"...เก้งเผือกที่สูญหายเป็นทายาทของเก้งเผือกที่องค์การสวนสัตว์ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 นับเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าต่อองค์การสวนสัตว์เป็นอย่างมาก คณะกรรมการจึงมีมติว่า จากพยานบุคคลและหลักฐานเอกสารทั้งหมด เก้งเผือกสูญหายเกิดจากการถูกขโมย จากพื้นที่ส่วนจัดแสดง..."
.....................................
ประเด็นตรวจสอบ กรณี ลูกเก้งเผือก จำนวน 1 ตัว ที่ สวนสัตว์สงขลา ประสบความสำเร็จเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จากเก้งที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้หายไปจากสวนสัตว์อย่างไร้ร่องรอย ในช่วงเดือนก.พ.2563 ขณะที่จากการสอบสวนภายใน พบว่า ลูกเก้งเผือก น่าจะถูกขโมยไปจากส่วนจัดแสดง แต่เบื้องต้น นายเฉลิมวุฒิ เกษตรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์สงขลา คำชี้แจงว่า ลูกเก้งเผือก ไม่ได้หาย แต่ถูกงูเหลือมกินเข้าไป มีรูปถ่ายหลักฐานยืนยันได้ สัตวแพทย์พิสูจน์แล้ว ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนออย่างต่อเนื่องในขณะนี้นั้น
สถานการณ์ล่าสุด ในช่วงเย็นวันที่ 1 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า องค์การสวนสัตว์ได้ทำคำสั่งย้ายผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีนี้ทั้งหมดประมาณ 3-4 รายรวมถึง นายเฉลิมวุฒิ เกษตรสมบูรณ์ ผอ.สวนสัตว์สงขลา เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่องค์การสวนสัตว์ในกรุงเทพฯ ชั่วคราว และจะให้ ผอ.จากกรุงเทพฯ เข้าไปเป็นผู้รักษาการผอ.สวนสัตว์สงขลาแทน จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ
พร้อมยืนยันว่า ในวันที่ 2 ต.ค.2563 นี้ ตนและนายอภิเดช สิงหเสนี รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สวนสัตว์สงขลาด้วยตนเอง
"การตรวจสอบเรื่องนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมา องค์การสวนสัตว์ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังเร่งดำเนินการอยู่ แต่ที่ผ่านมามีติดช่วงโควิดบ้าง ซึ่งในวันที่ 2 ต.ค.2563 นี้ ผมและประธานตรวจสอบ จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง จะไม่ใช้คนในพื้นที่เด็ดขาด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด" นายสุริยาระบุ
อ่านประกอบ:
'ลูกเก้งเผือก' สายพันธุ์พระราชทานหาย! สวนสัตว์สงขลา สั่งสอบน่าจะโดนขโมย-ผอ.แจงถูกงูกิน
ปธ.บอร์ดย้ำเรื่องใหญ่มาก! องค์การสวนสัตว์ สั่งสอบทันที 'ลูกเก้งเผือก' สายพันธุ์พระราชทานหาย
เด้ง 'ผอ.สงขลา' เข้ากรุ! องค์การสวนสัตว์ สั่งย้ายด่วน รอผลสอบ 'ลูกเก้งเผือก' หายปริศนา
แต่ข้อเท็จจริงสำคัญของเรื่องนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลมาตั้งแต่ช่วงต้นที่มีการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ คือ ในช่วงเดือนก.พ.2563 เจ้าหน้าที่สวนสัตว์สงขลา ได้ทำบันทึกข้อความรายงานเรื่องแก้งเผือกสูญหายออกจากส่วนแสดงให้กับผู้บริหารสวนสัตว์สงขลา ระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. วันที่ 19 ก.พ.2563 ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่เลี้ยงสัตว์ตามขั้นตอนการปฎิบัติงานประจำวัน โดยหลังจากการตรวจนับจำนวนสัตว์ พบว่า มีลูกเก้งเผือก จำนวน 1 ตัวหายไป เบื้องต้นจากการตรวจเช็คบริเวณภายในและภายนอกส่วนจัดแสดงของสวนสัตว์ ไม่พบความผิดปกติอะไร
ซึ่งภายหลังทราบเรื่อง ผู้บริหารสวนสัตว์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน ตั้งประเด็นการหายตัวไปของ ลูกเก้งเผือกไว้ 3 เรื่องคือ 1. ถูกสัตว์อื่นมาทำร้ายเช่น งู 2. ลูกเก้งเผือก หลุดออกไปจากส่วนจัดแสดง และ 3. อาจจะถูกขโมยออกไปจากสวนสัตว์ ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า สาเหตุการหายตัวไปของ ลูกเก้งเผือก น่าจะเป็นเพราะถูกขโมยออกไปจากสวนสัตว์
จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในองค์การสวนสัตว์ว่า รายงานผลการตรวจสอบภายใน กรณีลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานที่หายไปดังกล่าว นั้น คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงของสวนสัตว์สงขลา ได้มีการจัดทำบันทึกข้อความสรุปรายงานผลการสอบสวนเสนอให้ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์สงขลา รับทราบเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2563 แล้ว
ระบุสาระสำคัญดังนี้
ตามคำสั่งสวนสัตว์สงขลาที่ 26/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริง กรณีสัตว์สูญหาย (เก้งเผือก จำนวน 1.0.0. ตัว) ตามบันทึกข้อความฝ่ายบำรุงสัตว์ ที่ บส.1115.4/146 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เรื่อง รายงานเก้งเผือกสูญหายออกจากส่วนจัดแสดง โดยเจ้าหน้าที่ประจำส่วนจัดแสดงได้ ระบุว่าในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 08.30 น. ลูกเก้งเผือก จำนวน 1.0.0. ตัว ได้สูญหายไปจากส่วนจัดแสดง นั้น
คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอรายงานการหาข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณา ดังนี้
1. เนื่องจาก ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 นาย ท. (ตัวย่อ) ตำแหน่ง พนักงานบํารุงสัตว์ 4 และ นาย ณ. (ตัวย่อ) ตำแหน่ง นักวิชาการสวนสัตว์ 6 ปฏิบัติงานประจำส่วนจัดแสดงเก้งเผือก ได้เข้าปฏิบัติงาน เลี้ยงสัตว์ (เก้งเผือก) ตามขั้นตอนการปฏิบัติงานประจำวัน โดยได้ตรวจนับสัตว์ และตรวจสอบสภาพส่วนจัดแสดง พบว่า ได้มีลูกเก้งเผือก จำนวน 1.0.0 ตัว หายไปจึงได้ทำการตรวจสอบบริเวณภายใน และภายนอกส่วนจัดแสดง หากแต่ไม่พบความผิดปกติใด ๆ หลังจากนั้นจึงได้แจ้งหัวหน้างาน และ หัวหน้าฝ่ายเพื่อทราบ
2. คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงได้รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรวจสอบจากพยาน บุคคลจำนวน 8 ราย และหลักฐานทางเอกสาร ดังนี้
2.1 พยานบุคคล จำนวน 8 ราย
พยานคนที่ 1 นาย ท. ตำแหน่งพนักงานบํารุงสัตว์ 4 เจ้าหน้าที่ดูแลเก้งเผือก ให้การโดยสรุปว่า ช่วงเช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 มาปฏิบัติงานตามปกติ และได้ตรวจนับสัตว์ ปรากฏว่ามีเก้งเผือก จำนวน 1.0.0 ตัว หายไป จึงได้ค้นหาบริเวณโดยรอบ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติว่างูเหลือมเข้ามาหรือไม่ หรืออาจจะถูกขโมย หรือหลุดหายไปนอกคอกแต่ไม่พบจึงแจ้งหัวหน้างาน และหัวหน้า ฝ่ายเพื่อทราบ
พยานคนที่ 2 นาย ณ. ตำแหน่งนักวิชาการสวนสัตว์ 5 เจ้าหน้าที่ดูแลเก้งเผือก ให้การโดยสรุปว่า ช่วงเช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 มาปฏิบัติงานตามปกติ และได้ตรวจนับสัตว์ ปรากฏว่ามีเก้งเผือก จำนวน 1.0.0 ตัว หายไป จึงได้ค้นหาบริเวณโดยรอบ ไม่พบร่องรอยของงูเหลือม หรือ ความชํารุดของส่วนจัดแสดง และไม่มีร่องรอยของการต่อสู้กรณีถูกขโมย
พยานคนที่ 3 นาย ส. ตำแหน่งนักบริหาร 6 หัวหน้างานวิจัย รักษาการหัวหน้างานบํารุงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ให้การโดยสรุปว่า ได้รับแจ้งเรื่องกวางหลุดจากภายนอก จึงได้เตรียมทีม เจ้าหน้าที่ไปจับกวาง และได้เจอนาย ท. คนเลี้ยงเก้งเผือก ซึ่งได้ไปช่วยย้ายกวางด้วย นาย ท. แจ้งว่า เมื่อเช้าได้ตรวจนับสัตว์ พบว่ามีเก้งเผือกหายไปจำนวน 1.0.0 ตัว เวลาประมาณ 10.00 น. จึงได้แจ้ง นาย ท. ให้ค้นหา หากไม่เจอให้ทำรายงานเสนอตามขั้นตอน ข้าพเจ้าได้ไปดูที่หน้าคอกเก้งเผือก เห็น นาย ณ. เดินตรวจสอบโดยรอบ พยายามหาทุกจุดแต่ไม่พบ
ซึ่งเบื้องต้นคนเลี้ยงแจ้งว่าอาจจะโดนงูเหลือมกิน แต่ดูจากสภาพคอกแล้ว มีการป้องกันคอกก่อนที่เก้งเผือกหาย โดยเอาตาข่ายมากั้นไม่ให้งูเข้า และได้เฝ้าติดตามดูเก้งเผือกเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว สันนิษฐานว่าหากถูกงูเหลือมกิน โดยธรรมชาติงูเหลือมจะเลื้อย ออกไปไหนไม่ได้ เนื่องจากเก้งเผือกมีอายุ 3 เดือนน้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม
พยานคนที่ 4 นาย อ. ตำแหน่งนักบริหาร 5 หัวหน้างานคลังอาหารสัตว์ รักษาการหัวหน้าฝ่ายบํารุงสัตว์ให้การโดยสรุปว่า เช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ได้รับแจ้งจาก นาย ท. ว่ามีเก้งเผือกจำนวน 1.0.0 ตัว หายไป จึงมีคำสั่งให้ค้นหาบริเวณพื้นที่โดยรอบอย่างละเอียด และได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วยตัวเอง ไม่ปรากฏร่องรอยของงูเหลือม เพราะหากเก้งเผือกถูกงูเหลือมกิน จะไม่สามารถออกไปไหนได้ หรือกรณีสัตว์หลุดคาดว่ามีความเป็นไปได้น้อยเพราะตาข่ายมีความแข็งแรง มีรั้วรอบขอบชิด อย่างดี หรือหากถูกขโมยก็ไม่มีร่องรอยที่จะนําไปเป็นหลักฐานได้ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าเก้งเผือกหายไปโดยวิธี
พยานคนที่ 5 สพ.ญ.อ. ตำแหน่งนายสัตวแพทย์ 5 ให้การโดยสรุปว่า ตนได้รับแจ้งว่าเก้งเผือกสูญหาย ประมาณ 2-3 วัน หลังจากที่หายไปแล้ว ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีงูเหลือมเข้ามากินลูกเก้งเผือก แต่พบเห็นงูนอนอยู่ภายในไม่ออกไปไหน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ กรณีเก้งเผือกหายครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่งูเหลือมกิน เพราะไม่มีร่องรอยของงูเลย เก้งเผือกค่อนข้างจะใหญ่พอสมควรหากงูกินเข้าไป จะออกไปไหนไม่ได้แน่นอน สภาพกรงเลี้ยงที่เข้าไปดูมีจุดที่เป็นร่มไม้ พบบางจุดมีผุไม่แข็งแรงบ้าง เช่น ประตู ต้องใช้ลวดมัด หากสันนิษฐานว่าคนขโมยด้วยพฤติกรรมของสัตว์หากมีคนแปลกหน้าเข้าไปจะส่งเสียงร้องค่อนข้างดัง ถ้าเป็นคนเลี้ยงก็จะไม่ร้องไม่ตื่นเท่าที่ควร
พยานคนที่ 6 นาย จ. ตำแหน่ง ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ฝ่ายพัฒนาสวนสัตว์ ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัย ให้การโดยสรุปว่า เข้าเวร ผลัด 2 เวลา 16.00 น. และออกเวร เวลา 24.00 น. ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ในวันดังกล่าวได้ขับรถเวียนส่วนจัดแสดงสัตว์โดยรอบ แต่ไม่ได้ลงไปดู เนื่องจากไม่พบความผิดปกติใด ๆ และไม่ได้รับแจ้งว่ามีเก้งเผือกสูญหาย ซึ่งต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ได้สอบถาม นาย ท. คนเลี้ยง เรื่องเก้งเผือกสูญหาย และได้แนะนําให้แจ้ง รปภ. ทราบเพื่อเขียน บันทึกประจำวัน แต่นาย ท. บอกว่าได้บันทึกรายงานเสนอฝ่ายบํารุงสัตว์แล้ว
พยานคนที่ 7 นาย ส. ตำแหน่ง ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ฝ่ายพัฒนาสวนสัตว์ ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัย ให้การโดยสรุปว่า ตนเข้าเวร ผลัดที่ 3 เวลา 24.00 น. ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 และออกเวร เวลา 08.00 น. ในเช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ในการปฏิบัติงานดูแล ความปลอดภัยภายในสวนสัตว์ จะขับรถเวียนรอบสวนสัตว์ในช่วงเวลา 01.30 น. และในคืนนั้นไม่มีความผิดปกติใด ๆ
พยานคนที่ 8 นาย อ. ตำแหน่ง ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ฝ่ายพัฒนาสวนสัตว์ ปฏิบัติงานรักษาความปลอดภัย ให้การโดยสรุปว่า ตนเข้าเวร ผลัด 1 เวลา 08.00 น. ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 และออกเวร เวลา 16.00 น. ในการปฏิบัติงานดูแลความปลอดภัยภายในสวนสัตว์ จะขับรถเวียน โดยรอบสวนสัตว์ ผ่านทุกส่วนจัดแสดงสัตว์ และในวันนั้นไม่มีความผิดปกติใด ๆ แต่มีบุคคลเข้าออกบ้านพัก ก็จะขับรถตามลงไปห่างๆ เมื่อถึงบ้านพัก จึงกลับมาอยู่ที่ป้อมยามเช่นเดิม ทั้งนี้ รปภ. เพิ่งทราบภายหลังว่ามีเก้งเผือกสูญหาย และจะไม่ทราบว่ามีเก้งเผือกจำนวนกี่ตัว ทราบเพียงว่ามีเก้งเผือกเกิดใหม่เท่านั้น เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเฝ้าติดตามตลอดทั้งคืน
2.2 หลักฐานเอกสาร ดังนี้
1. บันทึกข้อความที่ บส.1115.4/146 เรื่อง รายงานเก้งเผือกสูญหายออกจากส่วนจัดแสดง ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563
2. รายงานสัตว์ เกิดจากฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์
3. ใบรายงานการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 - วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563
4. บันทึกการตรวจพื้นที่ของงานรักษาความปลอดภัยสวนสัตว์สงขลา ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 - วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563
5. ทะเบียนสัตว์มีชีวิตประจำเดือน ธันวาคม 2562
6. รายงานของคณะกรรมการควบคุมงานงานปรับปรุงส่วนจัดแสดงสัตว์กีบฯ
จากข้อเท็จจริงพยานบุคคลและหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าว คณะกรรมการหา ข้อเท็จจริง ได้สรุปการสูญหายของเก้งเผือก 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1. กรณีเก้งเผือกถูกงูเหลือมกิน ตามธรรมชาติเมื่องูเหลือมกินเก้งเผือก อายุ 3 เดือน น้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม งูเหลือมไม่สามารถเลื้อยออกจากส่วนจัดแสดงได้ จะต้องพบร่องรอยงูเหลือม ซึ่งจากพยานบุคคลและหลักฐานเอกสารไม่พบร่องรอยงูเหลือมภายในส่วนจัดแสดง
ประเด็นที่ 2. กรณีเก้งเผือกหลุดออกจากส่วนจัดแสดง จากพยานบุคคลและหลักฐานเอกสาร ไม่พบว่าส่วนจัดแสดงชํารุด ฉีกขาดของตาข่ายบริเวณโดยรอบส่วนจัดแสดงเก้งเผือก เนื่องจากส่วนจัดแสดง ล้อมรอบด้วยรั้วตาข่าย สูง 2 เมตร และมีการนําตาข่ายดักงูมาล้อมรอบบริเวณคอกกัก เก้งเผือกไม่สามารถกระโดดออกจากส่วนจัดแสดงได้ และหากมีเหตุให้เก้งเผือกหลุดออกนอกส่วนจัดแสดง คาดการณ์ได้ว่า เก้งเผือกจะไม่ไปไหนไกล เนื่องจากยังไม่หย่านม
ประเด็นที่ 3. กรณีเก้งเผือกถูกขโมย จากพยานบุคคลและหลักฐานเอกสาร ไม่พบร่องรอย แต่เก้งเผือกอาศัยอยู่ภายในส่วนจัดแสดงที่มีลักษณะเปิด เนื่องจากคอกกักอยู่ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม
ข้อเสนอแนะและมาตรการป้องกัน
1. ผู้ปฏิบัติงานเลี้ยงสัตว์ควรเก็บสัตว์เข้าในคอกกักทุกวัน พร้อมทั้งล็อคประตูก่อนกลับบ้าน เพื่อป้องกันสัตว์หลุด หรือการถูกทำร้ายจากสัตว์อื่น เช่น งูเหลือม สุนัข และการถูกขโมย
2. ติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณส่วนจัดแสดงสัตว์ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
3. กรณีเกิดเหตุสัตว์สูญหาย ควรมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการทางกฎหมายโดยการแจ้งความทันที เพื่อการตรวจสอบและค้นหาหลักฐานโดยเร่งด่วน
4. ปรับปรุงและทบทวนกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ขั้นตอนการปฏิบัติงานและการรายงาน ผู้บังคับบัญชาให้รวดเร็วทันเหตุการณ์ รวมทั้งการบันทึกการปฏิบัติงานประจำวัน ต้องเป็นปัจจุบันสามารถใช้ ในการอ้างอิงและรายงานต่อผู้บริหารได้
5. ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานการรักษาความปลอดภัยในการดูแลทรัพย์สินให้มีความละเอียด รัดกุมมากยิ่งขึ้น กำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการเข้า-ออกของบุคคลภายนอกในยามวิกาล ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลได้
6. กำหนดขั้นตอนและกระบวนการสื่อสารภายในองค์กร ให้รับทราบและถือปฏิบัติอย่างเคร่ง
เก้งเผือกที่สูญหายเป็นทายาทของเก้งเผือกที่องค์การสวนสัตว์ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 นับเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าต่อองค์การสวนสัตว์เป็นอย่างมาก คณะกรรมการจึงมีมติว่า จากพยานบุคคลและหลักฐานเอกสารทั้งหมด เก้งเผือกสูญหายเกิดจากการถูกขโมย จากพื้นที่ส่วนจัดแสดง
ดังนั้น คณะกรรมการจึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ดังนี้
1. เห็นสมควรรายงานผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีสัตว์สูญหาย (เก้งเผือก จำนวน 1.0.0 ตัว) ไปยังผู้อํานวยการองค์การสวนสัตว์เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
2. เห็นสมควรดำเนินการตามข้อเสนอแนะและมาตรการป้องกัน เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ และทรัพย์สินภายในสวนสัตว์
3. หากพิจารณาแล้วมีความเห็นเป็นอย่างอื่นโปรดสั่งการ
ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงจากองค์การสวนสัตว์ ให้ข้อมูลยืนยันสำนักอิศรา ว่า เกี่ยวกับรายงานผลการตรวจสอบกรณีลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานที่หายไปดังกล่าว ทางองค์การสวนสัตว์ได้รับทราบเรื่องมานานแล้ว และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเข้าไปตรวจสอบยืนยันข้อมูลเรื่องนี้แล้ว ก็คือ คณะกรรมการชุดที่มี นายอภิเดช สิงหเสนี รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ เป็นประธาน นั้นเอง
แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และหนึ่งในคณะกรรมการสอบสวน ที่เป็นตัวแทนฝ่ายกฎหมายลาออกไป จึงทำให้การดำเนินงานตรวจสอบเรื่องนี้ที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
จนกระทั่ง สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลมาเปิดเผยดังกล่าว จึงทำให้ฝ่ายบริหารองค์การสวนสัตว์ สั่งเร่งรัดการดำเนินงานตรวจสอบเรื่องนี้ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปทันที
โดยประเด็นสำคัญที่ฝ่ายบริหารขององค์การสวนสัตว์ เน้นย้ำต่อการดำเนินงานตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบ ก็คือ สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ลูกเก้งเผือกสายพันธุ์พระราชทานที่หายไปดังกล่าว เกิดจากการถูกขโมย หรือ งูเหลือมกินไปกันแน่
เพราะจากข้อมูลที่ได้รับรายงานเข้ามาเบื้องต้น มีความขัดแย้งกันอย่างมาก?
ผลการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของ นายสุริยา แสงพงค์ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ และ นายอภิเดช สิงหเสนี รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เป็นอย่างไรต้องติดตามดูกันต่อไป
แบบห้ามกะพริบตาโดยเด็ดขาด!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage