กระแสกัญชาทางการแพทย์ ตลอดปี 2562 มีบรรยากาศทั้งฝุ่นตลบ น่าตื่นเต้น แต่ก็ยังลมเพลมพัด เรียกว่ามีบรรยากาศตื่นเต้น พีคสุดช่วงประกาศใช้พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 จากนั้นก็แผ่วๆ
เส้นทางของ กัญชา ในอดีตถือเป็นพืชสมุนไพรที่ปรากฎในตำรายาแผนโบราณของไทยมาช้านาน ก่อนจะกลายเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ห้ามเสพ ห้ามผลิต หรือครอบครอง
ปี 2562 ถือได้ว่า มีความชัดเจนถึงทิศทางของกัญชา ใช้เป็นยารักษาโรค ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 มีประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 โดยยังคงจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 แต่อนุญาตให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย และศึกษาวิจัย นี่คือ เป็นก้าวแรกของการปลดล็อกกัญชาเพื่อการรักษา
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวอิศรา ( www.isranews.org) และเห็นถึงความคืบหน้าเชิงนโยบายกัญชา เมื่อใช้เป็นยารักษาโรค ช่วงปีที่ผ่านมา
"ตลอดปี 2562 ฝั่งผู้บริโภคจะได้ข้อมูลกัญชาเยอะไปหมด โดยเป็นความคาดหวังของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคที่รักษาไม่หาย ขณะที่ภาครัฐเองก็ยังไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควร มีการแสดงออกที่หลากหลาย ทั้งสนับสนุน และคัดค้านในช่วงปีที่ผ่านมา กัญชาทางการแพทย์วันนี้เลยเป็น 3 เส้า เส้าที่ 1 ผู้ป่วยมีความคาดหวัง เส้าที่ 2 นักวิชาการและนักวิชาชีพมีทั้งสนับสนุนและต่อต้าน ส่วนเส้าที่ 3 ภาครัฐ เป็นเส้าที่แยกรัฐมนตรีหนุนสุดขั้ว แต่ฐานรองรับข้างล่างไม่ชัด จะเห็นว่า บางกรมไม่เอาด้วย แต่ไม่กล้าเห็นแย้ง" ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว และว่า แม้แต่กรมการแพทย์เอง ก็อ้ำๆ อึ้งๆ ทำตามนโยบาย องค์การเภสัชกรรม ซึ่งก็สนับสนุนกัญชาทางการแพทย์สุดขั้ว มีหน้าที่ผลิตอย่างเดียว
ปัจจุบัน กลุ่มผู้ป่วยก็ยังไม่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชาจริง เรียกว่า ไปโรงพยาบาลหมอยังไม่จ่ายยาให้ นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
กระแสกัญชาทางการแพทย์ ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา จึงมีบรรยากาศทั้งฝุ่นตลบ น่าตื่นเต้น แต่ก็ยังลมเพลมพัด เรียกว่ามีบรรยากาศตื่นเต้น พีคสุดช่วงประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 จากนั้นก็แผ่วๆ ขณะที่หน่วยงานเชิงวิชาการทั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จับจ้องและติดตามประเด็นกัญชา เพราะเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ แม้แต่ปลายปี ภาคประชาสังคม เสนอ "ร่าง พ.ร.บ. พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ. …. “ (ฉบับประชาชน) ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงยุติธรรม ลงนามความร่วมมือศึกษาพิจารณายกเลิกพืชกระท่อม กัญชาออกจากบัญชียาเสพติด
ปี 2563 กระแสกระท่อม และกัญชา ใช้เป็นยารักษาโรค ผศ.ภญ.ดร.นิยดา มองว่า ยังไหลไปได้อีก เพราะถึงอย่างไรฝ่ายการเมืองก็เอาอยู่แล้ว อย่างน้อยอนุทินเอาแน่ (อนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) ส่วนรัฐสภา ก็มีคณะกรรมาธิการทำเรื่องนี้อยู่แล้ว
"อนุทินมีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ แต่ฐานรองรับไม่มี เขาพยายามไปตั้งสถาบันกัญชา ภายในกระทรวงสาธารณสุข คาดว่า ที่ขับเคลื่อนไม่ออก เพราะจับประเด็นไม่ได้ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรต่อไป ซึ่งรัฐบาลต้องมุ่งด้านวิชาการให้มากกว่านี้ เพื่อให้สังคมยอมรับ มีนักวิชาการเงาเป็นของตนเอง"
ช่วงท้าย เมื่อถามถึงกลุ่มผู้ป่วย ที่ไม่มีทางเลือก กับการคาดหวังผลจากการรักษาด้วยสารสกัดจากกัญชานั้น ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ชี้ชัดว่า รัฐบาลต้องขยับให้มากกว่านี้ ปรับนโยบายการจ่ายยาที่โรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงมากขึ้น หรือใครทำอยู่แล้ว เข้าไปช่วย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้กลุ่มผู้ป่วยเหล่านั้นถูกหลอก ไม่เกิดปัญหากับอาการไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะ "ยาตีกัน" การที่ฤทธิ์ของยาตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งร่วมด้วยพวกนี้ประชาชนไม่ค่อยรู้ ฉะนั้นข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนพึ่งได้ ยังไม่เป็นเอกภาพ ใครใคร่ทำทำ กระเด็นกระดอน กลายเป็นประชาชนไปเชื่อ FAKE NEWS ในโซเชี่ยลมีเดีย ภาครัฐต้องทำศูนย์ข้อมูลเพื่อจะได้โต้ตอบทันทีทันควัน
"เราเอากัญชาเข้ากรงขังมา 40 ปี พอระเบิดขึ้นมา แค่จะเอากัญชามาใช้ทางการแพทย์ องค์ความรู้ประชาชนแทบไม่มีเลย แรกทุกคนเชื่อลุงตู้ ซึ่งใช้เพียวกัญชาสกัด แรงมาก เหมาะกับกลุ่มที่เป็นมะเร็งอาการหนัก แต่หลังจากนั้นเริ่มมีองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามา ต้องใช้เพิ่มขึ้นเป็นระดับๆ เริ่มจากอ่อนๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มเข้าไป บางคนใช้สารสกัดกัญชาแบบอ่อนๆ ก็แฮปปี้แล้ว เช่น อาการนอนไม่หลับ "