"...นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว โดยผลสรุปเบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสำรวจไม้แซะซึ่งปรากฏตามเอกสาร มีส่วนกระทำความผิดในการแจ้งเอกสารเป็นเท็จ โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะส่งเรื่องมาให้ตนเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะดำเนินการทางวินัยต่อไป..."
ประเด็นตรวจสอบ กรณีกรมป่าไม้ มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง การโค่นล้มไม้ยางนาขนาดลำต้นเท่ากับรถยนต์กระบะ ความยาวหลายเมตร จำนวนหลายต้น บริเวณริมถนนทางหลวงหมายเลข 402 ตอนโคกลอย - หมากปรก อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ที่เจ้าหน้าที่อ้างข้อมูลในรายงานการสำรวจว่า เป็นไม้แซะ ที่ยืนต้นตาย ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามนำเสนอข้อเท็จจริงมาให้สาธารณชนได้รับทราบไปก่อนหน้านี้
มีความคืบหน้าเพิ่มเติม เมื่อสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่าแหล่งข่าวระดับสูงในกรมป่าไม้ว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2563 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง กับ นายกฤษฎา สุตนพัฒน์ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ที่ทำหน้าที่ออกตรวจสอบไม้ และรายงานชนิดไม้และสภาพไม้ ผิดพลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อันมีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ โดย มีนายสมชาย จิตรหลัง ทำหน้าที่เป็นประธาน (ดูคำสั่งประกอบ)
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว แต่นายอรรถพล ติดภารกิจยังไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือนธ.ค.2562 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว โดยผลสรุปเบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสำรวจไม้แซะซึ่งปรากฏตามเอกสาร มีส่วนกระทำความผิดในการแจ้งเอกสารเป็นเท็จ โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะส่งเรื่องมาให้ตนเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะดำเนินการทางวินัยต่อไป
สำหรับผลการตรวจสอบกรณี สำนักข่าวอิศรา เคยได้รับการยืนยันจากคณะกรรมการสอบสวนว่า ชนิดต้นไม้ทั้ง 11 ต้น ที่ถูกโค่นไปนั้น จากการตรวจสอบพบว่า ไม่ใช่ต้นยางนา แต่เป็นต้นยางมันหมู สภาพต้นไม้ในจุดเกิดเหตุก่อนตัดโค่น พบว่า ยืนต้นตายไปแล้ว จำนวน 3 ต้น กำลังจะตายนี้ อีก 6 ต้น ส่วนอีก 2 ต้นสภาพยังดีอยู่ แต่อยู่ตัดกับไหล่ทางถนนมากเกินไปต้องตัดทิ้งเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับการจากการสอบปากคำชาวบ้านในพื้นที่ ว่า ต้องการให้มีการตัดต้นไม้เหล่านี้ออกไป เพราะกังวลเรื่องปัญหาความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนของประชาชน เพราะล่าสุด ก็เพิ่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นด้วย
คณะกรรมการฯ ยังชี้ปัญหาเรื่องนี้ เกิดจากการขาดประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ในการสำรวจไม้ จึงทำให้มีการระบุชื่อชนิดต้นไม้ผิด จำนวนต้นไม้ก็แค่ 11 ต้น ไม่ได้มีจำนวนมาก จึงไม่น่าที่จะมีเจตนาทำทุจริต ทำรายงานเท็จ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับใครจากการตัดต้นไม้ยางทั้ง 11 ต้นดังกล่าวแต่อย่างใด
ขณะที่การสำรวจไม้ดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานร่วม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง สำนักงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพังงา แขวงการทางภูเก็ต และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ลงนามรวมกันในบันทึกสรุปผลการสำรวจไม้ โดยคณะทำงานหน่วยงาน 4 ฝ่าย ได้ร่วมกันจัดทำบัญชีสรุปผลการสำรวจไม้ ที่ได้สำรวจตีตราต้นไม้กระยาเลยที่ยืนต้น หรือล้มขอนนอนไพร ยืนต้นตายตามธรรมชาติป่าที่เปิดใช้ประโยชน์ เพื่อทำประโยชน์ในบริเวณพื้นที่ทางหลวงหมายเลข 402 ตอนโคกลอย - หมากปรก อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เนื่องจากไม้ยืนต้นตาย เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้สัญจร สำรวจพบไม้แซะ จำนวน 11 ต้น ได้แก่
1. นายกฤษฎา สุตนพัฒน์ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง
2. นายสมศักดิ์ สุมานิตย์ เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา
3. นายษณกร ทับทิมทองสุข นายช่างโยธาชำนาญงาน เจ้าหน้าที่แขวงการทางภูเก็ต
4. นายชินาธิป เมืองแก้ว เจ้าหน้าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เขตสุราษฎร์ธานี
อย่างไรก็ดี นายกฤษฎา สุตนพัฒน์ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง หนึ่งในตัวแทนคณะทำงาน 4 ฝ่าย ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ว่า "กรณีการโค่นไม้ 11 ต้นนั้น เริ่มมาจากกรมทางหลวงเห็นว่า ต้นไม้บริเวณดังกล่าวนั้น ยืนต้นตายและเป็นอันตรายต่อการสัญจร จึงทำเรื่องขออนุญาตตัดต้นไม้จุดดังกล่าวไปที่สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้เขต 12 จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สำรวจต้นไม้และส่งเรื่องต่อไปยังกรมป่าไม้
ส่วนเหตุผลที่ในรายงานขออนุญาตระบุประเภทไม้แซะ แต่ไม้ที่โค่นกลับเป็นไม้ยางนา นั้น หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง ชี้แจงว่า "เมื่อดำเนินการโค่นตัดปรากฏว่า เป็นไม้ยาง ไม่ใช่ไม้แซะ ปัญหาน่าจะเกิดจากความไม่ชำนาญของเจ้าหน้าที่ผู้ลงพื้นที่สำรวจ อาจดูชนิดของต้นไม้ผิด แต่ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแล้ว พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร"
ณ วันนี้ กรมป่าไม้ ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยเรื่องนี้แล้ว แต่เป็นการสอบวินัยไม่ร้ายแรง ผู้ถูกกล่าวหามีรายเดียว ก็คือ นายกฤษฎา สุตนพัฒน์
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ ชมรม Strong-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดพังงา ได้เข้าไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัดพังงา เพื่อให้เข้ามาสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการไปแล้ว
ผลเป็นอย่างไรต้องติดตามดูกันต่อไป
อ่านประกอบ :
อธิบดีกรมป่าไม้เผยผลสอบปมโค่นไม้ยางยักษ์พังงา จนท.สำรวจแจ้งเอกสารเท็จ
ชมรมต้านทุจริตภาคใต้ รวมพลยื่น ปธ.ป.ป.ช.-แจ้งความตร.สอบ4 หน่วยงานรัฐโค่นยางยักษ์100ปี
ล้วงผลสอบโค่นยางยักษ์11ต้น แค่จนท.ใส่ชื่อต้นไม้ผิด-ชมรมต้านทุจริตไม่ยอม ยื่น ป.ป.ช.สางแทน!
แฉรายงานไม่ตรงข้อเท็จจริง! อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งสอบด่วน จนท.ปิดถนนโค่นไม้ยางพังงา
กรณีโค่นยางยักษ์พังงา! อัยการชี้หากทำรายงานเท็จโทษเพียบ-คนในป่าไม้ ตั้งปมเอื้อค่าภาคหลวง
อธิบดีป่าไม้ ขีดเส้น15วัน สางปมลักไก่โค่นไม้ยางยักษ์พังงา- จี้ ออป.แจงจ้างลูกช่วงตัดแทน
เพจต้านทุจริตใต้โชว์คลิปมัด โค่นยางยักษ์สภาพดีเพียบ! ไฉนรายงานอธิบดีป่าไม้ สมบูรณ์ต้นเดียว
เปิดชื่อ4ตัวแทน สำรวจไม้แซะ ก่อนโค่นยางยักษ์11ต้น! แจงเหตุจนท.ดูชนิดไม้ผิด-ปัดเอื้อปย.ใคร
กรณีโค่นยางยักษ์พังงา! อัยการชี้หากทำรายงานเท็จโทษเพียบ-คนในป่าไม้ ตั้งปมเอื้อค่าภาคหลวง
มุ่งสางปมทำรายงานเท็จ! อธิบดีป่าไม้แจงคำสั่งสอบโค่นยางยักษ์ 11 ต้น-ออป.รีบย้ายของกลางได้
ส.ส.พังงา 'กันตวรรณ ตันเถียร' : กรมป่าไม้-ทางหลวง ต้องมีความชัดเจนโค่นยางยักษ์11ต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/