การผลิตชุด PPE ตอบโจทย์ประเทศไทย ที่จะเป็น Medical Hub จากอดีตเราดังก็จริง แต่เราใช้แรงงานหมอ ของทุกอย่างนำเข้า พึ่งคนอื่น นี่คือก้าวแรกที่เราผลิตอุปกรณ์การแพทย์เอง หน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน
"ช่วงแรกของการระบาด เรามีความกดดันอย่างมาก ใช้ความพยายามทุกด้านเพื่อจัดหาชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ให้เพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโควิด - 19 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงสาธารณสุข สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ผู้ประกอบการ เราเริ่มพบกันครั้งแรก 27 มีนาคม ประชุมปรึกษาหารือกัน 4 ครั้ง นับถึงวันนี้ 43 วัน ได้ผลิตภัณฑ์ออกมา" นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เกริ่นให้เห็นที่ไปที่มาของความสำเร็จในการผลิตชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น เราสู้ ที่สามารถใช้ - ซักได้ 20 ครั้ง
สำหรับองค์การเภสัชกรรม ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รับหน้าที่หา ชุด PPE ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระยะแรก นพ.โสภณ บอกว่า ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ถามว่า หากต่างประเทศไม่ส่งให้ จะทำอย่างไร นี่คือโจทย์ที่ไทยพยายามพึ่งตนเองให้ได้
"การใช้ชุด PPE หากคนไข้ที่มีความเสี่ยงน้อย ถึงกลาง บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ชุด PPE ชนิดที่กันน้ำได้ เป็นผ้าก็ได้ ซึ่งสถาบันบําราศนราดูร ใช้เสื้อกาวน์ที่เป็นผ้ามาก่อนแล้ว โดยการใช้เสื้อกาวน์ชนิดผ้า มีอัตราการใช้อยู่ 50% ของชุด PPE ทั้งหมด อีก50% ใช้กับคนไข้เสี่ยงสูง สูงมาก ในห้องไอซียู ต้องใช้แบบชุดหมี"
ขณะที่การทดสอบชุด PPE มาตรฐานจะดูอยู่ 3 อย่าง ประกอบด้วย
1.เนื้อผ้า ต้องทนแรงดันน้ำได้ในระดับ 2 ระบายอากาศได้ดีและกันน้ำได้ด้วย ซึ่งได้ทดสอบจนผ่านมาตรฐาน
2.ตะเข็บรอยต่อ ซึ่งได้ทดสอบหลากหลายรูปแบบจนผ่านมาตรฐาน
และ 3.การซักฆ่าเชื้อทำความสะอาดและใช้ซ้ำให้ได้ 20 ครั้ง
ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม ชี้ว่า "เราเสียเวลาอยู่นาน โดยเฉพาะขั้นตอนการทดสอบใช้ซ้ำได้กี่ครั้ง ทีแรกซักแล้วไม่ผ่าน เพราะใส่น้ำยาปรับผ้านุ่ม ไม่ได้ผ่านการอบร้อน ซึ่งการซักจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วย เราจึงเสียเวลาตรงนี้ในการพัฒนาไปพอสมควร"
ปัจจุบัน อภ.ได้จัดซื้อจัดจ้างชุด PPE รุ่น เราสู้ จาก 13 บริษัท รวมทั้งสิ้น 4.4 หมื่นตัว ตกตัวละ 500 บาท สามารถใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง เท่ากับใช้ครั้งละ 25 บาท
"เงินไม่รั่วไหล อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ลดเรื่องของขยะติดเชื้อไปได้เยอะ เกิดการจ้างงาน หากซื้อจากต่างประเทศเฉลี่ยการใช้ต่อครั้ง 100 บาท" ประธานบอร์ด อภ. ระบุ และคาดว่า สามารถจัดส่งชุด PPE ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ทั้งหมด
ส่วนคุณสมบัติของชุด PPE (Isolation Gown) รุ่น “เราสู้” เป็นโพลีเอสเตอร์ (Polyester) 100% เส้นด้ายเป็นวัสดุรีไซเคิล ขณะที่เส้นไหมนั้นต้องนำเข้าจากไต้หวัน จากนั้นนำมาทอ และตัดเย็บในเมืองไทยทั้งหมด
นพ.โสภณ บอกว่า ชุด PPE 1 ชุด ทำจากขวดพลาสติกขนาด 600 ซีซี ประมาณ 14.5 ขวด และเหตุที่ต้องนำเข้าเส้นใยจากไต้หวัน เพราะประเทศไทยไม่มีการคัดแยกขยะที่สมบูรณ์แบบ และหากจะให้การผลิตชุด PPE ครบวงจรจริงๆ ต้องแก้ปัญหานี้ก่อน
ที่สำคัญ เส้นใยที่ผลิตจากขวดน้ำรีไซเคิลมาทำชุด PPE วันนี้ไทยยังไม่มีหน่วยงานใดรับรองว่า เส้นใยนั้นมาจากขวดน้ำจริงหรือไม่ ฉะนั้น ตัววัตถุดิบเกรดจึงมาจากญี่ปุ่น เพราะมีการ Tracking ขยะ โดยไต้หวันซื้อจากญี่ปุ่นมาฉีกเป็นเส้นใย และไทยนำเข้าเส้นใยมาทอเป็นชุดอีกทอดหนึ่ง
ด้าน นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มองถึงนวัตกรรม ชุด PPE ซึ่งเป็นชุดแบบเสื้อคลุมแขนยาวกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown) ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ จากช่วงแรกของการระบาดมีการคาดกันว่า ไทยจะมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กว่า 3 แสนคน มีผู้ป่วยหนักไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่นคน ใช้ชุด PPE คนละ 15 ชุดต่อวัน นี่คือที่มาที่สธ.ต้องหาชุดป้องกัน
"เราไม่อยากเหมือนประเทศอื่นที่เห็นหมอ พยาบาลประท้วง หรือใช้ถุงขยะทำเป็นชุดป้องกัน และปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเป็นแสนคน วันที่เราพยายามหาชุด PPE ติดต่อไปที่บริษัทถึงวันไม่ส่งให้เรา บางคนติดต่อเรียบร้อยแล้วจะไปขน บอกมีคนเอาไปแล้ว ขณะที่การคิดผลิตชุด PPE ที่มีมาตรฐาน ระยะแรกในประเทศไทยไม่มีการทดสอบมาตรฐานมาก่อนเลย จนกระทั่งได้ติดต่อไปที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงอว. คณะวิศวกรรมต่างๆ ถึงมีเกณฑ์การทดสอบขึ้น และกว่าจะได้ชุด หาเนื้อผ้า ดูกระบวนการการเย็บตะเข็บ และทดสอบมาตรฐานการกันน้ำ"
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า การผลิตชุด PPE ตอบโจทย์ประเทศไทย ที่จะเป็น Medical Hub จากอดีตเราดังก็จริง แต่เราใช้แรงงานหมอ ของทุกอย่างนำเข้า พึ่งคนอื่น
นี่จึงเป็นก้าวแรกที่เราผลิตอุปกรณ์การแพทย์เอง หน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน PPE ที่สำคัญ บุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีกำลังใจดี มีความมั่นใจ เพราะมีอุปกรณ์ครบครัน
"ชุด PPE มิได้ใช้แค่บุคลากรในโรงพยาบาล แต่การไปเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อ ในชุมชน ก็ต้องใส่ชุดแบบนี้เช่นกัน" นพ.สุขุม ระบุ และว่า การใช้ชุด PPE อย่างสมเหตุผล จากใช้แล้วทิ้ง เปลี่ยนมาเป็นใช้ซ้ำได้ถึง 20 ครั้ง นวัตกรรมนี้ ยังแสดงถึงน้ำใจของคนไทย ศักยภาพของคนไทย เห็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน
ปลัดสธ.แสดงความเชื่อมั่นว่า ไทยสามารถเป็นผู้นำด้านสุขภาพอย่างแท้จริงก็ด้วยการพึ่งพาตนเอง ยืนบนขาของตัวเอง และมีนวัตกรรมใหม่ๆ
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล กรรมการบริหาร กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการผลิตชุด PPE เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ที่เรามีความตั้งใจให้เป็น Medical Textile Hub ของอาเซียน ครั้งนี้นับว่า เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ใช้เวลาเพียง 43 วันผลิตชุด PPE ออกมาได้ แต่สิ่งที่อยากจะฝากภาครัฐ คือ อยากได้รับการสนับสนุนเรื่องการตรวจสอบมาตรฐานชุด PPE อย่างครบวงจร หากไทยจะเป็น Hub เรื่องนี้จริงๆ ต้องให้ความสำคัญเรื่องการตรวจสอบ การทดสอบมาตรฐาน
ในประเด็นความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้ว่า ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองได้ ทั้งผลิตยา วัคซีน วัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์
"ชุด PPE เป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ที่ทำภารกิจนี้ได้สำเร็จเสร็จสิ้น แต่ชุดทดสอบ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ ก็ยังต้องการรูปแบบการพัฒนาแบบนี้ เพราะสามารถลดการนำเข้า ช่วยการส่งออกได้มหาศาล" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้มุมมอง และว่า เรื่องการทดสอบมาตรฐานชุด PPE เรื่องทางการแพทย์กับอุตสาหกรรมบางครั้งเหลื่อมกัน บางทีก็มองหน้ากัน หน่วยงานไหนตรวจ ทดสอบ และมีการไปพึ่งมหาวิทยาลัย นี่จึงเป็นโอกาสดีของการร่วมมือกัน ระหว่างกรมวิทย์ฯ กับกรมวิทยาศาสตร์บริการ ตรวจชุด PPE หาวิธีตรวจทำอย่างไรให้กันน้ำได้ เป็นโอกาสทำให้เราพัฒนาตัวเอง ร่วมแรงร่วมใจเป็นทีมไทยแลนด์แก้ไขปัญหาประเทศ
สุดท้ายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิดระบาด ชุด PPE กลายเป็นของหายากขึ้นมาในทันที 2 เดือนที่แล้วมีเงินขนาดไหนไม่มีใครบอกได้ว่า เราจะหาซื้อได้หรือไม่ ผู้บริหารสธ.ทุกคนกดดัน ไม่รู้เอาชุด PPE หน้ากาก N95 มาจากไหนให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ได้อย่างเพียงพอ
แต่ความกดดันเหล่านั้น รมว.สธ. บอกว่า ทำให้เราสู้ ไม่ยอมแพ้ จนสามารถฝ่าฟันรับมือกับสถานการณ์การระบาดได้ ต่อสู้ทุกมิติ จนผลออกมาน่าพึงพอใจ
“ท่านอาจไม่รู้ 2-3 สัปดาห์ก่อนวันๆ ผมหาแต่ชุด PPE เชื่อหรือไม่ หากได้ 10 ชุด ใช้ไม่ได้ 9 ชุด ไม่ปลอดภัย ไม่กันน้ำ เราทุ่มเท เพื่อให้เรามีอุปกรณ์ที่ปลอดภัยสำหรับอัศวินชุดขาว ในที่สุดเราก็ทำได้ ที่เราได้มากกว่านี้ หากชุดเราสู้ ถูกใช้อย่างเต็มที่ เมดอินไทยแลนด์ เงินอยู่ในประเทศทั้งหมด" รมว.สธ. ระบุ และทิ้งท้าย "มีคนบอกผมว่า กว่าจะหมดโควิด ต้องใช้ชุด PPE ถึง 20 ล้านชุด หากชุดละ 500 บาท ถามว่าเป็นเงินเท่าไหร่ 1 หมื่นล้านบาท วันนี้เราสามารถประหยัดงบประมาณให้กับประเทศชาติเป็นอันมาก”