'บิ๊กตู่' ย้ำทำแผนสร้างงาน-รักษาภาคธุรกิจ-ดูเสถียรภาพการเงิน ศบศ.ประชุมนัดแรก สั่ง ก.แรงงานทำแพคเกจช่วยคนตกงาน-บัณฑิตจบใหม่ รวม 8 แสนคน พร้อมรับทราบแผนปรับปรุง 'เราเที่ยวด้วยกัน' หลังมีผู้ใช้สิทธิ์ 5.5 แสนคืนจาก 5 ล้านคืน จ่อเสนอ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า
-----------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกให้ถดถอย และเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีการแก้ไขหรือดำเนินการอย่างเป็นผลสำเร็จเด็ดขาดมาก่อน นายกรัฐมนตรีได้มีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของประชาชนทุกภาคส่วน และได้ตัดสินใจเริ่มดำเนินการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และนี่คือที่มาของ ศบศ.
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แบ่งยุทธวิธีเป็นคณะทำงานในระดับจังหวัด ที่ใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเป็นการทำงานระดับไมโคร ที่มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกคนรับผิดชอบรายจังหวัด ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่มีอยู่ 3.3 ล้านล้านบาทในการขับเคลื่อน
ส่วน ศบศ.จะรับผผิดชอบในระดับนโยบายหรืองานระดับแมคโคร ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนที่เรียกว่ารวมไทยสร้างชาติ โดยแบ่งกรอบการทำงาน 3 ส่วน คือ 1.ชุดเร่งด่วน ที่เน้นพิจารณามาตรการเชิงรับ ดูแลให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นวิกฤติระยะสั้น โดยส่วนนี้ใช้งบประมาณจากกรอบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท 2.ชุดระยะปานกลางและระยะยาว จะเข้ามาดูเรื่องอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤติ และ 3.ชุดรับฟังความคิดเห็น ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และคัดกรองเพื่อนำเสนอเป็นมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากคณะกรรมการที่กล่าวมาแล้ว ยังมีชุดคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน โดยโครงสร้างกรรมการชุดนี้ มีปลัดทุกกระทรวง รวมถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะเข้ามาติดตามประเมินผลทุกนโยบายที่ขับเคลื่อนหลังจากนี้
“เราอยู่ในสถานการณ์ที่ใหม่ มีความไม่แน่นอนสูง การทำมาตรการต้องมีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน เรามีความเชื่อว่าปัญหาของวิกฤตินี้มีวันสิ้นสุด ในเบื้องต้นเป็นทราบกันแล้วว่าอย่างน้อย 12 เดือนหรือสิ้นปีหน้าอาจจะมีทางออกเรื่องวัคซีน แต่อย่างที่เรียนว่า เรื่องนี้ยังไม่แน่นอน ต้องรอผลการทดสอบการดำเนินการจึงต้องระมัดระวังอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ ให้กับเวลาสั้นๆ” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสมิทธิ์ พนมยงค์ โฆษก ศบศ. กล่าวว่า นอกเหนือจากการแบ่งงานในระดับไมโครและแมคโครแล้ว เป้าหมายหลักที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาก คือ สร้างการจ้างงาน สนับสนุนภาคธุรกิจให้อยู่รอด และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปสำรวจตัวเลขทั้งหมด พร้อมนำเสนอมาตรการที่ทำให้เกิดการจ้างงานภายใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการบิ๊กดาต้าให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการจ้างงานต่างๆ ซึ่งจะต้องมีข้อมูลกระจายครอบคลุมถึงทุกจังหวัด เพราะเชื่อว่า ปัจจุบันมีแรงงานบางส่วนเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเองไปแล้ว
ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาฯ สศช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีตัวเลขคนตกงานจาก 2 กลุ่ม รวม 8 แสนคน ประกอบด้วย คนตกงานในระบบประกันสังคม 4 แสนคน นักศึกษาจบใหม่ในปีนี้ 4 แสนคน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ต้องทำให้เกิดการจ้างงานให้ได้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำแต่อยู่ในธุรกิจกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ซึ่งรัฐจะดำเนินมาตรการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานส่วนนี้เอาไว้ รวมถึงการจัดงานเอ็กซ์ให้คนว่างงานเข้าถึงตลาดแรงงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจมาตรการรัฐต่างๆ คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานได้มากพอสมควร ทั้งการจ้างงานผ่านเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท รวมถึงการใช้จ่ายผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยทั้งหมดจะต้องรอดูมาตรการที่เสนอโดยกระทรวงแรงงานอีกครั้งเสียก่อน
นอกจากนั้นที่ประชุมยังรับทราบ ความคีบหน้ามาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ที่อนุมัติให้ประชาชนได้รับสิทธิ์ส่วนลดค่าที่พักจำนวน 5 ล้านคืน ปัจจุบันมีผู้ขอใช้สิทธิ์ 5.5 แสนคืน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้เสนอแผนการปรับปรุงมาตรการอีก 2 ส่วน คือ 1.เพิ่มสิทธิ์การเข้าพักของแต่ละบุคคล จากเดิมจำกัดที่ 5 คืน เป็น 10 คืนต่อคน และเพิ่มส่วนลดค่าตั๋วเครื่องบินจากคนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท และ 2.มาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนออกไปใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน โดยนำพนักงานออกไปท่องเที่ยว หรือจัดงานสัมมนาในพื้นที่ต่างๆ โดย ททท.จะหารือร่วมกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เน้นไปที่องค์กรขนาดใหญ่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งทั้งหมดจะมีการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้รับทราบมาตรการดูแลสภาพคล่องผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นการปรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปเมื่อวานนี้ โดยหลังจากนี้จะมีการติดตามประเมินผลต่อไปว่ามาตรการที่ได้รับการปรับปรุงแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่