ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีเด็กเยาวชนในครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสอีกมากกว่า 670,000 คนที่มีอายุ 3-18 ปี และยังมีนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในครอบครัวที่ยากจนและยากจนพิเศษอีกเกือบ 2 ล้านคนที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน พวกเขาเหล่านี้ยังอยู่ในวัยเรียนที่ควรจะได้มีโอกาสที่เสมอภาคให้เรียนได้ไปจนสูงสุดตามศักยภาพ
1. บทนำ
ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกในการเสวนาวิชาการครั้งนี้ ในหัวข้อ “นวัตกรรมในการจัดทำนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บทเรียนจากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี พ.ศ. 2562” ซึ่งถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการครั้งแรกระหว่าง สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ้งภากรณ์ และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานเจ้าภาพทั้ง 2 นี้ ซึ่งผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาตั้งแต่เริ่มจัดตั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยก่อนจบปาฐกถานี้ผมจะขอกล่าวถึงโอกาสที่สังคมไทยพึงจะคาดหวังจากการทำงานร่วมกันของ 2 หน่วยงานนี้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ผมขอแสดงความชื่นชมสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับโจทย์เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อเสถียรภาพ และความมั่นคงของเศรษฐกิจ และของประเทศ ผมเองในสมัยที่พึ่งเริ่มงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อราว 40 ปีก่อน ก็ได้มีโอกาสจับงานที่เกี่ยวกับเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจนของคนไทย แม้เวลาผ่านไปสถานการณ์ของประเทศในเรื่องนี้จะมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังคงมีโจทย์สำคัญหลายเรื่องที่ประเทศไทยควรเร่งจัดการอย่างเป็นระบบก่อนที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
2. กสศ.
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ก็เป็นหนึ่งในความพยายามดังกล่าวของประเทศไทยที่ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กำหนดให้จัดตั้งขึ้นให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2560 จากการที่ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายพันคนใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศร่วมกับ กอปศ. ก็พบว่า ทุกฝ่ายล้วนมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จนเริ่มส่งผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศไทยทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในมิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างได้ที่ต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพทางหนึ่ง คือ การที่เราส่งเสริม “ความเสมอภาคทางการศึกษา” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริงกล่าวคือ หากเด็กเยาวชนคนไทยทุกคนได้มีโอกาสที่เสมอภาคในการได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามความถนัดของตนไปจนสุดความสามารถ และตามบริบทในชุมชนท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่แล้ว ย่อมจะเป็นหนทางสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนให้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน ภายในชั่วคนนี้ ไม่ทิ้งปัญหาความยากจนไปให้ ข้ามชั่วคนไปยังคนรุ่นต่อไป นี่จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง กสศ. ที่ปัจจุบันมีคณะกรรมการบริหาร และ สำนักงานกองทุนฯ เป็นผู้นำเจตนารมณ์ และคำแนะนำจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเข้าสู่ปีที่ 2 ในปี 2562 นี้
3. รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2562
ปี 2562 นี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development Economics) โดยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ทาง The Royal Swedish Academy of Sciences ได้ประกาศรายชื่อนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้ร่วมกันวิจัยพัฒนา “นวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง” เพื่อสนับสนุนการขจัดปัญหาความยากจนของโลก (For their experimental approach to alleviating global poverty) ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า
นักเศรษฐศาสตร์ 3 ท่านที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนากลุ่มงานวิจัยดังกล่าวตลอด 20 ปีที่ผ่านมาให้มีความก้าวหน้าจากงานวิจัยในวารสารวิชาการชั้นนำ สู่การเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา โดยรายชื่อนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ท่านคือ
1) Professor Abhijit Banerjee นักเศรษฐศาสตร์จาก MIT
2) Professor Esther Duflo นักเศรษฐศาสตร์จาก MIT และ
3) Professor Michael Kremer นักเศรษฐศาสตร์จาก Harvard University
ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เห็นว่ามีสื่อแขนงต่าง ๆ ได้รายงานถึงข้อมูล รายละเอียดที่น่าสนใจของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 ท่านนี้พอสมควรแล้ว ผมจึงอยากชวนท่านผู้มีเกียรติได้พิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งของการมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทเรียนที่ได้จากการมอบรางวัลในปีนี้ต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศไทย และในระดับนานาชาติ
ก่อนที่จะมีการมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศอังกฤษอย่าง Lord Mervyn King ได้แสดงทัศนะในเชิงการตั้งคำถามที่น่าสนใจต่อการมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ว่า
รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มีไปเพื่ออะไร? What’s the Point of the Economics Nobel?
อย่างที่หลายท่านคงจะทราบดีว่า ครั้งนี้นับเป็นปีที่ 50 ของการมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แม้จะเป็นรางวัลน้องใหม่ที่สุดที่เพิ่งจะเริ่มมอบหลังจากรางวัลโนเบลดั้งเดิม 5 รางวัลอยู่เกือบ 70 ปี แต่ปัจจุบันรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในรางวัลที่สร้างความสนใจให้แก่ทั้งนักวิชาการ ผู้นำประเทศ ผู้กำหนดนโยบาย และประชาชนทั่วโลกได้เป็นประจำทุกปี
Lord Mervyn King มองว่ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์นั้นแตกต่างจากรางวัลโนเบลสาขาอื่น ๆ ที่มอบแก่ “ผู้ค้นพบ” ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือ ทางออกในการแก้ไขข้อจำกัดทางฟิสิกส์ เคมี หรือ ทางการแพทย์ เป็นต้น แต่เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลส่วนใหญ่วิจัยคิดค้นขึ้นมาได้นั้น ที่สุดแล้ว (At it’s best) อาจจะช่วยได้เพียงให้ “ความเข้าใจ/insight” หรือ การ “อธิบายปรากฏการณ์” มากกว่าการ “ให้คำตอบ” ที่ชัดเจน It confirms that economics at its best gives us insights not solutions.
นี่เป็นคำอธิบายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาการมอบรางวัลในปีนี้ ซึ่งมิได้เป็นการเชิดชูการคิดค้นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ที่สามารถอธิบายหรือทำนายปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจสังคม หรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง แต่เป็นการเชิดชู “การนำนวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง” (Experimental Research) มาสนับสนุนการวิจัยเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาเพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนมี ความเข้าใจ/insight ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการทดสอบด้วยกระบวนการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ว่ามาตรการใดที่ใช้ได้ผล หรือไม่ได้ผล และหากได้ผลแล้ว มีเหตุปัจจัยใดบ้างที่เพิ่มหรือลดประสิทธิภาพของมาตรการดังกล่าว ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายมีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบการตัดสินใจว่าจะขยายผลการใช้มาตรการดังกล่าวในวงกว้างระดับประเทศต่อไป หรือไม่
4. สถานการณ์และแนวโน้มปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลก
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ และความยากจน โดยเปรียบเทียบกับงบประมาณและทรัพยากรที่มีเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งในประเทศไทย และระดับนานาชาติแล้วจะพบว่า การมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้อาจจะ มาได้ถูกที่ถูกเวลา ก็เป็นได้
ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษาว่า ข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UIS) ดังแสดงในภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่ายังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่ยังคงอยู่นอกระบบการศึกษา โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยประถมศึกษามากกว่า 60 ล้านคน
ภาพที่ 1 แนวโน้มการลดลงของจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาของโลก (2000-2016)
ที่น่ากังวลไปกว่าจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาในปัจจุบันคือ แนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับนานาชาติที่แม้จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษา (ระดับประถมศึกษา) ทั่วโลกที่เคยมีจำนวนมากกว่า 100 ล้านคน เมื่อปี 1990 ลดลงเหลือราว 63 ล้านคนในปี 2017 หรือลดลงเกือบร้อยละ 40 ระหว่าง 1990-2007
แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา (2007-2017) ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจของโลกเมื่อปี 2008 ซึ่งส่งผลให้ ทรัพยากรทั้งงบประมาณของรัฐ และเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือโครงการลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศด้อยพัฒนามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาทั่วโลกจึงมีอัตราที่ลดลงน้อยมาก ไม่ถึง 100,000 คน แสดงให้เห็นว่า ความก้าวหน้าในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มชะลอตัวลง กลุ่มเป้าหมาย 5-10% สุดท้ายยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา หรือต้องออกจากการเรียนกลางคัน เพราะปัญหาสภาพเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ฯลฯ มีสภาพปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น และที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ตัวเลขเด็กนอกระบบการศึกษาในระดับโลกเริ่มกลับมามี แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นระหว่างปี 2016-2017 อีกครั้ง
5. นวัตกรรมการวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายความเสมอภาคทางการศึกษา
จากแนวโน้มสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลกที่มีแนวโน้มลดลงในอัตราที่ถดถอยมาก ซึ่งสะท้อนสภาพปัญหาที่มีความยากมากขึ้น ในขณะที่งบประมาณของภาครัฐและเงินบริจาคกลับมีแนวโน้มลดลง จึงมีความจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเลือกใช้ มาตรการที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลมาก นวัตกรรมการวิจัยเชิงทดลอง ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้จึงอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานที่มีภารกิจลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจนสามารถใช้สนับสนุนข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ด้วยกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการพัฒนา และเลือกนโยบายที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในบริบทของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นจากนักวิชาการ นักลงทุน และประชาชนผู้เสียภาษี มากขึ้นในอนาคต
แล้วผลงานวิจัยเชิงทดลองของ Prof.Kremer, Prof.Banerjee และ Prof.Duflo ที่ส่วนใหญ่ดำเนินการผ่าน ศูนย์วิจัย Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab (J-PAL) ของมหาวิทยาลัย MIT ให้ความเข้าใจอะไรมากขึ้นบ้างเกี่ยวกับนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equitable Education Policy Insight?)
จากผลการวิจัยประเมินผลโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่า 31 โครงการทั่วโลกด้วยกระบวนการ Randomized Control Trial (RCT) พบว่านโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยมาตรการที่เจาะจงไปที่ อุปสงค์ต่อการศึกษา (Demand for Education) ของนักเรียนและผู้ปกครองหลายมาตรการให้ผลลัพธ์และความคุ้มค่าทางงบประมาณที่สูงกว่ามาตรการด้านอุปทานของการศึกษา ตัวอย่างเช่น
1) “การลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษา” เช่น
(1) การสนับสนุนเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือ Conditional Cash Transfer (CCT) ต่ออัตราการมาเรียนของผู้เรียน
(2) เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขเพื่อแจ้งเตือน หรือ Labeled Cash Transfer (LCT) โดยใช้เงื่อนไขเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมของผู้รับเงิน มากกว่าเพื่อการตัดสิทธิการรับเงินอุดหนุน
(3) การสนับสนุน อาหารเช้า เครื่องแบบ และการเดินทาง แบบมีเงื่อนไข (Non-cash Conditional Transfer: NCT)
(4) เงินอุดหนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข Unconditional Cash Transfer (UCT)
(5) การขจัดปัญหาสุขภาพของผู้เรียนที่เป็นอุปสรรคต่อการไปโรงเรียน เช่น การถ่ายพยาธิ การสนับสนุนแร่ธาตุ หรืออาหารเสริม)
2) “การเพิ่มการรับรู้ผลตอบแทนของการศึกษาในอนาคต” เช่น
(1) การเพิ่มการรับรู้ของครอบครัวต่อผลการตอบแทนของการศึกษาต่อรายได้ของบุตรหลานในอนาคต
(2) ส่งเสริมความมุ่งมั่นต่ออนาคตของผู้เรียน (Aspiration)
(3) ค้นหาและแนะแนวผู้เรียนยากจนและด้อยโอกาสที่ประเมินโอกาสสำเร็จการศึกษาตนเองต่ำ
(4) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาของโรงเรียน เพื่อให้ครอบครัวเห็นคุณค่าในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้น
(5) มาตรการแก้ไขอุปสรรคทางการศึกษาของเด็กผู้หญิง เช่น การไม่ได้รับการสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาจากครอบครัวที่เท่าเทียมกับเด็กผู้ชาย
ตัวอย่างมาตรการทางฝั่งอุปสงค์เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากผลการวิจัยและการประเมินผลด้วยกระบวนการวิจัยเชิงทดลองมามากกว่า 58 งานวิจัย ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในการทำงานของ
คณะนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปีนี้ และทีมงานของศูนย์วิจัย J-PAL แห่งมหาวิทยาลัย MIT และสถาบันภาคีต่าง ๆ ทั่วโลกว่า สามารถเพิ่มอัตราการเข้าเรียน การสำเร็จการศึกษา และลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาของผู้เรียนจากครัวเรือนที่มีความยากจนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และใช้งบประมาณน้อยกว่ามาตรการทางฝั่งอุปทาน อย่างการสร้างโรงเรียน สร้างห้องเรียนเพิ่ม หรือการเพิ่มครู
งานวิจัยดังกล่าวจึงได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า การที่เด็ก เยาวชน หรือ ผู้ปกครอง ปฏิเสธการศึกษา แม้รัฐบาลจะสร้างโรงเรียน หรือจ้างครูเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียงพวกเขามากขึ้นแล้ว มิใช่พวกเขาเป็นคนที่ขาดซึ่งเหตุผล หรือ ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาต่ออนาคตของบุตรหลาน แต่คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นการตัดสินใจ ด้วยมาตรการลดความเหลื่อมล้ำที่เข้าใจในอุปสงค์ต่อการศึกษาของพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทเฉพาะต่าง ๆ อย่างแท้จริง
6. ร่วมกันสนับสนุน กสศ. ไม่ทิ้งปัญหาความยากจนข้ามชั่วคนไปยังคนรุ่นต่อไป
ท่านผู้มีเกียรติครับ หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อย่าง “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ซึ่งตีพิมพ์พร้อม ๆ กับการมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ครั้งแรก (ปี 2516) ได้เขียนถึงเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจอยู่ส่วนหนึ่งว่า
“...ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมายทำให้ได้รับความพอใจว่าตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม...”
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีเด็กเยาวชนในครอบครัวที่ยากจนและด้อยโอกาสอีกมากกว่า 670,000 คนที่มีอายุ 3-18 ปี และยังมีนักเรียนกลุ่มเสี่ยงในครอบครัวที่ยากจนและยากจนพิเศษอีกเกือบ 2 ล้านคนที่อาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน พวกเขาเหล่านี้ยังอยู่ในวัยเรียนที่ควรจะได้มีโอกาสที่เสมอภาคให้เรียนได้ไปจนสูงสุดตามศักยภาพของพวกเขาแต่ละคน เพื่อให้ได้ทำงานอาชีพที่มีความหมายเป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างสูงสุดตามขีดความสามารถของพวกเขาความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นภารกิจที่ใหญ่หลวง และหาใช่ภารกิจที่ กสศ. จะดำเนินการให้สำเร็จได้เพียงลำพังด้วยทรัพยากรที่จำกัด และโจทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ผมขอขอบคุณ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ให้ความสนใจและสนับสนุนการใช้ความรู้ที่ได้จากการมอบรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ในการสนับสนุนนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผมขอให้ทุกท่านมาร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ในชั่วชีวิตของพวกเรานี้ ไม่ทิ้งปัญหาความยากจนข้ามชั่วคนไปยังคนรุ่นต่อไป
_______________________________
หมายเหตุ: ปาฐกถา เรื่อง “นวัตกรรมในการจัดทำนโยบายเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา บทเรียนจากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี พ.ศ. 2562” โดยดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในการเสวนาวิชาการ เรื่อง “จากรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2562 สู่การใช้นวัตกรรม ทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย” วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมสมานสโมสร ชั้น 2 อาคาร 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/