ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา แถลงนโยบายการบริหารศาลยุติธรรม ระบุชัดต่อไปจากนี้ เน้นส่งเสริมการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีให้มากขึ้น เชื่อมั่นมีเทคโนโลยีไบโอแมทริกซ์ โอกาสหลบหนีจะยาก ขึ้น แม้แต่คดีทุจริตต้องคิดหนัก คุ้ม-ไม่คุ้มหลบหนี
วันที่ 7 พ.ย. เวลา 9.30 น. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา แถลงนโยบายประธานศาลฎีกาและกำหนดแนวทางการบริหารศาลยุติธรรม ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ ถ.ราชดําริ โดยมีผู้บริหารระดับสูงในศาลยุติธรรมทุกชั้นศาล จำนวน 112 ท่าน เข้าร่วมการประชุม
ประธานศาลฎีกา กล่าวถึงนโยบายหรือพันธกิจของศาลยุติธรรมทุกยุคทุกสมัยไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักในสาระสำคัญ สิ่งที่ต้องคำนึงจะอำนวยความยุติธรรม ระงับข้อขัดแย้งให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไรให้สะดวกรวดเร็ว ได้รับความเป็นธรรม แต่สิ่งที่แตกต่างกันในแต่ละปี คือการมุ่งเน้นแก้ปัญหาในแต่ละด้าน ความต้องการเร่งด่วนของประชาชน
"ปีนี้เป็นแรกที่การได้มาซึ่งนโยบายของศาลยุติธรรม 1 ปี มีการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนข้าราชการ บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และประชาชน เมื่อวันที่ 1-5 ต.ค.จำนวน 567 ราย สิ่งนี้เองจึงมีการสำรวจความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำมากลั่นกรองเป็นนโยบายที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน" นายไสลเกษ กล่าว และว่า แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น แต่มีความหมายมาก สะท้อนอะไรบางอย่าง โดยก่อนจะลงจากตำแหน่งจะทำคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจความคิดเห็นและเตรียมสร้างนโยบายและยุทธศาสตร์ในปีถัดไป
นายไสลเกษ กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็น โดยพบว่า เสียงสะท้อนจากบุคคลากรภายในศาลยุติธรรม ประเด็นการทำคำพิพากษาระยะเวลา 7 วันนี้ พบว่า เร็วเกินไป ขณะที่เรื่องการบริหารจัดการคดี ประชาชนทั่วไป 79 คนระบุว่า มีความล่าช้า มองว่าศาลเราทำคดีล่าช้า ไม่สามารถติดตามคำสั่งหรือคำตอบในเวลาอันรวดเร็ว
"ปีที่ผ่านมา หากบอกว่า คดีมีความล่าช้านั้น สมัยท่านชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ค่าเฉลี่ยของศาลชั้นต้น พบว่า คดีเสร็จภายใน 2 ปี ศาลอุทธรณ์ค่าเฉลี่ยพบว่า คดีเสร็จ 8-9 เดือน เป็นตัวเลขสะท้อนความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งความรวดเร็วนี้ก็ต้องควบคู่ไปกับคุณภาพของคำพิพากษาเป็นอย่างไรด้วย การอำนวยความยุติธรรมมีความละเอียดละออ ถี่ถ้วนหรือไม่ "
นายไสลเกษ กล่าวถึงผลการสำรวจเรื่องการติดต่อราชการ ประชาชนระบุ ยังพบความยุ่งยาก ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบาย เพราะที่ผ่านมาเคยมีการให้บริการ One stop service จึงน่าคิดว่า ขั้นตอนการติดต่อราชการมีความยุ่งยากหรือไม่ต้องนำมาวิเคราะห์
สำหรับการพัฒนาบุคลากร ผลการสำรวจพบว่า ข้าราชการศาลยุติธรรมส่วนใหญ่ ระบุว่า ศาลยุคปัจจุบันต้องทันโลกทันเหตุการณ์ การให้ความรู้ไม่ควรจำกัดแค่เรื่องกฎหมาย ต้องให้ความรู้สหวิชาการด้วย และเรียนรู้เทคโนโลยี ภาษาอังกฤษให้มากขึ้น รวมถึงอบรมศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งทุนอบรมระยะสั้นต่างประเทศ ลดทุนประเภทโควต้า และควรมีการจัดสอบมากขึ้น
ขณะที่ผลสำรวจความเห็นประชาชน ยังพบอีกว่า บุคคลากรของศาลยุติธรรมไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ คำนี้เป็นคำกล่าวหาที่แรง พูดโดยภาพรวม ซึ่งต้องทบทวนประเด็นนี้ ว่า ทุกวันนี้ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์ตรงเวลาหรือไม่ เรานัดคดีแล้ว นั่งพิจารณาที่เรานัดหรือไม่ เราเข้าที่ทำการศาลทุกวันหรือไม่ วันเวรเราอยู่เต็มวันหรือไม่ นี่คือประสิทธิภาพ และตรงกับอนาคตที่ศาลจะพิจารณาเรื่องการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 7 วัน
นายไสลเกษ กล่าวถึงคำกล่าวที่ว่า ยุคนี้ความยุติธรรมไม่มีวันหยุด หากทำได้จริงความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อสถาบันศาลจะกลับมาอีก
การสำรวจความเห็น ด้านการให้บริการประชาชน ทั้งบุคลากรในศาลและประชาชน ต่างมีความเห็นตรงกัน ว่า ศาลควรให้ความสำคัญกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการให้บริการประชาชน โดยลดขั้นตอน มุ่งความรวดเร็ว และประหยัด นั่นคือ One stop service ตลอดจนเสริมสร้างบทบาทเชิงรุกในการช่วยเหลือประชาชน เสริมสร้างความรู้ขั้นตอนกระบวนการทางศาลให้มากขึ้น
ประเด็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ผลการสำรวจพบว่า บุคลากรภายในศาลและประชาชน มีความเห็นตรงกัน ควรเพิ่มมาตราการดูแลผู้ต้องหา จำเลย เหยื่อ และพยาน โดยเห็นว่า ปัจจุบันมาตรกามุ่งเน้นผู้ต้องหา และจำเลย มากกว่า เหยื่อ และพยาน
"เหยื่อ หรือผู้เสียหาย ศาลเหลียวแล มีมาตการดูแลอะไรหรือไม่ เราปล่อยให้พยานไปนั่งรวมกับจำเลย หรือปล่อยให้พยานอยู่ตามยถากรรม เผชิญหน้ากัน เราปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้นอย่างไร"
เรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ผลการสำรวจความคิดเห็นพบว่า ประชาชนอยากให้ศาลมีการสร้างมาตรฐาน หรือหลักเกณฑ์กลาง ซึ่งก็คือราคาประกัน การพิจารณา แนวทางปฏิบัติ พร้อมเปิดเผยหลักเกณฑ์การประกันตัวให้สาธารณชนทราบ และเพิ่มการสั่งประกันในวันหยุด
ส่วนการสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาของศาลยุติธรรมต่อประชาชน ข้าราชการศาลให้ความเห็น ศาลควรให้ความสำคัญเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นได้ ขณะที่ประชาชนทั่วไป ระบุ ศาลควรให้ความสำคัญเรื่องความเป็นอิสระ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา โดยเฉพาะประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึก ศาลใช้กฎหมายตอบสนองความต้องการทางการเมือง
ศาลใช้กฎหมายตอบสนองความต้องการทางการเมือง ประเด็นนี้ นายไสลเกษ กล่าวว่า "เราตัดสินคดีเสื้อเหลืองเสื้องแดง พรรคการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือศาลไหนกันแน่ที่ตัดสิน ยุคปัจจุบันมีถึง 3 ศาล ศาลไหนประชาชนอาจเกิดความสับสนได้ เบื้องต้นศาลยุติธรรมแทบไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง จะมีก็คดีอาญา ที่เกี่ยวพันละเมิดกฎหมายอาญา เช่น บุกรุก เผาทำลาย ทำให้เสียทรัพย์ แต่ประชาชนแยกไม่ออก กลุ่มนี้โดน ทำไมกลุ่มนี้ไม่โดน และโดนด้วยศาลไหน"
นายไสลเกษ กล่าวถึงนโยบายต่อจากนี้จะส่งเสริมการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีให้มากขึ้น หลายคนอาจถามปัจจุบันเราปล่อยน้อย ขังเยอะจริงหรือไม่ ซึ่งสถิติไม่ได้ปล่อยน้อยเลย ปี 2561 มีคำร้องขอประกันตัว 2.1 แสนคดี ศาลให้ปล่อยชั่วคราว 1.9 แสนคดี หรือ 92% และส่วนปี 2560 มีคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 2.2 แสนคดี ศาลปล่อย 2.1 แสนคดี หรือ 93% ที่เหลือ 7% คือขัง
"สิ่งที่สังคมบอกว่าศาลไม่ค่อยปล่อยตัวชั่วคราวจริงหรือไม่ มีการอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 29 บอกว่า ตราบใดที่คำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ให้ถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งบทบัญญัติมาตรานี้มาจากที่ไหน โดยผู้บริสุทธิ์ มีทั้งขาวสะอาด ขาวหม่น ขาวเทา เทาใกล้ดำ วัดอย่างไร มาตรา 29 มองว่า ค้านกับความเป็นจริง"
ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า รัฐธรรรมนูญใหญ่กว่าพระราชบัญญัติ แม้ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ตัดสิน ก็ต้องถือว่า จำเลยยังบริสุทธิ์อยู่ เอาแบบนั้นก็ได้ เราก็มีวิธีการดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ และกำหนดมาตรการต่างๆ ในการปล่อยตัวชั่วคราวได้
"เราจะปล่อย 7-8% ตรงนี้ให้มากขึ้น ปล่อยอย่างไร เราจะยึดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นหลัก จำเลยจะหลบหนี ไปยุ่งกับพยานหลักฐาน คุกคามผู้เสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนหรือไม่ บุคคลที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็กลัวเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ดังนั้น การปรับทัศนคติพิจารณาสามารถปล่อยกลุ่มคนเรานี้ที่ขังเขาไว้มากขึ้นได้หรือไม่ หากไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวให้เข้มข้นขึ้น เช่น การรายงานตัว ติดกำไรข้อเท้าติดตามตัว ห้ามเข้าเขตที่กำหนดไว้ คุมความประพฤติ"
นายไสลเกษ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติการติดตามควบคุมจำเลยที่หลบหนีคดี มีสินบนนำจับ ผู้แจ้งเบาะแส ตรงนี้ช่วยทำให้มาตรการติดตามผู้หลบหนีเข้มข้นมากขึ้น ขณะนี้ทุกสนามบินใช้ระบบไบโอแมทริกซ์ (biometrics) อาชญากรที่หนีหมายจับมาถูกจับที่เมืองไทยจำนวนมาก หากเป็นเช่นนี้ ต่อไปไม่ต้องกลัวการหลบหนี เพราะมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งต้องติดตาม ฉะนั้น ขอให้มั่นใจ การปล่อยตัวชั่วคราวโอกาสหลบหนีจะยากขึ้น หรือแม้แต่คดีทุจริต อายุความจะสะดุดหยุดลง เมื่อหลบหนี แปลว่า ต้องหนีตลอดชีวิต คนหนีต้องคิดหนัก คุุ้มหรือไม่จะหลบหนี
"นโยบายให้คำนึงถึงเหยื่อและความสงบสุขของสังคม การปล่อยตัวชั่วคราวจะออกรายละเอียดเป็นข้อเสนอแนะต่อไป"
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/pr.coj/videos/591520681656978/
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/