คนอาจมองว่า ปัญหาไอยูยูและแรงงานผิดกฎหมายเป็นปัจจัยภายนอกที่อียูบังคับให้เราทำ แต่วันนี้มีพลวัตรเกิดความพยายามของภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศ โดยไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกบังคับให้ทำ
เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชียสถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน จัดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “หลังคลื่น IUU เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง? ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย" ณ สมาคมศิษย์เก่า ชั้น 12 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การจัดเวทีเสวนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ในการนำเสนอและแลกเปลี่ยนนโยบาย การบริหารจัดการแรงงานล่าสุด รวมถึงวิธีการเป้าหมายนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงข้อท้าทายของการแก้ปัญหาและร่วมกันมองไปข้างหน้าระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทั้งตัวแทนจากภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาสังคมอันจะนำไปสู่การปรับปรุงและร่วมมือในการขจัดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นจริงและยั่งยืน พร้อมไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้ดียิ่งขึ้น
การจัดเสวนาครั้งนี้ ถือได้ว่า เป็นเวทีติดตามผลหลังจากมีความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาประมงไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการปลดใบเหลือง IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) จากสหภาพยุโรป การปรับระดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (TIP Report) รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายประมงอีกหลายฉบับ
โดยเฉพาะ ประเด็นความปลอดภัยในการทำงาน สิทธิ และเสียง กระบวนการสรรหาคนมาทำงานในสายพานการผลิตอาหารทะเล นับว่า ยังคงเป็นโจทย์ที่ยังมีความท้าทาย และต้องได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล องค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เริ่มต้นเปิดประเด็นกลไกการร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ว่า ที่ผ่านมาเห็นความพยายามของนายจ้างที่จะให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานในสถานประกอบการตามกฎหมาย แต่เรายังต้องการเห็นการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและใช้ได้จริง โดยต้องคำนึงถึงสัดส่วนเชื้อชาติและเพศของคณะกรรมการฯ ต้องมีการอบรมบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯ มีการประชุมทุก 3 เดือนโดยต้องมีผู้บริหารบริษัทที่สามารถตัดสินใจได้มาร่วมประชุมด้วย
สำหรับการกำหนดมาตรฐานในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานหรือโรงงาน นางสาวนาตยา เพ็ชรัตน์ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา กล่าวว่า ความปลอดภัยนี้หมายรวมถึงเรื่องชีวิตและเนื้อตัวร่างกายด้วย ครึ่งปีที่ผ่านมายังได้รับเรื่องร้องเรียนในอุบัติเหตุจากการเดินเรือจนแรงงานประมงเสียชีวิต และยังไม่เคยเห็นรายงานจากภาครัฐถึงสถิติความไม่ปลอดภัยของแรงงานหรือการประเมินมูลค่าความสูญเสีย และการติดตามครอบครัวผู้ที่สูญเสียเลย
พร้อมกันนี้ได้ตั้งคำถามถึงสถานประกอบการจะมีมาตรการอะไรให้มั่นใจได้ว่า แรงงานจะปลอดภัยหรือออกเรือไปแล้วจะได้กลับบ้าน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ มีการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหนว่า อุปกรณ์ความปลอดภัยมีการใช้งานจริง
ในประเด็น เรื่อง “การสรรหาแรงงงาน” นางสาวชลธิชา ตั้งวรมงคล มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) มองว่า ในอุตสาหกรรมประมงหรืออุตสาหกรรมอื่นที่ใช้แรงงานเสี่ยงอันตรายและค่าจ้างต่ำ และมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติ อาจเป็นจุดเริ่มต้นการค้ามนุษย์หรือการบังคับใช้แรงงาน เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง นายจ้างจึงต้องออกเงินให้ก่อนเพื่อให้แรงงานใช้คืนทีหลังโดยหักจากค่าจ้าง ถ้าไม่มีการตกลงที่ชัดเจน แรงงานอาจโดนบังคับให้ใช้หนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
"ปัจจุบันไทยมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีการคุ้มครองแรงงานชัดเจน แต่บริษัทจะคัดกรองอย่างไรว่า ทางต้นทางมีการจัดหาแรงงานข้ามชาติอย่างโปร่งใส และจะมีบทบาทอย่างไรให้คู่ค้าทำตามกฎหมาย นอกจากนี้ SME จะสามารถนำเข้าแรงงานได้โดยไม่ต้องติดต่อกับคนกลางได้หรือไม่"
สำหรับคำถามที่หลากหลายจากภาคประชาสังคมนั้น มีตัวเแทนภาคเอกชนมาให้คำตอบ
นางสาวเบ็ญจพร ชวลิตานนท์ ตัวแทนจาก บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด แปรรูปอาหารทะเล ชี้แจงเรื่องสิทธิการร้องเรียนว่า ทางบริษัทมีช่องทางการรับข้อร้องเรียน 8 ช่องทาง แต่ส่วนใหญ่จะใช้ 2 ช่องทาง 1.คณะกรรมการสวัสดิการที่มาจากการเลือกตั้ง มีคณะกรรมการ 22 คนจากพนักงานราว 2,600 คน ส่วนใหญ่เป็นคนพม่าและเป็นผู้หญิง โดยหนึ่งปีที่ผ่านมามีตัวแทนนายจ้างเข้าร่วมประชุมทุกเดือน ทำให้ข้อร้องเรียนมาถึงผู้บริหารอย่างรวดเร็ว 2.ฝ่ายบุคคลจะออกไปพบปะพนักงานเพื่อให้ได้ข้อมูลโดยตรงจากลูกจ้างโดยไม่ต้องรอให้เขาเข้ามาหาเอง
"จากกลไกนี้ ทำให้พบว่า ปัญหาหลายเรื่องเกิดจากความเข้าใจผิดระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดของการแปลภาษา จึงให้หัวหน้าคนไทยทั้งหมดในสายการผลิตไปเรียนภาษาพม่า จนถึงวันนี้บรรยากาศการทำงานในสายการผลิตดีขึ้น เมื่อหัวหน้าและลูกน้องพูดภาษาเดียวกัน โดยจะขยายผลให้ฝ่ายบุคคลเรียนภาษาพม่าด้วย"
เรื่องความปลอดภัยของแรงงานนั้น ตัวแทนบริษัทซีเฟรชอินดัสตรี ยืนยันว่า มีเป้าหมายคือทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ แต่ที่ผ่านมาแรงงานต่างชาติส่วนมากมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันอุบัติเหตุในการทำงานน้อย เราจึงต้องพยายามอบรมเรื่องความปลอดภัย และมีหน่วยงานเชิงรุกที่มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานการผลิต ลงไปสัมภาษณ์ว่าแรงงานรู้จักอุปกรณ์ป้องกันแค่ไหน หากแรงงานไม่รู้เราก็จะตักเตือนหัวหน้า ส่วนคู่ค้าที่เป็นฟาร์มกุ้ง เรามีการแบ่งปันความรู้เรื่องการอบรมให้และมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบคู่ค้าด้วย
"บริษัทนำเข้าแรงงานจากพม่าเป็นส่วนใหญ่โดยมีบันทึกข้อตกลงสามฝ่าย คือ ซีเฟรช เอเยนต์ฝั่งพม่า เอเยนต์ฝั่งไทย โดยมีเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายชัดเจน และบริษัทส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ข้อมูลแรงงานว่าโรงงานทำอะไร สภาพการทำงานเป็นอย่างไร รายได้ หอพัก ยูนิฟอร์มเป็นอย่างไร โดยต้องแจ้งว่าเป็นการทำงานในสภาพที่มีความเย็นและชื้น ให้ลองเอามือจุ่มถังน้ำแข็ง 5 นาที แล้วตัดสินใจ ซึ่งบางคนก็ตัดสินใจไม่มาทำงานกับเรา แต่สิ่งที่ได้คืออัตราการคงอยู่ของพนักงานหลังช่วงทดลองงาน 98% สูงขึ้นกว่าก่อนการไปให้ข้อมูล"
ขณะที่นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ตัวแทนจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด ระบุว่า บริษัทเริ่มให้มีคณะกรรมการสวัสดิการตั้งแต่ปี 2016 โดยมีการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและแรงงานให้ความสนใจ มีการแบ่งสัดส่วนตามเชื้อชาติ ให้ความรู้ว่า มีบทบาทหน้าที่อย่างไร และมีการทำนโยบายภายในเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งทำให้นายจ้างได้เห็นมุมมองจากแรงงานที่ไม่เคยเห็นมาก่อน "เป้าหมายตอนนี้คือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและการรับประกันสิทธิแรงงาน"
ตัวแทนจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวอีกว่า แม้บริษัทจะไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมง แต่เป็นคู่ค้ากับเรือประมงที่ต้องสนับสนุนให้เขาพัฒนา โดยทางบริษัทมีการเผยแพร่หลักการปฏิบัติด้านแรงงานและธุรกิจสำหรับเรือประมง จาก ILO 4188 ก่อนไทยจะลงนามอนุสัญญานี้ เราสุ่มตรวจสอบเรือประมง ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม จัดเวิร์กช็อปเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยให้เจ้าของเรือและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของเรา เช่น การทำซีพีอาร์ (ปฏิบัติการช่วยชีวิตเบื้องต้น เมื่อพบคนหมดสติ) การใช้ชุดปฐมพยาบาล ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งคู่ค้าน่าจะมองเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะช่วงนี้แรงงานภาคประมงขาดแคลน
" บริษัททำนโยบายการสรรหาแรงงานต่างชาติอย่างเป็นธรรมตั้งแต่ปี 2016 ร่วมกับ NGO และเอเยนต์ฝั่งพม่า มีการสัมภาษณ์แรงงานว่ามีการเก็บเงินเพิ่มหรือไม่ หากพบว่ามีการเก็บเงินเพิ่มจะมีการสอบสวนและให้เงินคืน" นายปราชญ์ ชี้แจง และว่า เรื่องการสรรหาแรงงานนั้นแรงงานต้องเข้าใจว่า มาทำงานอะไร เราจะมีวิดีโอลักษณะการทำงานในโรงงานให้ดู มีการสำรวจแรงงานว่า พึงพอใจกับระบบจัดหาคนที่ต้นทางหรือไม่ หากเขาไม่สามารถทำตามมาตรฐานได้เราจะไม่ทำงานร่วมกับเขา นอกจากนี้ บริษัทยังมีการแบ่งปันประสบการณ์การนำเข้าแรงงานให้คู่ค้า และสิ่งที่บริษัทขนาดเล็กอาจนำไปใช้ได้คือการจัดอบรมก่อนการทำงาน เป็นต้น"
ด้านนางสาวพักตร์พริ้ง บุญน้อม ตัวแทนจาก บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า เรื่องสิทธิของแรงงานทางบริษัทเพิ่มจำนวนคณะกรรมการสวัสดิการให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนพนักงาน โดยให้มีคณะกรรมการฯ 1 คนต่อแรงงาน 400 คนและจัดให้มีการเลือกตั้งทางอ้อมสำหรับคณะอนุกรรมการสวัสดิการเพื่อให้ครอบคลุมเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และความพิการ เพื่อช่วยสะท้อนประเด็นก่อนการประชุมคณะกรรมการสวัสดิการ
"เราจับมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ให้แรงงานข้ามชาติได้มีช่องทางเสนอข้อร้องเรียนผ่านโทรศัพท์ ที่มีทั้งภาษาไทย พม่า และกัมพูชา แต่เมื่อทำการสำรวจพบว่าคนงานเลือกใช้ช่องทางภายในบริษัทมากกว่า แต่ในกรณีความเข้าใจผิดกับหัวหน้างานหรือถูกละเมิดจะเลือกใช้ช่องทางภายนอก นอกจากนี้ทางบริษัทมีแผนพัฒนาคู่ค้าเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2015 แต่การจะให้คู่ค้าปฏิบัติเหนือกว่ากฎหมายยังเป็นข้อท้าทายอยู่"
ปัจจุบันซีพีเอฟไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมง นางสาวพักตร์พริ้ง ระบุว่า แต่ก็ได้ขอความร่วมมือจากคู่ค้า เช่น ผู้ผลิตปลาป่นให้ตรวจสอบซัพพลายเออร์อีกที แต่ปัจจุบันเราซื้อปลาป่นจากโรงงานปลากระป๋องทูน่า 100% ส่วนมาตรฐานความปลอดภัย ก่อนการทำงานเราจะมีการอบรมความปลอดภัยให้แรงงาน ปัญหาที่พบคือความคาดหวังจากคู่ค้าต่างชาติที่สูงกว่ากฎหมายไทย แต่ส่วนกฎหมายท้องถิ่นนั้น ทางซีพีเอฟปฏิบัติตามอยู่แล้ว
"วันนี้ซีพีเอฟ มีแรงงานต่างด้าวเกิน 1.2 หมื่นคน จากกัมพูชา 8 พันคน จากพม่า 4 พันคน ทำงานในโรงงานแปรรูปไก่และกุ้ง โดยบริษัทจะมีวิดีโอและยูนิฟอร์มไว้ที่ประเทศต้นทาง ให้เอเยนต์มาเยี่ยมโรงงานแล้วนำไปถ่ายทอดต่อกับแรงงาน และให้เอเยนต์ต้นทางเข้าอบรมเพื่อทราบถึงความคาดหวังของซัพพลายเออร์ทางไทยโดยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม และมีคนจาก LPN มาช่วยตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์แรงงานถึงกระบวนการสรรหาคนที่ต้นทาง"
ทางด้านภาครัฐ นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความพยายามรณรงค์เรื่องการร้องทุกข์ของลูกจ้างในบริษัท โดยต้องการให้ลูกจ้างมีส่วนพิจารณากรณีนายจ้างจะลงโทษลูกจ้างด้วย หากจะไล่ออกต้องตั้งคณะกรรมการสอบและให้มีคณะกรรมการสวัสดิการร่วมฟังหรือร่วมตัดสินด้วย ตอนนี้เราบังคับใช้กฎหมายแบบเข้มข้น ถ้ามีคนแจ้งมาว่าโรงงานไหนไม่มีคณะกรรมการฯ หรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจริงเราจะไปดำเนินการ ซึ่งจะมีการตรวจปีละ 35,000 แห่ง แต่ยังมีพนักงานตรวจไม่พอ การจะคุ้มครองได้หมดต้องอาศัยเอ็นจีโอด้วย
ส่วนที่ตกหล่น กรณีเกิดขึ้นที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตากนั้น รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า มีรายงานว่า มีการใช้แรงงานเด็ก ต้องยอมรับว่า ตรวจสอบยาก เพราะเป็นโรงงานชั่วคราว เช่น เปิดรับเย็บผ้าตามคำสั้งซื้อเพียงแค่ 3 เดือนในตึกตามซอกซอย ซึ่งตรวจสอบยาก แต่อย่างไรก็ตาม พยายามหาทางแก้ไขปัญหาอยู่
รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาฯ กล่าวถึงหลักการเกี่ยวกับความปลอดภัย แม้จะมีเครื่องมือครบก็ยังเกิดอุบัติเหตุได้ เพราะเกี่ยวกับจิตสำนึกของคน บางกรณีมีอุปกรณ์ป้องกันครบแต่ไม่ใช้ หรือมีกฎระเบียบแต่ไม่ปฏิบัติตาม ที่ผ่านมาแม้ทางกรมฯ ไม่ได้เก็บสถิติอุบัติเหตุและความปลอดภัยของแรงงาน แต่ก็ใช้สถิติของประกันสังคม ส่วนแรงงานประมง ณ วันนี้ไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม จึงทำให้ยังไม่มีตัวเลข แต่ต่อจากนี้แรงงานประมงกำลังจะเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว
ตัวอย่างให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก
สุดท้าย ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการพูดคุยกันนี้ทำให้เห็นการประสานความร่วมมือในประเด็นข้อท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ
“คนอาจมองว่า ปัญหาไอยูยูและแรงงานผิดกฎหมายเป็นปัจจัยภายนอกที่อียูบังคับให้เราทำ แต่วันนี้มีพลวัตรคือเกิดความพยายามของภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศ โดยไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกบังคับให้ทำ ขณะที่มีความกังวลว่า หากไม่มีใบเหลืองแล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไร วันนี้เห็นแล้วว่า มีปัญหา มีทางออก และมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น จึงต้องคิดไปข้างหน้าว่า ในอีก 4 - 5 ปี อุตสาหกรรมประมงจะเป็นอย่างไร และคนอาจมองว่า บริษัทใหญ่มีต้นทุนสำหรับการจัดการที่ดีและนวัตกรรม แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กได้”