุมัติสั่งจ้างแล้วก็ตาม ซึ่ง กฟภ. สอบถามกรมบัญชีกลางด้วยวาจาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนที่ กฟภ. จะนำมาใช้ในการพิจารณายกเลิกประกวดราคาด้วยแล้ว…”
"ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ คือ ที่ผ่านมานั้นกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้มีความพยายามที่จะจ้างเอกชนที่เสนอราคามาในลำดับที่ 3 แต่ส่วนตัวแล้วเมื่อได้ดูในรายละเอียดก็พบว่าเอกชนลำดับที่ 3 นั้น มีการเสนอราคาแพงกว่าเจ้าที่ 2 ถึงกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ว่าฯ กฟภ. เราก็ได้เรียกร้องให้เขาชี้แจงในหลายมิติ แต่ก็ไม่ได้รับคำชี้แจงกลับมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับองค์กรจึงได้มีการหารือกับทางด้านคณะกรรมการ กฟภ. และยกเลิกการประกวดราคาไป"
คือ คำชี้แจงจากนายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เกี่ยวกับเงื่อนปมปัญหาการประกวดราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำ 115 เควี (วงจรที่ 4) เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไปไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงิน 2,133,055,700 บาท ของ กฟภ. ที่ถูกผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)หรือ ACT ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ผิดปกติของผู้มีอำนาจใน กฟภ. ที่เข้ามาแทรกแซงล้วงลูกขั้นตอนการประกวดราคา โดยสั่งยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง จนทำให้การประกวดราคาโครงการเกิดความล่าช้า ทั้งที่ ได้ตัวเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกทั้งเรื่องคุณสมบัติและราคางาน ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอไปก่อนหน้านี้
(อ่านประกอบ : พฤติการณ์ผิดปกติ-ยกเลิกประมูล3ครั้ง! ACT ท้วงเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย2พันล.-กฟภ.ยันโปร่งใส)
เพื่อขยายความข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลจากผู้สังเกตการณ์ของ ACT และคำชี้แจงของ กฟภ. มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ข้อสังเกตของผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ACT
ผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ACT มี 4 ราย มีช่วงระยะเวลาสังเกตการณ์โครงการดังกล่าว ระหว่าง 24 ก.ค. 2560-13 มี.ค. 2563 โดยทำบันทึกแจ้งเบื้องต้นกรณีมีเหตุสงสัยว่าจะเกิดการคอร์รัปชั่น-การทำผิดระเบียบ สรุปได้ดังนี้
ในการยื่นประกวดราคา เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 มีผู้ยื่นเสนอราคา 4 ราย โดยผลคือ เอกชนรายที่ 1 เสนอราคา 1,229,971,077 บาท แต่มีเอกสารไม่ผ่านการพิจารณาคือ 1.ผลงานตามเงื่อนไขการประกวดราคา เป็นผลงานก่อสร้างนามกลุ่มร่วมค้าไม่สามาแยกเป็นผลงานของบริษัทผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งได้ และ 2.เอกสารทางเทคนิคของอุปกรณ์ไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขในทีโออาร์
เอกชนรายที่ 2 เสนอราคา 1,234,947,600 บาท แต่มีเอกสารไม่ผ่านการพิจารณาคือ หนังสือรับรองการขายของอุปกรณ์ออกจากผู้แทนจำหน่ายที่ไม่มีการจำหน่ายในไทย
เอกชนรายที่ 3 เสนอราคา 1,668,282,582 บาท เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามเงื่อนไขการประกวดราคา
เอกชนรายที่ 4 เสนอราคา 1,677,760,000 บาท เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามเงื่อนไขการประกวดราคา
จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาผลฯ สรุปผลการผ่านการพิจารณา 2 ราย คือเอกชนรายที่ 3 เสนอราคา 1,668,182,582 บาท และเอกชนรายที่ 4 เสนอราคา 1,677,760,000 บาท ส่งผลให้เอกชนรายที่ 3 เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงินต่ำกว่าเงินงบประมาณ 468,756,300 บาท และต่ำกว่าราคากลาง 102,435,380 บาท อย่างไรก็ดีต่อมาเมื่อเดือน ก.พ. 2563 กฟภ.ได้ยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าวตามความเห็นของผู้ว่า กฟภ.
ทั้งนี้รายละเอียดการสังเกตการณ์ (กรณีพบเหตุกังวลใจ) ของผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมของ ACT มีรายละเอียดดังนี้
1.ผู้สังเกตการณ์ได้รับหนังสือจากประธานกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 12 พ.ย. 2562 ขอให้ผู้มีอำนาจใน กฟภ. หยุดพฤติกรรมแทรกแซง และสั่งการโดยมิชอบในการพิจารณาผลการประกวดราคาดังกล่าว และมีความกังวลใจในสาระสำคัญบางประการที่ได้ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าว อาจเป็นพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตหรืออาจนำไปสู่การทุจริตได้หรือไม่ จึงได้แจ้ง ACT เพื่อปรึกษาหารือและพิจารณาแจ้งหน่วยงานเจ้าของโครงทราบ เพื่อให้มีการชี้แจงหรือแก้ไข และ ACT มีหนังสือเมื่อ 21 พ.ย. 2562 แจ้งข้อสังเกตของคณะผู้สังเกตการณ์ถึงประธานกรรมการ กฟภ. ปัจจุบันคณะกรรมการ กฟภ. ยังไม่ได้มีมติสั่งการและผลการตรวจสอบให้ ACT หรือผู้สังเกตการณ์ทราบ
2.ผู้สังเกตการณ์มีความกังวลใจว่า ในขั้นตอนหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้ความเห็นชอบรายงานผลการพิจารณาฯ (ก่อนนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งจ้าง) มีพฤติการณ์ผิดปกติและมีความล่าช้าเกินควร และได้ตรวจสอบเอกสารประกวดราคาแล้ว ดังนั้นนับแต่วันเสนอราคาวันที่ 27 ส.ค. 2562 ครบกำหนดยืนราคาในวันที่ 26 ก.พ. 2563 หากล่วงวันดังกล่าวอาจเป็นเหตุให้ผู้ยื่นเสนอราคาปฏิเสธไม่ยอมมาจัดทำสัญญาเนื่องจากราคาพัสดุทางการค้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงในทางสูงหรืออาจถอนการเสนอราคาจนเหลือผู้ยื่นเสนอราคาเพียงรายเดียว หรือไม่เหลือสักราย จึงเป็นช่องทางให้มีการยกเลิกประกวดราคา อาจเป็นการปิดกั้นโอกาสให้มิให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมที่แท้จริง เพื่อเอื้อประโยชน์ผู้เข้าร่วมเสนอราคาบางรายโดยยกเลิกประกวดราคา และให้ประกวดราคาใหม่ อาจทำให้หน่วยงานรัฐเสียประโยชน์ และอาจทำให้ประชาชนในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เสียประโยชน์ในการใช้ไฟฟ้าที่มีความเสถียร
3.ปัจจุบันเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 มีการเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กฟภ. ได้ประกาศยกเลิกการประกวดราคา ณ วันที่ 26 ก.พ. 2563 ทำให้ข้อกังวลใจชัดแจ้งขึ้น คือ มีเจตนายกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้ก่อนครบกำหนดยืนราคาในวันที่ 22 ก.พ. 2563 เพียง 3 วัน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นเสนอราคาบางรายหรือไม่ เพราะไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และข้อตกลงคุณธรรม ในขั้นตอนเห็นชอบรายงานก่อนเสนอขออนุมัติสั่งจ้าง มีการมอบหมายคณะบุคคลให้กลั่นกรองงานของคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ในลักษณะเป็นผู้สนับสนุนให้ความเห็นต่อผู้ว่า กฟภ. โดยที่ไม่ได้เชิญผู้สังเกตการณ์ ACT เข้าร่วมแต่อย่างใด
เมื่อคณะบุคคลเสนอความเห็นต่อผู้ว่า กฟภ. แล้ว ผู้ว่า กฟภ. เห็นชอบยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว และให้ประกวดราคาใหม่ทันที โดยไม่ถามความเห็นจากหัวหน้าเจ้าหน้าที่ (ผอ.กองจัดการงานระบบไฟฟ้า) ว่าถูกต้องตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งเป็นการตัดตอนไม่ให้คณะกรรมการ กฟภ. ได้มีโอกาสพิจารณาอนุมัติสั่งจ้างหรือไม่ จึงเป็นกรณีที่พบว่า หน่วยงานภาครัฐหรือผู้เข้าร่วมเสนอราคา มิได้ปฏิบัติหรือกระทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงคุณธรรมกำหนด หรือพบเห็นพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตหรืออาจนำไปสู่การทุจริตได้
@คำชี้แจง กฟภ.
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 กฟภ.ทำหนังสือชี้แจงข้อสังเกตของคณะผู้สังเกตการณ์ ACT ในกรณีดังกล่าว สรุปได้ว่า
ประเด็นผู้ว่า กฟภ.ดำเนินการพิจารณา ในพฤติการณ์ที่ผิดปกติและล่าช้าจนเกินควรนั้น ชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงแต่ผู้ว่า กฟภ. สั่งการให้สายงานวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้าพิจารณารายละเอียดการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ และได้ประสานขอเอกสารต้นฉบับ ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2562 จนถึง 23 ม.ค. 2563 เป็นระยะเวลา 77 วัน จึงได้รับเอกสารต้นฉบับจากคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ครบถ้วน ต้องทำบันทึกถึง 3 ครั้ง จนครั้งสุดท้ายมีบันทึกสั่งการให้คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ส่งเอกสารให้ผู้ว่า กฟภ. ภายใน 23 ม.ค. 2563 เมื่อได้รับเอกสารแล้ว สายงานวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้าได้พิจารณาเอกสารซึ่งมีมากสุด 30 เล่ม สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า
1.เอกสารของเอกชนรายที่ 3 มีประเด็นการพิจารณาผู้รับผิดชอบหลักในการประกวดราคาไม่สอดคล้องกับเอกสารประกวดราคา เช่น ใช้ Consortium Agreement (ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วน) เป็นภาษาอังกฤษ โดยเอกชนรายที่ 3 เป็น Consortium Agreement ส่วนเอกชนอีกรายในกลุ่มกิจการร่วมค้าเป็น Main Consortium Agreement โดยสายงานวางแผนและพัฒนาหารือไปยังกรมบัญชีกลาง แจ้งว่าไม่มีหลักเกณฑ์หรือรูปแบบสัญญาที่เป็นมาตรฐาน สำหรับยืนยันการเป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่แนะนำให้พิจารณาจากหน้าที่และความรับผิดชอบในการประกวดราคา
(หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา: เอกชนรายที่ 3 เป็นกลุ่มกิจการร่วมค้า A (นามสมมติ แบ่งเป็น เอกชน ก เป็นหุ้นส่วน และเอกชน ข เป็นหุ้นส่วนผู้รับผิดชอบหลักตามคำชี้แจงของ กฟภ.)
2.ข้อเท็จจริงในขั้นตอนการนำเสนอขออนุมัติของคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ประกอบกับผู้ว่า กฟภ. ตรวจสอบเอกสารต้นฉบับของเอกชนผู้เสนอราคาทั้ง 4 ราย ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการพิจารณาผลฯ มีหนังสือสอบถามไปยังเอกชนรายที่ 3 หรือมีหนังสือของเอกชนรายที่ 3 แต่อย่างใด โดยคณะกรรมการพิจารณาผลฯ พิจารณาแล้วสรุปว่า เอกชน ข เป็นผู้เสนอราคาหลักโดยไม่ได้บอกเหตุผล และไม่ได้กล่าวถึงการพิจารณาคุณสมบัติ ประสบการณ์ของเอกชน ก ที่ใช้คำว่า Consortium Leader และที่สำคัญ Consortium Agreement ระบุชัดเจนว่า เอกชน ก เป็นผู้บริหารโครงการ รวมทั้ง Supply สายเคเบิ้ลใต้น้ำซึ่งมีมูลค่างานเกือบทั้งหมดของการประกวดราคานี้
3.รายละเอียดข้างต้น เห็นว่าคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ไม่ได้สอบถามเพิ่มเติมในประเด็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งเป็นการดำเนินการไม่สอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาผู้รับผิดชอบหลักตามที่กรมบัญชีกลางได้ให้ข้อแนะนำไว้ และเมื่อ Consortium Agreement ไม่ได้ระบุผู้รับผิดชอบหลักไว้อย่างชัดเจน จะต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมค้าทั้ง 2 ราย (เอกชน ก และเอกชน ข) ให้มีคุณสมบัติไปตามทีโออาร์ เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว พบว่ามีเพียงเอกชน ข ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามกำหนดในเอกสารประกวดราคา ส่วนเอกชน ก มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน คือไม่มีประสบการณ์งานก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำตามเอกสารประกวดราคากำหนด จึงเห็นว่ากิจการร่วมค้าเอกชนรายที่ 3 มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามทีโออาร์ จึงไม่ผ่านคุณสบัติ ดังนั้นการประกวดราคาดังกล่าวจึงมีผู้เสนอราคาไม่ถูกต้อง 3 ราย ได้แก่ เอกชนรายที่ 1 เอกชนรายที่ 2 และเอกชนรายที่ 3 คงเหลือผู้เสนอราคาที่มีคุณสมบัติถูกต้องรายเดียว
ประเด็นผู้ว่า กฟภ. มีเจตนายกเลิกประกวดราคาก่อนครบกำหนดยืนราคาเพียง 3 วัน เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ยื่นเสนอราคาบางรายหรือไม่นั้น ขอชี้แจงสรุปได้ว่า
1.จากคำชี้แจงข้างต้น เห็นว่าการดำเนินการจัดส่งหนังสือเอกสารต้นฉบับจากคณะกรรมการพิจารณาผลฯ มายังผู้ว่า กฟภ. ใช้เวลานานกว่า 2 เดือน จึงเหลือช่วงเวลาพิจารณา 1 เดือน ดังนั้นจึงไม่ได้มีเจตนาถ่วงเวลาเพื่อยกเลิกประกวดราคาก่อนครบกำหนดยืนราคาเพียง 3 วัน หรือเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดแต่อย่างใด
2.ผู้ว่า กฟภ. ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 โดยมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงกลั่นกรองงาน เป็นขบวนการทำงานปกติเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรอบคอบ และถูกต้องตามระเบียบ หลักเกณฑ์ เป็นการบริหารงานภายในองค์กร จึงสามารถกระทำได้ ขณะเดียวกันข้อเสนอของผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายงานในครั้งนี้ พิจาราจากข้อเท็จจริงตามเอกสารที่ปรากฏในเว็บไซต์ e-GP (การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง) และเอกสารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกฎหมายและเอกสารราชการ ในการอ้างอิงไม่ใช่การใช้ดุลพินิจแต่อย่างใด
ส่วนกรณีคณะกรรมการพิจารณาผลฯ ประชุมกันและทำหนังสือข้อโต้แย้งถึงผู้ว่า กฟภ.นั้น ขอชี้แจงว่ามิได้รับรายงานโต้แย้งแต่อย่างใด นอกจากนี้ กฟภ. มีความเห็นตามระเบียบกระทรวงการคลัง ข้อ 53 ไม่มีข้อกำหนดว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องยกเลิกกาดรำเนินการซื้อหรือจ้าง ในขั้นตอนช่วงการเผยแพร่ประกาศ และเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น หากแต่กำหนดให้สิทธิที่หน่วยงานของรัฐสามารถยกเลิกประกวดราคาได้ หากหน่วยงานของรัฐกำหนดรายละเอียดของประกาศ หรือเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อหรือจ้างไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทั้งหมด หรือแต่บางส่วน
ดังนั้นจึงเห็นว่า กฟภ. มีสิทธิยกเลิกประกวดราคาตามระเบียบกระทรวงการคลัง ข้อ 53 แม้ว่าจะอยู่ในขั้นตอนขอความเห็นชอบจากผู้ว่า กฟภ. เพื่อเสนอคณะกรรมการ กฟภ. อนุมัติสั่งจ้างแล้วก็ตาม ซึ่ง กฟภ. สอบถามกรมบัญชีกลางด้วยวาจาเกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนที่ กฟภ. จะนำมาใช้ในการพิจารณายกเลิกประกวดราคาด้วยแล้ว
นี่เป็นเพียงข้อเท็จจริงในสาระสำคัญจากทั้ง 2 ฝ่าย เกี่ยวกับเงื่อนปมปัญหาการประกวดราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำ วงเงินกว่า 2 พันล้านบาทเศษ ที่ยังไม่มีผลสรุปออกมาอย่างเป็นทางการ ?
อ่านประกอบ : พฤติการณ์ผิดปกติ-ยกเลิกประมูล3ครั้ง! ACT ท้วงเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย2พันล.-กฟภ.ยันโปร่งใส
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/