สิ่งที่เกษตรกร/กลุ่มผู้ใช้น้ำควรรู้คือ แนวทางการจัดสรรน้ำในอนาคต จะไม่ได้มองแค่จะจัดสรรน้ำเท่าไร่ แต่จะมองด้วยว่าสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ ตำบล/จังหวัดมากขึ้นเท่าไหร่ การจัดสรรน้ำไม่ได้หมายความว่า มีพื้นที่เยอะจะแล้วจะได้น้ำเยอะ แต่สิ่งที่จะนำมาพิจารณาประกอบ คือ น้ำที่จัดสรรไปนั้นสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน
ปัจจุบัน “น้ำ” ของประเทศไทยเริ่มจะมีข้อจำกัด แผนการบริหารจัดการน้ำจึงต้องมองไปในอนาคต ทำอย่างไรให้ “แล้งก็อยู่ได้ ท่วมก็อยู่ได้”
ในเชิงพื้นที่ ประเทศไทยมีพื้นที่ทำเกษตรกรรมเยอะ แต่ในเชิงเศรษฐกิจผลผลิตยังสร้างมูลค่าไม่ได้มากนัก (โดยเฉพาะข้าวที่เราปลูกกันมากแต่ปัจจุบันก็มีคู่แข่งมากเช่นกัน)
โดยประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 321 ล้านไร่ หรือประมาณ 513,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่สำหรับการเกษตรประมาณ 43% หรือราว 138 ล้านไร่ และรายได้ของภาคเกษตรคิดเป็นราว 10% ของ GDP
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารงานจัดการน้ำ ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า แน่นอนว่า การทำเกษตรกรรมต้องมีน้ำใช้และใช้น้ำเป็นปัจจัยหลัก หากจะมองยาวไปถึงอนาคต มีอะไรบ้างที่ควรตระหนักและจะมีระบบการบริหารจัดการน้ำให้ “แล้งก็อยู่ได้” “ท่วมก็อยู่ได้” ได้อย่างไร โดยมีประเด็นที่ควรพิจารณา 3 ประการ
ประการแรก จะทำอย่างไร เมื่อ “น้ำ” มีจำกัดและไม่แน่นอนอีกต่อไป (ผลจาก Climate Change)
ปัจจุบัน “น้ำ” ของประเทศไทยเริ่มจะมีข้อจำกัด จากความรุนแรงของ Climate Change การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นแนวโน้มของการใช้น้ำอาจต้องมาดูแลมากขึ้นกว่าในอดีตเราต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติใหม่ที่มา
การมีเครื่องมือที่ทันสมัย IOT-เทคโนโลยีอัจฉริยะ ระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้เพื่อวัดระดับน้ำและติดตามน้ำในลำคลอง(คลองส่งน้ำชลประทาน) ที่จะช่วยให้การเปิด-ปิดประตูน้ำหรือการบริหารจัดการน้ำให้กับภาคเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการนำไปใช้ในแปลงเกษตรจะทำให้เกษตรกรรู้สภาพความชื้นในดินและจัดการให้น้ำพืชได้เพียงพอ ไม่มากไป ไม่น้อยไป
เมื่อมีการติดเครื่องมือที่ทันสมัยจะทำให้การใช้น้ำตรงตามความต้องการมากขึ้นและลดการสูญเสียน้ำจากการปล่อยน้ำแบบเดิม ที่มีน้ำส่วนหนึ่งถูกทิ้งหรือรั่วไหลระหว่างทางลดลง ขณะนี้กำลังมีการศึกษาและทดลองทำในพื้นที่ คบ.ท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร และทำควบคู่ไปกับภาคเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่มาช่วยกันทำและสร้างการบริหารจัดการอย่างมีธรรมมาภิบาล เมื่อสำเร็จจะเป็นตัวอย่างไปทำกับโครงการชลประทานอื่นต่อไป
· เทคโนโลยีทันสมัย ช่วยเจ้าหน้าที่ชลประทานระบายน้ำ จัดสรรน้ำได้ตรงจุด ตามปริมาณที่ต้องการ และไม่รั่วไหล ทำให้สามารถบริหารน้ำได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นในส่วนของคลองหลัก ส่วนคลองซอยก็มีกลุ่มผู้ใช้น้ำคอยดูแล
· เทคโนโลยีทันสมัย ช่วยเกษตรกรประเมินความต้องการน้ำของพืชที่ปลูก ประหยัด และพอเพียง และเพิ่มทางเลือกการทำเกษตรบนต้นทุนน้ำที่เป็นจริง ทั้งพึ่งตนเองและพึ่งพิงระบบชลประทาน เห็นความเชื่อมโยงการใช้น้ำตลอดสายและแบ่งปัน จากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
เทรนด์ของการทำเกษตรยุค 4.0 เป็นการทำเกษตรที่ค่อนข้างใช้น้ำน้อยแต่พืชได้น้ำเพียงพอและให้ผลผลิตที่ดี จากการใช้เทคโนโลยี มีเครื่องมือควบคุมการให้น้ำพืชมาช่วย การที่เกษตรกรรู้ข้อมูลความต้องการน้ำของพืชที่ปลูกก็จะทำให้ไม่ต้องใช้น้ำเกินจริงซึ่งนอกจากไม่มีประโยชน์กับพืชแล้ว ยังถือเป็นการสูญเปล่า
ประการที่สอง เป้าหมายการใช้น้ำของประเทศไทยโดยรวม มีเรื่องหลัก คือ
1. ทำอย่างไรจะให้ใช้น้ำได้อย่างพอเพียง ซึ่ง คำว่า พอเพียง ในที่นี้หมายถึงการใช้น้ำอย่างประหยัด
2. ทำอย่างไรจะเพิ่มมูลค่าจากการใช้น้ำให้มากขึ้น ประเทศไทยใช้น้ำต่อลูกบาศก์เมตร สร้างรายได้เกือบจะลำดับที่ 28 ของอาเซียน เราชนะลาวกับเขมรเท่านั้น ที่อื่นเขาใช้น้ำ 1 คิว ทำเงินได้มากกว่าเรา 10 เท่า
ในอนาคตเราจึงต้องสู้ด้วยเกษตรทันสมัย อย่างเช่น ในกรณีข้าว คาดว่าอีกไม่นานประเทศพม่าหรือเมียนมาจะส่งออกข้าวแข่งกับไทย ส่วนเวียดนามจะเลิกปลูกข้าวแข่ง แต่จะหันไปทำอย่างอื่นที่สร้างมูลค่าจากการใช้น้ำได้มากกว่า เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เพราะน้ำ 1 คิวหรือ ลบ.ม.เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งได้มูลค่ามากกว่าข้าว
ฉะนั้นเกษตรกรต้องปรับตัวและเน้นการพึ่งตนเองไว้ก่อน เช่น การมีแหล่งน้ำของตนเองสำรองไว้ส่วนหนึ่ง แล้วใช้น้ำจากระบบชลประทานเป็นส่วนเสริม การทำเช่นนี้ยังช่วยให้ระบบชลประทานได้กระจาย/แบ่งปันน้ำได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ไม่กระจุกตัวในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง ความขัดแย้งลดลง
สิ่งที่เกษตรกร/กลุ่มผู้ใช้น้ำควรรู้คือ แนวทางการจัดสรรน้ำในอนาคต จะไม่ได้มองแค่จะจัดสรรน้ำเท่าไร่ แต่จะมองด้วยว่าสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ ตำบล/จังหวัดมากขึ้นเท่าไหร่ การจัดสรรน้ำไม่ได้หมายความว่ามีพื้นที่เยอะจะแล้วจะได้น้ำเยอะ แต่สิ่งที่จะนำมาพิจารณาประกอบคือน้ำที่จัดสรรไปนั้นสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน นี่ก็เป็นมุมมองอนาคตว่าจะเป็นไปในแนวทางนี้
สิ่งที่เป็นพื้นฐาน คือ ข้อมูล จากทั้งส่วนกลางและพื้นที่ ซึ่งข้อมูลที่เชื่อมประสานกันจะมีผลต่อการจัดสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง และที่สำคัญน้ำที่จัดสรรไปนั้นสร้างรายได้(มีมูลค่าเพิ่มขึ้น) และประการสำคัญทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม กลไกแบบนี้ทั้งน้ำและผลผลิตมันจะโยงไปโยงมาเพื่อจะให้ความอยู่รอดของตัวตำบลและความก้าวหน้าก็จะพัฒนามากขึ้น แต่ละตำบลอาจจะมีรูปแบบแตกต่างกัน เมื่อเกิดระบบที่ดี ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ “ไม่ต้องวิ่งเต้นผู้มีอำนาจในพื้นที่เพื่อให้ได้น้ำอีกต่อไป”
นี่คือสิ่งที่กำลังมีการศึกษาทดลองจริงเพื่อให้เกิดระบบจัดการน้ำที่ช่วยให้ “แล้งก็อยู่ได้ ท่วมก็อยู่ได้” เป็นสิ่งที่ในแง่ของตำบลจะแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาต่าง ๆ ต้องทำอะไรบ้าง ต้องมีประตูน้ำ ต้องมีบึง แล้วค่อยเสนอข้อมูลขอจากภาครัฐ
ประการที่สาม ทำอย่างไรจะมีงบพัฒนาจังหวัด และมีระบบควบคุมการใช้งบประมาณที่ดี ซึ่งต้องตั้งต้นด้วยการมีข้อมูลจริงก่อน
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมทำคือ เรื่องงบพัฒนาจังหวัด แต่เดิมระบบควบคุมการใช้งบประมาณยังไม่ดี มีการใช้ถูกทางบ้างไม่ถูกทางบ้าง แต่จากนี้ไปก็จะทำระบบงบประมาณจังหวัด ที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ข้อมูลจากพื้นที่ระดับตำบลสามารถส่งตรงสู่ระดับได้เลย โดยการคีย์ข้อมูลคำขอในระบบได้เลย ซึ่งต่อไปการจัดสรรงบประมาณผ่านจังหวัดมากขึ้น ตั้งต้นด้วยการมีข้อมูลจริงก่อน ถ้าเสนอเข้าไปแล้วมีข้อมูลชัดเจนอธิบายได้ก็จะได้รับอนุมัติได้ไว แต่ถ้าไม่ได้เขาก็จะเอาไปให้กับที่อื่นที่ชัดเจนกว่า เป็นต้นทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี ที่จะแสดงให้เห็นว่า ถ้าทำให้ตรงไปตรงมาก็จะทำให้รู้ว่าบ้านเราจะพัฒนาต่อไปยังไง