หลังจากที่องค์การอนามัยโลก ประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นการระบาดใหญ่ พลันที่มีสัญญาณเตือนออกมา ผู้นำหลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้ออกมาแถลง พร้อมกับสื่อสารความจริงกับคนในประเทศ เกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
หลังจากองค์การอนามัยโลกประกาศเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ และระบาดในหลายประเทศตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และล่าสุด 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นการระบาดใหญ่
พลันที่มีสัญญาณเตือนออกมา ผู้นำหลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้ออกมาแถลง พร้อมกับสื่อสารความจริงกับคนในประเทศ เกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
- นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยกโรคการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เป็น วิกฤตสาธารณสุขที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนรุ่นนี้ (worst public health crisis for a generation) พร้อมกับให้ยอมรับความจริงที่ว่า ผู้คนจะเกิดการสูญเสียจำนวนมาก จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตัวเลขจริงอาจสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เราได้รับการยืนยัน
- นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แถลงข่าวยอมรับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยคาดการณ์ว่า ประชากรเยอรมนีกว่า 70% ของประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 58 ล้านคน อาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หากเชื้อได้แพร่ระบาดใหญ่ไปทั่วประเทศ และขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคได้อย่างเด็ดขาดโดยตรง รัฐบาลจึงมุ่งเน้นไปที่มาตรการชะลอการแพร่ระบาดของโรค
- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์กร้าว ถึงคำสั่งห้ามผู้เดินทางจาก 26 ประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ที่ใช้วีซ่าเชงเก้นเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 30 วัน เริ่มเที่ยงคืนวันศุกร์ 13 มี.ค. แต่คำสั่งห้ามนี้ ยกเว้นอังกฤษและไอร์แลนด์ และยกเว้นพลเมืองอเมริกันที่ผ่านการคัดกรองที่เหมาะสมแล้ว
ทรัมป์ยังกล่าวโทษยุโรปว่า ไม่ใช้มาตรการยับยั้งโควิด-19 รวมไปถึงการห้ามไม่ให้มีการเดินทางไปประเทศจีน และประเทศกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ นี่ส่งผลตามมาทำให้มีกลุ่มผู้ติดเชื้อใหม่ๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีที่มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในยุโรปด้วยเช่นกัน
- นายแอมานุแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศฝรั่งเศสเพิ่งเริ่มวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมมีคำสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่สัปดาห์หน้า และจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ขณะเดียวกันก็เรียกร้อง หากเป็นไปได้ให้ผู้มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ่้นไป ควรพักอาศัยอยู่แต่ในบ้าน ให้เลื่อนการรักษาคนไข้ที่ไม่มีความเร่งด่วนทั้งหมด เพื่อให้มีกำลังบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับยอมรับว่า ช่วงเวลานี้ผู้คนอาจไม่สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติอีกต่อไป
ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยังชี้ว่า การระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤติด้านสุขภาพที่ร้ายแรงที่สุดของฝรั่งเศส ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
สำหรับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลฝรั่งเศสออกมา เช่น ให้มีมาตรการดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยขยายระยะเวลาของ Trêve hivernale ไปอีกสองเดือน กล่าวคือ ระยะเวลาที่เจ้าของบ้านไม่สามารถไล่ผู้เช่าออกจากบ้านเช่าได้ในช่วงฤดูหนาว (ปกติตั้งแต่ 1 พ.ย. - 31 มี.ค.) รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยทั้งหมดให้แก่พนักงานที่ถูกพักงานชั่วคราว (chômage partiel) เพื่อมิให้บริษัทต้องปลดพนักงาน โดยรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระด้วยเช่นกัน บริษัทสามารถเลื่อนการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมและภาษีของเดือน มี.ค.ได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลอธิบาย รัฐบาลจะเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติ โดยเห็นว่ามาตรการที่ ธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศวันนี้ยังไม่เพียงพอ
- นายโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ ประกาศปิดการคมนาคมทั้งหมดในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของประเทศ ประชากรกว่า 12 ล้านคนให้งดการเดินทาง มีผลตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคมนี้ เขายังได้ประกาศปิดโรงเรียน 1 เดือน พร้อมกับห้ามการชุมนุม ห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาในสถานที่ที่มีการแพร่กระจายของโรคระบาด
- นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ออกแถลงทางสถานีโทรทัศน์ เน้นย้ำสิงคโปร์ยังควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ได้ และก็ต้องวางแผนรับมือการระบาดโรค COVID-19 พร้อมกับคาดว่าการระบาดของโรคนี้จะดำเนินการต่อไปอีกระยะหนึ่ง อาจเป็นปี หรืออาจนานกว่านั้น
สิงคโปร์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยกให้เป็นประเทศที่เป็นแบบอย่างการป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา นายลี กล่าวว่า แม้สิงคโปร์จะไม่ได้ปิดเมือง เหมือนที่จีน เกาหลีใต้ อิตาลี ทำ แต่ก็ได้มีการวางแผนล่วงหน้าสำหรับมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นแล้ว ขอให้ชาวสิงคโปร์เตรียมความพร้อม หากถึงจุดหนึ่งมีคนจำนวนมากที่ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 เราไม่สามารถรักษาในโรงพยาบาลได้ทุกคน ฉะนั้นต้องแยกเป็นกรณีๆ ไป เหมือนที่เราทำตอนนี้ การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเฉพาะกรณีที่ร้ายแรงกว่าเท่านั้น ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอาจต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
"ผู้ป่วย COVID-19 ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 มีอาการไม่รุนแรง และผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว"
สุดท้าย ในส่วนของประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาโควิด – 19 ของรัฐบาล การทำงานทุกกระทรวงเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการรักษาของไทยมีมาตรฐานและเป็นที่น่าพอใจ สถาบันการแพทย์ของไทยทุกแห่งทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของไทย ร่วมมือย้ำความเชื่อมั่นแห่งกับกระบวนการรักษาของไทยยิ่งขึ้น รวมทั้งรัฐบาลเสริมมาตรการเข้มงวดทุกด้านทั้งการคัดกรอง และการใช้แอปพลิเคชันติดตามเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 โดยจะมีการเก็บข้อมูล แจ้งเตือน ติดตามตัวผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ ทุกอย่างทำให้รัดกุมที่สุด (อ่านประกอบ:จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นตรงนายกฯ)