"...คนนอกก็จะมองว่า สวนสัตว์เหมือนแดนสนธยา ทำอะไรไม่เปิดเผย แต่แท้จริงแล้วเราทำ อย่างในกรณีที่เกิดวิกฤตจากเก้งเผือก บอร์ดได้ให้วาระไปตั้งแต่ปีแรกๆแล้วว่า ปัญหาเก้งที่มีรายงานว่าเก้งสูญหาย ทำไมไม่รายงานทันที .... ปัจจุบันได้เปลี่ยนให้เป็นรายงานทุก 48 ชั่วโมง ทุกอย่างต้องอัปเดตหมด มีการให้รายงานประชากรสัตว์โดยผ่านไอที ผ่านแอปพลิเคชันของสวนสัตว์ ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ อย่างเช่น วันนี้มีสัตว์เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ มีสัตว์ตายเท่าไหร่ มีคนมาบริจาคสัตว์เท่าไหร่ มีสัตว์หายเท่าไหร่ ในแอปพลิเคชันของสวนสัตว์จะมีบอกทั้งหมด..."
................
ประเด็นตรวจสอบกรณี ลูกเก้งเผือก สายพันธุ์พระราชทานในสวนสัตว์สงขลา จำนวน 2 ตัว สูญหายและตายลงอย่างปริศนา ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนออย่างต่อเนื่องไปก่อนหน้านี้
ความคืบหน้าล่าสุด ดูเหมือนจะหยุดอยู่ตรงที่การรอคอยผลตรวจสอบตัวอย่าง DNA (DNA FINGERPRINT FOR PARENTAGE ANALYSIS) ในซากกระดูกเก้งที่ตรวจสอบพบว่า แท้จริงแล้ว เป็นซากกระดูก 'คุณภูมิ' ลูกเก้งเผือก ที่หายตัวไปหรือไม่
(อ่านประกอบ : Exclusive: แง้มห้องประชุมบอร์ดสวนสัตว์ ล้วงผลสอบ 'ลูกเก้ง' - DNA 'มูมู่' หลักฐานชี้ขาด)
แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาการบริหารงานสวนสัตว์ของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดูเหมือนจะยังมีอีกหลายเรื่องที่รอคอยการสะสางแก้ไขปัญหาไปพร้อมกันๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมข่าวสืบสวนสำนักข่าวอิศรา มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการองค์การสวนสัตว์ฯ ที่เข้ามาทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในปัจจุบัน เพื่อติดตามความคืบหน้างานภารกิจงานด้านต่างๆของ องค์การสวนสัตว์ฯ เป็นทางการ
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
อิศรา : หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งเป็นรักษาการผู้อำนวยการสวนสัตว์ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง?
นายสมิทธิ : "เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 เป็นวันที่ครบรอบ 30 วันในการรับตำแหน่งพอดี เข้ามาก็ได้ปรับหลายๆ อย่าง อย่างแรกเลยคือ ที่นี่ขาดความรักความสามัคคีกันในองค์กร เรื่องของความอาวุโส รุ่นพี่รุ่นน้อง ก็เลยทำในเรื่องของการมีส่วนร่วมภายในองค์การสวนสัตว์ก่อน ให้ผู้คนมีส่วนร่วมกันมากขึ้น อยากให้เกิดความรักความสามัคคีภายในองค์กรมากที่สุด"
อิศรา : นอกจากเรื่องความรักความสามัคคีในองค์กร ได้ทำภารกิจอะไรอีกบ้าง มีการเปลี่ยนแปลงตรงไหนบ้าง?
นายสมิทธิ : "ผมทำพอสมควรในช่วงระยะเวลา 1 เดือน ทำในเรื่องของทุนทรัพยากรบุคคล Human Capital มีการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับพนักงานมีการเพิ่มทักษะในการทำงาน Reskill ,Upskill ในเรื่องของการทำธุรกิจที่มีสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการตอบสนองความพึงพอใจของผู้ที่เข้ามาชมสัตว์ และเรื่องที่ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือ เรื่องของความโปร่งใส ให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงสวนสัตว์ให้ได้มากที่สุด"
"ผมได้มีการเข้าไปตรวจเยี่ยมชมสวนสัตว์ทุกสวนในสังกัดแล้ว การทำงานในองค์การสวนสัตว์อยู่กันเหมือนต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน ไม่เคยพูดคุยกันเลย ไม่เคยมีการเพิ่มองค์ความรู้ ไม่เคยจะมีเรื่องของการจะ Reskill ,Upskill และไม่ได้มีการให้ความสำคัญกับคนที่มีความสำคัญ ซึ่งเราควรต้องให้เครดิต ให้แรงบันดาลใจกับพนักงาน ในอดีตองค์การสวนสัตว์ไม่ได้ทำเคยมองเรื่องแบบนี้เลย"
"ในระยะเวลา 1 เดือนที่ได้พูดคุย ได้ทำงานร่วมกัน ผมรู้สึกทุกอย่างดีขึ้นเยอะ เห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ทุกคนกล้าที่จะเดินเข้าหาผู้อำนวยการ กล้าที่จะเดินเข้าหา CEO เพื่อเข้ามาปรึกษาพูดคุย เราทำให้เขารู้สึกว่า เขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง เขามีความอบอุ่น เขากล้าที่จะคุยกับเรา พอเขากล้าที่จะคุยกับเรา เราก็จะทราบว่าปัญหานี้มันเกิดจากจุดไหน ซึ่งปัญหาใหญ่ๆขององคการสวนสัตว์คือ การสื่อสาร ถือเป็นปัญหามาก ถ้าเรามีการสื่อสารกัน มีการพูดคุยกัน ประเด็นปัญหาต่างๆ ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เมื่อไม่ได้คุยกัน"
"คนนอกก็จะมองว่า สวนสัตว์เหมือนแดนสนธยา ทำอะไรไม่เปิดเผย แต่แท้จริงแล้วเราทำ อย่างในกรณีที่เกิดวิกฤตจากเก้งเผือก บอร์ดได้ให้วาระไปตั้งแต่ปีแรกๆแล้วว่า ปัญหาเก้งที่มีรายงานว่าเก้งสูญหาย ทำไมไม่รายงานทันที แต่พอดีตอนนั้นมันเกิดวิกฤตโควิด-19 มีปัญหาเรื่องห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งทางองค์การสวนสัตว์ไม่ได้อธิบายให้ประชาชนเห็นว่าเหตุมันเกิดขึ้นเพราะอะไร ซึ่งจากเดิมที่จะให้รายงานทุกเดือน ปัจจุบันได้เปลี่ยนให้เป็นรายงานทุก 48 ชั่วโมง ทุกอย่างต้องอัปเดตหมด มีการให้รายงานประชากรสัตว์โดยผ่านไอที ผ่านแอปพลิเคชันของสวนสัตว์ ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ อย่างเช่น วันนี้มีสัตว์เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ มีสัตว์ตายเท่าไหร่ มีคนมาบริจาคสัตว์เท่าไหร่ มีสัตว์หายเท่าไหร่ ในแอปพลิเคชันของสวนสัตว์จะมีบอกทั้งหมด"
"ในอดีตองค์การสวนสัตว์ใช้ระบบการปกครองที่เป็นระบบคนเป็นอัจฉริยะ แต่ตอนนี้ผมเข้ามาผมใช้ระบบเป็นอัจฉริยะแทน โดยใช้ intelligent justice system คือทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ทั้งหมด อันนี้เป็นอีกตัวที่นำมาปรับปรุงและพัฒนา ศึกษาใช้ในสวนสัตว์"
อิศรา : ตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าดูข้อมูลสัตว์ต่างๆ ในแอปพลิเคชันของสวนสัตว์ได้หรือยัง?
นายสมิทธิ : ตอนนี้กำลังพัฒนาอยู่ จริงๆ ก็สามารถเข้าดูได้แล้ว อาจจะติดขัดบ้าง ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา แต่เป็นที่เน็ต เน็ตคือปัญหา ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายของระบบดิจิทัลด้วย จะเปลี่ยนจาก 4G เป็น 5G แอปพลิเคชันบางตัวมันอาจจะไม่เสถียร อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เราจะใช้สิ่งนี้เป็นนโยบายหลักคือ จะทำทุกอย่างให้โปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ นี่คือนโยบายที่ผมได้มอบให้กับทางองค์การสวนสัตว์ เริ่มมีการรายงานทั้งหมดมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย 2563 ที่ผ่านมา"
อิศรา : หลังจากที่มีเก้งเผือกพระราชทานหายไป มีการดูแลมากขึ้นไหม?
นายสมิทธิ : "ตอนนี้เราจัดระบบใหม่ทั้งหมด พอเกิดเรื่องเรามีการให้เฝ้าระวังอยู่ตลอด 24 ชม. ใช้เทคโนโลยี ใช้กล้องดิจิตอล ใช้กล้อง CCTV เข้ามาควบคุมดูแล มีการเพิ่มจำนวนกะ ให้มีรปภ. เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ตลอด 24 ชม. แล้วกลับมารีวิว คนที่ส่งมอบงานกัน ผลัดเวรกันต้องมาส่งให้ดูว่า ระหว่างผลัดมีการรายงานพบสัตว์จำนวนเท่าไหร่คือทุกอย่างต้องรายงานหมด จากเดิมมีเจ้าหน้าที่เดินตรวจ 1 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 3 คน ทำแบบนี้ทุกสวนสัตว์ และผู้บริหารสามารถเช็คได้ตลอดเวลา"
อิศรา : ตอนนี้มีแผนงาน หรือวางแผนอะไรต่ออีกไหม?
นายสมิทธิ : แผนที่วางตอนนี้ เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างของ พ.ร.ฎ.ใหม่ ได้ดูเรื่องของการหารายได้นอกงบประมาณ รายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการให้สวนสัตว์อย่างเดียว อาจจะเป็นรายได้เรื่องสิทธิประโยชน์ ของคนที่จะมาร่วมเป็นพันธมิตร ในการเป็นสปอนเซอร์ สามารถที่จะเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ของสวนสัตว์ในการทำธุรกิจได้ อันนี้ก็เป็นนโยบายที่มอบไว้ ซึ่งจากนี้ไปจะต้องทำในเรื่องของการตลาดให้มากขึ้น ในอดีตไม่มีการตลาด ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ทำไปแบบแค่ได้ทำ แต่ตอนนี้ต้องทำให้คนได้รับรู้มากยิ่งขึ้น
อิศรา : เห็นท่าน ผอ. พูดถึงเรื่องการนำไอทีมาใช้เป็นจำนวนมาก แล้วอย่างต่างประเทศจะมีการติดไมโครชิปกับสัตว์ เราจะมีโอกาสจะทำไหม?
นายสมิทธิ : "การติดไมโครชิปกับสัตว์ทางองค์การสวนสัตว์ได้ทำไปส่วนหนึ่งแล้ว ทำมานานแล้ว แต่การติดไมโครชิปในสัตว์ บางครั้งมันมีปัญหา ประเทศไทยระบบดิจิตอล ไวไฟ หรือเน็ต มันยังไม่เสถียรร้อยเปอร์เซ็น บางที่เข้าไม่ถึง สัตว์บางตัวที่มันเป็นครึ่งบกครึ่งน้ำ อย่างจระเข้ถ้ามันไม่ขึ้นจากน้ำเลย ก็ไม่สามารถเช็คได้ว่ามันอยู่ตรงไหน ต้องใช้กับสัตว์ที่มันสามารถเช็คได้ ทำได้ เราไปเน้นเพิ่มในเรื่องของกล้อง CCTV มากกว่า ซึ่งมันสามารถดูได้ตลอดเวลา หัวใจของการทำงานเกี่ยวกับองค์การสวนสัตว์"
"ผมว่า 1.คนที่ไปเที่ยวต้องปลอดภัย 2. สัตว์ต้องอยู่ในที่ที่มีคุณภาพ ซึ่งไอทีช่วยได้เยอะมาก อยู่ที่ไหนก็สามารถดูได้"
@ นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา
อิศรา : มีเสียงวิพากวิจารณ์อย่างมากว่า สวนสัตว์มีการลักลอบค้าสัตว์ เรื่องนี้จริงไหม?
นายสมิทธิ : "การลักลอบค้าสัตว์ ถ้าดูปริมาณเปอร์เซ็นแล้วถือว่าน้อยมาก แต่มันก็มี อย่างเช่น สวนสัตว์สงขลา จริงๆ เราพิสูจน์ได้แล้วว่าเก้งทั้งสองตัวตายเพราะอุบัติเหตุ คือมีสัตว์นอกมาทำร้ายทั้งสองตัว ตัวแรกคุณภูมิ คุณภูมิรู้แล้วว่าอยู่ในท้องงู คุณภาคกำลังส่งพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งตอนนี้ดีเอนเอใช่ แต่เราให้ตรวจลึกไปอีกว่าจีโนมิกส์ใช่ลูกตัวนี้จริงไหม โดยต้องตรวจไปถึงสามรุ่น ซึ่งสวนสัตว์สงขลาเก็บกระดูกสัตว์ในปริมาณที่น้อยมาก และไม่ได้คีบในอุณหภูมิที่ทำให้ทุกอย่างมันอยู่ปกติ จึงต้องใช้เวลาในการตรวจ แต่ไม่เกินสิ้นเดือนนี้สามารถตอบได้หมด"
"ส่วนสวนสัตว์อื่นก็มีบ้างเหมือนกัน มันจะมีสัตว์ที่คนไม่เลี้ยงแล้วเอามาปล่อยบ้าง ขึ้นบัญชีไม่ทันบ้าง ซึ่งเหตุผลที่สวนสัตว์เป็นเป้าให้สังคมมองว่าเป็นแหล่งค้าสัตว์นั้น เพราะประเทศไทยเป็นช่องทางค้าสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยตลาดใหญ่ในเอเชียอยู่ที่เวียดนามกับจีน ซึ่งประเทศที่จะผ่านได้ง่ายที่สุดคือประเทศไทย สัตว์ที่มาจากแอฟริกาที่จะมาลงในแถบอาเซียนจะไปจีน กับ เวียดนามนั้น ลงที่อื่นไม่ได้นอกจากไทย อย่างมาเลเซียก็ไม่รับเพราะเป็นมุสลิม อินโดนีเซียก็ไม่รับเพราะเป็นมุสลิมเหมือนกัน ก็เหลือแค่ไทย"
"เหตุที่สวนสัตว์สงขลาเป็นเป้าเพราะว่า พอมาถึงจังหวัดสงขลาเขาสามารถส่งเรือประมงไปส่งขึ้นเรือใหญ่แล้วไปเลย มันเลยง่ายและสะดวก อันนี้ถามมาจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถ้าถามว่าสวนสัตว์เป็นช่องทางในการค้าสัตว์ไหมนั้น ไม่กล้าตอบ 100% มันอาจจะมีบ้าง แต่ไม่ใช่ เพราะด้วยการทำบัญชีประชากรสัตว์มันไม่ได้ทำง่าย และสัตว์บางชนิดมันเป็นสัตว์ดุร้าย ไม่ใช่สัตว์ที่จะมาอุ้มไปได้ง่ายๆ แต่จะมีสัตว์ที่อยู่ข้างเคียงกับสวนสัตว์ มีเล็ดลอดออกไปจากสวนสัตว์แล้วก็ไปขยายพันธุ์บ้าง อย่างที่สวนสัตว์เขาเขียวมีเยอะ มีทั้งลิงบางชนิด หรือแม้กระทั่งกว้างที่มันออกไปข้างนอกเมื่อผสมพันธุ์ มันก็มีอะไรพวกนี้เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่มันมีในปริมาณน้อยมาก"
อิศรา : ที่บอกว่าสัตว์ออกไปข้างนอก ทำไมถึงออกไปข้างนอกได้ ไม่มีอะไรป้องกันหรือ?
นายสมิทธิ : "เราก็พยายามกันนะ แต่ที่ออกไปมีน้อยมาก ที่มันหลุดออกไปเพราะ กรงมันหลุด มันรอดสายตาคนที่ดูแลสัตว์ กรงมีรู ชำรุด มันก็มีบ้างเหมือนกัน ในอดีตมี แต่ในปัจจุบันมันน้อยมาก เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นลวดไฟฟ้ากันไม่ให้สัตว์ออก มันทำได้ดีกว่าในอดีตเยอะ กรณีของนกมาคอร์ที่ว่าหายไป มันก็เป็นเรื่องลำบาก เพราะในอดีตสวนสัตว์สงขลาไม่ได้สร้างกรงนกที่ใหญ่ขนาดนั้น ปล่อยในพื้นที่ แล้วก็คุมมัน บางทีมันก็ไปสร้างรังในต้นไม้ที่มองไม่เห็นบ้าง และในปัจจุบันการค้านกมาคอร์เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เอาไปขายกันได้ เราก็ต้องเฝ้าระวังตรงนี้ จุดพวกนี้เป็นจุดที่เราเข้มงวดมาก แต่ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่เราไม่ค่อยหวง เพราะว่าจำนวนเห็นชัด ไม่ว่าจะเสือ เป็นสัตว์ต่างๆ มันฝังชิปอยู่แล้ว ต้องคอยดูพฤติกรรมเขาด้วย"
อิศรา : แล้วที่มีข่าวเรื่องทุจริต เรื่องโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำสวนสัตว์สงขลา ปี 59 สรุปเป็นยังไง?
นายสมิทธิ : "ส่วนที่มีปัญหาเรื่องความไม่ชอบในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างก็ให้ว่าไปตามกฎระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นสวนตูนที่จังหวัดสงขลา จริงๆ สวนตูนก็ไม่ได้ถึงกับเป็นการทุจริต แต่มีปัญหาเรื่องโครงสร้าง โครงสร้างบ่อน้ำที่คนไปขุดนั้น คือเราไปขุดบ่อน้ำไว้บนภูเขา ซึ่งตามมาตรฐานไม่เรียบร้อย เราไปทำฝืนธรรมชาติหลายเรื่อง แม้กระทั่งสวนน้ำที่เด็กเล่น มันมีความล่อแหลม มันเป็นผา มันเลยเกิดปัญหาขึ้น เหมือนกับมีงบประมาณจำกัดแต่ทำเกินงบประมาณที่ตั้งไว้"
"ตอนนี้ผมให้เขาตรวจสอบย้อนกลับทั้งหมด ไปดูตั้งแต่ TOR ว่าใครเป็นกรรมการ ส่งมอบงานยังไง มีเอื้อประโยชน์กันไหม ส่วนที่ ปปช.ตรวจอยู่ ก็ให้ ปปช.ตรวจสอบไปตามระเบียบ ส่วนที่องค์การสวนสัตว์ตรวจสอบก็ให้เอา TOR ออกมารื้อดูให้หมดว่าตรงกันไหม ส่งมอบได้หรือไม่ได้เป็นเพราะอะไร"
"การก่อสร้างในสวนสัตว์จะไม่เหมือนกับสร้างตึกสร้างบ้าน แต่มันเป็นการสร้างกรงสัตว์ ซึ่งบางอย่างที่ไม่น่ามีราคาแพงก็แพง เพราะวัสดุที่ใช้ทำกรงสัตว์มันไม่ใช่อะไรก็ได้ ต้องอยู่ได้ตามธรรมชาติ สัตว์สัมผัสได้ไม่เป็นอันตราย มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องหาเฉพาะ มันจะเป็นลักษณะพิเศษของผู้รับเหมา จะมีผู้รับเหมาแบบนี้ไม่กี่รายที่ทำได้ เป็นสเปเชียลริช เหมือนล็อคสเปคแต่ไม่ใช่ ซึ่งสวนสัตว์ไม่เคยอธิบาย ไม่เคยพูดผ่านให้สังคมได้ทราบ จึงทำให้เกิดความสงสัย"
อิศรา : แล้วที่มีข่าวว่ามีการเอาทรัพย์สินของสวนสัตว์ไปขาย แล้วนำเงินมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว?
นายสมิทธิ : พวกนี้จริงๆน้อยนะ มันมีเหมือนกันที่มีคนพูดเรื่องนี้ อย่างเรื่องอาหารสัตว์ เรามีมาตรการว่า อาหารที่หมดอายุให้ทำลายทิ้ง แต่ก็ด้วยความงกของคนเสียดายเลยเอาไปขาย ในอดีตเคยมีอาหารสัตว์เป็นจำนวนมาก แล้วก็ปล่อยให้มันเสียบ้าง พอมันเสียก็มีการเอาไปขายข้างนอก
อิศรา : แล้วข่าวที่นำเครื่องปั่นไฟ สายไฟไปขาย?
นายสมิทธิ : "มันมีกรณีที่เกิดขึ้นที่สวนสัตว์น้ำสงขลา กรณีที่เอาหม้อแปลงไฟฟ้าลูกเก่าแล้วไปขาย แล้วไปใช้ลูกใหม่ มันเป็นความไม่รอบคอบของแผนกช่าง คือเขาสั่งทั้งเซ็ต แต่บางเซ็ตก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน อย่างแท่นมันไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ใช้แท่นเก่าได้ ที่จริงไม่ได้เป็นเฉพาะสวนสัตว์ ว่าด้วยการพัสดุของประเทศที่ไม่รัดกุม การจัดซื้อจัดจ้างของบางอย่างซื้อในระบบซื้อยาก มันมีราคากลาง แต่จริงๆ สามารถซื้อได้ถูกกว่านี้ และดีกว่านี้ด้วย แต่มันเป็นข้อบังคับว่าต้องเทียบกับตัวนี้ ต้องเป็นแบบนี้ เป็นเรื่องของความหวังดีประสงค์ร้ายของคนที่ซื้อหรือคนที่ทำแบบนี้ อย่างของสวนสัตว์สงขลาที่เรื่องปั๊มน้ำ ผมไปดูมาเองเห็นได้ชัดว่า กระบวนการมันทำให้การรั่วไหลเกิดขึ้นได้ง่าย ระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบวิธีการบริหารทรัพย์สินของภาครัฐมันมีประเด็นอยู่ ซึ่งผู้ที่นำไปขายอาจไม่รู้ว่ามีโทษมีระเบียบอยู่ก็เลยเอาไปขาย จริงๆของชิ้นนั้นมันอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำบัญชีออก แล้วเอาไปขายก่อนก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เกิด"
อิศรา : ต่อจากนี้จะมีการดูแลรัดกุมมากขึ้นไหม เกี่ยกับการจัดซื้อจัดจ้าง?
นายสมิทธิ : ตอนนี้ทำบัญชีโดยใช้ระบบ ERP ระบบของไอทีมาครอบ ใน ERP จะบอกหมดว่า จำนวนค่าเสื่อมยังไง ตัดซากทิ้งตัดยังไง ลิงค์จากกรมบัญชีกลางทั้งหมด ในอดีตใช้วิธีรายงานโดยใช้คน พอผมมาเริ่มรักษาการ มาเริ่มบริหาร ผมได้ใช้ระบบเข้ามาบริหารแทน เอาเรื่องระบบไอทีเข้ามาใช้ ซึ่งทำเหมือนกันทุกสวนสัตว์ ครอบไปให้ถึงตำแหน่งงานบุคคลด้วย
อิศรา : อย่างเรื่องที่มีการทุจริตจะมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง ตรวจสอบยังไง?
นาย สมิทธิ : ตอนนี้มีการตรวจสอบย้อนกลับ บทลงโทษก็พอสมควร แม้แต่กรณีที่จัดซื้อจัดจ้างในอดีตตอนนี้หลายๆที่ ที่เป็นข่าวมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโมโนเวลที่เชียงใหม่ เรื่องสวนสัตว์สวนน้ำที่สงขลา เราก็มีมาตราการที่ค่อนข้างโหด ทั้งทางอาญา และการละเมิดของทางคณะกรรมการด้วย แต่สิ่งที่เราต้องตอบให้ประชาชนทราบตอนนี้คือ สวนสัตว์ดุสิตถูกเรื้อ ถูกเปลี่ยนให้เป็นโรงพยาบาล และมีการมอบที่ดินแปลงใหม่ที่จังหวัดปทุมธานีให้สร้างสวนสัตว์แทน เราจะต้องทำอันนี้ให้เสร็จและทดแทนสวนสัตว์ดุสิตให้ได้ ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า ซึ่งเราต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมสวนสัตว์ดุสิตถูกเรื้อไปแล้ว ที่ปทุมธานียังสร้างไม่เสร็จสักที จริงๆการสร้างสวนสัตว์ไม่ใช่เรื่องง่าย มีดินเสาะบ้างอะไรบ้าง เรื่องกรงอะไรต่างๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
“ผมพยายามจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในช่วงรักษาการ เพราะไม่รู้ว่าจะรักษาการได้นานแค่ไหน อยากให้มันออกมาได้ดี ทรัพย์สินพวกนี้เป็นทรัพย์สินของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ ทุกอย่างต้องโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ อันนี้เป็นนโยบายที่ผมคุยกับทุกคน ผมไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไรทุกอย่างต้องตอบสังคมให้ได้ สิ่งที่ทำเยอะที่สุดตอนนี้คือไอที เอาไอทีมาใช้แทนให้หมด”
อิศรา : มองเห็นปัญหา ช่องโหว่ หรือกระบวนการทำงานในองค์การสวนสัตว์ตรงไหนบ้าง?
นายสมิทธิ : "ปัญหาขององค์การสวนสัตว์มีหลายอย่าง อย่างตอนนี้ที่ยังไม่มีสำนักงานเป็นของตัวเอง ยังต้องเช่าอยู่ จึงทำให้ความคล่องตัวในการทำงานมีน้อย ปัญหาในเรื่องของอัตราค่าตอบแทนในอดีตก็ด้วย ส่วนช่องโหว่ ปัญหามันเกิดจากระบบงานเดิม ๆ ด้วยความที่สวนสัตว์มีระเบียบของการเลี้ยงดูสัตว์ที่ค่อนข้างมาก สวนสัตว์ถูกควบคุมโดย Animal welfare โดย WAZA (World Association of Zoos and Aquariums) ซึ่งเขาจะกำหนดควบคุมทั้งหมด สัตว์บางตัวเลี้ยงได้แต่โชว์ไม่ได้ สังคมก็จะเกิดความสงสัยว่า ทำไมสัตว์ตัวนี้ไม่เอามาโชว์มีปัญหาอะไรหรือป่าว แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ ทาง WAZA จะเป็นผู้กำหนด หรือแม้กระทั่งในกรงสัตว์ จะข้อบังคับว่าในพื้นที่ขนาดนี้จะมีสัตว์ได้กี่ตัว ไม่ใช่มีพื้นที่เยอะแล้วเลี้ยงสัตว์ได้ อย่างที่คนเห็น กรงเสือใหญ่มากทำไมมีเสืออยู่แค่สองตัว เพราะมันไม่สามารถมีมากกว่านั้นได้ ถ้ามันมีมากกว่านั้นแล้วมันเกิดทะเลาะกัน ตบตีกัน ก็จะเกิดความเสียหาย ทำไมต้องเอาตัวไก่มาเหวี่ยงใส่สลิงให้เสือโดด มันเป็นการออกกำลังกายของสัตว์ของเสือ ทำไมสัตว์ผอม เพราะถ้าสัตว์อ้วนมันจะทำให้สัตว์ติดโรคได้ง่าย เรื่องของสวัสดิภาพสัตว์จะมีบทบาทมาก แต่ด้วยความที่เราไม่เคยอธิบายอะไรออกมาข้างนอก มันเลยทำให้สังคมไม่ทราบ แต่ถ้าเราอธิบายได้ ผมคิดว่ามันก็น่าจะจบ สังคมน่าจะเข้าใจ"
"ในอดีตองค์การสวนสัตว์ไปยึดถึงการบริหารที่ตัวบุคคล หรือที่เรียกกันว่า “ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร” แต่ที่จริงมันไม่ใช่ มันอยู่ที่ระบบ อาจจะต้องปรับที่ระบบ อย่างการ ขาด ลา มาสายอะไรต่างๆ ที่เมื่อก่อนต้องวิ่งให้เซ็นชื่อ ปัจจุบันคือให้ทำผ่านโทรศัพท์ทั้งหมด จะไปไหนทุกอย่างต้องโปร่งใส อันนี้เป็นอีกตัวที่ปรับ เพื่อให้ทุกคนความรู้สึกว่าเขามีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น และเขาสามารถที่จะตอบคำถามกับสังคมได้ ตอบคำถามกับเพื่อนร่วมงานได้ ว่าทำไมต้องทำแบบนี้ ในอดีตปัญหาเกิดขึ้นที่ระบบ"
(ดูคลิปประกอบ)
อ่านประกอบ :
'ลูกเก้งเผือก' สายพันธุ์พระราชทานหาย! สวนสัตว์สงขลา สั่งสอบน่าจะโดนขโมย-ผอ.แจงถูกงูกิน
ปธ.บอร์ดย้ำเรื่องใหญ่มาก! องค์การสวนสัตว์ สั่งสอบทันที 'ลูกเก้งเผือก' สายพันธุ์พระราชทานหาย
เด้ง 'ผอ.สงขลา' เข้ากรุ! องค์การสวนสัตว์ สั่งย้ายด่วน รอผลสอบ 'ลูกเก้งเผือก' หายปริศนา
เบื้องลึก 'ลูกเก้งเผือก' สายพันธุ์พระราชทานหาย! ผลสอบชี้ถูกขโมย-ไฉนผอ.สงขลาแจงถูกงูกิน?
จนท.ทำความสะอาดเจอกระดูก! ผอ.สวนสัตว์สงขลา แจงเหตุให้ข้อมูล 'ลูกเก้งเผือก' โดนงูกิน
ปริศนาใหม่ 'ซากกระดูกเก้ง'? ข้อกังวล 'สวนสัตว์รัฐ' ถูกใช้เป็น ฐานฟอก ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า
ด่วน! ผอ.องค์การสวนสัตว์ ถูกจนท.สวนสัตว์สงขลา ยิงเสียชีวิตระหว่างสอบสวนคดี 'ลูกเก้งเผือก'
เปิดรายงานวินาที 'ผอ.องค์การสวนสัตว์' ถูกยิงเสียชีวิต-รมว.ทส.สั่งปธ.บอร์ด บินด่วนคุมสถานการณ์
พบ 'นายสัตวแพทย์ภูวดล' ผู้ก่อเหตุยิง ผอ.องค์การสวนสัตว์เสียชีวิต-ยิงตัวตายที่บ้านพักแล้ว
เงื่อนปม-ข้อสังเกต ลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานหาย-ตาย 2 ตัว? ก่อนสังเวยชีวิต 2 ศพ
‘วราวุธ’สั่งสอบสวนสัตว์ทั่ว ปท.เอี่ยวค้าสัตว์ป่าหรือไม่-ให้ ปธ.บอร์ดสางปมเก้งเผือกหาย
หายหรือตายต้องได้คำตอบ!'บิ๊กตู่'สั่งเคลียร์ปมลูกเก้ง-เสียใจสูญเสีย 2 เจ้าหน้าที่
ฉบับเต็ม! มติบอร์ดสวนสัตว์ สางปมลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทาน หาย-ตาย 2 ตัว
คำถาม ผอ.อิศรา จับพิรุธปม 'ลูกเก้งเผือก' สายพันธุ์พระราชทานหาย-ตายปริศนา?
รับฟังข้อสังเกต'ผอ.อิศรา'! ปธ.บอร์ดสวนสัตว์ สั่งสอบซ้ำปม 'จัดฉาก' งูเหลือมกินลูกเก้งแล้ว
สรุปลูกเก้งตาย 2 เหลือแม่ 1 ตัว! กก.สอบชงบอร์ดสวนสัตว์เคลียร์ปมหายปริศนา 6 ต.ค.
ดีเอ็นเอไม่ตรงดำเนินคดีแน่! มติบอร์ดสวนสัตว์ส่งซากเก้งให้กรมอุทยานฯตรวจ-ตั้ง รษก.ผอ.
ส่งตรวจ DNA กระดูก- 'จัดฉาก' ปล่อยงูขย้ำ? - จับตาบอร์ดสวนสัตว์ สางปมลูกเก้งหาย-ตายปริศนา
ให้เวลาเคลียร์บัญชีสัตว์ 3 วัน! คงคำสั่งเด้ง 'เฉลิมวุฒิ' - ส่ง 'วันชัย' คุมสงขลาแทน
คดีลูกเก้งล่าสุด! องค์การสวนสัตว์ ส่งตรวจ DNA ซากกระดูก - แจ้งความ ตร.ปมถูกขโมยแล้ว
Exclusive: แง้มห้องประชุมบอร์ดสวนสัตว์ ล้วงผลสอบ 'ลูกเก้ง' - DNA 'มูมู่' หลักฐานชี้ขาด
INFO : สรุปไทม์ไลน์เก้งเผือกพระราชทาน ชนวนหลักปลิดชีพ ผอ.องค์การสวนสัตว์
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage