“...ณ ตอนนี้ยังหวังว่าใน กทม. จะได้ ส.ส.เขตที่ 12 ที่นั่งตามเดิมที่กำหนดไว้ และจากที่พรรคทำโพลไว้ก็ยังมีแนวโน้มจะได้ตามเป้าที่หวังไว้ บางเขตก็เป็นที่ 2 แต่ก็ตามที่ 1 ไม่ห่าง ดังนั้น อย่างน้อยน่าจะได้ 10 เขต และมากสุด 12 เขต…”
เหลืออีกเพียง 1 สัปดาห์ การเลือกตั้งใหญ่ที่จะกำหนดชะตากรรมประเทศกำลังจะมาถึง
ขณะนี้ถ้าว่ากันตามกระแสโพลหลายๆสำนัก ต้องยอมรับว่าพรรคฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตยกำลังมาแรง โดยเฉพาะพรรคน้องใหม่ไฟแรงสูงอย่าง พรรคก้าวไกล ที่ถีบตัวเองขึ้นมาหายใจรดต้นคอพรรคแลนด์สไลด์อย่าง เพื่อไทย อย่างรวดเร็ว
ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย กระแสแทบหยุดนิ่ง ยกเว้นพรรครวมไทยสร้างชาติที่ยังประคองกระแส “เอาลุงตู่” ไว้ได้บ้าง
และเมื่อโฟกัสพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองหลวงฟ้าอมรที่ตามผลสำรวจหลายๆโพลก็ให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมาแรงเช่นกัน ทำเอาพรรคขั้วรัฐบาลต้องขบคิดกลยุทธ์ที่จะมาโกยคะแนนช่วงท้ายสุดนี้ให้ได้
ถอยมาดูที่ พรรคพลังประชารัฐ แม้ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะพยายามเข็นตัวเองออกมาเปลี่ยนลุคส์ใหม่ เดินพบปะประชาชน ลงพื้นที่ถี่ยิบมากขึ้น แต่กระแสก็ทำท่าจะยังไม่ดีขึ้น
สำทับกับข่าวลือกระฉ่อนตั้งแต่ยังไม่ยุบสภาที่ว่า อาจจะจับมือพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่จะมาถึง ก็ทำเอาพรรคพลังประชารัฐถูกจับตามองด้วยความหวาดระแวงตลอดมา
หลังกระแสที่ถาโถมมาจากฝั่งพรรคก้าวไกลแรงขึ้นทุกที สำนักข่าวอิศรามีโอกาสสนทนากับ ‘สกลธี ภัททิยกุล’ กรรมการบริหารและหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถึงกลยุทธ์การพลิกเกมหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายนี้
@เตรียมปล่อยวาทะเด็ด ชิงคะแนนโค้งสุดท้าย
นายสกลธี เริ่มต้นว่า กลยุทธ์หาเสียงของพรรคในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงยึดการลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคให้เต็มที่ที่สุด โดย พล.อ.ประวิตรและตนเห็นตรงกันว่า ในการหาเสียงรอบนี้จะไม่โจมตีคนอื่น จะมุ่งไปที่นโยบายที่แก้ปัญหาปากท้อง อะไรที่ไม่มีประโยชน์กับชาวบ้านจะไม่เอาเลย
แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ พรรคก็เตรียมมอตโต้ หรือ ประโยคเด็ดที่จะใช้หาเสียง ซึ่งจะมีการทำสติกเกอร์ติดตามป้ายหาเสียงต่างๆอีกครั้ง อาจจะเหมือนเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ และพรรคชูสโลแกนช่วงท้ายว่า “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” ซึ่งก็ได้คะแนนกลับมาพอสมควร ตอนนี้ทีมยุทธศาสตร์กำลังหารือกันอยู่
@กทม.ยังยืนพื้นที่ 12 ที่นั่ง
สิ่งที่โพลหลายแห่งประเมิน ส.ส.ในกทม.ตอนนี้ส่วนใหญ่ให้เพื่อไทย-ก้าวไกลนำในทุกเขต แต่ในมุมมองของ ‘สกลธี’ ยังยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า เป้าหมายของพรรค ณ ตอนนี้ยังหวังว่าใน กทม. จะได้ ส.ส.เขตที่ 12 ที่นั่งตามเดิมที่กำหนดไว้
และจากที่พรรคทำโพลไว้ก็ยังมีแนวโน้มจะได้ตามเป้าที่หวังไว้ บางเขตก็เป็นที่ 2 แต่ก็ตามที่ 1 ไม่ห่าง ดังนั้น อย่างน้อยน่าจะได้ 10 เขต และมากสุด 12 เขต
เมื่อถามว่า แต่ครั้งที่แล้วหลายฝ่ายมองว่า คะแนนที่พรรคพลังประชารัฐได้มา ล้วนมาจากกระแสในตัวพล.อ.ประยุทธ์ สกลธีตอบว่า ก็มีโอกาสเป็นแบบนั้น เพราะฐานคะแนนที่เคยมีต้องถูกแบ่งออกไปให้พรรคที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่แล้ว แต่ยังเชื่อมั่นว่า นโยบายที่พรรคหาเสียงน่าจะตอบโจทย์ประชาชนพอสมควร ทั้งการลดค่าแก๊ส ค่าน้ำมันและนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ
และอีก 1 นโยบายสำคัญคือ การยกระดับกรุงเทพฯเป็นมหานครอาเซียน ที่ผ่านกทม.และท้องถิ่นทั่วประเทศมีปัญหาเรื่องบประมาณไม่พอ เพราะฉะนั้น พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายตั้งกองทุนพลังประชารัฐ 300,000 ล้านบาทขึ้นมา เพื่อเอาไปใช้ในพื้นที่ท้องถิ่น เป็นการตอบโจทย์ปัญหาท้องถิ่นที่มีอำนาจแต่ไม่มีเงินลงมา และเป็นการกระจายความหนาแน่นออกไป
นอกจากนั้น มองไปอีก 5 จังหวัดรอบๆกรุงเทพฯ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา จะต้องทำให้การเดินทางใช้เวลาไม่เกิน 1 ชม.ในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ กทม ซึ่งนโยบายเหล่านี้น่าจะพอดึงคะแนนให้พรรคได้ไม่มากก็น้อย
@พร้อมให้ความร่วมมือ ‘ชัชชาติ’
ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง กทม. ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการทำงานกับรัฐบาลกลางแล้ว การทำงานกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มาจากคนละขั้วความคิดทางการเมืองอย่าง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
กับประเด็นการทำงานของ ส.ส.กทม. หากพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. 12 คนตามเป้าหมาย จะทำงานกับผู้ว่าฯชัชชาติได้หรือไม่นั้น สกลธีระบุว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร สั่งมาแล้วว่า ต้องทำงานให้คนกทม.อยู่ดี กินดีที่สุด และเชื่อมั่นว่าพรรคเราทำงานกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ได้แน่นอน ซึ่งตัวเอง (ชี้นิ้วมาที่ตัว) ก็ตั้งใจจะช่วยให้กทม.ดีขึ้นแน่นอน
“เราทำเพื่อให้คนกรุงเทพฯอยู่ดีกินดีที่สุด ดังนั้น การทำงานกับคนละพรรคไม่มีปัญหาเลย” นายสกลธีกล่าว
@จับมือ ‘เพื่อไทย’ แค่ยุทธศาสตร์จากบางพรรค
นับตั้งแต่ที่กระแสการเลือกตั้งรอบใหม่โชยมา สิ่งหนึ่งที่ลอยตามมาด้วยคือ กระแสที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ในการฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ และแม้ทางเพื่อไทยจะส่งสัญญาณไม่จับมือกับผู้กระทำการรัฐประหาร แต่ก็ไม่สามารถลบล้างความสงสัยให้มลายสิ้นได้สักที
ซึ่งในมุมของนายสกลธีประเมินว่า กระแสข่าวเพื่อไทย-พลังประชารัฐจับขั้วนั้น เป็นแค่วาทกรรม หรือยุทธศาสตร์ที่มีการปล่อยออกมาจากบางพรรคการเมือง ยืนยันว่า วันนี้ถ้าเลือกพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องได้คนของพรรคพลังประชารัฐคือ พล.อ.ประวิตรไปบริหารประเทศ ส่วนการจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลนั้น ต้องรอหลังเลือกตั้งก่อนว่า แต่ละพรรคการเมืองได้ ส.ส.กันเท่าไหร่ แล้วจึงค่อยมาตกลงกัน
“ถึงแม้พรรคจะชูนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่พรรคเราก็มีเส้นบางอย่างที่ก้าวไม่ได้ เช่น ถ้าพรรคไหนไม่เอาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งพรรคเรามีนโยบายไม่แก้มาตรา 112 ถ้ามีพรรคจะแก้ เราจับไม่ได้ สองคือ พรรคไหนออกนโยบายเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศมันดิ่งลง ก็ร่วมไม่ได้เช่นกัน” นายสกลธีกล่าว
@ร่วมรัฐบาล ‘ประยุทธ์’ ไม่มีปัญหา แม้มี ‘ธรรมนัส’
ช่วงท้ายว่า หลังจากทราบชัดขึ้นถึงเงื่อนไขในการจับขั้วรัฐบาล ทีนี้เมื่อว่าถึงกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยแล้ว ต้องหันกลับมาพิจารณาถึงการจับขั้วกับพรรคร่วมเดิมที่ตอนนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ถือว่ากระแสยังเก็บเกี่ยวได้พอสมควรนั้น การจับมือร่วมรัฐบาลมีเงื่อนไขอะไรบ้าง
นายสกลธีตอบว่า กับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคเดิมน่าจะไม่มีอะไร เพราะเคยทำงานกันมาอยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูตัวเลข ส.ส.ที่ได้ก่อน ถ้าได้เยอะ 70-80 ที่นั่ง ก็เสียงดังขึ้น และส่วนตัวก็ยังเคารพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่
ส่วนกรณีที่พรรคมีสมาชิกที่เคยมีปัญหากับพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ด้วยอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่านั้น นายสกลธีมองว่า ในช่วงหาเสียงอาจมีการหาเสียงกระทบกระทั่งไปถึงตัวพล.อ.ประยุทธ์บ้าง แต่ถ้ามองภาพใหญ่ในช่วงฟอร์มทีมรัฐบาลใหม่ ต้องเอาเรื่องใหญ่เป็นหลัก จะเอาเรื่องส่วนตัวของคนสองคนมาดูไม่ได้ ต้องดูภาพรวม
เมื่อถามว่า กรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติเอา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม.มาหาเสียงด้วยนั้น จะเป็นการแข่งขันอีกครั้งของคนกันเองหรือไม่ นายสกลธีตอบว่า บริบทต่างกัน ตอนเลือกตั้งผู็ว่าฯกทม. เป็นเรื่องที่ชนกันจังๆ แต่ตอนนี้ทุกคนอยู่ภายใต้พรรคการเมืองที่สังกัด และขั้วค่ายทางการเมืองด้วย ตอนนี้ทุกคนแข่งในนามพรรคมากกว่า
แม้กระแสและแนวโน้มจากการประเมินของหลากหลายสำนักจะให้พรรคพลังประชารัฐ อยู่ลำดับล่างๆ หรือไม่ติดอันดับในการเลือกตั้งรอบนี้เลยก็ตาม
แต่ความมั่นใจของคีย์แมนกทม.อย่าง ‘สกลธี’ ดีกรีอดีตรองผู็ว่าฯกทม. และความเป็นมือประสานสิบทิศที่มากบารมีและมากคอนเนกชั่นทั้งด้านการเมืองและธุรกิจของ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ อาจจะนำพาพรรคพลังประชารัฐ กลายเป็นพรรคที่มีบทบาทสำคัญหลังการเลือกตั้งจากคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกตั้งก็ได้
เพราะบนสังเวียนการเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
อ่านประกอบ