“...หลักการที่พรรคยึดถือก็คือ จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ลุงไหนก็ไม่เอา ป.ไหนก็ไม่ร่วม…หากกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐ ถ้ามีพล.อ.ประวิตรอยู่ด้วย พรรคยินดีไปเป็นฝ่ายค้าน…”
อีกเพียง 19 วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 แล้ว ส่งผลทำให้บรรดาพรรคการเมืองใหญ่น้อยขับเคี่ยว ชิงคะแนนเสียงอย่างเข้มข้น
งวดนี้ พรรคที่ขี่กระแสผลโพล และสื่อแต่ละสำนักชี้นิ้วเป็นเสียงเดียวกันว่า มาแรง และอาจจะลุ้นคว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหนีไม่พ้น ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่ชู 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย, นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย
โหมโรงยุทธการ ‘แลนด์สไลด์’ ปักหมุด 310 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปิดอำนวจโหวตนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 ราย มุ่งเป้าพลิกกระดานการเมือง ดีด 3 ป.ออกจากวงจรอำนาจ ปูทางสู่การเป็นรัฐบาลพรรคเดียว หวังสร้างประวัติศาสตร์รอบ 2 ซ้ำรอยปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทยยุคทักษิณ ชินวัตร กวาดที่นั่งในสภาฯไป 377 ที่นั่ง กวาดคะแนนดิบทั่วประเทศ 18,993,073 เสียง
แม้ในฟากฝั่งพรรคที่เคลมว่าเป็น พรรคฝ่ายประชาธิปไตย จะถูกกลืนหายไปกับกระแสพรรคเพื่อไทย และอีกพรรคที่มาแรงอย่างพรรคก้าวไกล พรรคน้องใหม่ที่ชูธงปฏิรูปโครงสร้างประเทศ และกระทบกระเทียบกับพรรคเพื่อไทยในประเด็น ‘สู้กว่า’ บ่อยๆ
และอีกฝากหนึ่งของอุดมการณ์ ก็ยังมีคนที่ยังเชียร์ขั้วอำนาจรัฐบาลเดิมที่บริหารมา 8 ปี พรรคเด่นที่ลอยขึ้นมาของฟากนี้มี 2 พรรค หนึ่งคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 และลุยหาเสียงแบบนักการเมือง มาพร้อมสโลแกน 'ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ' และ สอง พรรคพลังประชารัฐภายใต้บิ๊กบราเทอร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พกพาใจบันดาลแรงก้าวข้ามทุกความขัดแย้ง ซึ่งมีขุนพลบ้านใหญ่ข้างกายพร้อมลุยศึกเลือกตั้งครั้งนี้่นกัน
แต่อีกหนึ่งพรรคที่มองข้ามไม่ได้คือ พรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้า ซึ่งสแกนความได้เปรียบ-เสียเปรียบแล้ว พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) น่าจะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่พรรคนี้มุ่งปักหมุดให้ได้
คีย์แมนหลักที่จะมาช่วยสู้ศึกเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. ของพรรคคุณหญิงหน่อยคือ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ลาออกย้ายฝั่งมาอยู่พรรคไทยสร้างไทยเมื่อเดือน ม.ค. 2566 โดยปัจจุบันได้รับมอบหมายให้เป็น รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการการเลือกตั้ง โดยโฟกัสพื้นที่ กทม.เป็นหลัก
สำนักข่าวอิศราสัมภาษณ์พิเศษ น.อ.อนุดิษฐ์ในหลากหลายประเด็นทั้งการเตรียมลุยสนามเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. ตลอดจนทิศทางของพรรคในการจับขั้วรัฐบาล จุดยืนเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และการเปิดใจถึงเหตุผลที่ลาออกจากพรรคเพื่อไทย
@โบกมือลา ‘เพื่อไทย’ เพราะอุดมการณ์ที่ชัดกว่า
น.อ.อนุดิษฐ์ เริ่มต้นเล่าถึงการลาออกจากพรรคเพื่อไทยเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2566 ก่อน โดยระบุว่า ที่ออกมาเพราะส่วนตัวมีอายุพอสมควรแล้ว เหลือเวลาทำงานการเมืองไม่มาก และปัญหาสำคัญของประเทศที่ติดหล่ม อันเป็นที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลา 17 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ก็คาดหวังว่าในวันที่ยังมีแรง อยากจะทำการเมืองในแนวทางที่เราเชื่อ สร้างประเทศที่ดีส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป ดังนั้น การออกมาร่วมกับพรรคไทยสร้างไทย เพราะเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ หลักการ และจุดยืนที่ตรงกับความคิดมากที่สุด ถือเป็นสิ่งที่ตนอยากทำ
เมื่อถามว่า แสดงว่าพรรคเพื่อไทยไม่ตอบโจทย์ข้างต้นแล้วใช่หรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์ตอบว่า ขอไม่ก้าวล่วงพรรคเดิม ขอตอบแค่นี้ว่า พรรคการเมืองที่เป็นพรรคใหญ่ มีผู้มีอำนาจหลายคนรวมอยู่ภายใน เงื่อนไขที่เกิดขึ้นตามมาก็มีรายละเอียด และหลายเรื่องผู้มีอำนาจในพรรคไม่เห็นด้วยก็ถูกชะลอออกไป แต่พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ชัดและตรงกับเรา ก็ออกมาร่วมกันดีกว่า
“แต่ถ้าวันหนึ่งพรรคไทยสร้างไทยกลืนน้ำลายตัวเอง ไม่ได้เป็นที่พึ่งที่หวัง ไม่เดินไปตามที่ประกาศกับประชาชน ผมก็ต้องขอลา” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
เมื่อถามอีกว่า การออกมาทำงานการเมืองกับพรรคใหม่ คล่องตัวกว่าการอยู่ในพรรคใหญ่หรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์ตอบว่า เขา (ผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทย) อาจจะไม่เอาก็ได้ เพราะฉะนั้นอุดมการณ์ทางการเมือง และการจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จะต้องได้รับเลือกเป็น ส.ส.ให้มากพอ ซึ่งผลจะออกตอนเลือกตั้งครั้งนี้ ขอให้รอดู
น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2565 ปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค
ที่มาภาพ: พรรคไทยสร้างไทย
@คะแนน ส.ก.รวม 2 แสน ไม่ขี้เหร่สำหรับพรรคใหม่
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อไปถึงบทบาทในฐานผู้อำนวยการการเลือกตั้งของพรรค โดยเฉพาะการขับเคี่ยวในพื้นที่เมืองหลวง ‘กรุงเทพมหานคร (กทม.)’ ว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เมื่อปี 2565 ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะที่เป็นพรรคใหม่ ก็ไม่สามารถไปเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองที่เป็นที่รู้จักมาก่อนได้ เพราะฉะนั้น ประชาชนอาจจะยังไม่รู้จักพรรคมาก ณ ขณะนั้น
ดังนั้น การสื่อสารที่พรรคใช้จึงมุ่งไปที่การ ‘ขายตรง’ หมายถึงผู้สมัครและบุคลากรของพรรค ลงไปช่วยกันลงพื้นที่พบปะประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเร็วที่สุดก็คือ การไปทำความรู้จักใครสักคนในพื้นที่ ในชุมชน บอกต่อกันปากต่อปากให้เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้ามาทำความรู้จักกัน มีเวทีย่อยๆลงไปพบปะประชาชนไม่ว่าจะ 5-10 คน หรือขยับไป 20-30 คนก็ยิ่งดี คือยิ่งมาฟังพรรคเรามากก็ยิ่งดี เพื่อทำความรู้จักกับพรรคทั้งผู้บริหาร ผู้นำ ทีมงาน นโยบายที่พรรคต้องการนำเสนอ และตัวผู้สมัคร
ซึ่งจากการลงพื้นที่ดังกล่าว ในการเลือกตั้ง ส.ก.ทำให้พรรคได้คะแนนจากผู้สมัคร ส.ก.ในทุกเขตที่ 250,000 คะแนน ขณะที่พรรคที่ได้รับเลือกมีคะแนนที่ 600,000 คะแนน ดังนั้น ในการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2565 ส่วนตัวมองว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี พี่น้องประชาชนให้ความไว้วางใจพอสมควร
ส่วนเป้าหมายในการเลือกตั้งพื้นที่ กทม. 33 เขต น.อ.อนุดิษฐ์มองว่า จะได้เท่าไหร่อยู่ที่ประชาชนจะไว้วางใจ เพราะฉะนั้น พรรคไทยสร้างไทยก็คาดหวังเหมือนทุกพรรค ขอให้มอบโอกาสให้เข้าไปทำงานได้มากที่สุด ขณะที่การสำรวจของโพลสำนักต่างๆ ได้บอกผู้สมัครทุกคนว่า อย่าไปสนใจ เพราะโพลสำรวจความชอบ ณ วันที่ทำโพล แต่การตัดสินใจจริงของประชาชนยังมีเวลาคิด
“ช่วงลงสมัคร ส.ก.และผู้ว่าฯ กทม. เป็นช่วงที่พรรคเพิ่งก่อตั้ง แต่วันนี้แม้จะยังไม่ครบ 2 ปี แต่การทำงานหนักของผู้สมัครแต่ละพื้นที่ของ กทม. น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้เป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณาที่จะเลือกเรา ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะมีพอสมควร” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
@พรรคติดแบรนด์ ‘หญิงหน่อย’ ดี มากกว่า เสีย
กับคำถามที่ว่า คนมองพรรคไทยสร้างไทย คือ พรรคของคุณหญิงสุดารัตน์นั้น น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า มองเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย และทำงานง่ายขึ้น เพราะคุณหญิงสุดารัตน์ทำงานการเมืองมา 31 ปี มือสะอาด ไม่มีประเด็นการคอร์รัปชั่นให้กังวลใจ ตรงข้าม มีผลงานทั้งในระดับชาติ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข 4 ปีเต็มในช่วงรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตรช่วงปี 2544-2548 รับผิดชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งส่วนหนึ่งของความสำเร็จมาจากคุณหญิงสุดารัตน์ด้วยส่วนหนึ่ง
แม้แต่รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็ถือคุณหญิงสุดารัตน์เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่ม เพื่อเพิ่มบริการใน กทม. อีกทั้งคุณหญิงสุดารัตน์ก็ทำพื้นที่ กทม.มาต่อเนื่อง ดังนั้น ถ้าจะมีคนติดภาพว่าพรรคไทยสร้างไทย คือ พรรคของคุณหญิงสุดารัตน์ ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย
@เก็บแต้มกลุ่ม 2 ไม่เอา ‘ไม่เอาลุง-ไม่เอาครอบครัวนิยม’
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีกระแสคลื่น 2 สายที่ซัดสาดถาโถมรุนแรง กระแสหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทย ที่ชูเป้าหมายแลนด์สไลด์ 310 เสียงขึ้นไป กับอีกกระแสหนึ่งคือ การเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 กับสโลแกนติดหู ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ นั้น
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่พบว่า มีกลุ่มประชาชนส่วนหนึ่งที่ ‘เบื่อลุง’ และกลัวพรรคการเมืองที่เป็น ‘ครอบครัวนิยม’ เพราะฉะนั้นประชาชนที่ไม่เอาทั้ง 2 ขั้วนี้มีอยู่ และ 17 ปีที่ผ่านมาบนความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการรัฐประหาร 2 ครั้งคือในปี 2549 และ 2557 เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศสะดุด สร้างหนี้สินให้คนไทยมากมาย ก็เพราะสาเหตุนี้ เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ยังมีมาก และน่าจะได้ลุ้นกับคนกลุ่มนี้
ถามต่อว่า แต่พรรคที่ตอบโจทย์คนที่ไม่เอาลุงและไม่เอาครอบครัวนิยม ก็มีพรรคก้าวไกลอีกพรรคที่มาแรงในขณะนี้ พรรคไทยสร้างไทยจะสู้อย่างไร น.อ.อนุดิษฐ์ ตอบว่า ประชาชนที่ไม่เอา 2 ขั้วนี้ จะอยู่ตรงกลาง ซึ่งจะวิ่งไปพรรคอื่น อันหมายถึงพรรคก้าวไกลและพรรคไทยสร้างไทยด้วย แต่พรรคใดจะช่วงชิงคะแนนได้มากกว่ากัน ก็อยู่ที่การสื่อสารไปสู่ประชาชนทั้งภายใหญ่และภาพรวม ซึ่งยังพูดไม่ได้ว่าใครดีกว่าใคร
ส่วนกระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ก็ถือเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทยไม่ได้วิตกกังวล ทุกพรรคมีแนวทางและยุทธศาสตร์ของตัวเอง แต่สุดท้ายไม่ว่าจะกำหนดกลยุทธ์อะไร ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกของประชาชน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมลูกพรรคในวันจับหมายเลขปาร์ตี้ลิสต์เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 66
@ไม่ร่วมรัฐบาล 2 ลุง ‘เพื่อไทย’ จับ ‘พปชร.’ พร้อมเป็นฝ่ายค้าน
เมื่อโฟกัสกรุ๊ปของพรรคเริ่มชัดเจนมากขึ้น มองข้ามชอตไปถึงการฟอร์มทีมร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคไทยสร้างไทยมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ระบุว่า ก่อนอื่นต้องรอผลการเลือกตั้งเป็นทางการก่อน แต่หลักการที่พรรคยึดถือก็คือ จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ลุงไหนก็ไม่เอา ป.ไหนก็ไม่ร่วม
เมื่อถามว่า หากกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ผอ.เลือกตั้งพรรคยืนยันว่า ไม่ร่วม ถ้ามีพล.อ.ประวิตรอยู่ด้วย พรรคยินดีไปเป็นฝ่ายค้าน
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากพรรคเพื่อไทยกับพรรคไทยสร้างไทยร่วมรัฐบาลกัน จะทำงานกันได้ใช่ไหม เพราะที่ผ่านมาก็มีวิวาทะระหว่างผู้บริหารทั้ง 2 พรรคเป็นระยะ น.อ.อนุดิษฐ์ตอบว่า เมื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลกัน นอกจากการไม่ร่วมกับรัฐบาล 2 ลุงแล้ว พรรคแกนนำจะต้องเอานโยบายสำคัญของพรรคไปบรรจุในนโยบายที่จะประกาศต่อรัฐสภาด้วย
อย่างพรรคไทยสร้างไทยชูนโยบายบำนาญผู้สูงวัย 3,000 บาท หากพรรคแกนนำรัฐบาลไม่บรรจุนโยบายนี้ลงไป พรรคก็พร้อมไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะการเป็นรัฐบาลไม่ใช่ไปจับมือรวมๆกันแล้วจบ พรรคการเมืองมีนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชนว่าจะทำอะไร ถ้าพรรคแกนนำปฏิเสธนโยบายของเรา ก็ไม่รู้จะเข้าไปร่วมทำไม
@เปิดนโยบาย 3 สร้าง 2 ขจัด
สำหรับนโยบายที่จะชูขึ้นมาหาเสียงในครั้งนี้ เนื่องจากจับฉลากหมายเลขพรรคแล้วได้เบอร์ 32 จึงออกแบบนโยบายให้เข้ากกันเรียกว่า ‘3 สร้าง 2 ขจัด’ ประกอบด้วย
สร้าง 1 สร้างประชาธิปไตย โดยจะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขียนจากปลายกระบอกปืน สาระสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคคือ การกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งตรงของประชาชน โดยไม่แก้หมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์
สร้าง 2 สร้างพลังคนตัวเล็ก 8 ปีของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คนไทยถูกกดทับด้วยระเบียบและรัฐราชการ ทำให้คนไทยมีหนี้และยากจนลง เข้าใจว่าหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันสูงไปถึง 90% แล้ว หลักการสำคัญคือ การแก้หนี้ เติมทุน สร้างอาชีพที่ทำให้เกิดรายได้ยั่งยืน และลดอุปสรรคการทำมาหากิน
สร้าง 3 สร้างความสุขให้คนไทย ตั้งแต่เกิดจนถึงแก่ วัยเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ถึง 6 ปี สนับสนุนเป็นคูปองมูลค่า 3,000 บาทให้ผู้ปกครองไปซื้อของจำเป็น เมื่อเข้าโรงเรียนก็จะมีนโยบายเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี โดยลดเวลาเรียนลง จากใช้เวลา 16 ปีในการเรียนจบปริญญาตรีให้เหลือ 15 ปี ก็จะให้วิชาชีพที่ไม่ใช่แพทย์ และสุดท้ายกับนโยบายบำนาญประชาชน 3,000 บาทสำหรับผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป
ส่วน 2 ขจัด ประกอบด้วย ขจัด 1 การคอร์รัปชั่น ปัจจุบันประเทศไทยตามที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกนั้น ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 101 ซึ่งแสดงว่าการคอร์รัปชั่นในประเทศมีมหาศาล ไม่ว่าจะคอร์รัปชั่นกันตรงๆหรือโดยอ้อม
อย่างกรณีของค่าไฟฟ้า ทำไมถึวงต้องจ่ายค่าไฟฟ้าผันเเปรที่เปลี่ยนเเปลงไปจากค่าเชื้อเพลิงที่กำหนดไว้ (FT) ที่ 4.77 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับโครงงานอุตสาหกรรม และขณะเดียวกันทำไมประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ถึงจ่ายค่า FT เพียง 3 บาท เพราะฉะนั้น ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีต้นทุนสูง จึงมีคำถามว่า ทำไมรัฐจึงปล่อยให้อะไรแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อย้อนไปดูก็พบความไม่ชอบมาพากล
ทั้งจำนวนโรงไฟฟ้าที่มากเกินไป ซึ่งผลิตไฟฟ้ารวมได้ 60,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศไทยใช้สูงสุดเพียง 20,000 เมกะวัตต์เท่านั้น และพีกสุดแค่ 33,000 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงต้องย้อนไปดูว่า ทำไมผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นผู้ประกอบการเอกชนที่ได้ผลกำไรไปมหาศาล แต่ประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่ม เป็นความผิดพลาดและบกพร่องในการจัดการนโยบายด้านพลังงานของรัฐหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งพรรคมีแนวทางและวิธีการในการแก้ปัญหานี้ทั้งระบบ
และขจัดที่ 2 ขจัดความขัดแย้ง ซึ่งต้องเรียกร้องให้คนไทยมีความรัก สามัคคี ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน แต่ต้องมีหลักการยอมรับว่า เราเห็นต่างกันได้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไปทางใด เสียงส่วนน้อยก็ควรได้รับความเคารพและต้องยินยอมทำตามเสียงส่วนใหญ่ด้วย
หลากหลายนโยบายของพรรคไทยสร้างไทย
ที่มา: พรรคไทยสร้างไทย
@ม.112 ต้องแก้
แม้การขจัดความขัดแย้งจะเป็น 1 ในนโยบายหลักของพรรค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า วาระการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เป็นกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น ก็สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ในสังคม ท่าทีของพรรคไทยสร้างไทยโดย น.อ.อนุดิษฐ์ระบุว่า มาตราดังกล่าวรวม 3 ฐานความผิด 3 เรื่องคือ การดูหมิ่น, การหมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย และมาตรานี้อยู่ในโหมดความมั่นคง ทำให้ใครๆก็ไปฟ้องได้ และหน่วยงานที่อยุ่ในกระบวนการยุติธรรมปฏิเสธได้ยาก
แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากเป็นคนปกติก็มีสิทธิ์ดูแลตัวเอง ถ้าคนทั่วไปถูกดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย ก็ฟ้องหมิ่นประมาทได้ แต่สิ่งที่เป็นข้อเสียคือ มีบางบุคคลใช้กฎหมายนี้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทำให้เกิดความขัดแย้งและกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ประเด็นใดทำให้ไม่กระทบกับสถานพระมหากษัตริย์ จะต้องจัดการแก้ไข
@มุ่งสู่ความเป็นสถาบันทางการเมือง
สุดท้าย ในอนาคตตามที่คุณหญิงสุดารัตน์ให้สัมภาษณ์ไว้ในหลายโอกาส จะปั้นพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองมีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไรนั้น น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเชื่อว่าการเลือกตั้งรอบนี้ ตัวเลขที่ได้ จะน้อยมากจะมากไม่สำคัญ เพราะความตั้งใจในการทำพรรคการเมืองของคณะผู้บริหารก็ยังจะทำต่อ ถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจแม้จะไม่มี ส.ส.ในสภาฯก็ืำงานการเมืองได้ เพียงแต่หากพรรคได้มี ส.ส.ในสภาฯ จะทำให้การทำงานดีกว่าเดิมได้ง่ายกว่า
“ความมุ่งมั่นตั้งใจ กับการทำงานที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้ทีจะบ่งชี้ได้คือ ประชาชนที่จะไปโหวตว่าจะไว้วางใจเราหรือไม่ ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองใหม่ๆที่เกิดขึ้น เผื่อใจไว้แล้วว่า ในช่วงต้นๆอาจจะยังไม่ได้รับความไว้วางใจ แต่ถ้าเรามีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง เชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะค่อยๆมองออก” น.อ.อนุดิษฐ์ทิ้งท้าย
ฉากสุดท้ายหลังศึกเลือกตั้ง บทบาทและอนาคต ของ พรรคไทยสร้างไทย จะเป็นไปตามที่ น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุไว้หรือไม่
หลังผลนับคะแนนสิ้นสุดลง สังคมไทย คงได้รับทราบคำตอบที่ชัดเจนกัน