"...นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า การดำเนินงานประกวดราคาโครงการนี้ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ส่วนการสั่งยกเลิกประกวดราคา เป็นเพราะที่ผ่านมากรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้มีความพยายามที่จะจ้างเอกชนที่เสนอราคามาในลำดับที่ 3 แต่ส่วนตัวแล้วเมื่อได้ดูในรายละเอียดก็พบว่าเอกชนลำดับที่ 3 นั้น มีการเสนอราคาแพงกว่าเจ้าที่ 2 ถึงกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ว่าฯ กฟภ. เราก็ได้เรียกร้องให้เขาชี้แจงในหลายมิติ แต่ก็ไม่ได้รับคำชี้แจงกลับมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับองค์กรจึงได้มีการหารือกับทางด้านคณะกรรมการ กฟภ. และยกเลิกการประกวดราคาไป ..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า การประกวดราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี (วงจรที่ 4) เพื่อทดแทน และเพิ่มความสามารถในการจ่ายไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงิน 2,133,055,700 บาท ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถูกผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ผิดปกติของผู้มีอำนาจใน กฟภ. ที่เข้ามาแทรกแซงล้วงลูกขั้นตอนการประกวดราคา โดยสั่งยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง จนทำให้การประกวดราคาโครงการเกิดความล่าช้า ทั้งที่ ได้ตัวเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกทั้งเรื่องคุณสมบัติและราคางาน
ขณะที่นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า การดำเนินงานประกวดราคาโครงการนี้ เป็นไปด้วยความโปร่งใส ส่วนการสั่งยกเลิกประกวดราคา เป็นเพราะที่ผ่านมากรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้มีความพยายามที่จะจ้างเอกชนที่เสนอราคามาในลำดับที่ 3 แต่ส่วนตัวแล้วเมื่อได้ดูในรายละเอียดก็พบว่าเอกชนลำดับที่ 3 นั้น มีการเสนอราคาแพงกว่าเจ้าที่ 2 ถึงกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ว่าฯ กฟภ. เราก็ได้เรียกร้องให้เขาชี้แจงในหลายมิติ แต่ก็ไม่ได้รับคำชี้แจงกลับมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับองค์กรจึงได้มีการหารือกับทางด้านคณะกรรมการ กฟภ. และยกเลิกการประกวดราคาไป
(อ่านประกอบ : ชัดๆ 'ข้อสังเกต ACT-คำชี้แจงกฟภ.' ทำไมต้องสั่งยกเลิกประมูลเคเบิลใต้น้ำ 2 พันล.?, พฤติการณ์ผิดปกติ-ยกเลิกประมูล3ครั้ง! ACT ท้วงเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย2พันล.-กฟภ.ยันโปร่งใส)
ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดการประกวดราคาโครงการนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ในการยื่นประกวดราคา เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 มีผู้ยื่นเสนอราคา 4 ราย
โดยผลคือ เอกชนรายที่ 1 เสนอราคา 1,229,971,077 บาท แต่มีเอกสารไม่ผ่านการพิจารณาคือ 1.ผลงานตามเงื่อนไขการประกวดราคา เป็นผลงานก่อสร้างนามกลุ่มร่วมค้าไม่สามาแยกเป็นผลงานของบริษัทผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งได้ และ 2.เอกสารทางเทคนิคของอุปกรณ์ไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขในทีโออาร์
เอกชนรายที่ 2 เสนอราคา 1,234,947,600 บาท แต่มีเอกสารไม่ผ่านการพิจารณาคือ หนังสือรับรองการขายของอุปกรณ์ออกจากผู้แทนจำหน่ายที่ไม่มีการจำหน่ายในไทย
เอกชนรายที่ 3 เสนอราคา 1,668,282,582 บาท เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามเงื่อนไขการประกวดราคา
เอกชนรายที่ 4 เสนอราคา 1,677,760,000 บาท เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตามเงื่อนไขการประกวดราคา
จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาผลฯ สรุปผลการผ่านการพิจารณา 2 ราย คือเอกชนรายที่ 3 เสนอราคา 1,668,182,582 บาท และเอกชนรายที่ 4 เสนอราคา 1,677,760,000 บาท ส่งผลให้เอกชนรายที่ 3 เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงินต่ำกว่าเงินงบประมาณ 468,756,300 บาท และต่ำกว่าราคากลาง 102,435,380 บาท อย่างไรก็ดีต่อมาเมื่อเดือน ก.พ. 2563 กฟภ.ได้ยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าวตามความเห็นของผู้ว่า กฟภ.
ข้อมูลที่ยังไม่มีการเปิดเผยเป็นทางการ คือ เอกชนทั้ง 4 รายที่เข้าร่วมการประกวดราคาเป็นใครบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบรายชื่อเอกชนที่ยื่นเสนอราคาจาก กฟภ. และตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบรายละเอียด ดังนี้
เอกชนรายที่ 1 : บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 1,229,971,077 บาท
บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2538 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2547 ทุนปัจจุบัน 543,632,325 บาท แจ้งประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์ระบบข่ายสัญญาณคอมพิวเตอร์ รับเหมาติดตั้งและก่อสร้างระบบข่ายสัญญาณ ตั้งอยู่ที่ 48 ซ.รุ่งเรือง ถ.รัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กทม.
ปรากฏชื่อนายสมบัติ อนันตรัมพร เป็นประธานกรรมการ นางชลิตา อนันตรัมพร เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการ น.ส.ขวัญตา มีสมพร นางธัญญรัตน์ เรืองบัณฑิต นางเพ็ญศรี จันต๊ะคาด นายณัฐนัย อนันตรัมพร เป็นกรรมการ นายชูศักดิ์ ดิเรกวัฒนชัย เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ นางภัทรียา เบญจพลชัย เป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ
รายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อ 21 พ.ค. 2563 บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 25.05% นางชลิดา อนันตรัมพร ถือ 13.71% นายสมบัติ อนันตรัมพร 12.51% ที่เหลืออยู่ในชื่อบุคคลอื่น ๆ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อไตรมาส 1/2563 (31 มี.ค. 2563) มีรายได้รวม 1,420.13 ล้านบาท กำไรสุทธิ 61.02 ล้านบาท ส่วนปี 2562 มีรายได้รวม 5,662.29 ล้านบาท กำไรสุทธิ 124.39 ล้านบาท
ส่วนบริษัท อินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2530 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจให้เช่าทรัพย์สิน ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ปรากฏชื่อนายสมบัติ อนันตรัมพร และนางชลิดา อนันตรัมพร เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 2,638,562 บาท รายจ่ายรวม 2,249,743 บาท กำไรสุทธิ 388,819 บาท
เอกชนรายที่ 2 : Consortium ZTT (ประกอบด้วย บริษัท เจียงซู จงเทียน เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท อาร์ เอส เอส ๒๐๑๖ จำกัด) เสนอราคา 1,234,947,600 บาท
บริษัท อาร์ เอส เอส ๒๐๑๖ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2553 ทุนปัจจุบัน 450 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคเกี่ยวกับสายส่งไฟฟ้ากำลังและสายสัญญาณสื่อสาร ตั้งอยู่ที่ 59 ม.3 ซอยเทศบาล 14 ตำบลบางโพธิ์เหนือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
ปรากฏชื่อนายไพโรจน์ ศิริรัตน์ นายธีรศักดิ์ ศิริโสภณา นายนกำธร กิตติอิสรานนท์ นายมานพ ถนอมกิตติ นายภาณุเดช หงสกุล น.ส.อณิชา อาศิรอโณ และนายไมตรี ลักษณโกเศศ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 1,771,423,235 บาท รายจ่ายรวม 134,826,945 บาท เสียภาษีเงินได้ 50,008,699 บาท กำไรสุทธิ 197,515,309 บาท
ส่วนบริษัท เจียงซู จงเทียน เทคโนโลยี จำกัด จดทะเบียนในประเทศจีน
(ขั้นตอนการประกวดราคาจาก กฟภ.)
เอกชนรายที่ 3 : Gunkul Consortium (ประกอบด้วย บริษัท พริสเมียน เพาเวอร์ลิ้งก์ จำกัด และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)) เสนอราคา 1,668,282,582 บาท
บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2525 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2552 ทุนปัจจุบัน 2,220,632,743 บาท แจ้งประกอบธุรกิจซื้อมา-ขายไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งอยู่ที่ 1177 อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้นที่ 8 ถ.พหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กทม.
ปรากฏชื่อนายกัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ เป็นประธานกรรมการ น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย เป็นกรรมการผู้จัดการ และกรรมการ น.ส.นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ นายเฉลิมพล ศรีเจริญ นางอารีวรรณ เฉลิมแดน เป็นกรรมการ นายชิต เหล่าวัฒนา เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ นายจงรัก ระรวยทรง เป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ นางพนารัตน์ ปานมณี เป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวนจสอบ นายธรากร อังภูเบศวร์ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ และนายกฤษณ์ จันทโนทก เป็นกรรมการอิสระ
(หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา : พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เคยเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.))
รายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อ 21 พ.ค. 2563 บริษัท กันกุล กรุ๊พ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 49.9% นายกัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ ถือ 3.51% ที่เหลือเป็นนิติบุคคล และบุคคลอื่น ๆ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อไตรมา 1/2563 (31 มี.ค. 2563) มีรายได้รวม 1,849.37 ล้านบาท กำไรสุทธิ 439.10 ล้านบาท ส่วนปี 2562 มีรายได้รวม 7,463.91 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,147.33 ล้านบาท
สำหรับบริษัท กันกุล กรุ๊พ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2534 ทุนปัจจุบัน 110 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจประกอบกิจการลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ตั้งอยู่ที่ 1038-1044 ถ.นครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. มีนายกัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ และ น.ส.นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินเมื่อปี 2561 มีรายได้รวม 1,289,176,155 บาท รายจ่ายรวม 23,570,868 บาท เสียภาษีเงินได้ 69,342,262 บาท กำไรสุทธิ 1,096,887,373 บาท
ส่วนบริษัท พริสเมียน เพาเวอร์ลิ้งก์ จำกัด เป็นเครือบริษัท Prysmian จดทะเบียนในต่างประเทศ
เอกชนรายที่ 4 : บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 1,677,760,000 บาท
บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2501 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2537 ทุนปัจจุบัน 6,337,920,861 บาท แจ้งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รับจ้างทำของ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวก (ยกเว้นตัวอาคารของโรงงานอุตสาหกรรฒ) และโครงการวิศวกรรมโยธาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในน้ำ ตั้งอยู่ที่ 2034/132-161 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม.
ปรากฏชื่อนายไกรศร จิตรธรธรรม เป็นประธานกรรมการ ประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการผู้จัดการ และกรรมการ นางนิจพร จรณะจิตต์ นายไผท ชาครบัณฑิต นายธวัชชัย สุทธิประภา นายปีติ กรรณสูต เป็นกรรมการ นายวิลเลี่ยม ลี เซนท์กราฟ เป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ นายไส้ หว่า ไซม่อน ซุน เป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ
รายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อ 21 พ.ค. 2563 นายเปรมชัย กรรณสูต ถือหุ้นใหญ่สุด 11.90% นางนิจพร จรณะจิตต์ 6.64% ที่เหลืออยู่ในชื่อบุคคล และนิติบุคคลอื่น ๆ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 63,213.04 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 37.34 ล้านบาท
(บางส่วนจากหนังสือแสดงความเห็นจากผู้สังเกตการณ์ของ ACT เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว)
หากพิจารณาจากตารางการเสนอราคาข้างต้น แม้ Consortium ZTT จะเป็นผู้ยื่นเสนอราคาต่ำสุด แต่คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ระบุว่า เอกชนรายนี้ไม่ผ่านการพิจารณา เนื่องจากหนังสือรับรองการขายของอุปกรณ์ออกจากผู้แทนจำหน่ายไม่มีการจำหน่ายในไทย ทำให้ Gunkul Consortium เอกชนรายที่ 3 เป็นผู้ชนะการประกวดราคาแทนเนื่องจากเสนอราคาต่ำรองลงมา
ทว่าผู้บริหารใน กฟภ. ได้ยกเลิกการประกวดราคา โดยระบุเหตุผลว่า Gunkul Consortium ดำเนินการข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจาก 1 ในเอกชนในกิจการร่วมค้า Gunkul Consortium มีคุณสมบัติไม่ครบ ทำให้การก่อสร้างโครงการดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปอีกครั้ง
ท้ายสุดเรื่องนี้จะมีบทสรุปอย่างไร สำนักข่าวอิศราจะติดตามข้อมูลนำมาเสนอต่อไป!
อ่านประกอบ :
ชัดๆ 'ข้อสังเกต ACT-คำชี้แจงกฟภ.' ทำไมต้องสั่งยกเลิกประมูลเคเบิลใต้น้ำ 2 พันล.?
พฤติการณ์ผิดปกติ-ยกเลิกประมูล3ครั้ง! ACT ท้วงเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย2พันล.-กฟภ.ยันโปร่งใส
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/