ด้วยเหตุที่บ้านเราไม่เก็บภาษีนำเข้าสารเคมี การอ้างผลกระทบต่อเกษตรกร ฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลายเป็นว่า เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เวลาซื้อเครื่องตัดหญ้า รถไถเดินตาม วัสดุคลุมดิน เขาต้องเสีย VAT 7% กลายเป็นว่า นโยบายการเก็บภาษีกลับไปสนับสนุนการใช้สารเคมี และสร้างภาระให้เกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี
หลังเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ออกแถลงการณ์ พร้อมมีข้อเสนอต่อกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเลื่อนการแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไป และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต (อ่านประกอบ:686 เครือข่าย เล็งฟ้องศาลปกครอง 'สุริยะ' ประชุมเลื่อนแบน3 สารพิษโดยมิชอบ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ถึงมุมมองแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมกับนโยบายรัฐ
นายวิฑูรย์ เริ่มต้นให้มุมมองต่อรายงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่เรื่องสารทดแทน หากในอนาคตจะมีการยกเลิกใช้สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเราเห็นว่า รายงานนี้ ยังไม่ครอบคลุม ขณะที่สารทดแทนบางตัว เราก็มีข้อกังขาเช่นกัน
กรณีของผู้ปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน นายวิฑูรย์ ชี้ว่า ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ในการกำจัดวัชพืชและเตรียมดินเพื่อเพาะปลูก เช่น รถไถ เครื่องตัดหญ้า รถแทรคเตอร์ หรือการทำไร่ข้าวโพดประเทศเม็กซิโก ซึ่งแบนไกลโฟเซต ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเหล่านี้เลย พาราควอต ประเทศศรีลังกา แบนแล้ว 2 - 3 ปี รวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม เขามีทางออกให้เกษตรกรในประเทศ
"เรายืนยันมีวิธีการ มีทางเลือกอื่นให้เกษตรกรเพื่อไม่ให้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช"
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงการแบน 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร “ไกลโฟเซต พาราควอต คลอร์ไพริฟอส” รัฐบาลต้องให้คำยืนยันว่า การปรับเปลี่ยนต้องไม่ผลักภาระให้กับเกษตรกรเป็นผู้รับภาระ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 5-6 เดือนนี้ รัฐบาลต้องทำให้มาตรการต่างๆ มีผลชัดเจนโดยเร็วที่สุด
"ผมคิดว่าไม่มีเกษตรกรคนใดเสี่ยงใช้สารเคมีทางการเกษตร หากเขามีทางเลือก และหากทางเลือกเหล่านั้น ไม่เป็นภาระเลย รัฐบาลต้องเข้ามาเป็นผู้รับภาระ เช่น ภาษีต่างๆ ที่เคยเกื้อกูลบริษัทสารเคมี ก็อาจต้องนำมาช่วยเหลือเกษตรกร"
นายวิฑูรย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2535 ประเทศไม่เก็บภาษีนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็อยู่ในรายการยกเว้นการเก็บ ดังนั้นภาษี VAT และภาษีนำเข้า ไม่ถูกเก็บเลย คำนวณคร่าวๆ มูลค่าภาษีที่หายไปจากการยกเว้นการจัดเก็บมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าเยอะมากหากนำภาษีนี้มาใช้ประโยชน์ทางด้านอื่น
"บางประเทศเก็บภาษีตามความเป็นอันตรายของสารเคมี อันตรายมากเก็บเยอะ เช่นเดนมาร์ก นอร์เวย์ เราสามารถนำมาประยุกต์ในประเทศไทยได้ มีข่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ศึกษาเรื่องนี้ไว้ แต่ยังไม่มีการนำเสนอออกมาใช้"
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ชี้ว่า ด้วยเหตุที่บ้านเราไม่เก็บภาษีนำเข้าสารเคมี การอ้างผลกระทบต่อเกษตรกร แม้ว่าจะฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลายเป็นว่า เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในไทยมีกว่า 50% ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ นั้นเกษตรกรกลุ่มนี้เวลาซื้อเครื่องตัดหญ้า รถไถเดินตาม วัสดุคลุมดิน เขาต้องเสีย VAT 7% กลายเป็นว่า นโยบายการเก็บภาษีกลับไปสนับสนุนการใช้สารเคมี และสร้างภาระให้เกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี
ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เน้นย้ำถึงเรื่องภาษีบ้านเราทำตรงกันข้าม ซึ่งรัฐที่ยุติธรรมต้องเก็บภาษีสารเคมีเป็นหลัก เพราะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัย ระบุว่า ทุก 1 ล้านบาทที่นำเข้าสารเคมี มีความเสียหายส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ้งแวดล้อม กลไกการเยียวยา ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท ขณะที่ ปี 2561 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุถึงตัวเลขนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นั่นหมายความว่า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท นี่คือรัฐต้องรับภาระ แต่รัฐไทยกลับไปยกเว้นภาษีนำเข้าสารเคมี สร้างความเหลื่อมล้ำในระบบภาษีมากยิ่งขึ้น
"สารเคมีทางการเกษตรไม่ได้ถูกจริง แต่เกิดจากระบบภาษี"
สุดท้ายเมื่อถามถึงฉันทามติของสังคมประเทศอื่น เหมือนบ้านเราหรือไม่ ระหว่างเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมีทางการเกษตร นายวิฑูรย์ บอกว่า มีปัญหาเช่นกัน ประเทศอื่นก็เป็นแบบนี้ มีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน แต่เขารอให้การเมืองเข้มแข็งก่อนถึงทำได้ เช่น มาเลเซีย
"วันนี้บริษัทใหญ่ๆ ที่ทำเกษตรแปลงใหญ่ มีแนวโน้มสมัครใจไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร แต่ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก บางบริษัทเดินหน้าไปแล้ว ไม่เห็นด้วยกับการใช้ 3 สารนี้ เราเริ่มเห็นภาคเอกชนออกมาแล้ว"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/