"...ที่ฟ้องคดีเรียกหัวคิว ก็ทำกันไป เป็นเรื่องที่ต้องไปสู้คดีกันในศาล บ้านเอื้ออาทรที่เหลืออยู่ เราก็ขายได้เยอะแล้ว ส่วนที่ขายไม่ออกเราก็ปล่อยเช่าไปหมดแล้ว และที่ค้างอยู่และรอสร้าง เดี๋ยวเราจะขอเงินจากรัฐบาล 2,000 ล้าน มาสร้างต่อ และปีนี้เราจะปิดตำนานบ้านเอื้ออาทรแล้ว..."
นโยบายพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ และโครงการ ‘บ้านเอื้ออาทร’ ก็เป็น 1 ในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุด แต่ในปีนี้โครงการบ้านเอื้ออาทรจะยุติการดำเนินการลง หลังผ่านร้อนผ่านหนาวมา 18 ปี หรือตั้งแต่ปี 2546
“มติครม.ล่าสุด อนุมัติให้สร้างบ้านเอื้ออาทร 281,556 หน่วย เราสร้างไปแล้ว 280,000 หน่วย ขาดอีก 1,000 หน่วย และตอนนี้มีที่กำลังก่อสร้างหลักร้อยหน่วย ส่วนที่เหลือผมจะเสนอครม.ในเดือนมี.ค.2563 เพื่อขอยกเลิกโครงการ ไม่ทำต่อแล้ว” ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ธัชพล อธิบายว่า บ้านเอื้ออาทรมี 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่สร้างไปแล้ว 280,000 หน่วย ซึ่งมีหน่วยเหลือขาย 10,000 หน่วย เราได้เอาไปปล่อยเช่าหมดแล้ว และ2.ส่วนที่นับหน่วยไม่ได้ (Sunk Cost) เช่น ลงเสาเข็มไว้เฉย บางอันขึ้นคานไปนิดหน่วย และเป็นที่ดินเปล่าก็มี ซึ่งในส่วนที่นับหน่วยไม่ได้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ทั่วประเทศ 3,000 กว่าไร่ กคช.จะนำไปพัฒนาต่อ
“เราจะเสนอให้ครม.ยกเลิกโครงการบ้านเอื้ออาทร และของบ 2,000 ล้านบาท เพื่อมาเคลียร์ส่วนที่เป็น Sunk Cost ซึ่งแบ่งเป็น 3 ก้อน คือ ก้อนแรก (A) เราจะทำโครงการต่อเอง ก้อน 2 (B) เราจะเปิดให้เอกชนมาร่วมทุนฯ ซึ่งสองก้อนนี้ตั้งอยู่ในทำเลดี เราจึงจะสร้างต่อ และคาดว่าน่าจะสร้างได้ 10,000 หน่วย และก้อน 3 (C) เราจะขายทิ้ง” ธัชพลกล่าว
ส่วนโครงการบ้านเอื้ออาทรที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ให้เอกชน 2-3 ราย เช่าเหมาไปดำเนินการต่อ เพราะในอดีตไม่มีผู้ซื้อ ซึ่งมีประมาณ 27,000 หน่วย หรือคิดเป็น 10% ของโครงการนั้น เมื่อหมดสัญญาในอีก 3-6 ปีข้างหน้า กคช.อาจจะไม่ต่อสัญญาเหมาเช่าแล้ว และจะนำมาขายหรือปล่อยเช่าเอง
“การไม่ต่อสัญญาเช่าเหมาบ้านเอื้อฯที่เคยมีกับเอกชน แล้วกคช.นำมาให้เช่าตามนโยบายนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) สามารถทำได้ แต่ข้อเสีย คือ รายได้ของกคช.จะลดลง เพราะเป็นการปล่อยเช่าที่ราคาเริ่มต้น 999 บาท/ห้อง/เดือน จากเดิมที่เราให้เอกชนเช่าในอัตรา 1,300-1,500 บาท/ห้อง/เดือน” ธัชพลกล่าว
โครงการ ‘บ้านเอื้ออาทร’
ธัชพล ระบุว่า ในอดีตมีบ้านเอื้ออาทรที่สร้างแล้วขายไม่ออก เพราะไปสร้างในทำเลที่คนไม่ต้องการ เช่น บ้านเอื้ออาทรใน จ.อุตรดิตถ์ ที่สร้างห่างจากตัวเมืองพิชัย 70 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีแหล่งจ้างงานเลย หรือบ้านเอื้ออาทรใน จ.หนองคาย แม้มีมีคนมาซื้อ แต่ผู้ซื้อกู้เงินไม่ผ่าน เพราะเป็นคนจากภูมิลำเนาอื่น แบงก์จึงไม่ปล่อยกู้ให้ ทำให้โครงการขายไม่ออก
“ที่แสบกว่านั้น มีการสร้างบ้านเอื้อฯในทำเลที่ดีมานด์ไม่พอ เช่น พื้นที่ จ.นครปฐม จ.สมุทรปราการ เพราะมีเจ้าพ่อ เขาบอกให้มาสร้างเยอะๆ แล้วก็มีการเรียกหัวคิวกัน พอสร้างเยอะก็ขายไม่หมด เพราะสร้างกันเป็นหมื่นหน่วย ซึ่งตอนนี้เป็นคดีความกันอยู่ และฟ้องกันนัวเนียอยู่” ธัชพลกล่าว
ธัชพล ย้ำว่า “ที่ฟ้องคดีเรียกหัวคิว ก็ทำกันไป เป็นเรื่องที่ต้องไปสู้คดีกันในศาล บ้านเอื้ออาทรที่เหลืออยู่ เราก็ขายได้เยอะแล้ว ส่วนที่ขายไม่ออกเราก็ปล่อยเช่าไปหมดแล้ว และที่ค้างอยู่และรอสร้าง เดี๋ยวเราจะขอเงินจากรัฐบาล 2,000 ล้าน มาสร้างต่อ และปีนี้เราจะปิดตำนานบ้านเอื้ออาทรแล้ว”
ธัชพล ยังบอกว่า แม้ว่าบ้านเอื้ออาทรจะเป็นโครงการที่มีปัญหาบ้าง และรัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนทั้งโครงการรวมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่ก็เป็นโครงการที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในราคาไม่แพง ส่วนภาระหนี้สินของกคช.ที่เคยมีสูงถึง 3 หมื่นล้านบาทนั้น ตอนนี้ค่อยๆลดลงต่อเนื่อง
“หนี้สินเดิมก่อนที่ผมจะมาอยู่ที่ 3 หมื่นล้าน ตอนนี้ลดเหลือ 2 หมื่นปลายแล้ว เราได้คืนมาตลอด และตั้งแต่ผมอยู่มา 3 ปี ปีแรกกำไร 1,200 ล้านบาท ปีที่ 2 กำไร 1,700 ล้านบาท และปีที่ 3 กำไร 2,000 ล้านบาท จากปกติที่มีกำไรปีละ 400 ล้านบาท ทำให้ภาระหนี้สินของ กคช.จะลดลงเรื่อยๆ เทียบกับทรัพย์สินที่อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท” ธัชพลกล่าว
ธัชพล กาญจนกูล
ส่วนแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในระยะ 20 ปี (2560-2579) ธัชพล ระบุว่า จะมี 5 รูปแบบ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงการในพื้นที่บ้านเอื้ออาทรเดิม ซึ่งกคช.ดำเนินการเอง แต่เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1-3 โดยตั้งเป้าสร้างให้ได้ปีละ 10,000 หน่วย 2.การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการ
3.การพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดย กคช.จะเข้าไปช่วยจัดทำแผนฯและเสนอของบจากครม. จากนั้นให้อปท.ไปดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการเอง 4.กคช.จะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และ5.การสร้างบ้านนวัตกรรมใหม่ ซึ่งมีคุณภาพสูงแต่ราคาถูก
ธัชพล ย้ำว่า ราคาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยจะอยู่ที่ไม่เกิน 3-5 แสนบาท/หน่วย และกคช.ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบจากรัฐบาล 80,000 บาท/หน่วย ซึ่งเท่ากับการอุดหนุนบ้านเอื้ออาทร
“แผนแม่บทฯให้เราพัฒนาที่อยู่อาศัยปีละ 1 แสนหน่วย แต่เราทำได้ปีละ 20,000 หน่วย เพราะเงินมีจำกัด แต่ละปีเราได้งบแค่ 5,500 ล้านบาท อีกทั้งเราจะมาทบทวนว่าแผนแม่บทฯที่ระบุว่า มีความต้องการที่อยู่อาศัย 2.27 ล้านหน่วยนั้น เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ และถ้าคิดกันคร่าวๆว่า ถ้าสร้างปีละ 1 แสนหน่วย ถามว่าจะเอาไปขายให้ใคร” ธัชพลกล่าว
ธัชพล ระบุว่า ทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยของกคช.ในระยะถัดจากนี้ไป คงไม่ใช่แค่การสร้างเพื่อขายเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเพื่อปล่อยให้เช่าด้วย เพราะหากสร้างเพื่อขายอย่างเดียว แต่ผู้ซื้อกู้ไม่ผ่าน แบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยเหล่านี้ก็จะกลับกลายมาเป็นภาระของกคช.
“เราคงไม่สร้างเพื่อขายอย่างเดียว แต่เราสร้างให้เช่าด้วย นอกจากนี้ ผมยังใช้โมเดลทางการเงินเข้ามาช่วย คือ เมื่อเช่าไปแล้ว และผู้เช่าพร้อมซื้อเมื่อไหร่ เราให้เอาค่าเช่าที่เขาจ่ายไปมาโป๊ะเลย เช่น ถ้าจ่ายค่าเช่าไปแล้ว 50,000 บาท ให้เอาค่าเช่าทั้งหมดไปโป๊ะเป็นค่าซื้อได้เลย แต่ให้เฉพาะปีแรกของการเช่าเท่านั้น” ธัชพลกล่าว
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสร้างแล้วไม่มีคนเข้าไปอยู่อาศัย กคช.จะมีการสำรวจว่า มีความต้องการจริงๆหรือไม่ โดยเปิดให้ผู้รับเหมาและประชาชนมาลงทะเบียนว่า ต้องการ กคช.ไปสร้างที่ไหน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาบวกกับกการลงสำรวจพื้นที่ของกคช.เอง ซึ่งจะรวมถึงการประเมินความสามารถในการกู้ซื้อของคนในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไรด้วย
“รมว.พัฒนาสังคมฯ (จุติ ไกรฤกษ์) ให้นโยบายว่า แทนที่จะไปสร้างข้างนอก ให้สร้างแถวกรุงเทพฯก่อน เพื่อรองรับคนที่มาทำงานในเมือง และถ้าสร้างข้างนอก ถึงมีดีมานด์ แต่ก็กู้ไม่ได้อยู่ดี เราจึงจะเริ่มสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯก่อน และกระจายไปสู่ 4 ภูมิภาค แต่เลือกจังหวัดที่เจ๋งๆที่ขายได้แน่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และอุดรธานี เป็นต้น” ธัชพลระบุ
ส่วนการแก้ปัญหาและอุปสรรคเรื่องที่ดินมีราคาแพงนั้น ธัชพล กล่าวว่า กคช.จะหารือกับกรมธนารักษ์ เพื่อขอเช่าที่ราชพัสดุมาสร้างที่อยู่อาศัย และให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าอยู่อาศัยในระยะยาว
ธัชพล กล่าวด้วยว่า กคช.ยังได้เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงโครงการคอนโดที่มีอยู่เดิม 4 มุมเมือง ได้แก่ สมุทรสาคร ตลาดไท ลาดกระบัง และวัดกู้ จ.นนทบุรี ให้รองรับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ เช่น มีการจัดโซนนิ่ง มีศูนย์สุขภาพ และในระยะต่อไป กคช.จะสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุแห่งใหม่ในพื้นที่ 4 มุมเมืองเพิ่มเติม
“บ้านผู้สูงอายุเฟสใหม่ เรากำลังคิดว่าจะสร้างเป็นคอนโดหรือเป็นบ้าน โดยจะสร้าง 4 มุมเมือง เช่น นครปฐม สมุปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี แต่กว่าจะได้สร้างอาจต้องใช้เวลา 2 ปี เพราะต้องเสนอให้ครม.เห็นชอบก่อน” ธัชพลกล่าว
อ่านประกอบ :
ชำแหละ 'บ้านผู้มีรายได้น้อย’ เจอปัญหาซ้ำซาก ถึงเวลา ‘บิ๊กตู่’ ต้อง 'รื้อใหญ่'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/