"...ที่มาของการนำเข้าอุปกรณ์จากบริษัท เสินเจิ้น ไบโออีซี่ฯ จากจีนนั้น บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด รู้จักในฐานะผู้ผลิตชุดตรวจ เนื่องจากบริษัท ไบโออีซี่ฯ อยู่ในรายชื่อผู้ผลิตขององค์การอนามัยโลก (WHO) บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด จึงติดต่อไปเพื่อดูเอกสารว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีคุณภาพอย่างไร และพบว่าเอกสารมีความสมบูรณ์ มีรายงานแสดงว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเหมาะสมแล้ว ..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด หนึ่งในเอกชนที่ยื่นประเมินผลชุดตรวจอย่างง่าย (Rapied Test) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถูกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมาตรฐานของชุดตรวจดังกล่าว นอกจากนี้ยังถูก ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงด้วยนั้น
เป็นบริษัทในเครือของบริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของธุรกิจจำหน่ายนำเข้า ส่งออก ซ่อม และให้บริการเครื่องมืออุปกรณ์และอะไหล่ทางการแพทย์ โดยมีบริษัทในเครืออย่างน้อย 5 แห่ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) (อ่านประกอบ : เจาะธุรกิจเครือ‘เอ็มพีกรุ๊ป’ 6 บริษัท ก่อน บ.ลูกถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมเลิกขายชุดตรวจโควิดฯ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับคำชี้แจงจาก น.ส.นทพร บุญบุบผา กรรมการ และผู้บริหารระดับสูงในบริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด ถึงกรณีนี้สรุปได้ว่า ที่มาของการนำเข้าอุปกรณ์จากบริษัท เสินเจิ้น ไบโออีซี่ฯ จากจีนนั้น บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด รู้จักในฐานะผู้ผลิตชุดตรวจ เนื่องจากบริษัท ไบโออีซี่ฯ อยู่ในรายชื่อผู้ผลิตขององค์การอนามัยโลก (WHO) บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด จึงติดต่อไปเพื่อดูเอกสารว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีคุณภาพอย่างไร และพบว่าเอกสารมีความสมบูรณ์ มีรายงานแสดงว่าผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเหมาะสมแล้ว
ส่วนกรณีประเทศสเปนแถลงว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ไบโออีซี่ฯ ใช้งานไม่ได้ผลนั้น น.ส.นทพร ชี้แจงว่า "การรีคอล (Recall - ยกเลิกการนำเข้า) ของสเปน ระบุแค่ว่ามีการรีคอลหลายยี่ห้อ ทีนี้คำว่า หลายยี่ห้อนั้นเรามีข้อมูลที่มันอยู่ในลิสต์ของ WHO อยู่แล้วว่า มีเจ้าไหนบ้าง จึงอีเมล์ถามไปที่โรงงานผู้ผลิตว่ามีการรีคอลยี่ห้อนี้ (ยี่ห้อที่ยื่นประเมินให้กับไทย) โรงงานผู้ผลิตก็อีเมลกลับมาว่าเขามีปัญหา คือของเขาส่งไปที่สเปน แล้วทางสถานทูตสเปนตรวจสอบพบว่ามีข้อผิดผลาดก็เลยมีการรีคอลจริง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือยี่ห้อไบโออีซี เราก็ขอบคุณทางเขาที่พูดความจริงกับเรา เพราะถ้าเขาไม่พูดความจริงแล้วเรายังปล่อยให้มีการนำเข้ามา ก็จะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติได้"
ทั้งนี้ น.ส.นทพร ยืนยันว่า บริษัทพร้อมที่จะรับการตรวจสอบจากทาง ป.ป.ช. แต่ขอยืนยันว่าทางบริษัทได้เข้าสู่กระบวนการยื่นประเมินอย่างถูกต้องตามระเบียบ
สำหรับข้อมูลทางธุรกิจบริษัทในเครือของ ‘เอ็มพีกรุ๊ป’ นั้น ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสบพบว่า เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ รวมอย่างน้อย 85 สัญญา รวมวงเงิน 266,628,955 บาท ดังนี้
1.บริษัท ยีน เอ็กซ์เซลเลนซ์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 43 สัญญา รวมวงเงิน 124,908,115 บาท ส่วนใหญ่เป็นการทำสัญญากับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น
สัญญาที่แพงที่สุดได้แก่ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นคู่สัญญา ซื้อชุดตรวจและวัสดุที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ มูลค่า 15,640,160 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2559
ขณะที่สัญญากับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี มีอย่างน้อย 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาเลขที่ 68/2560 (ร) ชุดน้ำยาตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคจำนวน 3 รายการ วงเงิน 1,589,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2559
และสัญญา 168/2561 (ร) จะซื้อจะขายแบบราคาคงที่ไม่จำกัดปริมาณ ชุดน้ำยาตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคและเชื้อวัณโรคดื้อยา จำนวน 3 รายการ วงเงิน 1,892,500 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561
2.บริษัท อาร์เอ็นดี ไดแอกโนสติกส์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 30 สัญญา รวมวงเงิน 103,115,189 บาท ส่วนใหญ่เป็นการทำสัญญากับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีมากถึง 25 สัญญา
สัญญาที่แพงที่สุดได้แก่ สัญญาเลขที่ 175/2561 โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นคู่สัญญาซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ใช้ในงานกลุ่มธนาคารเลือด น้ำยตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสเอดส์ ซิฟิลิส วงเงิน 11,694,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561
3.บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เมดิคอล ซายน์ จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 11 สัญญา รวมวงเงิน 24,281,843 บาท ส่วนใหญ่เป็นการทำสัญญากับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีมากถึง 10 สัญญา
สัญญาที่แพงที่สุด ได้แก่ สัญญาเลขที่ 55/2561 โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดซื้อแถบทดสอบระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด (Glucostrip) จำนวน 1 ล้านแถบ วงเงิน 4,989,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2561
ส่วนบริษัท เอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถือเป็นบริษัทแม่ เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 4 สัญญา กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมอนามัย รวมวงเงิน 8,823,808 บาท
ขณะที่สำนักข่าวอิศรารายงานแล้วว่า บริษัท เอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด เป็นคู่สัญญากับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างน้อย 1 สัญญา จัดซื้อชุดวินิจฉัยเชื้ออีโบลาอัตโนมัติด้วยวิธี Real-time RT-PCR เมื่อปี 2557 วงเงิน 5.5 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ก่อนเลิกขายชุดตรวจโควิด! บ.เอ็มพีฯ เคยได้งานชุดวินิจฉัยอีโบลา กรมวิทย์ฯแพทย์ 5.5 ล. ปี 57)
อย่างไรก็ดี การปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐ 85 สัญญา วงเงิน 266 ล้านเศษดังกล่าว ยังไม่เคยปรากฎข้อมูลว่า มีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด
อ่านประกอบ :
เจาะธุรกิจเครือ‘เอ็มพีกรุ๊ป’ 6 บริษัท ก่อน บ.ลูกถูกร้อง ป.ป.ช.สอบปมเลิกขายชุดตรวจโควิดฯ
ก่อนเลิกขายชุดตรวจโควิด! บ.เอ็มพีฯ เคยได้งานชุดวินิจฉัยอีโบลา กรมวิทย์ฯแพทย์ 5.5 ล. ปี 57
กังขา! ภูมิใจไทยร้อง ป.ป.ช.สอบปมชุดตรวจโควิดฯทั้งที่สเปนใช้ไม่ได้
อ้าง'สเปน' ใช้งานผิดวิธี! เปิดตัว บ.จีน ผลิตชุดตรวจโควิด ก่อน 'อนุทิน' สั่งสอบนำเข้าไทย
กรมวิทย์ฯ - อย. แจง การประเมินชุด Rapid Test หลังสเปนสั่งซื้อแล้วเจอปัญหา
รบ.สเปนยันใช้ไม่ได้ผล! ‘อนุทิน’สั่งสอบปมเอกชนยกเลิกนำเข้าชุดตรวจโควิดฯอย่างง่าย
เปิดตัว 3 เอกชน ผ่านประเมินชุดตรวจโควิดอย่างง่าย-มี บ.'ปรีชา' อดีต รมต.ด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/